ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
เหยี่ยวถลาลม
วิกฤตผู้นำหน่วย
วิกฤตองค์กรยุติธรรม
ต้องปรบมือให้ “บิ๊กเต่า” พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และทีมปฏิบัติการ ที่เข้าจับกุมอัยการเรียกรับทรัพย์สินเคลียร์คดี
เป็นการจับตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่ จ.60 / 2567 ลง 26 กรกฎาคม 2567
เป็นการบุกไปจับถึงห้องทำงาน “สำนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช” เมื่อวันที่ 31กรกฎาคมที่ผ่านมา
เป็นธรรมดาที่ นายชาตินรินทร์ เกตุกำพล อัยการจังหวัด ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ถูกจับต้องปฏิเสธข้อกล่าวหาและสู้คดี
แต่มีสิ่งที่น่าสังเกตและน่าศึกษาคือ บรรดา “ข้อหา” ที่ใช้กล่าวหานั้นยาวเป็นหางว่าว และรุ่มรวยไปด้วยข้อความที่ฟังดูแล้วรัดกุมจนชวนให้เชื่อว่าดิ้นยาก
อาทิ
เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบ หรือมิชอบด้วยหน้าที่
เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
เป็นพนักงานอัยการ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบ หรือมิชอบด้วยหน้าที่
เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง หรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบ หรือมิชอบด้วยหน้าที่
เชื่อหรือไม่ว่า บทบัญญัติของกฎหมายที่รัดกุม ขึงขังข้างต้นนั้นไม่ได้ทำให้ “เจ้าพนักงาน” หวาดหวั่นพรั่นพรึง
ยังคงมีเจ้าพนักงานทุจริตกันอย่างโจ๋งครึ่มในสังคมไทย!
การรีดไถของตำรวจตามท้องถนน “ส่วย” จากผู้ประกอบการทุกรูปแบบทุกประเภทยังคงส่งมอบให้ “เจ้าพนักงาน” อย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบตามวันเวลาที่กำหนด ยังคงมีการวิ่งเต้นในชั้นสั่งคดี ในชั้นพิจารณาของศาล
ถึงใครจะว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็น “เนื้อร้าย” ของประเทศ ถึงจะมีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันปราบปรามการทุจริตมากมายรุงรังแค่ไหนก็ตาม “การทุจริตคอร์รัปชั่น” ก็ยังคงเป็น “ความปกติ” ในสังคมไทยจนคล้าย “รากแก้ว” ที่ขยายกิ่งก้านแตกแขนงสยายสู่รากฝอย จากศูนย์กลางอำนาจรัฐสู่ภูมิภาค ดังคำกล่าวของใครบางคนที่ว่า ไม่มีฮั้ว ไม่มีงาน ทุกการรับเหมาก่อสร้าง การทำถนนของท้องถิ่นจะต้องขึ้นกับการบริหารจัดการของผู้ทรงอิทธิพล
การเรียก รับ การใช้ตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็นปฏิปักษ์กับ “ความสุจริต” จึงเป็นภาวะปกติ
กล่าวสำหรับประเทศนี้จึงเป็นไปได้ว่า…ที่พร่ำเพ้อกล่าวคำสุจริตอยู่บ่อยๆ นั้นมักจะเป็นคนละเอียด โกงเงียบ โกงเนียน โกงที่สุด กระทั่งอาจจะได้นั่ง “เก้าอี้สูงสุด”
เป็นไปได้ว่า…คนที่ช่างเจรจา ช่างร่างสัญญาให้ดูเหมือนว่ารัดกุมรอบคอบนั้น เนื้อแท้แล้วอาจเป็นคนที่ทำให้ “รัฐ” เสียหายป่นปี้ที่สุด เอื้อประโยชน์สูงสุดให้แก่กลุ่มพ่อค้านายทุน
บางครั้งสัญญาณเตือนจาก “สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต” ของ ป.ป.ช. จึงน่ารับฟังอย่างจริงใจ
เป็นไปได้อีกว่า…ในประเทศนี้คนที่มีตำแหน่งใหญ่โต แต่งกายดี พูดจามีหลักการ มีผู้คนนับหน้าถือตากว้างขวางนั้น เบื้องหลังอาจเป็นตัวร้ายที่แทรกแซงและบงการให้ “เจ้าพนักงาน” ในกระบวนการยุติธรรมบิดเบือน เบี่ยงเบน ปัดเป่าคดี ทำให้หนักเป็นเบา ทุเลาเป็นหาย
การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยเป็นงานยาก
ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหน (แม้แต่นายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร) และไม่มีรัฐบาลใดที่กล้าประกาศให้ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็น “วาระแห่งชาติ”
การปราบปรามทุจริตเป็นเพียง “วาระแห่งลมปาก” ในท่ามกลางความอ่อนปวกเปียกของกระบวนการยุติธรรม
ในกระบวนการยุติธรรมเองก็ไม่มีผู้นำหน่วยที่ใส่ใจอย่างแท้จริงกับการทำความสะอาดและรักษาความสะอาดในองค์กร ไม่ได้สนับสนุนและส่งเสริมคนดีให้มีที่ยืนอย่างมั่นคงและสมศักดิ์ศรี
ประโยชน์ที่ยึดถือเหนียวแน่น คือระบบอาวุโส
แต่เป็น “ความอาวุโส” ที่นั่งอยู่ท่ามกลาง “ปม” ปัญหาซึ่งไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจในการปฏิบัติตามปรัชญาการบริหารงานบุคคล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เคยพระราชทานเอาไว้
“…ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
การเข้าจับกุมระดับ “อัยการจังหวัด” คนหนึ่งถึงแม้องค์กรอัยการจะเสียภาพลักษณ์หนัก แต่ที่เห็นนั้นก็แค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ขององค์กรที่เชื่อว่า “ความมีอิสระ” และการปกครองกันเองจะทำให้การบริหารงานบุคคลดีขึ้นกว่าการอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของการเมือง
“อัยการ” กับ “ศาลยุติธรรม” มีอิสระ มีการปกครองกันเอง ยังคงเหลือแต่ “ตำรวจ” ที่ตอนนี้อยากจะตามรอย
อย่าลืมว่า อิสระไม่ใช่รัฐอิสระ อิสระไม่ใช่หลบๆ ซ่อนๆ เข้าถึงยาก แตะต้องไม่ได้
ในบริบทที่การเมืองยังล้าหลัง การบริหารงานบุคคลขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมควรมีอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากกลุ่มอิทธิพลผลประโยชน์ แต่กระนั้นก็ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน ด้วยการกระทำที่สง่างาม เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้
“เจ้าพนักงาน” ทุจริตแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหา
กว่าจะเดินทางมาจนถึง “จุดวิกฤต” ทุกองค์กรจะต้องผ่านความผิดพลาด น่าจะพบกับความจริงว่า ไม่มีปัญหาใดจะเลวร้ายเท่า “ภาวะผู้นำ”!?!!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022