MAHARAJ ‘คดีหมิ่นประมาท’

นพมาส แววหงส์

Maharaj (2024) ซึ่งต้องไม่เอาไปสับสนกับหนัง Maharaja (2024) เป็นหนังนิยายประวัติศาสตร์ที่ได้แรงบันดาลใจจากคดีหมิ่นประมาทที่เป็นคดีความฟ้องร้องกันใน ค.ศ.1862 และนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในชื่อเดียวกันของ Saurabh Shah

คดีดังกล่าวคือ Maharaj Libel Case of 1862 ในศาลของบอมเบย์ในอินเดียใต้การปกครองของอังกฤษ

อินเดียเป็นดินแดนแห่งชนชั้นวรรณะมานานหลายพันปี จวบจนกระทั่งในปัจจุบัน

นั่นหมายความว่ากำเนิดเป็นเครื่องแบ่งแยกและกำหนดสถานะในสังคมของชาวฮินดูแบบตายตัวและเปลี่ยนแปลงไม่ได้

เกิดมาในวรรณะใด ก็ต้องติดตราของชนชั้นวรรณะนั้นไปจนตลอดชีพ และจะส่งต่อไปให้แก่ลูกหลานชั่วกาลนาน

สถานะทางสังคมไม่มีการเคลื่อนไหวถ่ายเทกันไปมา แต่หยุดนิ่งอยู่กับที่เหมือนแยกกันอยู่คนละส่วนคนละภาค ไม่มีการข้ามสายไปแต่งงานกันให้เลือดไม่บริสุทธิ์ กลายเป็น “จัณฑาล” หรือ The Untouchable ซึ่งถือว่าต่ำยิ่งกว่าต่ำจนไม่มีใครกล้าแตะต้องเนื้อตัว ด้วยเกรงจะเป็นเสนียดจัญไร

พวกจัณฑาล หรือที่เรียกว่า “ดาลิต” ต่อมากลายเป็นประเด็นการต่อสู้ทางสังคมในยุคที่ ดร.อัมเบดการ์ นำพาให้คนในวรรณะนั้นเปลี่ยนมาเป็นพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมหาศาลในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20

ย้อนกลับไปในเมืองบอมเบย์ (ปัจจุบันคือมุมไบ) สมัยที่อินเดียปกครองในคริสตศตวรรษที่ 19 มีความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาแตกแขนงไปหลายหลากมากมาย

หนึ่งในนั้นคือลัทธิบูชาพระกฤษณะที่เรียกว่า Bhakt (ภักดี)

คำเรียกเจ้าลัทธิ คือ มหาราช ถือว่าเป็นตัวแทนขององค์พระกฤษณะบนโลก จะเรียกว่าเป็นอวตารก็คงได้กระมัง ดังนั้น สาวกจึงเชื่อว่ามหาราชไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา แต่เป็นเทพที่ต้องบูชา

หนึ่งในพิธีกรรมบูชาเทพคือพิธี “จรัญเสวะ” (Charan seva) นั่นคือการให้เด็กหญิงวัยแรกผลิเข้ารับใช้ถวายตัว ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติยศและมงคลอย่างยิ่งแก่วงศ์ตระกูลและครอบครัว

มหาราชในกรณีนี้คือ มหาราชยธุนาถ (ชัยทีป อาลวัต) หรือในหนังเรียกด้วยชื่อย่อว่า “เจเจ”

และเด็กสาวที่ต้องตาต้องใจมหาราชจนเจาะจงให้เข้าไปถวายตัวคือ กิโชรี (ชาลินี ปันเดย์)

การประกอบพิธีนี้ก็ชวนขนลุกขนพองสยองเกล้าด้วย นั่นคือ กระทำท่ามกลางสายตาของผู้ชมที่จ่ายเงินเข้ามาดูโชว์ตามบัญชรช่องเปิดเบื้องบนห้องส่วนตัวของมหาราช

การแสดงหรือโชว์ที่เรียกเก็บเงินจากผู้ชมนี้ คือการสังวาสของเทพกับเด็กสาว

พระเอกของเรื่องคือ กรสันทาส มุลจี (จูนาอิด ข่าน) เป็นคู่หมั้นของกิโชรี ที่กำลังจะเข้าพิธีแต่งงานกันในไม่ช้า

