ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
ผมสังเกตว่าหลังจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทยกลายเป็นประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การถกเถียงและโต้แย้งระหว่างผู้เสนอที่เห็นด้วยกับจุดหมายและวิธีการดำเนินการของนโยบายนั้น
กับผู้คัดค้านที่ไม่เห็นด้วยกับจุดหมายและวิธีการดังกล่าว
ฝ่ายแรกแน่นอนย่อมไม่ใช่ใครอื่นนอกจากสมาชิกและแกนนำของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นต้นคิดและเจ้าของนโยบายนี้มาแต่ต้น
ฝ่ายหลังที่เป็นฝ่ายค้านส่วนมากมาจากพรรคก้าวไกลที่ถูก “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ขับไสให้ไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน ทั้งๆ ที่เป็นพรรคที่มีสมาชิกรับเลือกตั้งมากกว่าเพื่อนในสภา
ปมการถกเถียงค่อยขมวดไปสู่การวิวาทะโดยวางอยู่บนหลักการอันน่าเชื่อถือยิ่ง
เพราะมีการขีดเส้นใต้คำหลักที่รองรับการถกเถียงอยู่ นั่นคือมันเป็นปัญหา “โครงสร้าง”
ทันใดนั้นผมได้ยินคนจำนวนมากจากหลากหลายวงการและอาชีพออกมาประสานเสียงว่า นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างดิจิทัลวอลเล็ตนั้นไม่อาจแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยตกต่ำและถดถอยได้ นอกจากต้องแก้ที่ “โครงสร้าง”
คำถามคือโครงสร้างคืออะไร เกิดมาอย่างไรและเป็นปัญหาเพราะอะไร
ที่ผ่านมาผมยังไม่ได้ยินคำตอบที่ทำให้เข้าใจถ่องแท้ แม้ว่าเมื่อฟังผ่านๆ อาจรู้สึกว่าเข้าใจ พอรับฟังและรู้ว่ามันมีปัญหาอะไรที่ใหญ่โตและเป็นปัจจัยที่กำกับควบคุมการปฏิบัติของระบบและหน่วยงานของรัฐทั้งหลายเอาไว้
ถ้าแก้เจ้าตัวการใหญ่นี้ได้ ปัญหาทั้งหลายก็จะคลี่คลายไปได้โดยดุษณี
กล่าวโดยรวมๆ ปัญหาที่เป็นระดับโครงสร้าง ได้แก่ ปัญหาเกิดจากโครงสร้างอันประกอบกันเข้าเป็นสังคม เช่น โครงสร้างทางเศรษกิจทางสังคมและทางการเมือง ทั้งหมดนั้นยึดโยงสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
เมื่อโครงสร้างใดมีปัญหาก็จะกระเทือนไปถึงโครงสร้างอื่นจนกลายเป็นปัญหาของสังคมทั้งหมด
การแก้ไขจึงเกี่ยวพันในหลายส่วนและระบบของสังคมและเศรษฐกิจ ไม่อาจแก้ได้เพียงแค่เรื่องเดียว
เช่น ปัญหาหนี้สินครัวเรือนสูงมาก ไม่อาจแก้ได้โดยการแจกเงินไม่ว่าด้วยนโยบายวอลเล็ตอะไรก็ตาม หากแต่ต้องไปแก้ที่โครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ทำให้ชาวบ้านและชาวเมืองมีอาชีพมีงานที่มีรายได้พอเหมาะในการดำรงชีพ จึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อเงินกู้แบบต่างๆ
ตัวอย่างทำนองนี้มีอีกมาก เช่น ปัญหาเงินเฟ้อสูง คนตกงานเพิ่มมากขึ้น การส่งออกถดถอย จนในที่สุดทำให้อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ต่ำเตี้ยเรี่ยดินไม่เกินร้อยละ 3 เป็นต้น
ปัญหาทั้งหมดนี้นักเศรษฐศาสตร์ตอบว่าต้องปรับแก้โครงสร้างอุตสาหกรรม นักศาสนาบอกว่าต้องแก้ศีลธรรมของประชาชน นักการศึกษาบอกว่าต้องแก้ระบบการศึกษาแห่งชาติทั้งหมด นักการเมืองบอกว่าต้องเลือกพรรคเขาก่อนถึงจะแก้ได้ ผู้พิพากษาและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องมีจริยธรรมและไม่ “เซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบ” ก่อน ส่วนนักการทหารบอกว่าต้องรีเซ็ตระบบด้วยการยึดอำนาจรัฐประหารอีกครั้ง
เช่นนี้แล้วประชาชนคนตาดำๆ อย่างเรา จะเชื่อใครดี
