ไหว้เจ้า เผากระดาษ : เผาทำไม? ทำความเข้าใจเรื่องเครื่องกระดาษจีน (2)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

จีนเป็นชาติแรกๆ ในโลกที่คิดค้นการทำกระดาษมาเกือบสองพันปี แต่เดิมใช้เพื่อการจดจารแทนผ้าไหมหรือซีกไม้ไผ่ที่ราคาแพงหรือมีน้ำหนักมากกว่า จนจีนเป็นเจ้าแห่งวัฒนธรรมกระดาษ

ส่วนการใช้กระดาษเพื่อแทนเงินทองให้ผู้ตายนั้น เริ่มมีหลักฐานปราฏมาตั้งแต่สมัยจิ้นและเว่ย แต่ในสมัยนั้นยังมิได้มีการเผา เป็นเพียงแต่การโปรย แขวนหรือบรรจุไปกับศพ

ต่อมาการเผากระดาษค่อยๆ นิยมมากขึ้น อาจเป็นไปได้ว่าพัฒนามาพร้อมคติการเผาศพซึ่งจีนรับจากพุทธศาสนาแทนการฝังอย่างเก่า

จนการเผากระดาษเงินกระดาษทองเป็นสิ่งที่ทำกันโดยปกติ และเชื่อว่าเป็นวิธีการที่จะส่งเงินทองเหล่านั้นไปให้ผู้ตายหรือเทพเจ้า

อันที่จริงมีหลักฐานถึงการฝังเงินทองจริงๆ พร้อมกับข้าวของอื่นๆ ในหลุมฝังศพมาตั้งแต่สมัยชุนชิวจ้านกว๋อ เราจึงอาจพอจะสรุปได้ว่า วัฒนธรรมการมอบเงินทองข้าวของแก่ผู้ตายนั้นเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนเองจากความเชื่อพื้นบ้าน เช่นเดียวกับวัฒนธรรมการจัดการศพทั่วโลก แล้วถูกนำมารวมกับคติทางศาสนาไม่ว่าจะเต๋า หยูหรือพุทธในภายหลัง

พุทธศาสนาที่เข้าไปในจีนก็มิได้ปฏิเสธความเชื่อพื้นบ้านเหล่านี้ แต่ทำให้มีความกลมกลืนกับพุทธศาสนามากขึ้น การเผากระดาษเงินกระดาษทองกลายเป็นส่วนหนึ่งของการอุทิศกุศลให้กับผู้ตายด้วยความกรุณา

 

นอกจากนี้ ยังมีกระดาษพิเศษทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะ เรียกว่ากระดาษอุปัตติธารณีมนต์หรืออ่องเซ้งจี๋ (แต้จิ๋วเรียกอ่วงแซจี๊) โดยจะมีการพิมพ์พระธารณีหรือมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่ามีพระพุทธคุณลงไป

เป็นพระธารณีที่ชื่อ “สุขาวดีอุปัตติธารณี” (ฮกเกี้ยนเรียก อ่องเซ้งจิ่ว แต้จิ๋วออกเสียงว่าอ่วงแซจิ่ว) หรืออมฤตวิกรานเตธารณี

เป็นพระธารณีแห่งพระอมิตาภพุทธ ผู้มีปณิธานจะฉุดช่วยสรรพสัตว์ที่สิ้นชีพทั้งหลายให้ไปเกิดในพุทธเกษตรของพระองค์อันมีนามว่า “สุขาวดี” เพื่อจะไปบรรลุธรรมที่นั่น

พระธารณีนี้มีว่า “นโม อมิตาภายะ ตถาคะตายะ ตัทยถา อมฤโตทภะเว อมฤตะ สิทธัมภะเว อมฤตวิกรานเต อมฤตวิกรานตะ คามิเน คะคะนะ กิรติกะเร สวาหา”

พระธารณีข้างต้นคนจีนก็อาจออกเสียงผิดเพี้ยนจากสันสกฤตไปตามความถนัดปากของตน เช่น “นะโมอมิตาภายะ” เป็น “นำโม ออมี่โตโพเอ” แต่ก็นับถือว่ายังมีความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดิม

 

เหตุนี้ต้องนำพระธารณีนี้มากล่าวถึง เพราะเชื่อกันว่ากระดาษชนิดนี้ซึ่งพิมพ์ด้วยอักษรจีนบ้าง อักษรสิทธัมบ้าง มีรูปลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละถิ่นบ้าง จะเกิดประสิทธิผลก็ต่อเมื่อได้มีการสวดพระธารณีนี้ก่อนจะนำไปเผา คือต้องมีการปลุกเสกกระดาษเสียก่อน เมื่อปลุกเสกแล้วจะจี้ธูปลงไปเป็นสัญลักษณ์ เราก็จะเห็นรอยไหม้เป็นจุดๆ เวลาที่ซื้อกระดาษชนิดนี้มาจากร้านหรือโรงงาน แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะเสกมาจริงหรือไม่

ฉะนั้น อาม่าอาอี๋ที่เคร่งๆ หน่อยก็มักนำกระดาษดังกล่าวมาสวดเองที่บ้านอีกรอบเพื่อความชัวร์ บางทีเวลาเราเห็นอาม่าย่ายายนั่งพึมพำๆ เวลาพับอ่องเซ้งจี๋ ท่านก็อาจกำลังภาวนาพระธารณีอยู่ก็ได้ครับ

นอกจากนี้ อ่องเซ้งจี๋ยังเป็นกระดาษที่สามารถซื้อได้ตามวัดจีนต่างๆ วัดมังกรกมลาวาส หรือวัดจีนอื่นๆ ในบ้านเราก็มีขาย บางคนนิยมมากกว่าซื้อจากร้าน เพราะรูปลักษณ์กระดาษชนิดนี้จากวัดจะดูเข้มขลังกว่า แถมยังน่าเชื่อได้ว่าพระท่านคงได้ทำวัตรสวดมนต์ปลุกเสกให้แล้ว และเป็นการทำบุญบริจาคให้วัดด้วย

ช่วงนี้ตรงกับเดือนเจ็ดจีนอันเป็นเดือนมหากุศลฉุดช่วยวิญญาณทั้งหลาย กระดาษอ่องเซ้งจี๋จะมีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะนิยมใช้อุทิศให้กับบรรพชนรวมทั้งผีไร้ญาติที่ได้ขึ้นมาขอรับกุศลจากมนุษย์

อ่อ ที่จริงหลายคนอาจคุ้นเคยกับกระดาษอ่องเซ้งจี๋ในชื่อ “ใบเบิกทาง” หรือกระดาษเบิกทาง เพราะเข้าใจไปว่ากระดาษอ่องเซ้งจี๋ซึ่งมีขายโดยทั่วไปนั้น เป็นเอกสารใบเบิกทางสำหรับให้วิญญาณมารับการเซ่นสรวง

บางทีร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ก็เข้าใจไปแบบนี้ เพราะอ่านตัวหนังสือที่พิมพ์บนกระดาษไม่รู้เรื่อง

แต่อันที่จริงเป็นกระดาษสำหรับอุทิศกุศลตามที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น

 

ผมพอจะทราบว่าทางทิเบตก็มีวัฒนธรรมคล้ายๆ กันกับจีน แต่เขาจะพิมพ์พระธารณีมนต์ลงบนกระดาษเล็กๆ แล้วโปรยปรายไปกับสายลมตามยอดเขาหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่ออุทิศแก่พระธรรมบาล เทพเจ้าที่เจ้าทางรวมถึงพลังแห่งธรรมชาติตรงนั้น มิได้เผาอย่างชาวจีน

ผมคิดเอาเองว่าทิเบตอาจรับเทคโนโลยีกระดาษจากจีน แต่การพิมพ์พระธารณีลงกระดาษแล้วใช้อุทิศ มิรู้ว่าใครรับจากใครกันแน่

บางท่านก็เห็นว่า จริงๆ แล้วการเผากระดาษอุปัตติสุขาวดีมนต์นี้ อาจเป็นอุบายวิธีที่ช่วยให้คนจีนซึ่งไหว้เจ้าเผากระดาษอยู่แล้ว สามารถเข้าสู่วิถีแห่งการภาวนาตามคติพุทธได้อย่างแนบเนียน

เป็นการฝึกภาวนาพระธารณีอย่างง่ายและสร้างเสริมความศรัทธาในพระอมิตาภะให้เพิ่มพูนโดยใช้วิธีที่คุ้นเคยอยู่แล้ว

เรื่องอุบายวิธีของพุทธที่แทรกเข้าไปในพิธีกรรม ผมมีเรื่องเล็กๆ จะเล่าให้ฟัง

 

ครั้งหนึ่งผมเคยได้รับคำแนะนำจากมิตรสหายซึ่งสนใจในพุทธประเพณีแบบทิเบต ว่าหากต้องการอุทิศอาหารให้ดวงวิญญาณโดยง่ายที่สุด ทุกครั้งที่เผากระดาษเงินกระดาษทองก็ให้เอาผงแป้งสาลีหรือผงจากอาหารที่มีสีขาวใส่ลงไปในกระดาษด้วย

เนื่องจากทางทิเบตมีความเชื่อว่า มนุษย์และสัตว์ที่ตายแล้วหรือวิญญาณนั้นเป็น “ตัวกินกลิ่น” คือจะรับกลิ่นของอาหารผ่านการเผาไปเป็นควันได้เท่านั้น จึงมีพิธีที่เรียกว่าการอุทิศ “ซูร์” หมายถึงการเผาอาหารสีขาวหรือแดงลงในไฟให้เกิดควันและอาศัยพุทธบารมีขอให้ปวงสัตว์ที่จากโลกนี้ไปแล้ว สามารถรับอาหารซึ่งแปรจากควันนั้นไปเป็นอมฤตได้ รายละเอียดของเรื่องซูร์นี้ยังมีอีกมาก คงไม่ขอเล่าไว้ในที่นี้

ผมเห็นว่า คำแนะนำนี้เป็นความพยายามนำเอาพุทธประเพณีจากที่หนึ่งมาผสมสานกับวัฒนธรรมจีนของมิตรท่านนั้นอย่างน่าสนใจ

ส่วนจะใช้กระดาษอะไรแค่ไหนนั้น อันที่จริงจีนมีธรรมเนียมเก่าอยู่ แต่ในปัจจุบันโดยเฉพาะพิธีที่ทำในครอบครัวก็มิได้ถือเคร่งกันแล้ว มักจะเป็นการเผาตามความชอบใจหรือเน้นมากๆ ไว้ก่อน

ผมขอพูดถึงธรรมเนียมกระดาษเงินและทองซึ่งอิงตามขนบฮกเกี้ยนที่ได้เรียนรู้มา อาจมิได้กล่าวถึงเครื่องกระดาษของจีนภาษาอื่นมากนัก แต่หลักการน่าจะคล้ายๆ กัน

ดังนั้น หากไม่ตรงกับที่ท่านยึดถือหรือที่ท่านรู้มาก็ต้องขออภัยไว้ด้วย เพราะทั้งหมดนี่ก็เขียนขึ้นจากความทรงจำ ซึ่งคลาดเคลื่อนได้ง่าย

กระดาษแทนเงินทองอย่างเก่ามีที่ใช้กันหลักๆ อยู่สองชนิดคือ เงินและทอง (หงินและกิ๊ม) กระดาษเงินมีค่าน้อยกว่าและเป็นกระดาษสำหรับวิญญาณผู้ตายหรือใช้ในโลกเบื้องล่าง ส่วนกระดาษทองมีค่ามากกว่า มีชนิดเล็กเรียกสิ่วกิ๊มและทองใหญ่หรือตั่วกิ๊มบางครั้งเรียกทีก๊องกิ๊มเพราะถือว่าใช้ไหว้ทีก๊อง นิยมถวายต่อเทพเจ้า

สองอย่างนี้เป็นกระดาษหลักใช้ในทุกพิธีกรรมและเทศกาล นอกนั้นเป็นกระดาษปกิณกะตามโอกาสและจุดประสงค์เฉพาะอย่าง

