พื้นที่ความตายในเมืองกรุงเทพฯ (5) : จากป่าช้าสู่ฌาปนสถาน

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

พื้นที่ความตายในเมืองกรุงเทพฯ (5)

: จากป่าช้าสู่ฌาปนสถาน

 

เมื่อกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมืองสมัยใหม่ในปลายศตวรรษที่ 19 ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของความเป็นเมืองสมัยใหม่ในแบบที่ทั่วโลกต้องพบเจอคล้ายกันก็เริ่มเกิดขึ้น นั่นก็คือ ปัญหาการจัดการระบบสาธารณสุขในพื้นที่เมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลิ่น มลภาวะ เชื้อโรค สิ่งปฏิกูลนานาประการที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้น สร้างความรำคาญมากขึ้น และก่อให้เกิดโรคระบาด

โดยในบรรดาปัญหาสาธารณสุขทั้งหลาย อาจกล่าวได้ว่าการจัดการซากศพทั้งของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและต้องการการจัดการอย่างเป็นระบบอันดับต้นๆ ของเมืองสมัยใหม่

ภายใต้ความก้าวหน้าทางการแพทย์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มากขึ้นในช่วงดังกล่าว การจัดการซากศพด้วยวิธีการเผากลางแจ้งด้วยฟืนหรือน้ำมันโดยปราศจากการป้องกันกลิ่นควันและมลพิษเริ่มไม่เป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ

ความรังเกียจกลิ่นเหม็นคือส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาสุขอนามัยที่เกิดจากการจัดการซากศพแบบจารีตที่ไร้มาตรฐานตามความคิดสมัยใหม่ คือความกังวลหลักที่กลายมาเป็นข้อเรียกร้องทางสังคมให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิด

และเปลี่ยนการออกแบบพื้นที่ความตายไปสู่รูปแบบใหม่

 

จุดเปลี่ยนสำคัญของการแก้ปัญหา คือ การถือกำเนิดขึ้นของเตาเผาศพสมัยใหม่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่สามารถลดปัญหาเรื่องกลิ่น ควัน และมลพิษลงมาก แม้จะไม่สมบูรณ์เท่าเตาเผาในปัจจุบันก็ตาม

จุดเปลี่ยนนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเกิดขึ้นของเครื่องจักรที่ใช้เผาร่างกายมนุษย์ที่ตายไปแล้วเท่านั้น แต่ตัวมันได้เข้ามาเปลี่ยนความเชื่อและวัฒนธรรมในหลายสังคมไปอย่างสิ้นเชิง

ในสังคมชาวจีนซึ่งนิยมการฝังศพมายาวนานเป็นพันปี เตาเผาศพสมัยใหม่ได้เข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรมว่าด้วยความตายไปอย่างสิ้นเชิง โดยตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 มีหลายประเทศเริ่มรณรงค์ให้ทำการเผาศพแทนการฝัง ด้วยเหตุผลทั้งเรื่องสาธารณสุข และด้วยเหตุผลแฝงเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินในเมืองตามระบบทุนนิยมที่จะไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่หากยังยึดติดอยู่กับธรรมเนียมการฝังศพซึ่งใช้ที่ดินเป็นจำนวนมาก

ฮ่องกง และสิงคโปร์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือตัวอย่างที่ชัดเจน เตาเผาศพสมัยใหม่ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้รัฐเข้ามาจัดการพื้นที่สุสานให้ลดลง หลายแห่งยกเลิก และหลายแห่งถูกรัฐเวนคืนเพื่อนำที่ดินไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ทั้งหมดส่งผลให้พิธีกรรมทุกอย่างและรูปแบบการระลึกถึงบรรบุรุษของชาวจีนในทั้งสองประเทศต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

-ฌาปนสถานวัดจักรวรรดิ ตัวเมรุเผาศพสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2490 ถือเป็นเมรุที่มีเตาเผาศพสมัยใหม่แห่งแรกๆ ของสังคมไทย

ในกรณีกรุงเทพฯ เตาเผาศพสมัยใหม่ก็เข้ามาส่งผลกระทบเช่นกัน โดยเตาเผาศพสมัยใหม่ครั้งแรกถูกนำเข้ามาใช้ในสังคมไทยเมื่อปี พ.ศ.2483 ณ เมรุวัดไตรมิตรฯ

แม้ว่าธรรมเนียมไทยพุทธจะนิยมการเผามาแต่เดิม ซึ่งดูเหมือนว่าไม่กระทบอะไรมากนัก แต่ในความเป็นจริงกลับส่งผลมากกว่าที่หลายคนคิด โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นที่สำคัญต่อไปนี้

