ศธ.ดัน Thailand Zero Dropout ดึง ‘เด็กดร็อปเอาต์’ กลับเข้าระบบ!!

ประเด็น “เด็กหลุดจากระบบการศึกษา” หรือ “เด็กดร็อปเอาต์” กลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ และถูกยกขึ้นเป็น “วาระแห่งชาติ” เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

โดยที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ “มาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์” หรือ “Thailand Zero Dropout”

และแม้แต่การเดินทางไปประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ นายกฯ เศรษฐา ยัง “ย้ำ” ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา และเดินหน้ามาตรการ Thailand Zero Dropout เต็มสูบ

หลังกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ออกมาเปิดเผยข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2566 มีตัวเลขเด็กออกกลางคันมากถึง 1,025,514 คน แต่หากย้อนดูตัวเลขกลับไปก่อนหน้านี้ จะพบตัวเลขการเพิ่มขึ้นของเด็กหลุดระบบที่น่าตกใจ

ปี 2546 พบเด็กอายุ 3-18 ปี ออกกลางคัน 238,707 คน ต่อมาปี 2565 ดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้น มีเด็กออกกลางคันลดลงเหลืออยู่ที่ 1 แสนคน แต่ที่น่าตกใจเป็นพิเศษ เพราะในปี 2566 ตัวเลขเด็กออกกลางคันสะสมพุ่งทะลุ 1 ล้านคน ไปสะสมที่ 1,0205,514 คน

หลังนายกฯ ออกมาตอกย้ำกับหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเด็กดร็อปเอาต์ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดการตื่นตัว

ทำให้มีตัวเลขเด็กที่ถูกดึง “กลับ” เข้าสู่ระบบการศึกษาในเวลานี้ มี 1.3 แสนคน

 

ปัญหาเด็กออกกลางคันดังกล่าว ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุน กสศ.ระบุว่าสาเหตุหลักๆ มาจากความ “ยากจน” ของประชาชนคนไทยที่เพิ่มมากขึ้น ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ตัวเลขคนไทยที่ “ยากจนพิเศษ” จากเดิม 9.9 แสนคน เพิ่มขึ้นเป็น 1.34 ล้านคน

ความยากจนจึงเป็นสาเหตุหลักถึง 70% ที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา รองลงมาเป็นเพราะระบบการศึกษาไทยที่เป็นระบบ “แพ้คัดออก” ตามมาด้วย “ปัญหาสังคม” และ “ค่าใช้จ่าย” ในระบบการศึกษาที่สูงมาก

ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่หาเช้ากินค่ำ ต้อง “จำใจ” และ “จำเป็น” เอาลูกหลานออกจากสถานศึกษา เพื่อมาช่วยกันทำมาหากิน

ส่งผลให้นักเรียนชั้นอนุบาล 3 ที่จะขึ้นชั้น ป.1 ต้องหลุดออกจากระบบ 1-4% ส่วนชั้น ป.6 ขึ้นชั้น ม.1 หลุดจากระบบ 19% ชั้น ม.3 ที่ขึ้นชั้น ม.4 หลุดระบบ 54% และเมื่อถึงระดับอุดมศึกษา ทำให้เหลือนิสิตนักศึกษาที่อยู่ในระบบไม่ถึง 10%

เพราะแม้ว่ารัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมา จะจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้กับเด็กๆ ตาม “นโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ” สำหรับนักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมปลาย

รวมถึงกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สำหรับนักเรียน และนักศึกษา ระดับอาชีวศึกษาไปจนถึงปริญญาตรี ที่ให้กู้ยืมเรียนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

แต่ยัง “ไม่” ตอบโจทย์ครอบครัวที่มีฐานะยากจน

 

ทั้งนี้ ในส่วนของหน่วยงานหลักๆ อย่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีนักเรียนอยู่ในระบบจำนวนมหาศาล เจ้ากระทรวงอย่าง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เดินหน้าเต็มสูบ ให้องค์กรหลักใน ศธ.ที่มีนักเรียนนักศึกษาในสังกัด เร่งสำรวจ และดึงเด็กออกกลางคันกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

โดยบิ๊กอุ้มได้ลงพื้นที่ จ.ราชบุรี และบุรีรัมย์ ประกาศนำร่องดึงเด็กหลุดระบบใน 2 จังหวัดนี้ ให้กลายเป็น “ศูนย์”

พร้อมทั้งมอบให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือ สกร. รับเป็นเจ้าภาพหลัก ตรวจสอบปัญหา และออกแบบหลักสูตร “Care Plan” ที่ยืดหยุ่น และเหมาะสมกับความต้องการของเด็กแต่ละคน เพื่อรองรับเด็กที่ไม่พร้อมจะเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการทำงานเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนไปด้วย

นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดี สกร.ได้สำรวจตัวเลขเด็กหลุดระบบการศึกษา โดยใช้วิธีการเช็คข้อมูลจากฐานทะเบียนราษฎรรายบุคคล ของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ทำให้พบตัวเลขเด็กและเยาวชน อายุ 3-18 ปี ซึ่งเป็นเด็กนอกระบบการศึกษา หรือเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา จำนวน 1,025,514 คน

