คุยกับทูต | ชีร์เลย์ เดนนิเซ อากิลาร์ บาร์เรรา สัมพันธ์ 67 ปี ไทย-กัวเตมาลาแห่งภูมิภาคอเมริกากลาง (1)

คุยกับทูต | ชีร์เลย์ เดนนิเซ อากิลาร์ บาร์เรรา

สัมพันธ์ 67 ปี ไทย-กัวเตมาลาแห่งภูมิภาคอเมริกากลาง (1)

 

กัวเตมาลา หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐกัวเตมาลา เป็นประเทศในภูมิภาคอเมริกากลาง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาเหนือ มีชายฝั่งติดกับทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลแคริบเบียน พรมแดนด้านตะวันตกจรดเม็กซิโก ตะวันออกเฉียงเหนือจรดเบลีซ และตะวันออกเฉียงใต้จรดฮอนดูรัสและเอลซัลวาดอร์

แผ่นดินกัวเตมาลาเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมมายา ซึ่งเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าและลึกลับที่สุดแห่งหนึ่งของโลกยุคโบราณ ชาวมายาเป็นนักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และสร้างเมืองที่มีความซับซ้อนมากที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยของพวกเขาในบริเวณที่ปัจจุบันคือ กัวเตมาลา อันเป็นสถานที่ตั้งของซากเมืองโบราณ มรดกในยุคอาณานิคม และภูมิประเทศที่งดงามของป่าไม้ ทะเลสาบ ภูเขา และภูเขาไฟ

ด้านภาษา มีภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ แต่มีภาษาพื้นเมืองมากกว่า 20 ภาษาที่พูดกันทั่วประเทศ แต่ละภาษาเกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน เช่น K’iche’, Q’eqchi’ และ Kaqchikel ภาษาเหล่านี้ไม่ใช่เพียงภาษาถิ่น แต่มีโครงสร้างทางไวยากรณ์และคำศัพท์เฉพาะตัว

ซึ่งชี้ให้เห็นถึงมรดกโบราณที่เกิดขึ้นก่อนการล่าอาณานิคมของสเปน

นางชีร์เลย์ เดนนิเซ อากิลาร์ บาร์เรรา (Mrs. Shirley Dennise Aguilar Barrera) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐกัวเตมาลาประจำประเทศไทย

“ดิฉันเกิดที่เมืองกัวเตมาลาซิตี้ แต่ไปโตที่เมืองโคบัน ในอัลตา เบราปาซ (Cobán, Alta Verapaz) ซึ่งเป็นจังหวัดทางตอนเหนือของประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตกาแฟ กระวาน และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยความงดงามทางธรรมชาติและโอกาสทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่หลากหลาย รวมถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับชาวเค็กชิ (Q’eqchi’)”

“การที่เติบโตในภาคเหนือของกัวเตมาลาที่สมบูรณ์ด้วยธรรมชาติและวัฒนธรรม เป็นประสบการณ์ที่น่าทึ่ง เพราะทำให้ได้เรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็กเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันยาวนานและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกัวเตมาลา อารยธรรมของชาวมายาโบราณ อิทธิพลจากสเปนและเยอรมันในยุคล่าอาณานิคม สู่ความก้าวหน้า ในยุคใหม่”

“ความทรงจำวัยเด็กดังกล่าว ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในมรดกของตัวเองอย่างลึกซึ้ง ดิฉันจึงมุ่งมั่นในการส่งเสริมและรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเราชาวกัวเตมาลา”

นางชีร์เลย์ เดนนิเซ อากิลาร์ บาร์เรรา (Mrs. Shirley Dennise Aguilar Barrera) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐกัวเตมาลาประจำประเทศไทย เล่าถึงชีวิตวัยเด็ก เพราะ ‘วัยเด็ก’ คือจุดเริ่มต้นของทุกเส้นทางในอนาคต

วิวพาโนรามาของทะเลสาบเมื่อมองจากยอดภูเขาไฟซานเปโดร

ความเปลี่ยนแปลงในกัวเตมาลามีขึ้นนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองและการสถาปนาข้อตกลงสันติภาพในปี 1996

