ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังเลนส์ในดงลึก |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
เดือนพฤษภาคม
ในกระแสลมร้อนอบอ้าว เริ่มมีไอเย็นๆ แทรกเข้ามา เป็นเวลาที่ลมมรสุมจากมหาสมุทรจะพัดพานำไอน้ำเข้ามาในแผ่นดินแล้ว ความชื้นในบรรยากาศเพิ่มขึ้น อุณหภูมิร้อนจัด ความร้อนนี้พัดพาไอน้ำและอากาศขึ้นไปในบรรยากาศเบื้องสูง จนกระทั่งรวมตัวตกลงมาเป็นฝน หยาดฝนระลอกแรกโปรย เป็นสัญญาณว่า สิ่งที่รอคอยกำลังจะมาถึง
…แค่เพียงฝนแรก สภาพป่าก็เปลี่ยนไป…พืชและเห็ดหลายชนิดงอก มีสีเขียวอ่อนๆ แทรกและกลายเป็นความเขียวขจี ในช่วงเวลาราวสองสัปดาห์ ความเขียวขจีนี้คือระบัด หรือหญ้าอ่อนๆ นี่คือสิ่งที่ เหล่าสัตว์กินพืชรอคอย ระบัดเป็นสิ่งพิเศษสุดสำหรับสัตว์กินพืช กวาง เก้ง กระทิง วนเวียนอยู่ในทุ่ง ทั้งวันทั้งคืน ช้างเข้ามาเมื่อระบัดสูงพอที่จะใช้งวงรัดถอนขึ้นมากินได้
และเช่นเคย สัตว์ผู้ล่าก็มาถึง ท่ามกลางความสมบูรณ์ของอาหาร ขณะพบความสมหวัง พบกับสิ่งที่รอคอย หลายชีวิตจบลง
ความมีชีวิต และความตายอยู่ไม่ไกลกัน
สัตว์ป่าสอนผมอย่างหนึ่ง ในความยากลำบาก ต้องเชื่อว่า มีความอุดมสมบูรณ์รออยู่ และขณะหวังถึงวันข้างหน้า สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ทำให้วันนี้ไร้ความหมาย
สายฝนทำให้หญ้าริมฝั่งห้วยเขียวสะพรั่ง ต้นไม้ชื่นชมยินดีกับความชุ่มชื้นเร่งผลิใบ แสงแดด แร่ธาตุ น้ำ มีพร้อมแล้ว
นกยูงตัวผู้ ซึ่งไร้หางยาวสลวย ทำท่าหวงถิ่นเดินไปมา ลำห้วยเป็นที่พักผ่อนของควายป่า พวกมันนอนแช่น้ำตลอดวัน
ฝนตกทุกบ่าย เบาสลับหนัก สายลมกระโชกแรง พอฝนซา นกยูงยืนผึ่งปีกบนก้อนหิน หลายตัวขึ้นไปบนต้นไม้ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ริมฝั่งมีสภาพเป็นดงหญ้ารกทึบ ฝูงนกยูงเดินในดงหญ้าเห็นเพียงส่วนหัว ควายป่าร่างกำยำก็ถูกบังเกือบมิดตัว
นกยางกรอก นกกระเต็นใหญ่ นกกระเต็นอกขาว ใช้เวลาช่วงบ่ายรอริมๆ ฝั่ง กระแสน้ำที่เพิ่มระดับ มาพร้อมกับปลาที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมาจำนวนมาก
ปากของนกกระเต็นได้รับการออกแบบมาเป็นหอกแหลม การโผลงน้ำ มีเป้าหมายที่เหยื่อ จึงคล้ายหอกที่พุ่งเข้าหาเป้า
มันโผล่ขึ้นจากน้ำด้วยปากอันว่างเปล่า แม้จะอดทน รอคอย มีทักษะสูง แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะประสบผลสำเร็จ มันกลับมาเกาะกิ่งเดิม เฝ้ารอจังหวะอีกครั้ง
ในฐานะนักล่า การพลาดและเริ่มต้นใหม่ คือสิ่งที่มาพร้อมกับงานของพวกมัน
ในโป่ง แม่เก้งพาลูกเดินช้าๆ ไปกินน้ำ เช่นเดียวกับนกหกเล็กปากแดง นกเขาเปล้า
ช่วงบ่าย เป็นเวลาของวัวแดง ที่ใช้เวลาในโป่งอย่างสำราญ
เวลาแห่งความอดอยากหมดไปแล้ว ทุกหนแห่งมีน้ำและอาหาร
ฝูงช้างผละออกจากลำห้วยที่วนเวียนอยู่ไม่ไกลในช่วงแล้ง พวกมันลัดเลาะไปตามด่าน ผ่านดงไผ่มุ่งสู่โป่ง บุกเบิกเส้นทางด่านรกทึบถูกแหวกเป็นช่อง กระทิง วัวแดง กวาง เก้ง ใช้เส้นทางนี้อย่างสบาย
ฝนตกหนักยิ่งขึ้น ป่าเต็งรังที่โปร่งโล่ง ตอนนี้รกทึบ สายหมอกหนาปกคลุมทุกเช้า ท้องฟ้ามืดครึ้มตลอดวัน ผีเสื้อบินร่อนอยู่ทุกหนแห่ง เป็นช่วงเวลาที่มวลหมู่แมลงพากันวางไข่ ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดินในโป่งเละ อยู่ในสภาพกินง่าย โคลนที่กวางลงนอนคลุกเมื่อแห้งมันคือเกราะกำบังแมลงที่ดี
หมูป่าตัวผู้เดินเข้ามา การเป็นสัตว์โทนของมันก็เช่นเดียวกับสัตว์โทนตัวอื่นๆ พวกมันรู้ดีว่า ดวงตาและหูเพียงคู่เดียวย่อมสู้ดวงตาและหูหลายๆ คู่แบบการอยู่ร่วมฝูงไม่ได้
นอกจากต้องใช้สัญชาตญาณของตัวเอง ยังต้องอาศัยสัญชาตญาณของบรรดายามอาชีพ อย่างกระรอก นกกระแตหาด และเก้ง ซึ่งมีทักษะในการระวังภัยสูง
สัตว์ตัวผู้ต้องออกจากฝูงมาอยู่ลำพัง เป็นการจัดการของตัวเมียอาวุโสผู้นำฝูง เหตุผลสำคัญคือป้องกันการผสมแบบเลือดชิด
ออกมาอยู่ลำพังไม่ใช่เรื่องง่าย ประสาทต้องแข็ง ต้องกล้า สัตว์โทนหลายตัวมีท่วงท่าก้าวร้าวไม่ยินดีต้อนรับผู้บุกรุก ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากออกจากฝูง ใช้ชีวิตลำพังในป่าใหญ่แล้วรักษาพื้นที่ของตัวเองไว้ไม่ได้
การเป็นสัตว์โทนก็ไม่มีความหมายอะไร
บนเส้นทางของสัตว์โทนนั้นไม่ง่าย หลายตัวรู้ดีว่านี่อาจเป็นฤดูฝนสุดท้าย แต่สัตว์โทนทุกตัวก็รู้ดีว่า
วันนี้ คือช่วงฤดูฝน ที่อาหารอุดมสมบูรณ์ และวันพรุ่งนี้ยังมาไม่ถึง… •
หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022