รอยพระพุทธบาทที่สระบุรี เชื่อมโยงกรุงศรีอยุธยา เข้าสู่จักรวาลในพุทธศาสนาเถรวาทอันศักดิ์สิทธิ์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ข้อความใน “พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” ได้อ้างถึงเหตุการณ์ค้นพบรอยพระพุทธบาท ที่สระบุรี ในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2153 หรือ 2154-2171) เมื่อเรือน พ.ศ.2149 เอาไว้ว่า

“ในปีนั้นเมืองสระบุรีบอกมาว่า พรานบุนพบรอยเท้าอันใหญ่บนไหล่เขาเป็นประหลาด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดีพระทัย เสด็จด้วยพระที่นั่งชัยพยุหยาตรา พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาสามนตราชดาษดา โดยชลมารคนทีธารประทับท่าเรือ รุ่งขึ้นเสด็จทรงพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์ พร้อมด้วยคเชนทรเสนางคนิกรเป็นอันมาก

ครั้งนั้นยังมิได้มีทางสถลมารค พรานบุนเป็นมัคคุเทสก์นำลัดตัดดงไปเถิงเชิงเขา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสทอดพระเนตรเห็นแท้เป็นรอยพระบรมพุทธบาทมีลายลักษณ์กงจักร ประกอบด้วยอัฏฐตรสต (เข้าใจว่า หมายถึง อัฏฐสต คือลวดลายมงคล 108 ประการบนฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้า, ผู้เขียน) มหามงคล 108 ประการสมด้วยพระบาลี แล้วต้องกับเมืองลังกาบอกเข้ามาว่า กรุงศรีอยุธยามีรอยพระพุทธบาท เหนือยอดเขาสุวรรณบรรพต ก็ทรงพระโสมนัสปรีดาปราโมท ถวายทัศนัขเหนืออุตมางคสิโรตม์ (หมายถึง การกราบไหว้โดยยกมือขึ้นจนท่วมศีรษะ) ด้วยเบญจ่าคประดิษฐเป็นหลายครา กระทำสักการะบูชาด้วยธูปเทียนคันธรสจะนับมิได้

ทั้งท้าวพระยาเสนาบดีกวีราชนักปราชญ์บัณฑิตชาติทั้งหลาย ก็ถวายวันทนประณามน้อมเกล้าด้วยเบญจางคประดิษฐ ต่างคนต่างมีจิตต์โสมนัศปราโมทยิ่งนัก กระทำสักการะบูชา”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ แต่เว้นวรรคและแบ่งย่อหน้าใหม่ เพื่อให้อ่านสะดวกดายง่ายมากขึ้นโดยผู้เขียน)

 

ข้อความยืดยาวที่ผมยกมาให้อ่านกันข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการที่พรานบุญ (หรือพรานบุน ตามอักขรวิธีในพงศาวดาร) ได้ค้นพบรอยพระพุทธบาท ที่สระบุรีเข้า จนพระเจ้าทรงธรรมต้องเสด็จไปทอดพระเนตรให้เห็นด้วยตาของพระองค์เอง ซึ่งก็ค้นพบว่าต้องตรงกับที่ฝ่ายเกาะศรีลังกาบอกว่า ที่กรุงศรีอยุธยาก็มีรอยพระบาท ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประทับไว้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง เหมือนกับที่เขาสุมณกูฏ บนเกาะลังกาด้วย

ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยนะครับว่า ทำไมพระเจ้าทรงธรรมจึงทรงโปรดให้ก่อมณฑปครอบทับรอยพระพุทธบาท พร้อมทั้งสร้างวัด เสนาสนะต่างๆ รวมไปถึงการสร้างถนนจากท่าเรือไปยังวัด ดังที่ปรากฏความในพระราชพงศาวดารฉบับเดียวกันนี้ต่อไปว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อุทิศถวายวนาสณฑ์เป็นบริเวณออกไปโยชน์หนึ่งโดยรอบแล้ว ทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้ช่างจับการสถาปนาเป็นมณฑปสวมพระบรมพุทธบาท แล้วสร้างพระอุโบสถพระวิหารการเปรียญ ตึกกว้านกุฏิสงฆ์เป็นอเนกประการแล้ว ให้ฝรั่งส่องกล้องตัดทางสถลมารคกว้าง 10 วา ตรงตลอดถึงท่าเรือ ให้แผ้วถางทุบปราบให้รื่นราบเป็นถนนหลวงเสร็จ…

…ทรงพระกรุณาเร่งรัดให้ช่างสร้างมณฑปพระพุทธบาท และอาวาสบริเวณทั้งปวง 4 ปีจึงสำเร็จ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปกระทำการฉลอง มีงานมหรสพสมโภช 7 วัน แล้วเสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร (หมายถึง กรุงศรีอยุธยา)”

 

ข้อความที่ระบุว่า พระเจ้าทรงธรรม “ทรงพระกรุณาเร่งรัด” จนทำให้ “ทั้งปวง 4 ปีจึงสำเร็จ” แถมยังทรง “เสด็จขึ้นไปกระทำการฉลอง มีงานมหรสพสมโภช 7 วัน” นี้ แสดงให้ความสำคัญของรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี ที่มีต่อพระองค์อย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว แต่สิ่งที่สำคัญอย่างมากอีกอย่างก็คือ พระองค์ยังโปรดให้สร้าง “พระตำหนักท่าเจ้าสนุก” เอาไว้ที่ใกล้ท่าเรือด้วย ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับเดิมว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงท่าเรือ ทรงพระกรุณาสั่งให้ตั้งพระราชนิเวศน์ตำหนักฟากตะวันออก ให้ชื่อพระตำหนักท่าเจ้าสนุก”

แน่นอนว่า พระตำหนักดังกล่าวถูกสร้างไว้ใช้สำหรับประทับเมื่อทรงเดินทางมานมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ซึ่งก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าทรงธรรมนั้นทรงมีพระราชดำริที่จะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทดังกล่าวมากกว่าหนึ่งครั้งแน่ จึงจำเป็นต้องปลูกพระตำหนักไว้พำนักอาศัยระหว่างที่ทรงเดินทางมานมัสการรอยพระพุทธบาทนั่นเอง

ดังนั้น ถึงแม้ว่าพระราชพงศาวดารฉบับที่ผมยกมาให้อ่านกันในที่นี้ จะเริ่มแต่งขึ้นตั้งแต่ในยุคกรุงธนบุรี และได้ชำระจนเสร็จสิ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อันนับเป็นเวลามากกว่า 150 ปี หลังจากเหตุการณ์ค้นพบรอยพระพุทธบาทในครั้งนั้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการค้นพบรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี ที่ตราตรึงอยู่ในความรู้สึกของชนชาวสยามอย่างเด่นชัด

โดยสังเกตง่ายๆ ได้จากการที่พระราชพงศาวดารฉบับนี้ได้อุทิศพื้นที่หน้ากระดาษเล่าถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีนี้ เป็นสัดส่วนราว 70-80% ของเนื้อหาทั้งหมดที่กล่าวถึงพระเจ้าทรงธรรมเลยทีเดียว

และนี่ก็ทำให้เป็นสิ่งไม่น่าประหลาดใจที่ได้เกิดประเพณีการไปนมัสการรอยพระพุทธบาทของกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาขึ้นในยุคหลังจากนั้น ซึ่งก็สำคัญถึงขนาดที่ว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2173-2199) ถึงกับได้ทรงโปรดให้สร้างพระตำหนักขนาดใหญ่อย่าง “ปราสาทนครหลวง” เพื่อเป็นที่ประทับค้างแรม ขึ้นตรงบริเวณที่เป็นครึ่งทางจากกรุงศรีอยุธยา กับพระพุทธบาท ที่สระบุรี เลยนั่นแหละครับ

นักธรรมชาติวิทยา ควบตำแหน่งนักสำรวจ ชาวฝรั่งเศส ที่ได้เดินทางเข้ามาในอุษาคเนย์ ภาคผืนแผ่นดินใหญ่ จนได้เสียชีวิตลงด้วยไข้ป่ากลางป่าดงดิบในประเทศลาวปัจจุบันอย่าง อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot, พ.ศ.2369-2403) นั้น ได้เคยเดินทางไปยังพระพุทธบาท ที่สระบุรี ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2401

โดยเขาได้บันทึกเอาไว้ว่า พระพุทธบาทแห่งนี้เป็น “แหล่งจาริกแสวงบุญสำคัญที่ชาวสยามจำนวนมากหลั่งไหลมากราบไหว้สักการะรอยพระพุทธบาทในแต่ละปี”

ดังนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ชาวสยามโดยทั่วไปจึงต่างก็นิยมมาสักการะรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ด้วยเหมือนกันทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่พระเจ้าแผ่นดิน หรือเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเท่านั้นเสียหน่อย

 

ในเอกสารคำให้การขุนโขลน เรื่องพระพุทธบาท ในประชุมพงศาวดารเล่ม 8 อันเป็นคำให้การของขุนนางที่เคยรับราชการอยู่ที่พระพุทธบาท สระบุรี ตั้งแต่เมื่อรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เรื่อยมาจนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ได้ระบุว่า เมื่อครั้งที่ได้มีการค้นพบรอยพระพุทธบาทนี้ พระเจ้าทรงธรรมได้พระราชทานกองกำลัง ที่ประกอบด้วย ขุนหมื่นหลายนาย ให้กับพระพุทธบาท โดยมีหัวหน้ากินตำแหน่ง “ขุนสัจพันธคีรี”

ชื่อตำแหน่งนี้สำคัญนะครับ เพราะชื่อ “สัจพันธคีรี” นี้คงหมายถึง “เขาสัจจพันธ์คีรี” อันเป็นภูเขาที่มีตำนานเล่า พระพุทธเจ้าทรงเคยประทับรอยพระบาทเอาไว้