 

กระดาษแบบฮกเกี้ยน (ฮกเกี่ยนกิ๊ม) ข้างต้น มักทำด้วยกระดาษเยื่อไผ่หรือฟาง มีทั้งชนิดสีเหลือง ขาวและเทา แผ่นเล็กมีขนาดประมาณสิบสองคูณแปดเซนติเมตร ถ้าเป็นตั่วกิ๊มก็จะใหญ่กว่าประมาณสองถึงสามเท่า กระดาษเงินจะตีตะกั่วหรือดีบุกเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ ตรงกลางหรือใช้สีเงินทาไว้

ส่วนกระดาษทองมักจะพิมพ์ลายจูจ๋ายซิ่วหรือฮกลกซิ่วตรงกลาง แล้วตีตะกั่วเป็นแผ่น ทาทับด้วยยาเหลืองเพื่อให้เป็นสีทอง

แม้จะถือกันว่า “กระดาษเงินให้ผี กระดาษทองให้เทพ” แต่ความจริงแล้วทั้งผีทั้งเทพสามารถใช้กระดาษทั้งสองชนิดได้

เชื่อกันว่าหากเทพต้องมาทำกิจยังโลกเบื้องล่างบางทีก็ต้องใช้เงิน และหากผีบรรพชนต้องไปโลกเบื้องบนก็ต้องใช้ทองเช่นกัน

แต่ก็มีเป็นข้อห้ามไว้ว่า ไหว้ผีห้ามมีแต่กระดาษทอง ไหว้เทพห้ามมีแต่กระดาษเงิน

ดังนั้น จะไหว้ผีด้วยกระดาษเงินล้วนๆ และไหว้เทพด้วยกระดาษทองอย่างเดียวก็ย่อมได้

หากจะไหว้ผสมกันท่านมีข้อกำหนดดังนื้ ไหว้ผีให้ใช้กระดาษเงินเจ็ดส่วนกระดาษทองสามส่วนเท่านั้น จะมีทองมากกว่านี้ไม่ได้ ส่วนไหว้เทพให้ใช้กระดาษทองเจ็ดส่วนกระดาษเงินสามส่วนจึงจะเหมาะสม

 

อนึ่ง การนับจำนวนกระดาษไหว้ที่ใช้ในพิธีกรรมก็มีธรรมเนียมเช่นกัน ปกติกระดาษแบบฮกเกี้ยน โรงกระดาษจะเสียบกระดาษมาเป็นมัดเล็กๆ มัดละสิบสองใบ เรียกว่าจำนวน “หนึ่งจี๋” หากเป็นกระดาษทองที่ไม่มัดรวมกันก็นับจำนวนแบบนี้เช่นกัน คือสิบสองใบเท่ากับหนึ่งจี๋

เมื่อจะประกอบเทพยพิธีที่เป็นทางการ ท่านให้ถวายกระดาษทองเล็กเจ็ดจี๋กระดาษทองใหญ่สามจี๋ รวมสิบจี๋เป็นขั้นต่ำ แต่ถ้าเป็นไปได้ควรใช้กระดาษทองเล็กสิบจี๋ทองใหญ่ห้าจี๋ รวมเป็นสิบห้าจี๋

จำนวนนี้ถือเป็น “ค่ากำนล” ในพิธีที่มีการอัญเชิญเทพ ถ้าพูดแบบปัจจุบันคือมีค่าเดินทางหรือค่าน้ำร้อนน้ำชาใส่ซองให้ท่าน ที่ได้กรุณามาช่วยอวยพรกิจธุระของเรานั่นแล และในเมื่อเป็นของกำนัลก็จะต้องถวายก่อนจะทำการส่งเทพส่งครู (ส่างสีนหรือส่างซื้อ)

เรื่องธรรมเนียมการถวายยังไม่จบ รวมถึงยังไม่ได้ตอบคำถามที่ว่า เมื่อเราเผากระดาษแล้วเทพ-ผีได้รับเงินทองนั้นจริงๆ ไหม

ขอเก็บไว้ต่อในคราวหน้า •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง