มาเลเซียตั้งผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ท่ามกลางความไม่มั่นใจโต๊ะเจรจา ‘ล้ม’ ไม่ล้ม

บทความพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ

พิจารณาศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการเจรจาสันติภาพ

และข้อเสนอทางออกทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

มาเลเซียตั้งผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่

ท่ามกลางความไม่มั่นใจโต๊ะเจรจา ‘ล้ม’ ไม่ล้ม

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์แต่งตั้ง Datuk Seri Mohd Rabin Basir (ดาโต๊ะ สรี มุฮัมมัด ราบิน บาซีร์ หรือ ดาโต๊ะ สรี โมหะมัด ราบิน บาซีร์) อดีตผู้อำนวยการใหญ่สภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย (Facilitator) เพื่อประสานงานกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

ในขณะที่ความรุนแรงโดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญ คือ คาร์บอมบ์ลูกแรกของปี 2567 ที่หน้าแฟลตตำรวจ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นเหตุรุนแรงใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข ส่งถึงข้อกังวลในพื้นที่ว่ากระบวนการสันติภาพที่กำลังเดินอยู่จะล้มหรือไม่

 

รู้จักผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่

สําหรับ ดาโต๊ะ สรีมุฮัมมัด ราบิน บาซีร์ ปัจจุบันอายุ 62 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การศึกษาด้านการป้องกัน เกียรตินิยม) จาก Universiti Kebangsaan Malaysia

มีประวัติการทำงานไม่ธรรมดา

โดยปี 2560 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารเชิงกลยุทธ์ภายใต้สภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเชีย สำนักนายกรัฐมนตรี

ปี 2661 ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการของสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเชีย

ปี 2563 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของสภาความมั่นคงแห่งชาติมาเลเชีย

ปี 2564 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกกฎหมายของสำนักนายกรัฐมนตรี

เดือนเมษายน 2565 เกษียณจากตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกกฎหมายของสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากรับราชการมากว่า 34 ปี

ก่อนหน้านี้มีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข จชต. 3 คนมาแล้วตั้งแต่ปี 2556 คือ

หนึ่ง ดาโต๊ะสรี อะห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม ปี พ.ศ.2556 ภายใต้รัฐบาลนาญีบ

สอง ตัน สรี อับดุร รอฮีม บิน โมฮัมหมัด นูร์ (Tan Sri Abdul Rahim bin Mohd. Noor) ปี 2561 ภายใต้รัฐบาลมหาเดร์

สาม “ศ.พล.อ.ตันศรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบิดีน” ภายใต้รัฐบาล อันวาร์ อิบรอฮีม ปี พ.ศ.2566

การเมืองของมาเลเซียหลังจาก ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่าทีของเขาสนใจแก้ไขปัญหาภาคใต้ของไทยนี้อย่างมาก

และการแต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ คือ ‘พล.อ.ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน’ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อต้นปี 2566 จะกลายเป็นปัจจัยบวกหรือลบต่อการพูดคุยสันติภาพที่ดำเนินอยู่หรือไม่

แต่อย่างน้อยก็มีความคืบหน้าเล็กๆ ในการพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ จับมือตัวแทนคณะรัฐบาลไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น แถลงข่าวพร้อมกันว่า ทั้งคู่เห็นพ้องและมีความเข้าใจร่วมเพื่อจัดทำ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบครอบคลุม” (Join Comprehensive Plan towards Peace, JCPP) ซึ่งเป็นแผนที่นำทาง (roadmap) สำหรับการพูดคุยสันติภาพในช่วง 2 ปีจากนี้ ระหว่างปี 2566-2567

ซึ่งคณะทำงานด้านเทคนิคจะไปทำการบ้านมาเสนอในการพูดคุยครั้งต่อไปในเดือนมิถุนายน คาดว่าน่าจะเป็นการพูดคุยหลังการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศ

 

ความสำคัญภาคประชาสังคม

: ไม่ว่าโต๊ะจะล้มหรือไม่?

