ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
หากได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศกับคนในกระทรวงยุติธรรม จะได้รับทราบข้อมูลชุดหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาสะท้อนความห่วงใยต่อแนวโน้มการพัฒนาบุคคลากรของประเทศ
นั่นคือสถิติของผู้ต้องขังในเรือนจำเทียบกับระดับการศึกษา ซึ่งแม้จะไม่มีข้อมูลเป็นตัวเลขชัดเจน แต่ยืนยันได้ว่า “ระดับการศึกษาส่งผลต่อสถิติอาชญากร”
หากติดตามบทบาทของกระทรวงยุติธรรม ในการร่วมแก้ปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาะในด้านของการป้องกัน จะพบว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ จะเน้นทุกครั้งที่มีโอกาสนำเสนอว่าต้นเหตุใหญ่ของการสู่ผู้กระทำความผิดคือ “การศึกษา”
แน่นอนว่าไม่ใช่การพูดที่ไม่มีข้อมูลมารองรับ การชี้ให้ร่วมกันมองประเด็นที่เป็นปัญหานี้ดูจะผ่านการศึกษาและหาข้อสรุปมาอย่างหนักแน่นเสียด้วยซ้ำ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หยิบยกเอาข้อมูลของ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)” มาอ้างอิงว่ามีเด็กอายุ 3-18 ปี จำนวนกว่า 1.02 ล้านคน อยู่นอกระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลาย กระทรวงยุติธรรมซึ่งมีหน่วยงานดูแลเด็กและเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งกรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่าในผู้ต้องขังทั้งหมด 299,499 คน มีระดับการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐานถึง 230,914 คน คิดเป็น 77.11%
“ในจำนวนนี้พบว่าระดับการศึกษาของผู้ต้องขังก่อนต้องโทษ ไม่ได้รับการศึกษา 28,356 คน คิดเป็น 9.47% เรียนจบชั้นประถมศึกษามากสุด 117,415 คน คิดเป็น 39.21% รองลงมาระดับมัธยมต้น 85,143 คน คิดเป็น 28.43% มัธยมปลาย 40,074 คน คิดเป็น 13.38% ปวช. 10,939 คน คิดเป็น 3.65 % ปวส. 8,939 คน คิดเป็น 2.99% ปริญญาตรี 7,565 คน คิดเป็น 2.53% สูงกว่าปริญญาตรี 1,018 คน คิดเป็น 0.34% และในจำนวนนี้มีผลจากคดียาเสพติดถึง 217,628 คน มีการกระทำผิดซ้ำถึง 135,269 คน” พ.ต.อ.ทวีเปิดเผย
และสรุปว่า
“วันนี้เราพบแล้วว่า คนที่ยังไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาภาคบังคับ ส่วนใหญ่อยู่ในเรือนจำ ตัวเลขดังกล่าวถือว่าเป็นวิกฤตทางการศึกษาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาดูกันว่า จะทำอย่างไรให้ทุกคนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ของราชทัณฑ์ทั้ง 143 แห่ง หรือที่เรียกว่า ‘คนที่อยู่หลังกำแพง’ ให้ได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับคนข้างนอก และต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาสายอาชีพ หรือด้านอาชีพต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของผู้ต้องโทษในแต่ละพื้นที่”
จากข้อมูลและข้อสรุปดังกล่าวนี้ คงไม่เกินเลยนักหาก “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” ที่กัดกร่อนชีวิตผู้คน บ่อนเซาะโอกาสการพัฒนาประเทศนั้น คือ “การศึกษา”
“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เป็นต้นทางของทุกปัญหาของประเทศ
ความเป็นจริงนี้ หากติดตามความคิดความเห็นของทุกคนทุกฝ่ายที่ห่วงใยความเป็นไปของชีวิตคนไทย จะพบว่าล้วนมองเห็น
“ปฏิรูปการศึกษา” คือสิ่งที่เรียกร้องกันมายาวนานและอย่างจริงจังของคนเหล่านั้น
แต่เป็นเรื่องที่ต้องเศร้าใจตลอดมา เพราะไม่มีการขานรับอย่างให้ความสำคัญจริงจากผู้มีอำนาจ หรือกระทั่งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
“วิกฤตการศึกษา” ที่เป็นเหตุให้การพัฒนาบุคคลากรล้มเหลว ผู้ที่มองเห็นอย่างตระหนักถึงภัยกระทั่งต้องเรียกร้องให้แก้ไขอย่างจริงจังกลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่พบกับผลพวงอันเลวร้ายจากประวัติของอาชญากรว่ามีต้นเหตุมาจากการขาดโอกาสในการศึกษา
“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ไม่เพียงกีดกันผู้คนจากโอกาสการพัฒนาชีวิตไปสู่ความดีงามเท่านั้น แต่ชีวิตของผู้คนที่ถูกลากลงนรกส่วนใหญ่มาจาก “เหยื่อของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”
ที่ “การปฏิรูป” ถูกละเลย และไม่ให้ความสำคัญตลอดมา โดยไม่มีแนวโน้มว่าจะมองเห็นความหวังที่ดี
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022