ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
เมื่อ 3 ปีก่อน ได้รู้จัก “มอน ลาเฟร์เต้” (Mon Laferte) นักร้อง-นักแต่งเพลงหญิงชาวชิลีเป็นครั้งแรก จากบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์บีบีซี ที่เล่าเรื่องราวชีวิตการไปทำงานดนตรีที่ประเทศเม็กซิโก (ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเพลงภาษาสแปนิชในละตินอเมริกา) ของเธอ
การกลับมาร่วมประท้วงใหญ่ในชิลีช่วงปี 2019 (ซึ่งนำมาสู่การชนะเลือกตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะล้างมรดกการเมืองหลังยุคปิโนเชต์กลับถูกคว่ำทิ้ง)
รวมถึงการที่ลาเฟร์เต้ไปประท้วงเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านการปราบปรามผู้ชุมนุมในประเทศบ้านเกิด ระหว่างเดินพรมแดงที่งานประกาศรางวัลละตินแกรมมีส์ ด้วยการเขียนข้อความประณามการใช้ความรุนแรงบนหน้าอกอันเปลือยเปล่าของตนเอง
เมื่อพบว่าศิลปินหญิงรายนี้มีความคิดและจุดยืนที่น่าสนใจ ผมจึงลองไปสุ่มฟังเพลงดังๆ ของเธอในยูทูบ (ที่มียอดชมคลิประดับหลายสิบถึงหลายร้อยล้านวิว)
ก่อนจะตกหลุมรักเพลงของ “มอน ลาเฟร์เต้” เข้าอย่างจัง โดยเฉพาะผลงานในช่วงปี 2015-2018 (ที่ถูกนิยามรวมๆ ว่าเป็นอัลบั้มแนว “ละตินอัลเทอร์เนทีฟ”) ซึ่งต้องบอกว่าไพเราะถูกหูถูกรสนิยมของคนฟังเพลงยุค 90 เช่นผมเป็นอย่างมาก (แม้จะ “ไม่รู้” ภาษาสแปนิชเลยก็ตาม)
ผมจึงติดตามเป็นแฟนเพลงของลาเฟร์เต้เรื่อยมา แม้ผลงานระยะหลังๆ ของเธอจะไม่โด่งดังเท่ากับงานในยุคกลางถึงปลายทศวรรษ 2010 และมีลักษณะ “ทดลองทำนู่นทำนี่” แบบไม่ประนีประนอมเยอะขึ้นเรื่อยๆ
อีกหนึ่งความฝันส่วนตัว ก็คือ การอยากดูคอนเสิร์ต-การแสดงสดของ “มอน ลาเฟร์เต้” สักหน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเธอมักออกตระเวนทัวร์อยู่แถวอเมริกาใต้และสหรัฐอเมริกา ไม่ก็ข้ามมาเปิดเวทีในประเทศสเปน หรือพูดได้ว่าวนเวียนอยู่ในโลกที่สื่อสารกันด้วยภาษาสแปนิชเป็นหลัก
แต่ในที่สุด เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ลาเฟร์เต้ก็มีทัวร์คอนเสิร์ตในหลายประเทศแถบทวีปยุโรป และผมก็ได้ถือโอกาสจองตั๋วไปชมการแสดงสดของเธอที่ “อิเล็กทริก บริกซ์ตัน” สถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ตทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน
ในคอนเสิร์ตขนาดกลางๆ ที่ย่านบริกซ์ตัน ลาเฟร์เต้ขนเพลงดังๆ ของเธอมาโชว์เกือบครบถ้วน พร้อมด้วยวงดนตรีขนาดกะทะรัด (ประกอบด้วยมือกีตาร์, มือกลอง, ทีมเครื่องเป่าสองคน และหางเครื่อง-คอรัสอีกสองคน)
แม้มาเปิดแสดงที่เมืองหลวงของอังกฤษ ทว่า แฟนเพลงส่วนใหญ่ในหลักหลายพันคนที่ตีตั๋วเข้าไปชม กลับเป็น “คนละตินอเมริกาไกลบ้าน” โดยมีฝรั่งยุโรปอยู่ไม่เยอะนัก และมิตรรักนักเพลงจากอเมริกาใต้เหล่านั้นก็ดูจะ “จอย” กับคอนเสิร์ตกันมากๆ ชนิดที่ร้องเพลงตาม/ร้องเพลงแทนศิลปินบนเวทีอยู่ตลอดเวลา