บรรดาผู้ทำงานด้านสันติภาพชายแดนภาคใต้เห็นสอดคล้องกันว่า กระบวนการสันติภาพรอบนี้เปราะบางมากๆ มีโอกาสที่โต๊ะพูดคุยจะล้มสูง

อย่างไรก็แล้วแต่ การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในพื้นที่หรือแม้แต่นอกพื้นที่จะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะต้องส่งเสียงให้ดังๆ ว่า โต๊ะพูดคุยนี้ล้มไม่ได้แม้จะเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุย

มิฉะนั้นก็จะปิดประตูการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แนวทางการเมือง แนวทางการทูต จะเปลี่ยนเป็นใช้ความรุนแรงมากกว่านี้ และจะรุนแรงขึ้น

ในขณะที่ภาคประชาสังคมจะต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นหลายเท่าตัว

ซึ่งยินดีว่าเครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับมาเลเซียมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในพื้นที่มาตลอดก่อนเหตุการณ์ปี 2547 หรือยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นหลังอันวาร์ อิบรอฮีม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย…

ตัวแทนภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ กว่า 10 ปีระบุว่า เชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะหาข้อตกลงในการยุติความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองและสังคมอย่างสันติ

ด้วยการแก้ไขความคับข้องใจต่างๆ ของฝ่ายที่ขัดแย้งกันและของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

ด้วยการสนับสนุนให้ฝ่ายที่ขัดแย้งกันและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ยุติความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองและสังคมอย่างสันติด้วยการหาทางออกโดยใช้ข้อมูลความรู้ ประสบการณ์ และทักษะที่จำเป็นต่อการสร้างสันติภาพ ผ่านวิธีการต่างๆ

เช่น สร้างและรักษาพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (inclusive space)

เชื่อมต่อและทำงานร่วมกับผู้มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลง (potential changemakers)

รวบรวม ผลิต และเผยแพร่ผ่านสื่อที่หลากหลาย ทั้งในและนอกพื้นที่ด้วยข้อมูลความรู้ที่จะสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ภายใต้หลักการทำงานกับทุกฝ่าย (Multi-partiality)

ทำงานกับกลุ่มที่ขัดแย้งกันและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่าย

มีความรับผิดชอบสูง ไม่มีข้อครหาผลประโยชน์จากปัญหาความขัดแย้ง มีความซื่อตรงทางวิชาการ (Academic Integrity)

ปฏิบัติตามมาตรฐานและจริยธรรมทางวิชาการอย่างเคร่งครัด ข้อมูลความรู้มีที่มาซึ่งอ้างอิงและตรวจสอบได้ มีความเป็นอิสระ (Independence)

ไม่อยู่ภายใต้รัฐหรือขบวนการคู่ขัดแย้งแต่มิได้หมายความร่วมกันทำงานกันไม่ได้

ส่วนการปรึกษาหารือกับประชาชน หรือสาธารณะ จะต้องเป็นกระบวนการที่ปลอดภัยและครอบคลุมทั้งในการจัดตั้งเวทีและกิจกรรม การให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้อง ในชุมชนปาตานี /ชายแดนใต้เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเมือง

โดยยึดหลักศักดิ์ศรี ความปลอดภัย และเสรีภาพในการแสดงออก

ซึ่งปัจจุบันในทางปฏิบัติรัฐภายใต้ กอ.รมน. ได้สรรหาภาคประชาสังคม 150 คน จาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ในนามการขับเคลื่อนของคณะ (คพท.) ลงชุมชนทำเวที แม้จะมีข้อครหาว่า ไม่เหมาะสม เพราะอาจถูกมอง “ความปลอดภัย และเสรีภาพในการแสดงออกจริง”

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้มีองค์กรกลางจากภาคประชาชนจริง ทั้งคน งบประมาณและอำนาจการตัดสินใจมาทำกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบของฟอรั่ม การสัมมนา การอภิปราย เวิร์กช็อป การเสวนา การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่มสนทนา แบบสำรวจ หรือแพลตฟอร์มเสมือนจริง มีทั้งเวทีเปิดและปิด รวมทั้งลับ ผ่านการออกแบบทางวิชาการ

ซึ่งจะทำให้กระบวนการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนดำเนินต่อไปได้