ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี
คุยกับ ‘จิรัฏฐ์-ชุติพงศ์’
‘2 ส.ส.หนุ่ม’ ผู้ไม่ค่อยเข้าใจ ‘การเมืองไทย’
หมายเหตุ รายการ The Politics ทางช่องยูทูบมติชนทีวี สัมภาษณ์ “จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 4 และ “ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ” ส.ส.ระยอง เขต 4 พรรคก้าวไกล ว่าด้วยกรณียุบพรรคก้าวไกล และอนาคตของพรรคการเมืองพรรคนี้
: คุณจิรัฏฐ์ผ่านประสบการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่มาแล้ว รอบนี้ ภูมิต้านทานเพิ่มมากขึ้นไหม หรือเราเข้าใจการเมืองมากกว่าเดิมไหม?
จิรัฏฐ์ : ไม่เข้าใจเหมือนเดิมครับ ภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นไหม? ผมว่ารอบนี้ก็เศร้าเหมือนเดิม ร้องไห้เหมือนเดิม แต่ว่ามันก็เท่านั้น เรารู้ว่าเราต้องทำงานต่ออยู่แล้ว สิ่งที่เราวางแผนไว้ว่าจะทำ มันสำคัญกว่าเยอะ
: คุณท็อป (ชุติพงศ์) แม้จะเป็น ส.ส.ใหม่ แต่ว่าที่ผ่านมาก็เป็นทีมงานเบื้องหลังของพรรค ความรู้สึกตอนยุบอนาคตใหม่กับตอนนี้มันต่างกันไหม?
ชุติพงศ์ : ตอนนั้น เรารู้สึกโดยเข้าใจมันน้อยกว่านี้ เป็นความโกรธ ความเสียใจ เป็นความไม่เข้าใจ
การยุบพรรคอนาคตใหม่ทำให้คนที่แค่อยากจะเป็นอาสาสมัครธรรมดาแบบผมมาอยู่ตรงนี้ ผมมาในฐานะอาสาสมัครของก้าวไกลระยอง แล้วก็ยิ่งพรรคถูกทำอะไรเท่าไหร่ เรายิ่งรู้สึกเราต้องออกแรงมากขึ้นเพื่อช่วยพรรคนี้ และสิ่งที่เขาทำ (ยุบพรรค) ส่งผมมาตรงนี้ (การได้เป็น ส.ส.) ผ่านการเลือกของประชาชน
ดังนั้น ภูมิคุ้มกันแบบที่จิรัฏฐ์ว่า สำหรับผมมันก็สะสมมาแล้ว ผมเชื่อว่าผมได้บทเรียนและเรียนรู้จากมันว่า การยุบพรรคจะพาคนเข้ามาที่นี่อีกเยอะมาก
คงต้องถามกลับไปว่า ฝั่งที่เขาทำ เขาได้บทเรียนและเรียนรู้จากมันไปมากน้อยแค่ไหน? เรื่องนี้ถามเรา เราเองทำอะไรได้แค่ไหนกัน เต็มที่เราก็ได้แต่อภิปรายในสภา เราก็ได้แต่ยื่นข้อกฎหมาย เราก็ได้แต่คุยกับประชาชน อำนาจไม่ได้อยู่ที่เรา ว่าเราจะมีชีวิตรอดในทางการเมืองหรือไม่ แต่เรารอดเสมอ ถ้าประชาชนเลือก และยิ่งทำกับเรา คนยิ่งรู้จักเรา
(หันไปถามจิรัฏฐ์) รอบหน้าเท่าไหร่ 300 (เสียง)?