ดังมีปกรณัมเล่าไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาพุทธที่ชื่อ ปปัญจสูทนี ในปุณโณวาทสูตรว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์ผู้เป็นสาวกจำนวน 499 รูป ได้เสด็จไปเยือนวัดไม้จันทน์หอม ด้วยบุษบกลอยฟ้า

และระหว่างทางนั้นเอง พระพุทธองค์และคณะก็ได้หยุดพักที่เขาสัจจพันธ์ อันเป็นที่อยู่ของฤๅษีตนหนึ่งที่ชื่อว่า สัจจพันธ์ดาบส อันเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อของภูเขา

พระพุทธเจ้าได้เทศนาสั่งสอนธรรมให้แก่ฤๅษีสัจจพันธ์จนยอมรับนับถือในพระพุทธศาสนา และยอมให้ติดตามพระองค์ไปยังวัดไม้จันทน์หอมพร้อมกันกับพวกของพระองค์ด้วย

โดยในขากลับนั้น พระองค์ได้แวะโปรดเหล่าพญานาคที่แม่น้ำนัมมทา แล้วได้ประทับรอยพระบาทไว้บนก้อนหินริมฝั่งแม่น้ำเพื่อให้เหล่านาคได้ใช้สักการะ

ก่อนที่จะเสด็จขึ้นไปบนยอดเขาสัจจพันธ์คีรี แล้วประทับรอยพระบาทไว้บนก้อนหิน เพื่อไว้ให้สัจจพันธ์ดาบสใช้สำหรับเคารพบูชา ก่อนที่จะเสด็จกลับ

 

ดังนั้น การตั้งชื่อตำแหน่งผู้ดูแลพระพุทธบาท ที่สระบุรีว่า “ขุนสัจพันธคีรี” ย่อมเป็นร่องรอยให้เห็นถึงการการจำลองความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธบาทบนเขาสัจจพันธ์คีรี อันเป็นภูเขาในปรัมปราคติ จนทำให้ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปเชื่อว่า พระพุทธบาทที่สระบุรีนั้น ก็คือพระพุทธบาทบน “เขาสัจจพันธ์คีรี” ตามปรัมปราคติของพุทธศาสนานั่นแหละนะครับ

แต่ก็ใช่ว่าจะมีเฉพาะชนชาวสยามที่จำลองความศักดิ์สิทธิ์ของรอยพระพุทธบาทบนเขาสัจจพันธ์คีรีมาใช้ เพราะชนชาวพม่าเชื่อว่า รอยพระพุทธบาทที่ชเวเสตตอ (แปลตรงตัวว่า รอยพระพุทธบาททองคำ) ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมาน ห่างออกไปทางตะวันออกของเมืองมินบู ในประเทศเมียนมา ราว 50 กิโลเมตร นั้นก็เป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้บนเขาสัจจพันธ์คีรีเช่นกัน

ตามปรัมปราคติในพุทธศาสนาแบบเถรวาท ซึ่งในยุคสมัยของพระเจ้าทรงธรรม ยังมีศูนย์กลางทางอุดมคติอยู่ที่เกาะลังกานั้น เชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าทรงเคยประทับรอยพระบาทเอาไว้ 5 รอย ได้แก่ เขาสุมนกูฏ (อยู่บนเกาะลังกา), เขาสุวรรณมาลิก, เขาสุวรรณบรรพต (คือ เขาสัจจพันธ์คีรี โดยควรสังเกตด้วยว่า ข้อความในพงศาวดารอ้างว่า การคันพบรอยพระพุทธบาที่สระบุรีนั้น “ต้องกับเมืองลังกาบอกเข้ามาว่า กรุงศรีอยุธยามีรอยพระพุทธบาท เหนือยอดเขาสุวรรณบรรพต”), เมืองโยนก (หมายถึงชุมชนทางตอนเหนือของชมพูทวีป) และหาดทรายที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา

ควรสังเกตด้วยว่า ที่ศรีลังกามีรอยพระพุทธบาทบนเขาสุมณกูฏประดิษฐานอยู่ (ไม่ว่าจะเป็นรอยพระบาทที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ประทับรอยเอาไว้จริงหรือไม่ก็ตาม) การที่กรุงศรีอยุธยาของพระเจ้าทรงธรรม (รวมถึงกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพระองค์อื่นๆ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์) ทรงมีรอยพระพุทธบาทจากเขาสัจจพันธ์คีรี หรือสุวรรณบรรพต อยู่ในดินแดนใต้ร่มอาณาบารมีของพระองค์ จึงเป็นการอยู่ร่วมในจักรวาลเดียวกัน ภายใต้ร่มความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาเถรวาท ผ่านทางความเชื่อเรื่องพระพุทธบาท 5 รอยนี้ด้วย

พูดง่ายๆ ว่า รอยพระพุทธบาทที่สระบุรี ซึ่งว่ากันว่าค้นพบในสมัยของพระเจ้าทรงธรรมนั้น จึงเป็นประจักษ์พยานสำคัญในการอ้างสิทธิ์เข้าร่วมในจักรวาลอันศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาเถรวาท อันมีลังกาเป็นศูนย์กลางสำคัญนั่นแหละครับ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