มุลจีเป็นกำพร้า อยู่ในความปกครองของลุงและป้า และเป็นคนช่างสงสัยชอบหาความรู้มาแต่เด็ก เขาไม่ยอมรับสิ่งต่างๆ เพียงเพราะได้รับการสั่งสอนอบรมหรือบอกเล่าต่อกันมา

เขาโตขึ้นเป็นนักปฏิรูปสังคม ตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ และเป็นนักเขียนของหนังสือพิมพ์ชื่อ “สัตยาประกาศ” (Satyaprakash)

เมื่อได้ไปเห็นพิธีกรรมที่มีคู่หมั้นตัวเองมีส่วนร่วมอยู่ด้วยโดยไม่ได้ปรึกษาหารือหรือขอความเห็นเขาก่อน และดูเหมือนจะโดยเต็มใจ ไม่มีการบังคับข่มขู่แต่อย่างใด

มุลจีจึงโกรธเกรี้ยวและบอกเลิกการหมั้นหมายตัดสัมพันธ์กับผู้ที่จะมาเป็นภรรยาโดยสิ้นเชิง

กิโชรีทั้งเสียใจ ผิดหวัง อับอายและอับจนหนทาง จนตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง

มุลจีจึงถือเป็นหน้าที่และความชอบธรรมที่จะต้องเปิดโปงการใช้อำนาจในทางผิดของเจ้าลัทธิ ด้วยการเขียนบทความต่อต้าน

เจเจ (ซึ่งสวมบทโดยนักแสดงเจ้าบทบาท และแสดงอย่างได้ใจไปเลย) ข่มขวัญแต่แรกว่าการต่อสู้ของมุลจีนั้นป่วยการสู้ เพราะสถานะ “มหาราช” นั้นยิ่งใหญ่กว่าสถานะ “ทาส” ของมุลจีอย่างเทียบไม่ติด

มิไยที่บารมีและอิทธิพลของเจเจจะขัดขวางกลั่นแกล้งวิถีทางต่อสู้ของมุลจีเพียงใด…ให้ครอบครัวตัดขาดความสัมพันธ์ ไล่ออกจากบ้าน ข่มขู่เจ้าของหนังสือพิมพ์ ปิดปากพยาน จนถึงขั้นจุดไฟเผาสถานที่ทำงาน ฯลฯ…แต่มุลจีก็ไม่ยอมสยบราบคาบ

ที่สุดแล้ว มหาราชยธุนาถ หรือเจเจ ก็ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหายจำนวนโขอยู่ ขนาดที่มุลจีไม่มีปัญญาจ่ายแน่นอน และจะต้องติดคุกชดใช้

หนังเล่าเรื่องราวการต่อสู้ต่ออำนาจอันไม่เป็นธรรมในสังคมอินเดียที่ยังเป็นสังคมที่กดขี่ข่มเหงคนด้อยโอกาส

ในแบบฉบับของหนังบอลลีวู้ด คือมีฉากการร้องและเต้นตระการตาไปด้วย

หนังใช้เวลาอยู่ที่คดีความในศาลเฉพาะในช่วงท้ายเรื่อง

ดูหนังจบแล้ว ผู้เขียนนึกสนใจใคร่รู้ในผลของคำพิพากษาในคดีที่เกิดขึ้นจริง จึงลองไปค้นดูและได้พบว่ามีความแตกต่างระหว่างคำพิพากษาที่เกิดขึ้นจริงเมื่อ 160+ ปีที่แล้ว กับตอนจบของหนัง

ณ เวลาซึ่งความยุติธรรมอาจจะยังแผ่ไปปกคลุมไม่ถึงสังคมที่เสียงของชนชั้นล่างยังไม่ดังกึกก้องเท่าเสียงและอิทธิพลของชนชั้นสูง

ประวัติศาสตร์สะท้อนและเตือนใจให้เราเห็นภาพสังคมมนุษย์ได้อย่างชวนสะท้อนใจ…

หนังฉายในเน็ตฟลิกซ์นะคะ •

MAHARAJ

กำกับการแสดง

Siddharth P. Malhotra

นำแสดง

Junaid Khan

Jaideep Ahlawat

Shalini Pandey

Shavari

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์