ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
อย่าไปคิดว่าเราเป็นประเทศเอกราชแล้วจะทำอะไรก็ได้ ในแบบที่เราเคยเรียกว่า แบบไทยๆ ถึงแม้เป็นเรื่องที่ทำในประเทศไทย แต่เราเป็นสมาชิกของหลายองค์กรในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองการปกครอง กฎหมาย การยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจการค้า ระบบการเงิน การกีฬา ฯลฯ ดังนั้น จึงมีกฎเกณฑ์ระดับสากลที่ถือเป็นมาตรฐาน
วันที่ 5 มกราคม 2567 มีการจัดเวทีสาธารณะด้านหลักนิติธรรม (Rule of Law Forum) โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ The World Justice Project (WJP) และสำนักข่าว THE STANDARD เพื่อเป็นเวทีในการสื่อสารประเด็นเรื่องหลักนิติธรรมสู่สาธารณะ และเป็นจุดเริ่มต้นในการฟื้นฟูหลักนิติธรรมในประเทศให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม (สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย อยู่ในสังกัดสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม)
มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจคือ…
ข้อมูลสถิติเชิงลึกของกลุ่มนักวิจัย The World Justice Project เผยแพร่ดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ประจำปี 2566 ของ 142 ประเทศทั่วโลกซึ่งจัดทำจากข้อมูลการสำรวจประสบการณ์และความรับรู้ต่อหลักนิติธรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนมากกว่า 149,000 ครัวเรือน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกกว่า 3,400 คน โดยพบว่าประเทศที่มีหลักนิติธรรมเข้มแข็งมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน และเยอรมนี ขณะที่ประเทศที่มีหลักนิติธรรมอ่อนแอ 5 อันดับสุดท้าย ได้แก่ เวเนซุเอลา กัมพูชา อัฟกานิสถาน เฮติ และคองโก ตามลำดับ
สรุปได้ว่าระหว่าง พ.ศ.2565-2566 พบว่า หลักนิติธรรม ระบบยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีความอ่อนแอและถดถอยลงนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีหลักนิติธรรม
ความยุติธรรมของไทย
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศทั่วโลก
ดัชนีวัดหลักนิติธรรมของโครงการความยุติธรรมแห่งโลก (The World Justice Project (WJP) ประจำปี 2023 ประเทศไทยมีอันดับดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) อยู่ที่ 82 ได้คะแนน 0.49 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน
โดย 1 คือการมีหลักนิติธรรมเข้มแข็งมากที่สุด และ 0 คือมีหลักนิติธรรมอ่อนแอที่สุด อันดับของไทยถดถอยลงจากปี 2565 ซึ่งได้อันดับที่ 80 ได้คะแนน 0.50 คะแนน
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 4 รองจากสิงคโปร์ (อันดับที่ 17) มาเลเซีย (อันดับที่ 55) และอินโดนีเซีย (อันดับที่ 66) ขณะที่เมียนมา (อันดับที่ 135) และกัมพูชา (อันดับที่ 141)
เขามีวิธีให้คะแนนตาม 8 ปัจจัยใหญ่
1. การจำกัดอำนาจของรัฐบาล ได้ 0.45 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 100
2. การปราศจากการคอร์รัปชั่น ได้ 0.45 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 72
3. รัฐบาลที่โปร่งใส ได้ 0.48 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 77
4. สิทธิขั้นพื้นฐาน ได้ 0.46 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101
5. ระเบียบและความมั่นคง ได้ 0.74 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 65
6. การบังคับใช้กฎหมาย ได้ 0.44 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 103
7. กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ได้ 0.49 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 87
8. กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้เพียง 0.41 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 76
ในแต่ละหัวข้อยังมีปัจจัยย่อย ที่จะทำให้การให้คะแนนละเอียดขึ้น
เช่น…
ทำไมไทยอยู่ในอันดับที่ 103
ในการบังคับใช้กฎหมาย ได้ 0.44 คะแนน
เพราะเขาพิจารณาจากปัจจัยย่อยคือ
มีการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างมีประสิทธิภาพ
กฎระเบียบถูกประยุกต์ใช้และบังคับใช้โดยปราศจากอิทธิพลใดๆ ครอบงำ
การบริหารงานเป็นไปด้วยความไม่ล่าช้า
ขั้นตอนการทำงานเป็นไปตามกฎเกณฑ์อย่างตรงไปตรงมา
รัฐบาลไม่เวนคืนทรัพย์สินโดยปราศจากกระบวนการทางกฎหมายและการชดเชยที่เพียงพอ
ท่านสามารถทดลองให้คะแนนเองได้ เช่น
คดีการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่ยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ดำเนินมาจนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย จากกรณีทุจริตเลือกตั้ง ส่งผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ แกนนำพันธมิตรฯ จึงประกาศยุติการชุมนุมในวันถัดมาที่ 3 ธันวาคม รวมระยะเวลาการชุมนุมปิดสนามบินทั้งสิ้น 10 วัน
สำหรับความเสียหายต่อเศรษฐกิจจากการปิดสนามบิน 2 แห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกรายงานเมื่อปี 2552 วิเคราะห์ผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจท่องเที่ยว รวมความเสียหาย 2.9 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นภาคบริการ 1.2 แสนล้านบาท ภาคขนส่ง 9 พันล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม 6 พันล้านบาท
คดีนี้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการปิดสนามบิน ศาลสั่งให้จำเลยทั้งหมดต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเงินกว่า 522 ล้านบาท
คดีชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม- 3 ธันวาคม 2551
13 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกอดีตแกนนำพันธมิตรฯ 6 คน เป็นเวลา 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ได้รับการพระราชทานอภัยโทษทั้งหมด โดย 5 คน รวมระยะเวลารับโทษราว 3 เดือน
คดีชุมนุมดาวกระจาย สิ้นสุดแล้ว แกนนำ 3 คน รับโทษจำคุกจริงกว่า 4 เดือน
ศาลฎีกาคดีชุมนุมปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ บ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550 ที่แกนนำ นปช.นำมวลชนปิดล้อม โดยศาลฎีกาสั่งให้จำคุกกลุ่มแกนนำ นปช. จำเลย 5 คน เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
ทำไมเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของไทย
ได้ 0.46 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101
ปัจจัยย่อยคือ
มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และไม่มีการเลือกปฏิบัติ
มีการรับประกันสิทธิในชีวิตและความมั่นคงปลอดภัยของบุคคล
มีกระบวนการออกกฎหมายที่เป็นธรรม
มีการรับประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก
มีการรับประกันเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาและความเชื่อ
มีการรับประกันเสรีภาพในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล
มีการรับประกันเสรีภาพในการรวมตัวเป็นหมู่คณะหรือสมาคม
มีการรับประกันเสรีภาพในสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน
คาดว่าคะแนนข้อนี้คงมาจากปัญหาคดี 112
เพราะกฎหมายหลักสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ ขัดกับกฎหมาย มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และการตีความ ก็แล้วแต่ผู้มีอำนาจ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสิทธิการประกันตัว
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับจากกรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,947 คน ในจำนวน 1,268 คดี
ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 217 คดี
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,962 ครั้ง
สถานการณ์นับจากปี 2549 เป็นต้นมา การมีองค์กรอิสระมิได้ทำให้กลไกการตรวจสอบเข้มแข็ง แต่นำไปสู่ความขัดแย้ง กลายเป็นการใช้กฎหมายมาเป็นอำนาจปกครอง (Rule by Law) และคงอำนาจตัวเองไว้ ทำลายคู่แข่งทางการเมือง และผู้เห็นต่าง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022