Temu อาวุธลับจีนบุก ส่งออก ‘สินค้าราคาถูก’ ถล่มโลก โจทย์ใหญ่ประเทศไทย

(Photo by JUSTIN SULLIVAN / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)

ปรากฏการณ์ “สินค้าจีน” ทะลักประเทศไทย ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และล่าสุดเป็นกระแสร้อนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีน อย่าง Temu ที่เน้นขายสินค้าราคาถูก โดยใช้โมเดลขายตรงจากโรงงานถึงมือผู้บริโภค บุกตลาดไทย

ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนชะลอตัว หลังจากภาคอสังหาริมทรัพย์จีนเจอวิกฤต ทางการจีนจึงหันมาใช้อุตสาหกรรมการผลิตเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยนโยบายเร่งการผลิตสินค้าล้นเกินความต้องการ เพื่อส่งออก “สินค้าราคาถูก” ถล่มตลาดโลก

เมื่อเป็นเช่นนี้อุปทานส่วนเกินต่างๆ ในจีนนี้ผลักให้ผู้ประกอบการจีนต้องปรับลดราคาสินค้า หรืออาจคงระดับราคาไว้ในระดับต่ำเพื่อให้ยังสามารถขายสินค้าได้

รายงานข่าวระบุว่าแพลตฟอร์ม “อีคอมเมิร์ซ” ถือเป็นอาวุธลับสำคัญของจีนในการใช้เป็นช่องทางกระจายสินค้าจีนออกสู่ตลาดโลก โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนเติบโตขึ้นมากกว่า 10 เท่า โดยสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 จีนมีนิคมอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนกว่า 1,000 แห่ง และมีคลังสินค้าในต่างประเทศกว่า 2,500 แห่งทั่วโลก

 

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ และผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง TARAD.com กล่าวว่า ในปีหลังๆ มานี้เห็นสินค้าจีนทะลักเข้าไทย ทั้งที่คุณภาพดีและที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะมีคนมาทำหน้าร้านออฟไลน์ ทำโกดัง และขนส่งให้แบบครบวงจร

ขณะที่รัฐบาลจีนก็สนับสนุนผู้ประกอบการในการผลิตเพื่อการส่งออก มีการผลิตสินค้าออกมาจำนวนมากด้วยต้นทุนที่ต่ำโดยมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นอาวุธสำคัญในช่องทางการขายสินค้า

“ปัญหาคือที่ผ่านมาไม่มีการปกป้องผู้ประกอบการไทยเลย แถมปล่อยปละให้สินค้าไม่ดีทะลักเข้ามาในประเทศ”

นายภาวุธกล่าวว่า เมื่อสินค้าจีนทะลัก สุดท้ายผู้ผลิตสินค้าไทยก็แข่งขันราคาไม่ได้ ก็ต้องปิดโรงงานแล้วหันมาซื้อของจีนราคาถูกมาขายต่อง่ายกว่า แต่เมื่อยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่าง Temu เข้ามาในประเทศไทย ได้สร้างความน่ากังวลหลายอย่าง อย่างแรก สินค้าที่ขายอยู่บนแพลตฟอร์มเป็นสินค้าจีนเกือบทั้งหมด และเป็นโมเดลขายตรงจากโรงงานในจีนสู่ผู้บริโภค (Manufacturer to Consumer) เวลาคนไทยซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม เงินไหลออกนอกประเทศ 100% ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก อีกทั้งแพลตฟอร์มยังไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้บังคับใช้กฎหมายในไทย ทำให้ไม่สามารถดึงเม็ดเงินเข้าประเทศผ่านระบบจัดเก็บภาษีได้

จุดแข็งของ Temu อีกข้อมีการแชร์ดาต้าของผู้ซื้อให้กับโรงงานผลิตสินค้าในจีน ทำให้ผู้ผลิตชาวจีนสามารถเข้าใจความชอบหรือพฤติกรรมของคนไทยมากขึ้น และผลิตสินค้ามาตีตลาดในไทยได้ง่าย ผู้ประกอบการไทยจะยิ่งแข่งขันลำบากขึ้น โดยในกรณีของ Shopee และ Lazada ยังมีพื้นที่ให้ร้านค้าไทยได้ขายสินค้า แต่ Temu ไม่มีเลย

