วิถีใคร วิถีมัน และสัมพันธบท ในเรื่องสั้น ‘วิถีแห่งตน’

บทความพิเศษ | ชาคริต แก้วทันคำ

 

วิถีใคร วิถีมัน และสัมพันธบท

ในเรื่องสั้น ‘วิถีแห่งตน’

 

Intertextuality เป็นแนวคิดทางการศึกษาด้านมนุษยศาสตร์และวรรณกรรมศึกษา ซึ่งมีนักวิชาการชาวไทยคือ ตรีศิลป์ บุญขจร เป็นผู้ให้คำศัพท์ในภาษาไทยว่า ‘สหบท’ และนพพร ประชากุล บัญญัติว่า ‘สัมพันธบท’

สหบทหรือสัมพันธบท คือการนำตัวบทหนึ่งมาเชื่อมโยงกับตัวบทอื่นที่เคยปรากฏอยู่ก่อนแล้ว เช่น วรรณกรรม ภาพยนตร์ ศิลปะ เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ บทเพลง มากล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจมีการเปรียบเทียบตัวบทเดิมด้วยการขยายความ ตัดทอน หรือดัดแปลงสร้างใหม่ก็ได้ เช่น การผลิตละครซ้ำจากเวอร์ชั่นหนึ่งสู่อีกเวอร์ชั่นจากนวนิยายเรื่องเดียวกัน

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น ‘วิถีแห่งตน’ ของชัยนาท สุวรรณ ซึ่งเข้ารอบการประกวดรางวัลมติชนอวอร์ด 2024 ลำดับที่ 10 ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 2290 5-11 กรกฎาคม 2567 โดยเรื่องสั้นดังกล่าวมีการพาดพิงตัวละครจากบทละครและนิทานพื้นบ้านมาผลิตซ้ำและดัดแปลงสร้างใหม่ ได้แก่

พระสังข์และนางพันธุรัตน์ ในเรื่อง ‘สังข์ทอง’

นางเภา ในเรื่อง ‘นางสิบสอง’

ยักษ์สันตรา ในเรื่อง ‘พระรถเมรี’

และเอื้อย ในเรื่อง ‘ปลาบู่ทอง’

 

ทบทวนวรรณกรรม

(กว่าจะเป็นบทความ)

กว่าจะมาเป็นบทความนี้ ผู้เขียนบทความได้ศึกษาหาอ่านงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับสหบทหรือสัมพันธบท จำนวน 2 ชิ้นด้วยกัน ได้แก่

บทความแรกชื่อ Intertextuality จาก “ตัวบท” ถึง “สัมพันธบท” โดยพิเชฐ แสงทอง มีเนื้อหามุ่งเน้นประวัติ ความเป็นมาของการปรากฏขึ้นของคำว่า สหบทหรือสัมพันธบท ในแวดวงวิชาการไทย และเน้นแนะนำแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ผ่านหนังสือเรื่อง Intertextuality ของแกรแฮม อัลเลน (Graham Allen) ผ่านนักคิดต่างๆ ที่ต้องอ่านและทำความเข้าใจหลายรอบ เพราะให้ความหมายแบบกว้างๆ ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานคำนี้เสียมากกว่า

บทความต่อมา “ในสมุดบันทึก” กับการเกษียน/เกษียณความทรงจำเดือนตุลา โดยชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เคยตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23-29 มีนาคม และ 30 มีนาคม-5 เมษายน 2561 ซึ่งผู้เขียนบทความอ่านบทความนี้จากเว็บไซต์ ‘อ่าน’ ที่รวมบทความทั้ง 2 ชิ้นไว้ด้วยกัน

โดยชูศักดิ์ได้วิเคราะห์บทกวี ‘ในสมุดบันทึก’ ของไอดา อรุณวงศ์ ที่ขึ้นอ่านก่อนฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘ดาวคะนอง’ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 เพื่อร่วมรำลึกวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา

บทกวีของไอดาได้หยิบยกตัวบทต้นทางจากทั้งวรรณกรรมและบทเพลงมาแปลงและแปลความหมายใหม่ แล้วชูศักดิ์ก็วิเคราะห์ตัวบทต้นทางสู่ตัวบทปลายทางในบทกวีดังกล่าวอย่างเป็นขั้นเป็นตอนผ่านทฤษฎีสัมพันธบทว่าเป็นการผลิตซ้ำและสร้างใหม่เพื่อรำลึกและตั้งคำถามกับความทรงจำเกี่ยวกับคนเดือนตุลาได้อย่างน่าใคร่ครวญ

 

เรื่องย่อและข้อแตกต่าง

จาก ‘เนื้อหา’ สู่ ‘สัมพันธบท’

ในเรื่องสั้น ‘วิถีแห่งตน’

“แม่พันธุรัตน์สั่งพระสังข์ว่าพื้นที่ใดเข้าถึงได้และเข้าถึงไม่ได้ แล้ววันหนึ่งพระสังข์ก็มาเหยียบยังสถานที่หนึ่งและได้ยินเสียงเรียกให้ช่วย เสียงนั่นกล่าวว่า ‘ข้าโดนนางยักษ์จับมา’ ก่อนพระสังข์จะเข้าไปสำรวจถ้ำที่อยู่ของนางเภาและพบบรรดาพี่ๆ ตาบอดอีก 11 คน ซึ่งน่าจะถูกจับมาไว้เป็นอาหาร

พระสังข์รู้ความจริงของการมีอยู่ของเผ่าพันธุ์ยักษ์ เมื่อเข้าใจว่าถูกนางพันธุรัตน์หลอกลวง จึงเกิดบทสนทนาโต้ตอบกันระหว่างนางพันธุรัตน์และนางเภาเรื่องอาหารที่ใช้ดำรงชีพ ซึ่งสาระสำคัญจากปากยักษ์คือพฤติกรรมของพวกนางสืบมาและเป็นวิถีแห่งเผ่าพันธุ์ แต่พระสังข์ก็ตอบอะไรไม่ได้ในเรื่องที่มนุษย์กระทำต่อสัตว์เดรัจฉานและนำมันมาเป็นอาหาร ก่อนจากกัน นางพันธุรัตน์จึงเขียนคาถาให้พระสังข์ไว้ใช้เลี้ยงตัว

เมื่อพระสังข์และนางเภากับเหล่าพี่ๆ ออกเดินทาง ระหว่างนั้นนางเภาร้องขอให้พระสังข์ช่วยจับปลา พระสังข์จึงใช้คาถามหาจินดามนต์เรียกเนื้อปลามาทำอาหาร

ระหว่างนั้นพระสังข์ได้ยินเสียงเอื้อยกล่าวหาว่านางเภาฆ่าแม่ตน แล้วยักษ์สันตราก็ปรากฏตัวอธิบายคาถานี้มีไว้ใช้เรียกบรรดาปลาที่หมดอายุขัยแล้วเท่านั้น นางพันธุรัตน์จึงไม่เคยกินมนุษย์หรือสัตว์อื่นเลย

สุดท้ายความจริงก็ปรากฏ เพราะความเข้าใจผิด แต่ละตัวละครจึงแยกย้ายไปตามวิถีใครวิถีมัน”

 

เรื่องย่อข้างต้น ชัยนาทให้ตัวละครพระสังข์เปิดเรื่องและเล่าไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามตัวบทเดิมต้นทางตอนพระสังข์หนีนางพันธุรัตน์ ระหว่างทางมีการพบกับตัวละครจากเรื่องอื่น จึงเป็นการใช้สัมพันธบทพาดพิงถึงและเชื่อมโยงเนื้อหาบางจุดเท่านั้น

แต่ที่แตกต่างและสร้างใหม่คือจุดที่นางพันธุรัตน์ไม่ได้ขาดใจตาย และคาถาดังกล่าวไม่ได้เรียกแต่เนื้อปลาทั่วไป กลับเรียกได้เฉพาะบรรดาปลาที่หมดอายุขัย

จุดนี้จึงสร้างความพลิกผันอันเป็นสาระสำคัญของเรื่องเล่าที่ถูกนำมาสร้างสรรค์ดัดแปลงใหม่ให้น่าตีความ และเชื่อมโยงเรื่องราวไปสู่ตอนจบ

นอกจากนี้ สารัตถะของเรื่องยังอยู่ที่บทสนทนาโต้ตอบกันสองชุดระหว่างพระสังข์-นางพันธุรัตน์-นางเภา และยักษ์สันตรา-นางเภา-เอื้อย เรื่องกรรมตามวิถีแห่งการฆ่าของยักษ์และมนุษย์ ที่ต่างอ้างเหตุผลว่าสืบกันมาหรือสัตว์เดรัจฉานนั้นเป็นอาหารของมนุษย์อยู่แล้ว ซึ่งพระสังข์ก็ใช้ความคิดพิจารณาเหตุผล ก่อนจะเข้าใจผิดแม่ยักษ์ของตนและกลับไป ส่วนนางเภาได้รับการให้อภัยจากเอื้อย ก่อนนางจะมอบเกล็ดปลาให้เอื้อยกลับไปปลูกเป็นต้นมะเขือ

ข้อน่าสังเกตคือ นางเภาและพี่ๆ แม้จะเคยควักตาปลาจนกลายเป็นคนตาบอด แต่กรรมที่ทำได้รับการให้อภัยจากเอื้อยผู้เป็นลูกแล้ว ทั้งสองฝ่ายจึงไม่ติดค้างกัน ส่วนกรรมที่สร้างความเข้าใจผิดและพรากพระสังข์จากนางยักษ์ยังไม่ได้รับการแก้ไข มันจึงยังไม่สิ้นไป ทำให้นางเภาและพี่ๆ ถูกทิ้งไว้กลางทาง จะกลับก็ไม่ได้ จะไปก็ไม่ถึง เพราะไร้ที่มาที่ไป จึงต้องรอพระสังข์ปรับความเข้าใจและได้รับการให้อภัยจากนางยักษ์เสียก่อน

อีกทั้งความตาบอดนี้ยังเป็นสัญญะที่อธิบายได้ว่า บรรดานางสิบสองเคยตกอยู่กับความเชื่อที่มืดบอด ไร้ดวงตาเห็นธรรม ชี้วัดตัดสินปัญหาจากความรู้สึก เข้าใจว่าตนเป็นเหยื่อมิใช่ผู้กระทำ จึงต้องทบทวนและแก้ปัญหาที่อัตตาตัวเอง

ส่วนประเด็น ‘การกลับไป’ นี้ ล้วนแฝงวรรณกรรมคำสอนที่อาจเรียกได้ว่าเป็นรหัสนัยทางวัฒนธรรมแบบไทยๆ เรื่องความกตัญญูรู้คุณเป็นเครื่องหมายของคนดี

ดังนั้น ‘การกลับไป’ ของตัวละครลูกทั้งสองจึงกลับไปเพื่อแก้ไขและเริ่มต้นใหม่ตามวิถีที่เคยเป็นมา

รวมถึงการกลับไปปกป้องความจริง กลับไปที่ต้นเหตุ หรือ ‘แม่’ ผู้ให้กำเนิดเรื่องราว ต่างจากยักษ์สันตราที่มาแล้วหายไปในฐานะผู้ไกล่เกลี่ย อีกความหมายอาจมองได้ว่า ยักษ์ ก็คือภูตผีอย่างหนึ่ง

วามน่าสนใจจึงอยู่ที่มนุษย์คือตัวปัญหาแห่งความขัดแย้งโดยไม่สนใจเหตุผล อีกยังตัดสินผู้อื่นจากรูปลักษณ์ เพราะเชื่อว่ายักษ์เป็นภาพแทนความดุร้ายน่ากลัว และยักษ์มักถูกมนุษย์ปรักปรำตลอดมา แต่ก็ลืมไปว่า

บางครั้งมนุษย์เองก็สะท้อนภาพลักษณ์ของยักษ์ผู้มีจิตใจต่ำช้าได้เช่นกัน ชัยนาทจึงใช้รหัสนัยทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตัวละครมาเปรียบเทียบและปะทะทางความคิดเรื่องความชั่ว-ดี ภายนอก-ภายใน ความจริง-ความลวงด้วยอีกชั้นหนึ่ง

เรื่องสั้นนี้จึงเชื่อมโยงข้อคิดจากบทละครและนิทานพื้นบ้านผ่านสัมพันธบทเกี่ยวกับวรรณกรรมคำสอนด้านคุณธรรมความดี โดยใช้รหัสนัยทางการประพันธ์ด้านเนื้อหาที่แฝงจากตัวบทต้นทางมาสู่เรื่องสั้นที่ดัดแปลงสร้างใหม่ปลายทางด้วยการสืบสรรค์ (creative perpetuation) กับเหตุบังเอิญที่ไม่บังเอิญของการโคจรมาพบกันของแต่ละตัวละคร จนเกิดเป็นเรื่องเล่าใหม่

และมันจะสนุกยิ่งขึ้นหากนักอ่านมีพื้นฐานหรือรู้เรื่องราวเกี่ยวกับบทละครและนิทานพื้นบ้านเรื่องนั้นๆ มาก่อนบ้าง

อีกทั้งการสนทนาโต้ตอบกันด้วยเหตุผล ยังสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยด้วยการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอีกด้วย

ดังนั้น เรื่องสั้น ‘วิถีแห่งตน’ ของชัยนาท สุวรรณ จึงแสดงถึงวิถีของใคร วิถีของมัน ซึ่งต่างคนต่างก็มีวิถีชีวิตตามวิถีโลกที่ต้องว่ายวนเป็นวัฏจักรอย่างไม่หยุดนิ่ง อยู่ที่ใครจะมีคุณธรรมและใช้เหตุผลในการสร้างความชอบธรรมของตัวเองได้อย่างถูกต้อง

เอกสารอ้างอิง

ชัยนาท สุวรรณ. (2567). วิถีแห่งตน. เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_780666

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. (2561). “ในสมุดบันทึก” กับการเกษียน/เกษียณความทรงจำเดือนตุลา. เข้าถึงได้จาก https://readjournal.org/aan-on-line/7531/

พิเชฐ แสงทอง. (2555). Intertextuality จาก “ตัวบท” ถึง “สัมพันธบท”. สงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 18(3) ก.ค.-ก.ย. 2555, 261-270.