: จากเบื้องหลังสู่เบื้องหน้า แสดงว่าเราเข้าใจการเมืองไทยแล้ว ว่าถ้าสู้ไม่ได้ ก็เอากันแบบนี้แหละ
ชุติพงศ์ : (หันไปพูดกับจิรัฏฐ์) เรื่องนี้ตลกมาก ผมคุยกับคุณจำได้เปล่า? วันที่เลือกตั้งจบ นี่ (จิรัฏฐ์) เป็นคนแรกที่เดินมาบอกผม แล้วตรงกับที่ผมคิด ว่าเราไม่ได้เป็นรัฐบาลหรอก
ตอนนั้น รู้ตัวเลข (ส.ส.) แล้ว จับมือ (กับเพื่อไทย) กันแล้วด้วย ผมกับจิรัฏฐ์คุยกัน จิรัฏฐ์บอกเราไม่ได้เป็นรัฐบาลหรอก ผมบอก เออ ผมก็ว่างั้นแหละ แต่เราไม่ได้คุยใน (ที่ประชุม) พรรค (หัวเราะ) ตอนนั้น เราไปสัมมนาอยู่ใช่ไหม
: แสดงว่าคุณสองคนเป็นคนที่เข้าใจการเมืองไทยดีมาก
ชุติพงศ์ : ทำไมเราต้องเข้าใจมันแบบนี้ด้วย มันไม่ใช่เรื่องปกติมั้ยเนี่ย?
: การมองว่ารอบนี้ยุบก้าวไกล แล้วรอบหน้าพรรคใหม่ที่มาแทนก้าวไกลจะได้ ส.ส. 300 คนนี่ มันจะง่ายขนาดนั้นเลยหรือ? อีกมุมหนึ่ง อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็เตือนว่า ถ้าก้าวไกลคิดอย่างนั้น ระวัง ส.ส.จะไม่ทำงาน และเกิดแนวคิดส่ง “เสาไฟฟ้า” ลงเลือกตั้งก็ยังชนะ
ชุติพงศ์ : มันไม่ใช่แบบนั้น เมื่อกี๊ ผมอาจจะพูดติดตลก แต่ขยายความหน่อยแล้วกัน คือ การเมืองมันเป็นเรื่องของความรู้สึกของประชาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และพรรคการเมืองใดตอบโจทย์เขามากกว่ากัน อันนี้คือข้อสำคัญ
แล้วก็การทำงานในพรรค ผมยืนยันได้ว่า ทุกครั้งที่มีการประชุม มีการพูดถึงสิ่งที่จะต้องทำของ ส.ส.ในพรรค เราได้รับการพูดอยู่เสมอว่า ทำงานของเราให้ดีที่สุด ให้ประชาชนรู้สึกว่าเราคือคุณค่าที่เขาเลือกมาแล้วไม่ผิดหวัง นั่นคือคุณค่าของ ส.ส.ก้าวไกล ที่เป็นคนธรรมดา มนุษย์ธรรมดาที่ถูกเลือกเข้ามาพูดแทนเขา สื่อสารแทนเขา ทำหน้าที่แทนเขา (ประชาชน)
อันนี้คือสิ่งที่ ส.ส.ก้าวไกลทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.เขต หรือบัญชีรายชื่อ ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วทำให้สิ่งนี้มันตอกย้ำเมื่อวันเลือกตั้งมาถึง ว่าคนธรรมดาที่เลือกเข้าไป ไม่มีข้อผูกมัดกับกลุ่มทุนกลุ่มไหนนี่แหละ คือสิ่งที่ตอบโจทย์และควรเลือกต่อ
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพรรคการเมืองที่มีคนเหล่านี้อยู่ นี่คือสิ่งที่ก้าวไกลพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตัวเลขเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง
แต่สิ่งที่เราถูกกระทำ คือตัวเร่งที่เขาจะทำหรือไม่ทำก็ได้ อันนี้พูดกันตรงๆ ไม่ได้อยู่ในมือเรา ถามว่าเราต้องกังวลว่าจะถูกยุบพรรคอยู่เรื่อยๆ เลยหรือไม่ เราไม่อยากได้ตัวเร่งนี้อยู่แล้ว มันไม่ได้อยู่ในมือเรานี่ แต่เราทุกคนทำสิ่งที่อยู่ในมืออย่างเต็มที่
ผมก็พยายาม อย่างเรื่องสารเคมีในบ้านผม ผมก็พยายามสุดฝีมือ สิ่งที่จิรัฏฐ์ทำได้ในกรรมาธิการและที่บ้านเขา เขาก็ทำอย่างสุดฝีมือ เรื่องนี้คือสิ่งที่เราทำเพื่อให้ความเชื่อมั่นประชาชนสูงพอที่ตัวเลข ส.ส.จะมากถึงระดับนั้น ไม่ว่าจะเกิดการยุบหรือไม่ยุบก็ตาม อันนี้คือเพื่อไปให้ถึง 300 นั่นคือเป้า และเรากำลังเดินไปทางนั้นอยู่
จิรัฏฐ์ : ผมว่าปัจจัยที่ทำให้เราได้ ส.ส.เยอะ มันไม่ใช่เพราะเราถูกยุบพรรคอย่างเดียว อันนั้นเป็นแค่องค์ประกอบ ผมว่าปัจจัยสำคัญคือเรื่องจุดยืน อันนี้เป็นสิ่งเดียวที่เรามี แล้วจะบอกว่าคนอื่นมีน้อยกว่าเราก็ได้ มันทำให้เราได้ ส.ส.มากขึ้น พอมีการยุบพรรคมันก็เสริมเข้าไปอีก
ส่วนเรื่องการตั้งใจทำงาน ผมว่า ส.ส.ก้าวไกล เป็นพรรคที่โดนตรวจสอบจากประชาชนเยอะที่สุด บ่อยที่สุด ตรวจสอบแทบจะทุกวินาที เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ทำงาน ก็เตรียมตัวโดน เพราะมีคนพร้อมจะมาแทนอยู่แล้ว เราก็ต้องต่อสู้กันเอง มันก็มีการเมืองภายใน ไม่ใช่ว่าผมจะต้องลงเขต 4 ฉะเชิงเทราตลอดไป ถ้าเกิดว่าผมไม่ทำงาน ก็มีคนอื่นมาแทนอยู่แล้ว
เรารู้ว่าเราต้องทำงานหนักเท่านั้น ถึงจะรักษาหรือเพิ่มจำนวนเสียงได้ เพราะเราไม่มีอาวุธอื่น เราไม่มีองค์กรอิสระมาช่วย ไม่มีกองทัพมาช่วย ไม่มีใครมาช่วยทั้งนั้น เรามีอาวุธเดียวคือเราตั้งใจทำงานนี่แหละ
: ถ้ามองว่า 2566 คือกระแสสูงของก้าวไกล อีก 3-4 ปีข้างหน้า กระแสมันจะเป็นอย่างไร?
จิรัฏฐ์ : ถ้าวันที่ 7 (สิงหาคม) นี้ เกิดเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิด อย่างน้อยมี 14 ล้านคนที่ความโกรธเขาทวีคูณ ถ้าคุณไปทำลายความหวังเขา เขาเพิ่งออกไปใช้อำนาจของเขาในคูหาไม่ถึงปี แค่นั้นก็โกรธมากพอแล้วนะครับ
โอเค ผมว่ากระแสมันกำลังขึ้นจริง แต่ว่าจุดสูงสุดมันไม่น่าจะอยู่ตรงนี้ (ระดับสายตาผู้พูด) แต่น่าจะอยู่ตรงนี้ (เลยศีรษะผู้พูด)
: แสดงว่าจุดตัดสำคัญคือปี 2570 ไม่ว่าหลังวันที่ 7 สิงหาคมนี้จะเป็นก้าวไกลหรือไม่ใช่ก้าวไกล อันนั้นคือทางผ่าน แต่จุดตัดคือปี 2570 พวกคุณจะได้เสียงเท่าไหร่? และได้เป็นรัฐบาลหรือเปล่า? คือถ้าตอนนั้น คุณได้ 250-300 เสียง แล้วยังเป็นรัฐบาลไม่ได้ หลังจากนั้น กราฟมันจะลงแล้วหรือเปล่า?