ด้วยศักยภาพของจีนที่สามารถผลิตสินค้าทำต้นทุนสินค้าได้ต่ำมาก กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้โรงงานการผลิตของไทยโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบทั้งซัพพลายเชน

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม 6 เดือนแรกของปี 2567 พบว่ามีโรงงานปิดแล้ว 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ากว่า 80% พร้อมแนวโน้มการปิดตัวของโรงงานที่อาจรุนแรงขึ้น

พร้อมวิเคราะห์ว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 ตลาดโลกและไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาจากการที่จีนมีกำลังการผลิตสินค้าส่วนเกิน ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงโซลาร์ และเส้นใยสังเคราะห์ แนวโน้มไทยนำเข้าสินค้าอุปโภค บริโภคจากจีนเพิ่มมากขึ้น

“สินค้าที่จีนมีกำลังการผลิตส่วนเกินทำให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจีนราคาถูกที่เข้ามาตีตลาดในประเทศ ท่ามกลางต้นทุนธุรกิจในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น”

ความน่ากลัวของ Temu ของจีนเป็นโมเดลสั่งสินค้าตรงจากโรงงานถึงมือผู้บริโภค ด้วยสโลแกน “Shop Like a Billionaire” หรือช้อปปิ้งเหมือนเศรษฐี เพราะสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์มมีราคาถูกมาก

เน้นทำการตลาดโดยใช้โปรโมชั่นที่น่าสนใจ และการจัดส่งที่รวดเร็ว เนื่องจากมีระบบโลจิสติกส์ที่ดี ทำให้สามารถสร้างฐานผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ใช้บุกตลาดไทย โดยมีการนำเสนอส่วนลดสูงสุด 90% จัดส่งฟรี การันตีสินค้าถึงมือผู้ซื้อประมาณ 1 สัปดาห์ และคืนสินค้าได้ฟรีภายใน 90 วัน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า Temu เหมือนเป็นสนามรบของสงครามการค้ารอบใหม่ ที่หนักสุด จากเดิมที่เราเจอช้อปปี้ ลาซาด้า TikTok ก็ยังไม่หนักเท่านี้ เพราะ Temu สินค้าจากโรงงานเป็นแสนโรง ขายเข้ามามีทุกประเภทอุตสาหกรรมของไทยกระทบหมด เรียกว่าเป็น “หมัดน็อก” ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมไทยเลยก็ว่าได้

ขณะที่ภาคธุรกิจต่างๆ เรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย

 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เรื่องการเข้ามาของ Temu กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้มาดูเรื่องนี้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว กรณีปัญหาสินค้าจีนที่เข้ามานั้น ขณะนี้เตรียมการประชุมกับ 3 หน่วยงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ

เรื่องที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับสินค้าที่นำมาขาย ถ้าเป็นเรื่องอาหาร ยา ต้องคุยกับ อย. ถ้าเป็นอุตสาหกรรม ต้องดูมาตรฐานอุตสาหกรรม ถ้าเรื่องการค้าต่างประเทศ ต้องดูการทุ่มตลาด ทั้งหมดอยู่ภายใต้กฎ WTO และดูว่าเราจะควบคุม ป้องกันตัวเองอย่างไร เราไม่ได้นิ่งนอนใจ

“ยอมรับว่าเราต้องเท่าทันและเตรียมเรื่องนี้ให้ทัน อาจจะต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมาย หรือปรับกระบวนการทำงานให้มากขึ้น แต่เรื่องนี้ไม่ใช่การต่อต้านอะไร แต่เป็นเรื่องปฏิบัติตามกฎหมายให้เข้มงวดเพื่อการปกป้องผู้บริโภคชาวไทยได้ดีมากยิ่งขึ้น เราต้องมาดูว่าเราจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร” นายภูมิธรรมกล่าว และว่า

ประเด็นที่แพลตฟอร์มจีนเข้ามา ไม่ได้แค่ตัดคนกลางเท่านั้น แต่ตัดไปถึงโรงงาน ทำให้ร้านค้าที่เป็นอีคอมเมิร์ซด้วยกันก็อาจจะสู้กันยากลำบาก เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการแข่งขัน และยิ่งความต้องการสินค้ามาก ยิ่งทำให้ราคาสินค้าถูกมาก นี่คือกฎกติกาที่จะเกิดขึ้นในโลก

และนี่คงเป็นศึกครั้งใหญ่ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ว่าจะอยู่หรือไป