กำเนิดอุตสาหกรรมพืช GMO (1) (ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทค ตอนที่ 53)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

กำเนิดอุตสาหกรรมพืช GMO (1)

(ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทค ตอนที่ 53)

 

เมื่อโลกเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ในปี 2000 ปีเดียวกับที่วงการไบโอเทคการแพทย์กำลังตื่นเต้นกับโค้งสุดท้ายของเมกะโปรเจ็กต์จีโนมมนุษย์ อีกฟากหนึ่งของอุตสาหกรรมไบโอเทคก็ได้ฤกษ์ปักธงประกาศความสำเร็จเช่นกัน

ทีมวิจัยของ Ingo Potrykus จาก Swiss Federal Institute of Biotechnology ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Science ว่าด้วยการวิศวกรรมข้าวเจ้าสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถผลิตเบต้าแคโรทีนในเนื้อเมล็ด ข้าวเมล็ดสีเหลืองทองหรือที่เรียกชื่อเล่นกันว่า “Golden Rice” นี้ถูกวางให้เป็นนวัตกรรมชูโรงของวงการไบโอเทคการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนวิตามินเอในเด็กกว่าร้อยล้านคนทั่วโลก

ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคหลายสิบตอนที่ผ่านมาโฟกัสไปที่งานฝั่งการแพทย์และเภสัชกรรม เริ่มจากการวิศวกรรมเซลล์ให้ผลิตยาไปจนถึงการหายีนวิเคราะห์จีโนมเพื่อเข้าใจกลไกการเกิดโรค พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย และทำนายเป้าหมายการรักษาใหม่ๆ

เราได้อ่านเรื่องราวของบริษัทอย่าง Genentech, Amgen, Beckman Coulter, Applied Biosystems, Cetus Corporation, PerkinElemer, Celera ฯลฯ ไบโอเทคการแพทย์มักจะไปได้ไวกว่าไบโอเทคสาขาอื่น อาจจะเป็นเพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นความตายของเราทุกคน และอาจจะเป็นเพราะสินค้าหมวดนี้ราคาขายต่อหน่วยสูง ขายแพงได้ไม่ต้องผลิตเยอะ (low volume – high value) ก็เลยมีเงินลงทุนอัดฉีดมาหนักหน่วงทั้งจากฝั่งรัฐบาลและเอกชน

ในทางกลับกันไบโอเทคฝั่งการเกษตรอยู่ใกล้ตัวพวกเราทุกวัน อยู่ในอาหารที่เรากิน เครื่องอุปโภคที่เราใช้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เราสวมใส่ ฯลฯ มูลค่าต่อหน่วยแม้จะไม่สูงเท่ายาและเวชภัณฑ์ แต่ก็เป็นของที่ผลิตออกมาขายได้เรื่อยๆ

ยิ่งไปกว่านั้นไบโอเทคฝั่งนี้ยังมีโอกาสสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลกเราอย่างมหาศาล เพราะมันจะต้องถูกนำไปใช้ในระบบเปิดในเรือกสวนไร่นาที่ครอบคลุมพื้นที่หลายล้านตารางกิโลเมตร

ประเด็นจริยธรรมธุรกิจ ความขัดแย้ง ความปลอดภัย ความตื่นตระหนก และการแบ่งปันผลประโยชน์ ระหว่างนักวิจัย เอกชน รัฐบาล เกษตรกร นักอนุรักษ์ เอ็นจีโอ และผู้บริโภคก็เลยดูวุ่นวายเป็นพิเศษในงานไบโอเทคฝั่งนี้

บทความอีกหลายตอนต่อจากนี้ในซีรีส์จะชวนทุกท่านไปรู้จักกับเบื้องลึกเบื้องหลังอุตสาหกรรมไบโอเทคการเกษตร เรื่องราวของพืช GMO, ฝ้ายบีที ข้าวสีทอง บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรอย่าง Dupont, Bayer, Syngenta, และ Monsanto

Cr.ณฤภรณ์ โสดา

ประวัติศาสตร์ไบโอเทคการเกษตรย้อนหลังไปได้ไม่ต่ำกว่าหมื่นปีเมื่อมนุษย์เรียนรู้ที่จะทำการเพาะปลูกพร้อมกับการตั้งรกรากสร้างอารยธรรม พืชเกษตรหลายชนิดที่เราใช้กันจนถึงทุกวันนี้เป็นผลงานจากการผสมคัดเลือกสายพันธุ์ตั้งแต่สมัยโน้น อาศัยการสังเกตและลองผิดลองถูกไปเรื่อย

เราเพิ่งจะเริ่มเอาวิทยาศาสตร์มาใช้กับการเกษตรก็เพียงราวๆ ร้อยกว่าปีก่อนเท่านั้น

การรื้อฟื้นพันธุศาสตร์ของ Gregor Mendel ช่วงต้น 1900s, การค้นพบฮอร์โมนพืชและการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์ด้วยรังสีช่วง 1920s, การพัฒนาเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชช่วง 1930s ฯลฯ องค์ความรู้พวกนี้วางรากฐานให้กับการปรับปรุงพันธุ์พืชสมัยใหม่

ธุรกิจฝั่งเทคโนโลยีการเพาะปลูกอาจจะแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือธุรกิจเมล็ดพันธุ์และธุรกิจเคมีการเกษตร

ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 เกษตรกรส่วนมากเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองหรือแบ่งปันกันในหมู่เพื่อนบ้าน ธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์มีแต่ธุรกิจเล็กๆ ระดับท้องถิ่น เน้นไปที่การผลิต ทำความสะอาด ความคุมคุณภาพ และบรรจุหีบห่อ เมล็ดพันธุ์ที่ได้มาจากการผสมเกสรแบบเปิดตามธรรมชาติ (open pollination)

ส่วนการปรับปรุงพันธุ์แทบทั้งหมดทำในมหาวิทยาลัยหรือศูนย์วิจัยของรัฐ

การผสมเกสรข้ามสายพันธุ์แบบตั้งใจ (cross pollination) ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงกว่า ผลงานโด่งดังชิ้นแรกคือเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม (hybrid maize) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยในสหรัฐช่วง 1920s

เมล็ดพันธุ์พวกนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เกษตรจำนวนมากหันมาซื้อเมล็ดพันธุ์แทนที่จะใช้ของตัวเอง

อุปสงค์ที่สูงขึ้นทำให้เกิดธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ขึ้นมาใหม่ถึงราว 150 บริษัทช่วงต้นทศวรรษที่ 1930s

บางบริษัทก็เริ่มตั้งหน่วยวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช โดยเก็บข้อมูลพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เป็นความลับทางการค้า

ไบโอเทคถูกนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมทั้งฝั่งการแพทย์และการเกษตร
Cr.ณฤภรณ์ โสดา
ธุรกิจเคมีการเกษตรและธุรกิจเมล็ดพันธุ์
Cr.ณฤภรณ์ โสดา