“ตั้งแต่การลงนามในข้อตกลงสันติภาพในปี 1996 กัวเตมาลาได้ดำเนินการ เพื่อเสริมสร้างสันติภาพประชาธิปไตย และการพัฒนา”

“การสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองถือเป็นประวัติศาสตร์บทใหม่ของประเทศ โดยเน้นไปที่การปรองดอง การเสริมสร้างสถาบันประชาธิปไตย และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และสาธารณสุข”

“อย่างไรก็ตาม ความท้าทายยังคงมีอยู่ ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การทุจริต และการเสริมสร้างหลักนิติธรรม โดยรัฐยังคงทำงานเพื่อสร้างสังคมที่ครอบคลุม ส่งเสริมความเท่าเทียม และเสริมสร้างประชาธิปไตยให้มั่นคงมากขึ้น”

วิวทะเลสาบ Atitlán จาก Panajachel ไปจนถึง Volcán San Pedro

สําหรับบทบาทในประเทศไทยของกัวเตมาลานั้น

“ดิฉันเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2023 เพื่อดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐกัวเตมาลาประจำราชอาณาจักรไทย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตครั้งแรกของดิฉัน และดิฉันเป็นเอกอัครราชทูตกัวเตมาลาประจำประเทศไทยลำดับที่สอง”

“หน้าที่หลักคือการเป็นตัวแทนของประเทศกัวเตมาลาและพลเมืองกัวเตมาลาในประเทศไทย รวมทั้งสามประเทศดังที่กล่าวมาแล้ว สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการค้าและวัฒนธรรม และให้บริการด้านกงสุลแก่พลเมืองกัวเตมาลาที่อาศัยหรือเดินทางไปประเทศไทย ซึ่งดิฉันมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีและความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างประเทศของเรา”

ส่วนความร่วมมือในปัจจุบัน คือ “ไทยและกัวเตมาลามีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นมาโดยตลอดนับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 1957 วัตถุประสงค์ก็เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านทวิภาคีและพหุภาคี เราทั้งสองประเทศมีวิสัยทัศน์และหลักการร่วมกันในประเด็นสำคัญๆ ในวาระการประชุมระหว่างประเทศ ได้แก่ การเสริมสร้างสันติภาพ สนับสนุนประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาบนพื้นฐานของการเปิดเสรีทางการค้า”

“รวมถึงการส่งเสริมความมั่นคงและความร่วมมือในระดับโลก (กับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน)”

นางชีร์เลย์ เดนนิเซ อากิลาร์ บาร์เรรา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐกัวเตมาลาประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023

กัวเตมาลาเป็นประเทศแรกในภูมิภาคละตินอเมริกาที่เปิดสถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทย

“พิธีเปิดสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐกัวเตมาลาในราชอาณาจักรไทยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2019 ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงของรัฐบาลฉบับที่ 2-2015 งานนี้จัดขึ้นหลังจากที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในเม็กซิโกซึ่งทำหน้าที่เป็นสถานเอกอัครราชทูตประจำกัวเตมาลา รายงานเมื่อเดือนมกราคม 2019 ว่า คณะรัฐมนตรีของไทยได้อนุมัติคำร้องของรัฐบาลกัวเตมาลาในการเปิดสำนักงานตัวแทนทางการทูตในกรุงเทพฯ”

“หลังพิธีเปิดดังกล่าว มีการจัดประชุมหลายครั้งระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของกัวเตมาลาและไทย และกับหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลทั้งสอง เพื่อทบทวนประเด็นวาระการประชุมทวิภาคีและพหุภาคี”

“เรื่องสำคัญที่ต้องกล่าวถึงก็คือ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐกัวเตมาลาในราชอาณาจักรไทยในปัจจุบันได้รับความเห็นชอบจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อให้กัวเตมาลาสามารถใช้ประโยชน์จากตัวแทนทางการทูตนี้เพื่อเสริมสร้างสถานะของตนในภูมิภาคได้”

“การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างช่องทางการสื่อสารทางการทูตและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการค้าผ่านคณะผู้แทนการค้า งานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ และความตกลงทวิภาคี ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตกัวเตมาลาในราชอาณาจักรไทยสามารถประสานงานเพื่อให้เกิดความเห็นพ้องกันได้ นอกจากนี้ ความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา วัฒนธรรม และเทคโนโลยี จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยั่งยืนยิ่งขึ้น”

“เรามีความร่วมมือที่ครอบคลุมในหลายด้าน เช่น การค้า การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และในยุคโลกาภิวัตน์ มีการพัฒนาศักยภาพมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยว การศึกษา และเทคโนโลยี ทั้งสองประเทศสามารถได้รับประโยชน์จากการแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของกันและกัน”

เมล็ดกาแฟกัวเตมาลาที่มีขื่อเสียง

อุตสาหกรรมในอันดับต้นๆ ของกัวเตมาลา

“สามอันดับแรก คืออุตสาหกรรมเกษตร การผลิต และบริการ”

“ด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการผลิตกาแฟ กระวาน น้ำมันปาล์ม กล้วย และอ้อย ด้านการผลิต ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจ รวมถึงสิ่งทอและอาหารแปรรูป ส่วนด้านการบริการและการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นนั้นเนื่องจากมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าและความงามทางธรรมชาติของกัวเตมาลา”

“ประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากกัวเตมาลาเป็นหลัก เช่น เมล็ดกาแฟ กล้วย และกระวาน ส่วนกัวเตมาลานำเข้าเครื่องจักร อาหารแปรรูป อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอจากประเทศไทย ความสัมพันธ์ทางการค้านี้เน้นย้ำถึงลักษณะที่เสริมเศรษฐกิจทางการค้าซึ่งกันและกัน”

ไร่กาแฟ Las Merceditas, San Rafael Pie de la Cuesta ในกัวเตมาลา

โดยโอกาสสำหรับนักธุรกิจไทยนั้น

“ด้านการทำธุรกิจในประเทศกัวเตมาลา นักธุรกิจไทยสามารถค้นหาโอกาสในกัวเตมาลาได้ในหลายภาคส่วน รวมถึงภาคเกษตร การผลิต บริการ BPO, ITO และการท่องเที่ยว ศักยภาพทางภาคการเกษตรในการลงทุนด้านการแปรรูปและการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่ม ส่วนในภาคการผลิต ก็มีช่องทางสำหรับความร่วมมือในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภาคการท่องเที่ยว เป็นโอกาสสำหรับการร่วมทุนในโครงการด้านการต้อนรับและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยใช้ประโยชน์จากมรดกทางวัฒนธรรมของชนเผ่ามายาและแหล่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของกัวเตมาลา”

(BPO-Business Process Outsourcing คือการมอบระบบงานบางส่วน มาให้บุคคลภายนอกรับผิดชอบแทน ซึ่งจะเชี่ยวชาญและชำนาญเฉพาะด้านในงานต่างๆ กันไป ส่วน ITO- Information Technology Outsourcing เป็นการจ้างพนักงานจากนอกองค์กรมาทำงานด้าน IT ให้เราเป็นการเฉพาะในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้)

ทั้งนี้ องค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ที่สำคัญได้แก่ การค้าและการลงทุน การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการศึกษา

“การปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการค้าสามารถทำได้โดยการสำรวจตลาดใหม่และการลดอุปสรรคทางการค้า ด้านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม จะสามารถเสริมสร้างความเข้าใจและการชื่นชมมรดกของกันและกัน ด้นองค์ประกอบทางการศึกษา ได้แก่ การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและความร่วมมือทางวิชาการ”

“ซึ่งดิฉันคิดว่า การมีส่วนร่วมของประชาชน สามารถส่งเสริมการเชื่อมโยงระยะยาวระหว่างไทยและกัวเตมาลาได้เป็นอย่างดี” •

ตีกัล (Tik’al หรือ Tikal) คือ ซากเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดของอารยธรรมมายา ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดเปเตน ประเทศกัวเตมาลา ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin