ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
เกี่ยวกับการปรับตัว ปรับโครงสร้าง เครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย ให้ “เข้าที่เข้าทาง”
อ้างอิงกรณีบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev (18 กรกฎาคม 2567) ได้รายงานตลาดหุ้นสิงคโปร์ (Singapore Exchange Limited -SGX) ว่าด้วยดีลกิจการเครือทีซีซี ในแผนการแลกหุ้น (Share Swap Agreement) เกี่ยวข้องกับอีก 2 บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์-Fraser and Neave Limited หรือ F&N และ Frasers Property Limited หรือ FPL
กลุ่มทีซีซีกับแผนการปรับโครงสร้าง เกี่ยวกับธุรกิจหลักสำคัญ โดยเฉพาะกรณี ThaiBev ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ทั้งนี้เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับบริษัทในเครือข่ายบางกรณีที่เป็นไปในตลาดหุ้นไทยด้วย
นั่นคือ กรณีการเพิกถอนหลักทรัพย์-บริษัท โออิชิกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI (6 กันยายน 2566) และอีกกรณีซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินตามกระบวนการ-บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) หรือ SSC
ว่าไปแล้ว การปรับโครงสร้างธุรกิจมีมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ ThaiBev ก่อตั้งขึ้น (ปี 2546) ต่อจากนั้นเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ (ปี 2549) “ภายหลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ThaiBev ได้ขยายขอบเขตธุรกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร…” คำอธิบายสำคัญของ ThaiBev ในตอนนั้น จนกระทั่งมีดีลสำคัญ เข้าซื้อกิจการ Fraser and Neave หรือ F&N ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแห่งสิงคโปร์ (ปี 2555) ภาพดูเหมือนชัดขึ้น
ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น ThaiBev ได้เดินแผนการดังกล่าวอย่างจริงจังในประเทศไทย มีทั้งกรณีเข้าซื้อกิจการโออิชิ กรุ๊ป (ปี 2548) และเสริมสุข (ปี 2554) ซึ่งทั้งสองบริษัทอยู่ในตลาดหุ้นไทย
ดูเหมือนว่า เวลานั้นกลุ่มทีซีซี เชื่อมั่นและพอใจกับแผนการมีบริษัทในตลาดหุ้นทั้งไทยและสิงคโปร์หลายๆ แห่งพร้อมกัน เป็นไปได้ว่า เป็นยุทธศาสตร์ธุรกิจ สร้างความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูล ระหว่างแผนการขยายเครือข่าย กับโอกาสที่เปิดกว้างในการระดมทุนผ่านกลไกตลาดหุ้น
ดังนั้น ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างการถือหุ้นที่เป็นจริง และการหลอมรวมทางบัญชี ระหว่าง ThaiBev กับ F&N จึงเว้นระยะห่างอย่างที่เป็นมา ขณะเชื่อว่าด้วยโครงสร้างการบริหารกิจการซึ่งครอบไว้ข้างบนโดยทีมเดียวกัน แผนการธุรกิจย่อมเดินหน้าไปได้ พึงสังเกตจากดีลที่เกิดขึ้นในช่วงต่อจากนั้น ตามแผนการมุ่งสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
ปี 2560 บริษัทในกลุ่ม ThaiBev ซื้อธุรกิจแฟรนไชส์จาก Yum Restaurants International (Thailand) เพื่อเข้าบริหารกิจการ KFC กว่า 240 แห่งในประเทศไทย ประมาณการกันว่าใช้เงินราว 11,300 ล้านบาท
กับอีกดีลหนึ่งในปี 2562 การเข้าซื้อเครือข่ายร้านกาแฟ Starbucks ในเมืองไทย ตามสิทธิในการดำเนินการและพัฒนาเครือข่ายร้านกาแฟ (fully licensed) จำนวน 372 สาขา มูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านบาท โดยบริษัทในเครือข่าย F&N “…มิถุนายน 2562 ThaiBev เริ่มรับรู้กำไร 9.25% จากกิจการ Starbucks” ข้อมูล ThaiBev ระบุไว้เอง
จากนั้นพักใหญ่ โครงสร้างธุรกิจสำคัญ เมื่อมองผ่าน เฉพาะ ThaiBev น้ำหนักมากที่สุด จึงยังอยู่ที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยสุรายังครองสัดส่วนมากที่สุดมากกว่าครึ่ง ขณะที่เบียร์มีส่วนแบ่งประมาณหนึ่งในสาม
ขณะนั้นคาดกันว่าธุรกิจเบียร์มีแนวโน้มค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนขึ้นอีก
จุดเปลี่ยนมาถึงอีกครั้งเมื่อ ThaiBev เข้าควบคุมกิจการผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในเวียดนามเมื่อปลายปี 2560
ภาพกว้างทางธุรกิจ Sabeco เจ้าของเบียร์แบรนด์สำคัญ-Saigon Beer หรือ Bia Saigon และ 333 เป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดเบียร์มากที่สุดในประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ “เวียดนามเป็นตลาดเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในเออีซี” และ “ตลาดเบียร์เวียดนามใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีนและญี่ปุ่น” อย่างที่ว่ากัน
น่าจะเป็นแผนการตามจังหวะและโอกาสตามแบบฉบับผู้นำกลุ่มทีซีซี แม้จะเป็นการทวนทิศทางเดิมอยู่บ้าง อาจเป็นไปได้ว่าเป็นแรงกดดันมาจากผลประกอบการโดยรวม ขณะนั้นธุรกิจหลัก-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อ้างอิงตลาดในไทย ยังคงไปได้ดี
ในเวลาเดียวกัน แผนการนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น คงเป็นทิศทาง โดยเฉพาะมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์ จากเดิมมี 2 บริษัท (ThaiBev และ F&N) ได้เพิ่มอีกแห่ง
เป็นไปตามแผนให้ FPL พ้นฐานะในเครือ (subsidiary) ของ F&N เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ (ปี 2557)
ยังมีแผนการใหญ่ตามมาอีก แผนการแยกธุรกิจเบียร์ออกมาเป็นอีกบริษัท เพื่อจะเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ (ต้นปี 2564) ด้วย ภาพขยายอย่างเป็นจริงเป็นจัง เมื่อมีรายงานถึงตลาดหุ้น ขณะนั้น Bloomberg เครือข่ายข่าวตลาดทุนระดับโลกเสนอข่าวอย่างตื่นเต้น คาดว่ามูลค่าในการระดมทุนที่จะเกิดขึ้น จะสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 60,000 ล้านบาท อาจเป็นหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษของสิงคโปร์เลยทีเดียว
โดยสาระปรากฏชื่อบริษัทใหม่-Beer Co ก่อตั้งขึ้นที่สิงคโปร์ ในฐานะ Investment Holding Company เกี่ยวข้องกับ ThaiBev โดยตรง ที่มาจากการปรับโครงสร้างธุรกิจเบียร์ ทั้งนี้ นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์ว่า “โดยดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2563” เป็นแผนการให้ Beer Co ดูแลธุรกิจเบียร์ทั้งในไทยและเวียดนาม
ทว่า เป็นแผนการในจังหวะไม่เอื้ออำนวย อันเป็นผลพวงต่อเนื่องจากวิกฤตการณ์ COVID-19 ห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีปัญหา และเรื้อรังต่อเนื่องมา นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่า มาจากแรงบีบคั้นในเวียดนามด้วย เป็นแรงกดดันเพิ่มเติมมาจากการปรับเปลี่ยนนโบบายรัฐเพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นด้วย
ปัจจุบัน Beer Co คือบริษัทในเครือThaiBev ทั้งในช่วงก่อหน้ามีข่าวเป็นระยะๆ เกี่ยวกับการตัดสินใจเลื่อนเข้าตลาดหุ้นถึง 3 ครั้ง
ดังนั้น แผนการล่าสุดซึ่งเป็นไปอย่างแตกต่าง ถือเป็นการพลิกแผนครั้งสำคัญโดยรวมของกลุ่มทีซีซีด้วยก็คงได้ ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่าง และตลาดทุนทั้งภูมิภาคผันผวน
ว่าเฉพาะดีล เกี่ยวกับ ThaiBev (18 กรกฎาคม 2567) ข้างต้น สาระสำคัญคือ ThaiBev เพิ่มการถือครองหุ้นใน F&N ให้มีสัดส่วนมากขึ้น จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด จากสัดส่วนเดิม 28.31% เป็น 69.61%
“ภาพใหม่ ThaiBev จะมีเครือข่ายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายกว่าเดิม มีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมในภูมิภาคมากขึ้น ตามจินตนาการที่วาดไว้แต่แรก เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว” อย่างที่สรุปไว้ในตอนที่แล้ว
แผนการนั้นย่อมหลอมรวม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย ในกรณีเพิกถอนกิจการในตลาดหุ้น 2 บริษัทที่กล่าวข้างต้นด้วย ทั้งนี้ ได้ขมวดดีลสำคัญที่เคยมีในอดีต (อ้างไว้ข้างต้นเช่นกัน) เข้ามาด้วย ในฐานะเจ้าของเครือข่ายแฟรนไชส์อเมริกัน ทั้ง Starbucks และ KFC
ว่าด้วยเหตุและปัจจัยได้นำเสนอไว้อย่างเป็นระบบ ตามแบบฉบับบริษัทในตลาดหุ้นต่อนักลงทุน (เอกสาร “Conditional Share Swap Agreement Between InterBev Investment Limited And TCC Assets Limited” 18 Jul 2024 ความยาว 24 หน้า – https://investor.thaibev.com/en/newsroom/sgx-announcements/) ในหัวข้อ RATIONALE FOR THE PROPOSED SHARE SWAP (หน้า 7-14) เชื่อว่าเป็นบทอรรถาธิบาย อันเทียบเคียง เป็นแบบอย่างอ้างอิง ถึงบางกรณีควบรวมกิจการในตลาดหุ้นไทยก่อนหน้าด้วยก็ได้
ในภาพกว้าง มองความเป็นไปนั้นอย่างเรียบง่าย แผนการปรับโครงสร้างกิจการให้โฟกัสและกระจ่างชัด มุ่งเน้นประสิทธิผลการบริหารจัดการ ที่สำคัญเปิดเผยข้อมูลอย่างที่ควร ต่อนักลงทุนและสาธารณชน •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022