จิรัฏฐ์ : คือถ้าได้ 250 เสียง แล้วยังไม่ได้เป็นรัฐบาล การเมืองไทยมันจะไปไกลกว่าพิสดารเยอะ มันจะคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว ไม่มีเหตุและผลอะไรแล้วครับ
ชุติพงศ์ : ผมกลับมาตรงนี้หน่อยแล้วกัน ผมพูดตามจุดตั้งต้นของอนาคตใหม่ เราไม่ได้ตั้งพรรคมาเพื่อเป็นรัฐบาล ถ้าจะเป็นรัฐบาลมันง่ายกว่านี้เยอะ ถ้าจะเป็นรัฐมนตรีง่ายกว่านี้เยอะ อันนี้คุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) พูดไว้ ซึ่งจริง เราถอยบางอย่างไปเลยก็ได้ แล้วก็เป็นไปเลยรัฐบาล
แต่เรากำลังมาเพื่อการทำนโยบาย เพื่อการเปลี่ยนประเทศให้มันดีขึ้นสำหรับคนทุกคน เรากำลังพยายามสร้างสวัสดิการ กำลังพยายามผลักดันเรื่องเพื่อการเปลี่ยนแปลงในทางโครงสร้าง เรากำลังท้าทายโครงสร้างอำนาจของประเทศที่มันต้องปรับปรุง หลังจากไม่ได้ปรับปรุงมานานมาก
เรามาเพื่อไปเป็นรัฐบาล เพื่อไปทำสิ่งนั้น และประชาชนก็เชื่อ นี่คือจุดที่มันต่าง
ถ้าเราแค่จะเป็นรัฐบาล เกิดวันนั้น สมมุติท่านชาดา (ไทยเศรษฐ์) กำลังอภิปราย “เนี่ย ถ้าเกิดคุณถอยเรื่อง 112 (ภูมิใจไทยจะโหวตให้)” แล้วคุณพิธาลุกขึ้น “โอเค ผมถอย” ร่วมเลยใช่ไหม? เจ๊งเลยนะ เราเนี่ยเจ๊งเลย หลังจากวันนั้น เราจะเป็นรัฐบาล แล้วเราทำอะไรไม่ได้จริงๆ และเราก็ไม่ได้ต่างอะไรจากสิ่งที่เคยเป็นมา นั่นแหละ กราฟขาลงจะมาถึง
ดังนั้น ที่จิรัฏฐ์พูดไว้ว่าเราขึ้นมาถึงตรงนี้ ผมก็เชื่อว่ามันทำให้พีกกว่านี้ได้ ผมเชื่อในความเป็นไปได้ของประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง นิวโหวตเตอร์เกิดขึ้น สี่ปีข้างหน้ามีกี่คน เขารู้จักพรรคจากอะไรบ้าง? ใครบ้าง? เขาคาดหวังประเทศที่เขาจะอยู่เพื่อโต เพื่อทำงาน เพื่อแก่ แบบไหนบ้าง? และพรรคไหนตอบโจทย์?
คนเหล่านี้เขาโตมากับการพร้อมเลือกตั้ง และเห็นใครโดนทำอะไรบ้าง อยู่ในมือถือของเขา ดังนั้น กราฟก้าวไกลจะตกลงหรือไม่ ผมก็คงไม่บังอาจบอกว่าไม่ตกหรอก เราต้องทำงานให้ดีที่สุด เพื่อจะได้ให้กราฟมันไม่ตก และก็ควรจะเป็นรัฐบาลอย่างที่ทำการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ
จิรัฏฐ์ : คือผมเชื่อว่าเราเป็นแค่เครื่องมือหรือจะใช้คำว่าพาหนะก็ได้ ของการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง ไม่มีก้าวไกล มันก็ต้องมีพรรคอื่นขึ้นมาที่จะทำหน้าที่เอาความเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า โลกมันบังคับให้ประเทศไทยต้องเปลี่ยน
: หมายความว่า ถ้าตราบใดสังคมไทยยังอยู่ในโจทย์ที่คนต้องการความเปลี่ยนแปลง คนก็ยังอาจมองก้าวไกลอยู่?
จิรัฏฐ์ : ใช่ครับ และผมคิดว่าสังคมไทยยังต้องการความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะวินาทีนี้
ชุติพงศ์ : ถ้าคนรู้สึกว่าตรงนี้มันดีอยู่แล้ว เขาจะไม่อยากเปลี่ยน และถ้าเปลี่ยนไปเป็นก้าวไกลแล้วดี เขาก็จะไม่อยากเปลี่ยน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเราแล้วไม่ดี เขาก็อยากเปลี่ยนอีกครั้ง
สัจธรรมของโลกและการเมืองมันคือแบบนี้เลย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022