ทำไม ‘หัวกะทิ’ ไทย ไม่กลับบ้าน?

สุทธิชัย หยุ่น

รัฐบาลเปิดมาตรการดึง “แรงงานหัวกะทิกลับไทย” ด้วยการลดภาษี

น่าจะเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ “เกาไม่ถูกที่คัน”

เพราะคนไทยที่มีความรู้ความสามารถแต่ไม่กลับมาทำงานที่บ้านนั้นคงไม่ใช่เพราะต้องเสียภาษีรายได้สูง

เขาอยู่เมืองนอกก็เสียภาษีไม่น้อย

แต่มีปัจจัยมากมายหลายเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องเงินเรื่องทอง

ใครที่เคยคุยกับคนไทยเก่งๆ ที่ทำงานกับบริษัทชั้นนำในเมืองนอกจะรู้ว่าส่วนใหญ่คิดถึงบ้าน, อยากกลับมาทำงานที่เมืองไทย, อยากอยู่ใกล้กับเพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง

เพราะชีวิตในเมืองไทยดำเนินไปอย่างสบายๆ ได้ อาหารอร่อย อยากทำอะไรก็ทำได้ ไม่เครียด

แต่ส่วนใหญ่ที่ไม่กลับมาใช้ชีวิตในบ้านเพราะ “สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์เป็นพิษ”

 

เขาเรียนอะไรมามากมาย แต่กลับมาไม่มีงานการที่ทำให้เขารู้สึกว่ามีคุณค่าของความเป็นคน

เขาอยากกลับบ้าน แต่เขาไม่แน่ใจว่าประเทศไทยจะใช้เขาคุ้มกับที่เขาอุตส่าห์ไปร่ำเรียน ฝึกวิทยายุทธ์มาอย่างโชกโชนหรือเปล่า

เขาอยากมาใช้ชีวิตในเมืองไทย แต่ก็กลัวว่ามันจะเป็นชีวิตแบบ “ไทยๆ” จริงๆ

นั่นคือ “ไทยๆ” แบบต้องมีเส้นสาย ต้องมีคอนเน็กชั่น ต้องอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์

เขาอยากกลับมาปักหลักปักฐานที่บ้าน แต่ก็ไม่สามารถจะทนกับเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบที่มีอยู่ในเกือบทุกซอกมุมของสังคมไทย

เขาไปเรียน Know How แต่กลับมาไม่ค่อยได้ใช้หลักวิทยาศาสตร์ของ How

เพราะพอมาเจอของจริงกลับตระหนักว่า Know Who สำคัญกว่า Know How

คนเก่งคนมีกึ๋นไปอยู่ต่างถิ่นเสียนาน ที่นั่นเขาไม่สนใจว่า “คุณเป็นใคร” แต่เขาตัดสินคุณด้วยการตอบให้ได้ว่า “คุณทำอะไรเป็น”

คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในงานการที่เกี่ยวโยงกับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด

มีความใฝ่ฝันอยากหอบเขาประสบการณ์เหล่านั้นกลับมาสร้างอะไรใหม่ๆ ในประเทศไทย

พวกเขาอยากจะเห็นชาติไทยเจริญก้าวหน้าเหมือนชาติอื่น พร้อมจะต้องปรับตัวใหม่ พร้อมจะเสียสละรายได้ก้อนงามและพร้อมจะสละความคุ้นเคยของการทำงานในบรรยากาศที่ท้าทายและยังเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

 

แต่เมื่อพวกเขาเริ่มทาบทามถามหาโอกาสเหล่านั้นก็พบว่าเสียงตอบรับค่อนข้างเอื่อยเฉื่อยและเลื่อนลอย

จะทำอย่างนี้ก็มีปัญหาด้านกฎเกณฑ์

จะทำอย่างนั้นก็กลัวจะไปเหยียบหัวแม่เท้าผู้หลักผู้ใหญ่

เพราะต้องขออนุญาตผ่านขั้นตอนมากมายหลายด้าน

อีกทั้งยังอาจจะถูกมองว่ากำลังจะมาสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบเดิม

มารู้อีกทีก็พบว่าที่มีปัญหาเพราะไปขัดผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่ม

 

ผมเขียนมายาวเหยียด ยังไม่ได้บอกว่ามาตรการที่จะดึงเอา “หัวกะทิ” กลับบ้านนั้นมีรายละเอียดอย่างไร

ข่าวบอกว่ารัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังเผ่าภูมิ โรจนสกุล แจ้งว่าคณะรัฐมนตรีได้เคาะมาตรการดึงแรงงานหัวกะทิกลับไทย ลดภาษีเงินได้เหลือ 17% นายจ้างหักได้ 1.5 เท่า

โดยบอกว่าโจทย์ข้อหนึ่งคือการดึงแรงงานศักยภาพสูงทั่วโลกเข้าไทย รวมทั้งคนไทยศักยภาพสูง (หัวกะทิไทย) ที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ

เขาบอกว่าคนกลุ่มนี้เก่งแต่ปัจจุบันทำงานต่างประเทศ ไม่ได้ช่วยสร้างเศรษฐกิจไทย

ถ้าดึงกลับมาจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

และยังสร้างรายได้ภาษีที่แต่ก่อนไทยไม่เคยได้รับอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับมาทำงานในประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้กลับบ้านมาทำงานในไทย

โดยจะเสนอให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งลูกจ้างและนายจ้าง

 

ลองถามคนไทยในต่างแดนว่าสิทธิประโยชน์เหล่านี้ “จูงใจ” เพียงพอที่จะตัดสินใจย้ายตัวเองกลับมาทำงานในเมืองไทยไหม

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) สำหรับลูกจ้างตามคุณสมบัติที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายสูงกว่าร้อยละ 17 ให้ลดเหลือร้อยละ 17 ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด โดยต้องเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึง 31 ธันวาคม

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (นายจ้าง) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด สามารถหักรายจ่ายที่จ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างตามคุณสมบัติ ระหว่างวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 ได้จำนวน 1.5 เท่า

คุณสมบัติของแรงงานที่เข้าเงื่อนไข มีดังนี้

1. สัญชาติไทย มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี

2. ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี

3. กลับเข้าไทยตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2568

4. เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

5. ไม่เคยทำงานในไทยในปีภาษีที่มีการเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้

6. ต้องไม่ได้เข้ามาอยู่ไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธิอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าอยู่ต้องอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้นๆ

7. ในปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น ต้องอยู่ไทยรวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วัน เว้นแต่ปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้าย ที่ใช้สิทธิจะอยู่ในไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้

 

แค่อ่านเงื่อนไขยุบยับซับซ้อนต่างๆ ก็คงทำให้ “หัวกะทิ” เบือนหน้าหนีแล้ว

มิหนำซ้ำยังมีคำถามว่า “อุตสาหกรรมเป้าหมาย” ที่ต้องการคนเหล่านี้มีอะไรบ้าง

พอเห็นบัญชียาวเหยียดก็งง เพราะไม่รู้ว่าต้องเป็นตำแหน่งอะไรในอุตสาหกรรมเหล่านั้นจึงจะเข้าข่ายได้รับสิทธิที่ว่านี้

1. อุตสาหกรรมยานยนต์

2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับคุณภาพ

4. อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ

5. อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์

6. อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

7. อุตสาหกรรมการบิน อากาศยาน และอวกาศ

8. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

9. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

10. อุตสาหกรรมดิจิทัล

11. อุตสาหกรรมการแพทย์

12. อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ

13. อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยตรงและมีนัยสำคัญ เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น

14. ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center-IBC)

15. อุตสาหกรรมอื่นๆ โดยชาวต่างชาติซึ่งขอรับการรับรองคุณสมบัติฯ ต้องทำงานโดยใช้ทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง

ดังต่อไปนี้

 

การวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือเทคโนโลยีเป้าหมาย เช่น Biotechnology, Nanotechnology, Advanced Material Technology, Digital Technology

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษา

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในการประกอบธุรกิจ

การวางแผนและพัฒนาระบบติจิทัลเพื่อยกระดับการผลิตและการบริการของธุรกิจ

การให้บริการหรือให้คำปรึกษาด้านการเงินหรือการตลาด

การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

การบริหารจัดการหรือให้คำปรึกษาในโครงการบ่มเพาะ (Incubation Program) โครงการเร่งการเติบโต (Acceleration Program) และการสนับสนุนนวัตกรรม และ Startup Ecosystem

การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก

การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนโดยหอการค้าต่างประเทศ และองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ

เป็นบัญชียาวเหยียดเพื่อให้มีทางเลือกมาก หรือเพราะผู้ร่างแผนนี้ไม่รู้จริงๆ ว่าต้องการอะไร

จึงคัดลอกบัญชีจากหน่วยราชการใดหน่วยหนึ่งมาแปะใส่หน้าตาเฉย

โดยไม่มีการแยกแยะและจัดลำดับความสำคัญเลย!

นอกจากถามว่าทำไม “หัวกะทิ” ไม่กลับบ้านแล้ว ก็ยังต้องไม่ลืมถามว่า

ทำไม “หัวกะทิ” ในบ้านทำท่าเหมือนจะอยากย้ายออกไปนอกบ้านด้วยซ้ำ?

(สัปดาห์หน้า : จะดึง “หัวกะทิในบ้าน” ไม่ให้คิดย้ายประเทศได้อย่างไร?)