เรื่องปัญหาโครงสร้างนี้ ฟังเผินๆ แล้วบัดนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ใครต่อใครก็พูดและเสนอว่าเป็นทางออกที่ฟังแล้วน่าเชื่อถือและมีความสง่างามที่สุด
ผมกลับมองด้วยความประหลาดใจ (นิดๆ) แกมบันเทิงใจ (หน่อยๆ) เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว หลักคิดทำนองนี้ว่าไปแล้วกลุ่มคนและสมาชิกพรรคการเมืองที่เชื่อมั่นในการปรับแก้และสร้างโครงสร้างใหม่เพื่อจะแก้ไขปัญหาสังคมและประเทศไทยที่ล้าหลังและไร้ประสิทธิภาพและไร้ความหวังในอนาคตได้เสนอมาก่อนกาลนานแล้ว
คือพรรคฝ่ายซ้ายหรือเรียกตามทางการว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่บอกว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นและกึ่งศักดินา (อรัญญ์ พรหมชมภู ไทยกึ่งเมืองขึ้น)
ขนาดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ที่คณะเจ้าและคณะอนุรักษนิยมพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่าแรงสุดสุด เอาอย่างสหภาพโซเวียตบ้างในโครงการเศรษฐกิจ (ที่ไม่อนุญาตให้แม้แต่คิด) ลิดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์บ้าง
แต่ พคท.ออกมาวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาไม่เกรงใจเลยว่าการยึดอำนาจครั้งนั้นเป็นแค่การ “ปฏิรูป” แบบเก่าๆ ไม่ได้มีอะไรก้าวหน้าถึงขั้นปฏิวัติเลย ที่ดินก็ไม่ปฏิรูป
จากนั้นมาไม่เคยมีพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองถึงนักการเมืองคนไหนรวมถึงนักวิชาการหาญกล้าออกมาเสนอนโยบายการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างเลย
อย่างดีก็เสนอให้จัดการระบบราชการที่ดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดคอร์รัปชั่นหน่อย เล่นพรรคเล่นพวกหรือระบบอุปถัมภ์อย่างพอเพียง กินตามน้ำอย่าทวนน้ำ
เช่นนี้เองที่ทำให้พรรคการเมืองไทยจากยุคพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถนอม กิตติขจร มาถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่สร้างระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่อาจมีนโยบายในการดำเนินการปกครองของรัฐบาลได้เลย
ด้านหนึ่งเพราะอายุของพรรคสั้นเกินไป อีกด้านเพราะอายุของชนชั้นจารีตยาวเกินไป กระทั่งภายหลังการเกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ที่ให้โอกาสแก่พรรคไทยรักไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลเต็มตัวและได้ทดลองทำนโยบายประชานิยมเป็นครั้งแรก
นั่นเองที่นโยบายระดับโครงสร้างเริ่มปรากฏออกมาในเวทีสาธารณะอย่างที่ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติและสถาบัน
การเริ่มใช้และปฏิบัตินโยบายเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบคือนโยบายพัฒนาประเทศภายใต้รัฐบาล “ปฏิวัติ” ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่รับกรอบและอุดมการณ์ทางการเมืองเอียงข้างระบบทุนนิยมเสรี
แต่ตอนนั้นเขาเกรงว่าคนไทยจะไม่เข้าใจความลึกซึ้งและเกี่ยวพันกันหลายสถาบัน ทางการจึงโฆษณาสั้นๆ ง่ายๆ ว่านโยบายนี้คือการสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่บ้านเมืองและประชาชนทุกๆ คน เน้นไปที่ชีวิตประจำวันของคนชั้นกลาง
คือ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” เหล่านี้คือคำขวัญสมัยที่ผมเริ่มโตเป็นหนุ่มและกำลังจะเข้ามาเรียนต่อในเมืองกรุง เพื่อความเจริญให้แก่ตัวเองและครอบครัว ทำตามคำขวัญของรัฐบาลทุกประการ
นโยบายการพัฒนาภายใต้การอุดหนุนของทุนอเมริกันเป็นหลักและทุนญี่ปุ่นเป็นรอง ถูกวิจารณ์จาก พคท.ฝ่ายเดียว เพราะเป็นพรรคใต้ดินจึงวิจารณ์ตรงๆ ได้
แต่ภายในประเทศไม่มีใครสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะการคิดที่ตรงข้ามกับการพัฒนาคือความคิดที่เป็นคอมมิวนิสต์ อันเป็นอันตรายและเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ
กล่าวโดยรวมความคิดเชิงโครงสร้างกลายเป็นแนวความคิดหลักที่เป็นทางการของคนไทยและรัฐไทย แต่เป็นความคิดโครงสร้างที่คับแคบและไม่รอบด้านไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในประเทศไทยในหลายด้าน
อิทธิพลและซากเดนของความคิดโครงสร้างแบบทุนนิยมอเมริกาส่งผลต่อการสร้างความเข้าใจของสังคมและคนไทย จากรัฐบาล หน่วยราชการ โรงเรียน มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน ที่เป็นความคิดแบบด้านเดียว ยอมรับและยกย่องความเจริญทางวัตถุและสิ่งก่อสร้างทางวัตถุ
ความคิดดังกล่าวนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แต่คนไทยที่เป็นชนชั้นนำไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา กลับคิดว่าเพราะเราเป็นไทยจึงทำให้มีความแตกต่างและขัดกันกับแบบแผนของอเมริกันได้
ดังนั้น ที่ผ่านมาคนไทยจึงเป็นคนที่รับและทำตามนโยบายที่มาจากโครงสร้างของระบบทุนนิยมที่ไม่เสรีมาโดยตลอด ถามว่าแล้วผลลัพธ์จากการพัฒนาแบบทุนนิยมไม่เสรีให้ผลสำเร็จหรือไม่อย่างไร
ตอบอย่างสั้นๆ ก็ต้องยอมรับว่าพัฒนาการแนวทางทุนนิยมไม่เสรีสามารถสร้างรายได้และความมั่งคั่งแก่ชนชั้นนำที่ประกอบไปด้วยหลายสถาบันและกลุ่มอำนาจในสังคมอย่างดี มีถนนคอนกรีตมากเต็มประเทศ ตึกสูงกลางเมือง ส่งผลให้แก่การเติบใหญ่มั่งคั่งของตระกูลทั้งเก่าและใหม่ที่สืบทอดกันต่อๆ มาอย่างไร้รอยต่อ
จนบัดนี้พวกเขากลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลกหลายคน อันนี้คือความสำเร็จของนโยบายโครงสร้างทุนนิยมไม่เสรี
แต่คุณูปการและผลประโยชน์ทางสังคมแก่คนชั้นล่างและกลางนั้นมีอย่างจำกัดและไม่ค่อยมีอนาคตมากนัก นอกจากโตไปเป็นแรงงานรับจ้างให้แก่ทุนชาติ โอกาสได้เป็นผู้ประกอบการหรือทุนเล็กมีเท่าที่โลกาภิวัตน์เปิดช่องให้ แต่ไม่ใช่มาจากโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศ
ความมั่นคงและยืนนานของนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจแบบไม่เท่าเทียมไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ของชาตินั้น มาจากความสำเร็จทางการเมืองของชนชั้นนำทั้งเก่าและใหม่ในการจัดการทำให้การเมืองแบบประชาธิปไตยที่วางอยู่บนการเลือกตั้งทั่วไปนั้น ต้องสร้างผลรวมจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นให้เป็นประโยชน์แก่พวกเขาได้มากที่สุด เลือกตั้งกี่ครั้งพวกเขาก็ยังสามารถยึดกุมอำนาจรัฐไว้ได้ต่อไป
นี่เองที่ทำให้นโยบายโครงสร้างแบบตอบสนองความต้องการและผลประโยชน์ของประชาชนแท้จริงไม่อาจเกิดและดำเนินต่อไปได้เท่าไร
ไม่ช้าก็เร็ว ชนชั้นนำก็อาศัยสถาบันเริ่มจากกองทัพมาถึงตุลาการในการรีเซ็ตผลการเลือกตั้งทั่วไปที่ไม่เป็นคุณแก่พวกเขาต่อไป มันดำเนินมาเกือบเท่ากับอายุของการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรก
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022