ส่วนศิลปินเจ้าของงานอย่างลาเฟร์เต้ก็สื่อสารกับคนดูด้วยภาษาสแปนิช 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่หลุดภาษาอังกฤษออกมาเลยสักคำเดียว
นี่คือพลังของอารมณ์ความรู้สึกแบบ “ภูมิภาคนิยมทางไกล” ที่สำแดงผ่านวัฒนธรรมดนตรีได้อย่างน่าจดจำและน่าสนใจ
มาถึงต้นเดือนสิงหาคม ภาพยนตร์สารคดีความยาว 1 ชั่วโมงนิดๆ เรื่อง “Mon Laferte, te amo” (มอน ลาเฟร์เต้, ไอเลิฟยู) ก็ได้รับการเผยแพร่ผ่านทางแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์ (หนังพูดภาษาสแปนิช แต่มีซับไตเติลคำบรรยายภาษาไทย)
หนังเล่าเรื่องราว “ชีวิตส่วนตัว” และ “ชีวิตทางดนตรี” ของ “มอน ลาเฟร์เต้” ไล่จากภูมิหลังครอบครัว ความสัมพันธ์กับยายและแม่ (ในฐานะผู้หญิงด้วยกัน) บาดแผลจากผู้ชายหลายๆ คน ตั้งแต่พ่อ โปรดิวเซอร์ และคนรักมากกว่าหนึ่งราย
ไปถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตและการทำงานดนตรี เมื่อเธอตัดสินใจอพยพโยกย้ายมาแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ที่เม็กซิโก กระทั่งได้พานพบกับความรักของแฟนเพลงจำนวนมหาศาล ตลอดจนสามีและลูกสาว ณ ปัจจุบัน
ถ้าหนังสารคดีแบบนี้มี “บุคคลต้นเรื่อง” เป็นนักร้องดังๆ จากโลกภาษาอังกฤษที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว สถานการณ์ที่ดำเนินไปจากต้นจนจบ คงไม่น่าตื่นเต้นสักเท่าไหร่
แต่พอหนังนำเสนอเงื่อนปมชีวิตของนักร้องดังจากโลกภาษาสแปนิชในภูมิภาคละตินอเมริกา ซี่งหลายคนไม่รู้จักมักคุ้น ภาพยนตร์สารคดีทำนองนี้เลยมีเสน่ห์ให้ค้นหาอยู่ไม่น้อย
พิจารณาในแง่ศิลปะ ภาพหลายช็อตในหนัง (ที่มีความเป็น “ภาพยนตร์ทดลอง”) นับว่า “สวยดี” ขณะที่ซีนสอดแทรกจำนวนหนึ่ง ก็แสดงให้เห็นถึง “ความเหวี่ยง-ความเยอะ” ของยอดศิลปินหญิงอย่างลาเฟร์เต้ ซึ่งคงส่งผลต่อชีวิตของเธอและความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ อยู่ไม่มากก็น้อย
แน่นอนว่าเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งนำมาจากผลงานสำคัญๆ ของศิลปินผู้เป็นคนต้นเรื่องนั้นมีความไพเราะเสนาะหูมาก และเนื้อหาของหลายเพลงก็มีความสอดคล้องกลมกลืนกับชีวิตในแต่ละจังหวะของลาเฟร์เต้อย่างแนบสนิท
แม้หนังสารคดีเรื่องนี้จะสามารถขยับขยายชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคลเช่นลาเฟร์เต้ ให้กลายเป็นกระจกสะท้อนประเด็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น เช่น การเมืองเรื่องเพศสภาพ หรือการตั้งคำถามต่อความเชื่อ/ศาสนา/สถาบันครอบครัว
อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่หนังเรื่องนี้เลือก “ตัดทอน” ช่วงชีวิตอันมีสีสันบางเสี้ยวส่วนของนักร้อง-นักแต่งเพลงหญิงชาวชิลีออกไป โดยเฉพาะการเลี่ยงไม่บอกเล่าถึงสถานภาพความเป็น “นักประท้วง” ของเธอ ดังที่บทความชิ้นนี้ได้กล่าวไว้ในช่วงต้น •
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022