ประเด็นแรก คือ การแบ่งชนชั้นที่สะท้อนผ่านการเผาศพเริ่มเสื่อมคลายลง

ผมเคยกล่าวไว้หลายครั้งแล้ว ดังนั้นจะขอสรุปอย่างย่อเพียงแค่ว่า เตาเผาศพสมัยใหม่ได้เข้ามาทำลายหรือลดทอนเรื่องการแบ่งชนชั้นผ่านการจัดการพื้นที่ความตายในสังคมไทยให้ลดน้อยลง (ดูรายละเอียดใน “ฌาปนสถาคณะราษฎร” https://www.matichonweekly.com/column/article_519354)

ตามที่อธิบายไปในสัปดาห์ก่อน ธรรมเนียมการเผาศพของไทยแบบจารีตไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของสุขอนามัยหรือการจัดการศพให้สูญสลายไปเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของวัฒนธรรมการแบ่งช่วงชั้นวรรณะและสถานะทางสังคมของบุคคลต่างๆ ออกจากกันผ่านรูปแบบของที่เผาศพและตำแหน่งของที่เผาศพที่ไม่นิยมเผาในจุดตำแหน่งเดียวกันหากอยู่ในชนชั้นและสถานะที่ต่างกัน

ดังนั้น เตาเผาศพสมัยใหม่ที่จะต้องนำทุกศพเข้าไปทำการเผาผ่านช่องเดียวกัน ตำแหน่งเดียวกัน โดยไม่แบ่งแยกชาติกำเนิด สถานะทางสังคม ความรวยจน ฯลฯ จึงเป็นเรื่องที่ขัดกับความเชื่อโบราณของไทย แต่ด้วยปัญหาในมิติทางสาธารณสุขที่ส่งผลร้ายมากกว่า ทำให้สังคมเปิดรับเตาเผาศพสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว

จนนำมาสู่การเสื่อมคลายลงของธรรมเนียมการแบ่งแยกชนชั้นผ่านวิธีเผาศพ

แผนที่ พ.ศ.2475 (บน) เปรียบเทียบกับ ทศวรรษ 2490 (ล่าง) บริเวณวัดสระเกศและป่าช้าวัดสระเกศ จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงการใช้งานของป่าช้าวัดสระเกศมาสู่กิจกรรมอื่นมากมายทั้ง อาคารพาณิชย์และที่พักอาศัย

ประเด็นที่สอง คือ การเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์ความตายจาก “ป่าช้า” มาสู่ “ฌาปนสถาน”

ด้วยประสิทธิภาพเตาเผาสมัยใหม่ที่สามารถเผา “ศพสด” (ศพที่เก็บเอาไว้ไม่นาน เช่น 3-7 วัน) ได้อย่างรวดเร็วและไม่สิ้นเปลือง (ในขณะที่การเผาศพแบบเดิมทำไม่ได้ไม่ดีนัก จนนำมาสู่ธรรมเนียมไทยที่มักจะต้องเก็บศพ ทั้งเก็บด้วยวิธีการฝังศพหรือในโลง เอาไว้เป็นเวลานานเป็นปี แล้วค่อยขุดหรือนำศพมาเผาจริงอีกที) ทำให้ความจำเป็นในการใช้พื้นที่ “ป่าช้า” เพื่อฝังศพและเก็บศพค่อยๆ หายไป

ป่าช้าวัดสระเกศคือตัวอย่างที่ดี โดยในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ซึ่งมีการใช้เตาเผาศพสมัยใหม่แพร่หลายในวัดหลายแห่งมากขึ้นแล้ว ป่าช้าวัดสระเกศก็เริ่มหมดสภาพป่าช้า พื้นที่บางส่วนโดยเฉพาะที่ติดกับถนนใหญ่ มีการสร้างอาคารพาณิชย์ขึ้น บางส่วนยกให้เป็นสถานศึกษา และอีกหลายส่วนเปลี่ยนกลายเป็นพื้นที่พักอาศัย

เมื่อถึงช่วงราวทศวรรษที่ 2500 ป่าช้าวัดสระเกศก็หมดสภาพพื้นที่ฝังและเก็บศพโดยสมบูรณ์ แม้จะหลงเหลือของเก่าตกค้างอยู่บ้างก็ตาม ส่วนการเผาศพก็ถูกย้ายตำแหน่งข้ามเข้าไปอยู่ในบริเวณวัดแทน ใกล้กับภูเขาทองฝั่งทิศตะวันออก โดยเป็นการสร้างเมรุที่มีเตาเผาศพสมัยใหม่ขึ้นแทนที่

ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องก่อนการเผาศพก็ปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบใหม่ที่เราคุ้นเคยกัน คือ มีการสวดศพ 3-7 วัน เกิดเป็นอาคารศาลาสวดศพ (มากน้อยขึ้นอยู่กับวัด) มีศาลาสำหรับทำพิธีก่อนการเผา มีลานเวียนศพ มีพื้นที่เดินขึ้นไปวางดอกไม้จันทน์ ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดคือกลุ่มอาคารประกอบที่แวดล้อมอยู่โดยรอบเมรุที่มีเตาเผาสมัยใหม่ โดยจะถูกเรียกรวมกันว่า “ฌาปนสถาน”

 

ฌาปนสถาน เป็นคำที่ผมอยากตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก่อนว่า น่าจะเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับแนวคิดในการนำเข้าเตาเผาศพสมัยใหม่เข้ามาในสังคมไทย มีความหมายกว้างๆ ตามพจนานุกรม หมายถึง พื้นที่สำหรับเผาศพ รวมถึงอาคารประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง โดยคำนี้ไม่พบว่ามีการพูดถึงเลยในการจัดการศพก่อนหน้านี้ โดยคำที่พบส่วนใหญ่ในอดีตคือ ป่าช้า และสุสาน มากกว่า

ในทัศนะผม เตาเผาศพสมัยใหม่ได้เข้ามาเปลี่ยนพื้นที่และภูมิทัศน์ความตายของสังคมไทย จาก “ป่าช้า” มาสู่ “ฌาปนสถาน” กล่าวคือ จากพื้นที่เผาศพแบบโบราณ เชิงตะกอน เมรุผ้าขาว เมรุชั่วคราว และแวดล้อมด้วยที่ฝังศพ ที่เก็บศพ ตลอดจนอาคารประกอบตามแบบจารีต มาสู่ เมรุเผาศพสมัยใหม่ (มีเตาเผาสมัยใหม่อยู่ด้านใน) ที่แวดล้อมด้วยศาลาสวดศพและพิธีกรรมในแบบใหม่

ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นกับป่าช้าทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2480 เป็นต้นมา ป่าช้าจะเริ่มลดขนาดพื้นที่ลงและหมดไปในที่สุด พื้นที่ป่าช้าที่มีชื่อเสียงที่สุดและอาจจะถือว่าปิดตัวลงไปเป็นแห่งสุดท้ายในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็คือ ป่าช้าวัดดอน

บางวัดในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ชานเมือง อาจจะยังหลงเหลือพื้นที่เก็บศพในความหมายของป่าช้าเดิมอยู่บ้าง แต่ก็มิได้มีการจัดเก็บตามความเชื่อแบบโบราณอีกต่อไปแล้ว

 

ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับ ความเปลี่ยนแปลงที่ผมเล่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น โดยในพื้นที่อื่นของสังคมไทยยังหลงเหลือพื้นที่ป่าช้าในบทบาทหน้าที่แบบเดิมอยู่ไม่น้อยนะครับ แต่จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ เพราะอยู่นอกเหนือประเด็นของบทความ

การหายไปของพื้นที่ป่าช้าส่วนหนึ่งยังได้รับการหนุนเสริมให้เกิดเร็วขึ้นจากความต้องการที่ดินในพื้นที่เมืองเพื่อนำไปพัฒนาเป็นโครงการก่อสร้างสมัยใหม่รูปแบบอื่นที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะกรุงเทพฯ แต่เมืองมหานครหลายแห่งก็มีลักษณะเช่นนี้ และบางแห่งก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากกว่ากรุงเทพฯ หลายสิบเท่า

จากข้อมูลของกรุงเทพมหานครปัจจุบัน พบว่า มีฌาปนสถานกระจายตัวอยู่ทั้งหมดมากถึง 308 แห่ง และไม่มีพื้นที่ป่าช้าในความหมายแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว (ไม่นับสุสานตามความเชื่อในศาสนาอื่นนะครับ)

ความเปลี่ยนแปลงนี้คงไม่เกินเลยไปนักหากจะพูดว่า เตาเผาศพสมัยใหม่คือสาเหตุที่ทำให้ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้เกิดขึ้น