ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ก่อสร้างและที่ดิน |
เผยแพร่ |
ปัจจุบันภาคธุรกิจและประชาชนยอมรับเป็นเอกฉันท์ว่า เศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะวิกฤตแล้ว ธุรกิจการค้าต่างๆ ตั้งแต่สินค้าขนาดใหญ่ราคาแพง บ้าน รถยนต์ ไปจนถึงสินค้าเล็กๆ เช่น ไอติม ยอดขายตกต่ำกันถ้วนหน้า
สำนักวิจัยของสถาบันสำคัญๆ ได้ออกมาคาดการณ์แล้วเช่นกันว่า จากนี้ไปอัตราเติบโตเศรษฐกิจประเทศไทยจะโตไปเรี่อยๆ ประมาณ 2% ต่อปี
ปัญหาคงไม่หยุดอยู่แค่ตรงนี้ เพราะจากนี้ไปธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กต้องเผชิญต่อจากยอดขายตกต่ำ คือปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ สุดท้ายก็จะลามขึ้นไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ และสถาบันการเงินด้วย
และยังมีปัญหาขนาดใหญ่มหึมาที่จะถาโถมใส่เศรษฐกิจไทย นั่นคือบรรดาโรงงานผลิตสินค้าต่างๆ ในประเทศจีนซึ่งผลิตสินค้าป้อนตลาดโลกมาหลายทศวรรษมีกำลังการผลิตล้นเกินความต้องการมาก ขณะที่กำลังซื้อทั่วโลกตกต่ำหลังวิกฤตโควิด สิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วหลายประเทศคือการ “ดัมพ์” ราคาสินค้าจากจีน
โรงงานผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ในประเทศไทยเจอภาวะการแข่งขันด้วยวิธีนี้แน่นอน
ปัญหาใหญ่สำคัญอันดับแรกของเศรษฐกิจไทย คือปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่สาขาการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ ยังเป็นแบบเดิมที่เคยเป็นมาหลายสิบปีก่อนนี้ กับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
โครงสร้างเศรษฐกิจด้านการผลิต ไทยมีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าเริ่มแรกตั้งการเปิดการค้ากับต่างประเทศมา เมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็เริ่มมีอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า ต่อมาพัฒนายกระดับเป็นเพื่อการส่งออก และสุดท้ายได้แก่บรรดาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคที่ไทยสร้างเขตเศรษฐกิจอีสต์เทิร์นซีบอร์ด ซึ่งที่โดดเด่นที่สุดคืออุตสาหกรรมผลิตรถยนต์
ทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกสินค้าสูงเป็น 70% ของ GDP ประเทศ
หลังจากนั้นมีโครงสร้างการผลิตของประเทศแทบไม่มีอะไรใหม่ ยิ่งสิบกว่าปีหลังยิ่งไม่มีอะไรเลยเห็นได้จาก GDP เฉลี่ยแต่ละปีโตต่ำเตี้ยติดต่อกัน
ทุกวันนี้จึงมีแต่ข่าวคราวโรงงานอุตสาหกรรมที่หมดยุคตกสมัยไปต่อไม่ได้ ประกาศปิดโรงงานและเลิกจ้างแรงงาน ปิดแล้วปิดอีก
การแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจการผลิตเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้เวลาหลายปี อันดับแรกเลยกลุ่มอำนาจทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ต้องเห็นพ้องกันว่าต้องแก้ไข และมีความเห็นแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน
ปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่หนักขึ้น เห็นได้ชัดจากการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดที่เป็นรูป K-shape ธุรกิจใหญ่และคนรวยฟื้นตัวเร็ว ธุรกิจเอสเอ็มอีและคนมีรายได้ไม่สูงฟื้นช้า หรือแย่กว่าเดิม
ปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำแก้ยากกว่าโครงสร้างการผลิตเสียอีก เพราะเกี่ยวพันกับอำนาจทางการเมือง การมีส่วนในอำนาจอธิปไตยของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม
ทางออกจาก “หล่ม” วิกฤตเศรษฐกิจระยะสั้น เฉพาะหน้า ทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้รายได้ประชาชาติ หรือ GDP และรายได้เฉลี่ยประชาชนสูงขึ้นมาก่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้
เรื่องแรกที่ทำแล้วได้ผลเร็ว ซึ่งทำแล้ว คือการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญเศรษฐกิจไทย เพียง 2 ปีหลังโควิด ประเทศไทยก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมาในจำนวนที่ใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิดได้
แต่ท่องเที่ยวมีสัดส่วนใน GDP ประเทศ ประมาณเกือบ 20% ยังเขยื้อนเศรษฐกิจทั้งระบบให้ขยับไม่ได้
เรื่องที่สองที่ทำได้และได้ผลเร็ว คือให้สิทธิชาวต่างชาติซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาว โดยคัดสรรประเภท อายุ อาชีพ และกำหนดโควต้า และระดับราคาที่ซื้อได้ เลือกเฉพาะที่เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศไทยมีภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ค่าครองชีพและอาหารการกินที่ต้อนรับ สินค้าที่อยู่อาศัยในไทยจึงเป็นเป้าหมายการมีบ้านหลังที่ 2 ของผู้มีรายได้สูงจากหลายประเทศทั่วโลก
เป็นสินค้าที่มีผู้ซื้อพร้อมจะซื้อ และมีสินค้าพร้อมขาย หรือพร้อมจะผลิตเพื่อขายได้ตามตลาดต้องการอยู่แล้ว ประมาณกันว่า การจะทำให้ประเทศมีรายได้จากต่างประเทศจากสินค้ากลุ่มนี้ให้เท่ากับรายได้จากการท่องเที่ยว สามารถทำได้ภายใน 1-2 ปีทันที โดยสามารถกำหนดจำนวนยูนิต ประเภท ราคา ทำเล และภาษีเฉพาะการซื้อที่อยู่อาศัย การอยู่อาศัยของชาวต่างชาติ รวมทั้งระยะเวลาสิ้นสุด
ยังสามารถนำภาษีเฉพาะการซื้อที่อยู่อาศัย การอยู่อาศัยของชาวต่างชาติ มาอุดหนุนการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของประชาชนระดับรายได้ปานกลางและล่างที่มีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ เพราะรายได้ไม่เพียงพอ หรือเพราะสถาบันการเงินไม่ให้สินเชื่อ ให้สามารถซื้อหรือมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้
การกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้ประเทศด้วยอสังหาฯ ที่อยู่อาศัยดังกล่าว เป็นกลยุทธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดในระยะสั้นวิธีหนึ่ง ที่ยังติดขัดต้องแก้ไขดำเนินการ ก็เป็นการสร้างความเข้าใจ และการแก้ปัญหาที่การเข้าไม่ถึงและการไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยของประชาชนไปพร้อมกัน
ส่วนวาทกรรม “ขายชาติ” ที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ชาตินิยม ก็ต้องทำความเข้าใจ ย้อนกลับไปดูความรุ่งเรืองทางการค้าของกรุงศรีอยุธยาที่มีชุมชนชาติสำคัญทางการค้าจากทั่วโลกตั้งชุมชนที่อยู่อาศัยโบสถ์แต่ละศาสนา และสถานีการค้าอยู่รอบๆ กำแพงเมือง
โครงการ “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ยังผ่านกฎหมายออกมาได้ ไม่มีเสียงคัดค้านด้วยวาทกรรม
“ไทยเป็นเมืองพุทธ” แบบที่เคยค้านในอดีต การอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่มาลงทุนทำการค้า, ต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจ มีที่อยู่อาศัยได้ หรือให้ต่างชาติที่มั่งคั่งมีบ้านพักตากอากาศในไทยได้ ก็เป็นไปได้เช่นกัน
คนที่ยังคาใจกับวาทกรรมขายชาติอยู่ ลองไปค้นลิ้นชักเก่าที่บ้านหลังเดิม เห็น “ใบต่างด้าว” เก่าๆ ใน “เก๊ะ” แล้ว น่าจะเข้าใจความเป็นมาของดินแดนสยามแห่งนี้ได้ •
ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022