มานุษยวิทยา-โบราณคดี ที่โคราช

สังคมไทยราว 60 ปีที่แล้ว เมื่อเรือน พ.ศ.2507 แนวคิดทางประวัติศาสตร์ไทยมี 2 กระแส ได้แก่ กระแสหลัก กับตรงข้ามกระแสหลัก

ซึ่งแท้จริงแนวคิดทั้ง 2 กระแสมีอยู่แล้วในโบราณคดี (ศิลปากร) ตั้งแต่ก่อน 60 ปีที่แล้ว แต่แสดงอาการออกนอกหน้าเมื่อหลัง 60 ปีที่แล้ว และน่าจะส่งผลสืบเนื่องจนทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทย ของ “ชนชาติไทย เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์” มีสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก โดยรัฐสนับสนุนประวัติศาสตร์ไทยแนวนี้

ประวัติศาสตร์ไทยตรงข้ามกระแสหลัก เป็นประวัติศาสตร์สังคมไทยของชาวสยามซึ่งประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ที่พูดภาษาไทย และบางกลุ่มเรียกตนเองว่าไทย แต่ประวัติศาสตร์ไทยแนวนี้เป็นกลุ่มถูกไล่ล่า จึงไม่กล้าแสดงตนต่อสาธารณะ เพราะกลัวถูกจับติดตาราง “ขังลืม”

โบราณคดี (ศิลปากร) 60 ปีที่แล้ว ไม่ปิดกั้นแนวคิดต่าง แต่ใครคิดต่างถูกไล่ล่า ดังกรณีข้อถกเถียงเรื่องอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7

“ท่านอาจารย์” ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล สนับสนุนแนวคิดนักปราชญ์ฝรั่งเศส ว่าพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 มีอำนาจการเมืองเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรือน พ.ศ.1750 โดยอ้างรายชื่อ 23 เมืองในจารึกปราสาทพระขรรค์ (กัมพูชา) ว่ามีหลายชื่อตรงกับบ้านเมืองลุ่มน้ำเจ้าพระยา

กลุ่มประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักซึ่งมีมาก สนับสนุน “ท่านอาจารย์”

อ.ศรีศักร วัลลิโภดม (อาจารย์ประจำสอนวิชาประวัติศาสตร์) คัดค้านแนวคิดนักปราชญ์ฝรั่งเศส ว่าอำนาจการเมืองพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 ไม่มีเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยา สิ่งที่พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 มีเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยา คืออำนาจทางวัฒนธรรรม (ไม่การเมือง)

อำนาจทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 ถ้าจะมีก็แผ่ขึ้นไปทางอีสาน ลุ่มน้ำมูล-ชี และโขง ซึ่งมีเมืองจำนวนมากไม่รู้จักชื่อดั้งเดิม ซึ่งน่าจะตรงกับชื่อเมืองในจารึกปราสาทพระขรรค์

กลุ่มประวัติศาสตร์ไทยตรงข้ามกระแสหลัก ซึ่งมีไม่มาก สนับสนุนแนวคิดนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีภาควิชามานุษยวิทยา เพื่อเปิดโลกวิชาการสากลเรื่องกลุ่มชนเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะได้เข้าใจโบราณคดีแท้จริง

 

มานุษยวิทยา

โบราณคดี (ศิลปากร) เริ่มมีการเรียนการสอนวิชามานุษยวิทยา โดยเชิญอาจารย์พิเศษมาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

นักศึกษาจำนวนมากชื่นชอบวิชามานุษยวิทยา ทั้งๆ เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะอาจารย์สอนมานุษยวิทยาหนักทางทฤษฎี แล้วยกตัวอย่างสังคม (ที่ฝรั่งวิจัย) ในทวีปแอฟริกาและหมู่เกาะแปซิฟิก โดยไม่มีตัวอย่างในไทย (เพราะฝรั่งยังไม่วิจัย)

วิชาภาษาศาสตร์มีผู้สอนเป็นอาจารย์พิเศษจากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ สำคัญมากทางมานุษยวิทยา แต่ก็อีหรอบเดียวกันที่หนักทางทฤษฎี แล้วยกตัวอย่างจากสังคมห่างไกลมาก โดยไม่มีไทยและเพื่อนบ้าน ทำให้เข้าใจยาก จนถึงไม่เข้าใจ

นักศึกษาจำนวนไม่น้อย เรียกร้องให้เปิดภาควิชามานุษยวิทยา เพื่อประโยชน์ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี สร้างวิธีคิดต่อยอดกว้างไกลออกไปจากเดิม ให้เข้าถึงวิถีชีวิตคนทั่วไป (ไม่จักรๆ วงศ์ๆ) ในประวัติศาสตร์

รายงานการสำรวจและศึกษาทางโบราณคดี จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.2511-2512 พิมพ์ในหนังสือโบราณคดีนครราชสีมา (หนา 192 หน้า) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก (55 ปีที่แล้ว) พ.ศ.2512 [ภาพนี้สแกนปกหนังสือที่ยืมจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ (เมื่อ 31 กรกฎาคม 2567)]
ข้อตกลง “มานุษยวิทยา” ที่โคราช

“ท่านอาจารย์” ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ออกสำรวจพร้อมคณะอาจารย์และนักศึกษาจำนวนหนึ่ง (รวมศิษย์เก่า 1 คน) โดยรถยนต์ “จี๊ป” ของคณะโบราณคดี (แลนด์โรเวอร์ กท.พ. 19293 ที่ได้รับงบจากผลงานการศึกษาและสำรวจของอาจารย์และนักศึกษาชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี ตั้งแต่ พ.ศ.2508-2509) ระหว่าง 28 ธันวาคม 2511-4 มกราคม 2512 (8 วัน)

มีรายงานอยู่ในหนังสือ โบราณคดีนครราชสีมา (จัดพิมพ์เป็นพิเศษเนื่องในการนำนักศึกษาไปขุดค้นบริเวณปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา 16 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม 2512)

เย็นวันหนึ่งบนโต๊ะอาหารที่โคราช มีการพูดจาหารือถึงทิศทางอนาคตของโบราณคดีต้องมีการเรียนการสอนวิชามานุษยวิทยาอย่างเป็นทางการ

สมัยนั้นโบราณคดีมีเนื้อแท้ 2 อย่าง คือ ประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นหลัก และเทคนิคการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นรอง ซึ่งไม่แข็งแรงทางแนวคิดและทฤษฎีสากลทางสังคมวัฒนธรรม ที่มีอย่างแข็งแรงในมานุษยวิทยา จึงควรมีวิชามานุษยวิทยาเสริมให้โบราณคดีแข็งแรงและมีที่ยืนในสังคมอย่างสง่างาม

ถ้าโบราณคดีมีพื้นฐานมานุษยวิทยาอย่างแท้จริง และถ้ามานุษยวิทยามีพื้นฐานโบราณคดีที่พบหลักฐานจริงจำนวนมากในไทย จะผลักดันให้โบราณคดีและมานุษวิทยาของศิลปากรมีคุณภาพเทียบสากล และมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นที่มีการเรีนการสอนมานุษยวิทยา

“ท่านอาจารย์” รับมติ (ด้วยวาจา) บนโต๊ะอาหารที่โคราช ได้แก่ (1.) โครงการจัดตั้งภาควิชามานุษยวิทยาในโบราณคดี (ศิลปากร) และ (2.) รับผู้จบปริญญาตรีโบราณคดี (และกำลังเรียนปริญญาโทที่นิด้า หัวหมาก) ทันที 1 คน เป็นอาจารย์ประจำ เพื่อดำเนินงานตามโครงการจัดตั้งภาควิชามานุษยวิทยา

ผู้นั่งร่วมโต๊ะอาหารที่โคราชเป็นพยานธรรมชาติ มีอาจารย์ประจำ 5 คน, นักศึกษา 7 คน (หญิง 2 ชาย 5) นักศึกษาเก่า 1 คน (กำลังเรียนโทที่นิด้า)

นักศึกษาชาย 5 คนที่นั่งร่วมโต๊ะอาหาร ในจำนวนนั้นมี 2 คน ชื่อ นายขรรค์ชัย บุนปาน (กำลังเรียนชั้นปีที่ 3) และนายสุจิตต์ วงษ์เทศ (เรียนแล้ว 5 ปี ยังไม่จบ) “ท่านอาจารย์” เลี้ยงเหล้าด้วย

 

ไม่เหมือนเดิม

ข้อตกลง “มานุษยวิทยา” ที่โคราช กระตุ้นความไม่พอใจให้อาจารย์กลุ่มสุดโต่งทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะ แสดงออกด้วยการปลุกระดมนักศึกษาแบบ “ชกใต้เข็มขัด” ให้ต่อต้านวิชามานุษยวิทยา

หลังกลับจากเดินทางศึกษาและสำรวจนครราชสีมา (พ.ศ.2511-2512) บรรยากาศโบราณคดีไม่ราบรื่นและไม่ร่มเย็นเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวไม่ปกติของอาจารย์บางคน ต่อนักศึกษาในชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี ที่เลื่อมใสแนวคิด “ประวัติศาสตร์ไทยตรงข้ามกระแสหลัก” สรุปดังนี้

(1.) ถูกอาจารย์บางคนที่ร่วมไปสำรวจนครราชสีมา ปล่อยข่าวใส่ร้ายนักศึกษาในชุมนุมฯ ว่า “ขบถ-คิดล้มล้างคณะ” ทำให้นักศึกษาส่วนมากที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ พากันเชื่อตามอาจารย์บางคนที่ใส่ร้าย แล้วป้ายสีรุนแรง เท่ากับอาจารย์เป็นผู้สร้างความขัดแย้งให้มีในหมู่นักศึกษา

(2.) ถูกอาจารย์บางคนข่มขู่คุกคาม “แบบทีเล่นทีจริง” ต่อนักศึกษาในชุมนุมฯ บางคนมากกว่า 2 ครั้ง เมื่อไปภาคสนามขุดค้นที่ปราสาทพิมายครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งเมื่อขุดค้นวัดเจ้าปราบ อยุธยา

(3.) ไม่มีความเคลื่อนไหวเรื่องโครงการจัดตั้งภาควิชามานุษยวิทยา ตามที่มีข้อตกลง “มานุษยวิทยา” ที่โคราช จึงไม่มีการบรรจุอาจารย์ดำเนินงานโครงการฯ ดังนั้น โครงการจัดตั้งภาควิชามานุษยวิทยาถูกทำให้เงียบ และถูกทำให้ลืมตลอด พ.ศ.2513

[ต่อมามีผู้บันทึกว่าเรื่องมานุษยวิทยาถูกรื้อฟื้น พ.ศ.2514 ก่อตั้งสำเร็จภาควิชามานุษยวิทยา เมื่อ พ.ศ.2517]

วิกฤตยุบคณะโบราณคดีและเรียนจบแล้วไม่มีงานทำ เป็นโอกาสเผยให้รู้ความแตกต่างในความคิดวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่ผู้ถืออำนาจสมัยนั้นไม่เปิดช่องให้คิดต่าง หรือไม่เปิดพื้นที่ให้ดอกไม้ร้อยดอกบานพร้อมกันในอุทยาน อันเป็นต้นตอความขัดแย้งต่างๆ สมัยต่อๆ ไป •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