ซึ่ง กสศ.ได้เสนอให้แก้ปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ โดยนำมาตรการ Thailand Zero Dropout มาใช้ขับเคลื่อน ประกอบด้วย 4 มาตรการสำคัญ คือ

1. ค้นหา

2. ติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ

3. จัดการศึกษา และเรียนรู้แบบยืดหยุ่น

และ 4. ส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษา หรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn

 

สําหรับข้อมูลตัวเลขเด็กหลุดระบบของ ศธ.ในปี 2567 พบว่า ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 มีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา 1,116 คน พบตัว 159 คน พากลับเข้าระบบ 93 คน ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. 21 คน สังกัด สกร. 63 คน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 2 คน ไปศึกษาต่อต่างประเทศ 5 คน และเข้าศึกษาในสถานศึกษาเอกชน 2 คน อยู่ระหว่างการติดตามอีก 928 คน และไม่พบตัวอีก 29 คน

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเด็กออกกลางคันที่พบตัวในพื้นที่อีก 12 คน พากลับมาเรียนในระบบ 7 คน และไม่สามารถพากลับมาเรียน 5 คน สาเหตุมาจากผู้ปกครองไม่ดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร 4 คน และแต่งงานแล้ว 1 คน

ซึ่ง สพฐ.แก้ปัญหาโดยสร้างภาคีเครือข่าย เชื่อมโยงฐานข้อมูล และมีระบบดูแลติดตาม และช่วยเหลือเด็ก รวมถึง ระบบการดูแลช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อให้พาเด็กแขวนลอยกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้

ขณะที่ สอศ.มีข้อมูลสถิติเด็กออกกลางคัน โดยปีการศึกษา 2564 มีตัวเลขออกกลางคันมากที่สุด สาเหตุจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปีการศึกษา 2565 มีถึง 8 หมื่นคน คิดเป็น 8% ส่วนปีการศึกษา 2566 แม้จะลดลง แต่ยังมีมากถึง 6% ขณะที่จำนวนนักเรียนที่เข้ามาเรียนในระบบลดลง สาเหตุมาจาก ปัญหาความไม่เข้าใจของผู้เรียน ทั้งด้านการเรียน และการเข้าสู่อาชีพ

นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เด็กเข้าเรียนสถานศึกษาของ สอศ.ลดลง เพราะปัญหาความยากจน และต้นทุนที่ใช้ในการเรียนสูง ซึ่ง สอศ.ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 4 วิธี คือ

1. สร้างหอพักในสถานศึกษา เพื่อลดค่าใช้จ่าย

2. สร้างอาชีพ และรายได้ระหว่างเรียน

3. ให้ทุนการศึกษา

4. มีระบบดูแล ติดตาม และช่วยเหลือผู้เรียน

 

ส่วนข้อมูลเด็กหลุดออกนอกระบบของ สกร.ได้สำรวจ 2 ครั้ง คือ

1. การสำรวจข้อมูลเด็กวัยเรียนทั่วประเทศ ที่มีอายุ 15-60 ปี ที่หลุดจากระบบการศึกษา และยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2567 มีทั้งสิ้น 150,751 คน สาเหตุ อาทิ ต้องช่วยงานบ้าน ผู้ปกครองมีรายได้น้อย การคมนาคมไม่สะดวก ปัญหาครอบครัว ปรับตัวเข้ากับเพื่อนไม่ได้ และย้ายถิ่นที่อยู่ ฯลฯ

และ 2. การสำรวจข้อมูลเด็กวัยเรียนทั่วประเทศ ที่มีอายุ 6-15 ปี ที่ออกกลางคัน และไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 มีทั้งสิ้น 10,294 คน สาเหตุ 3 อันดับแรก คือ .ความจำเป็นทางครอบครัว 2.การย้ายถิ่นฐาน และ 3. สาเหตุจากตัวผู้เรียนเอง

โดยการสำรวจดังกล่าว พบสิ่งที่เด็กต้องการให้สนับสนับสนุน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ด้านการศึกษา ทั้งทุนการศึกษา อาหาร การเดินทาง 2.ด้านการประกอบอาชีพ และ 3.ด้านการดำรงชีพ

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาของ สกร.มีดังนี้ 1.โครงการเรียนฟรี 15 ปี และ 2.โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบาง

รวมทั้งจะตั้งคณะทำงานเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่หลุดระบบการศึกษา 1.02 ล้านคน ให้เป็นศูนย์ โดยตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนนโยบาย และเริ่มปฏิบัติการค้นหา มุ่งสู่ Thailand Zero Dropout ผ่าน 4 มาตรการสำคัญ คือ สำรวจค้นหา วางแผน ช่วยเหลือ และเชื่อมโยง ส่งต่อการช่วยเหลือ ทั้งระดับพื้นที่ และระดับประเทศ เพื่อให้เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง

งานนี้ ต้องจับตาว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดึง “เด็กออกกลางคัน” กลับเข้าระบบ ได้มากน้อยแค่ไหน!! •

 

การศึกษา