ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
กระแส “อีเอสจี” ซึ่งเป็นหลักคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืน เวลานี้เป็นเทรนด์โลกที่มาแรง โดยเฉพาะในวงการตลาดทุนตลาดการเงินภาคอุตสาหกรรมและการบริการต้องยึดมั่นใน 3 คำนี้เพราะเป็นเกณฑ์ชี้วัดว่านักลงทุนควรเข้าไปร่วมลงทุนซื้อหุ้นนั้นๆ หรือไม่ และมองแนวโน้มในอนาคตของธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้อีกนานแค่ไหน
“อี” มาจากคำย่อ Environmental หมายถึงสิ่งแวดล้อม “เอส” สังคม (Social) และ จี (Governance) ธรรมาภิบาล
นักลงทุนยุคใหม่จะใช้ “ESG” เป็นเกณฑ์ตัดสินใจการลงทุนเป็นหลัก ไม่ใช่แค่ดูตัวผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่พิจารณาว่าบริษัทมี “E” หรือมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เกิดจากผลกระทบในการทำธุรกิจมากน้อยแค่ไหน มีการบริหารจัดการในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคุมระบบการปล่อยของเสีย มีนโยบายประหยัดพลังงานหรือมีแผนปฏิบัติการรีไซเคิลอย่างไร
“S” หรือในด้านสังคมนั้น นักลงทุนใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาว่า บริษัทที่จะเข้าไปลงทุนมีระบบจัดการบริหารบุคคลอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมหรือไม่ ให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นแค่ไหน มีมาตรฐานความปลอดภัยและดูแลสุขอนามัยของพนักงานอย่างไรบ้าง เป็นบริษัทที่เปิดโอกาสให้กับกลุ่มคนพิการเข้าไปทำงานหรือเปล่า และคำนึงถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์แค่ไหน
ด้านธรรมาภิบาล หรือ “G” เป็นเกณฑ์พิจารณาว่า บริษัทนั้นๆ ทำธุรกิจอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีงาม วางระบบต่อต้านการทุจริตฉ้อโกงและเปิดเผยโปร่งใสแค่ไหน จัดการแบ่งปันผลตอบแทน ด้านภาษีได้มาตรฐานหรือไม่
ดังนั้น บริษัทใดที่ให้ความสำคัญกับ “อีเอสจี” และทำได้จริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้บริษัทนั้นจะเป็นดาวเด่นของนักลงทุน
ยกตัวอย่างบริษัทที่คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยี “คาร์บอนต่ำ” เช่น พลังงานลม โซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรืออุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้นาน จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมากเพราะถือว่าเป็นบริษัทที่ช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกเดือดที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในเวลานี้
ในทางตรงกันข้าม ถ้าบริษัทใดเมินแนวคิด “อีเอสจี” จะเกิดความเสี่ยงสูง นักลงทุนอาจไม่ให้ความสนใจอีกต่อไป
ขณะเดียวกันบริษัทที่เมินแนวคิดอีเอสจียังต้องเจอกับมาตรการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น มาตรการยูโรเปียนกรีนดีล (European Green Deal) ของสหภาพยุโรป หรืออียู
อียูวางเป้าหมายไว้ชัดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 55 ในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2533 และภายในปี 2593 สมาชิกอียู 27 ประเทศต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
มาตรการยูโรเปียนกรีนดีลนำไปสู่การออกกฎระเบียบตามมาอีกมากมาย อย่างเช่น แนวทางการสร้างสังคมไร้มลพิษ กำหนดให้ดิน น้ำและอากาศต้องปลอดจากปนเปื้อนมลพิษ ภายในปี 2593
เกษตรกรต้องเรียนรู้วิธีการปลูกพืชผลที่เน้นถึงสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ต้องคำนึงถึงกระบวนการใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและสารเคมีในไร่นาไม่ให้ปนเปื้อนกระทบกับสิ่งแวดล้อม
ในด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม อียูอัดฉีดงบประมาณร้อยละ 35 มุ่งเน้นลงทุนกับเทคโนโลยีสะอาด
เมื่อปีที่แล้ว อียูประกาศใช้แผนอุตสาหกรรมเขียว (The Green Deal Industrial Plan) หวังให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและวัตถุดิบใช้เทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
หลายๆ ประเทศเริ่มผลิตสินค้าที่ผ่านการออกแบบเพื่อผ่านการใช้งานแล้วสามารถนำไปคัดแยกรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากกว่าร้อยละ 75
มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) และกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EU Regulation on Deforestation-Free Products : EUDR) ของสหภาพยุโรป จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกของไทยอย่างมาก
เพราะสินค้าที่มีกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีเก่าๆ ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลจะโดนเรียกเก็บภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้น ต้นทุนจะสูงขึ้น
ในอีก 2 ปีข้างหน้า สินค้าที่ส่งออกไปยังอียู จะต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่า CBAM Declaration ผู้ผลิตต้องแจ้งรายละเอียดว่าสินค้าชนิดนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ และถ้าผู้ผลิตไม่มีใบรับรอง (CBAM Certificate) จะเจอค่าธรรมเนียมคาร์บอน
นอกจาก “อียู” ออกมาตรการสีเขียวหรือแนวทางลดภาวะโลกเดือดแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่กำหนดมาตรการคล้ายๆ กัน เช่น นโยบายกรีนของสิงคโปร์ ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2573 สิงคโปร์จะต้องเป็นเมืองสวยเขียวชะอุ่มอบอวลด้วยธรรมชาติ พื้นที่ครึ่งหนึ่งบนเกาะแห่งนี้จะฟื้นคืนกลับเป็นสวนป่า
ชาวสิงคโปร์ทุกครัวเรือนจะใช้เวลาเดินเพียง 10 นาทีก็เข้าถึงสวนสาธารณะ และรัฐบาลสิงคโปร์วางเป้าปลูกต้นไม้ให้ได้ 1 ล้านต้นเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 78,000 ตัน
ยุทธศาสตร์สีเขียวของญี่ปุ่นที่ประกาศไปเมื่อเดือนตุลาคม 2563 กำหนดให้ประเทศญี่ปุ่นปลอดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2593 และลดก๊าซเรือนกระจกให้ร้อยละ 46 ในอีก 6 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซพิษปี 2556
เป้าหมายดังกล่าวทำให้เกิดแผนปฏิบัติการส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนเพื่อใช้ปั่นเทอร์ไบน์ในโรงไฟฟ้าหรือเป็นเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cells) ในรถยนต์แทนเชื้อเพลิงฟอสซิล
รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนประหยัดพลังงานผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อควบคุมระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม แสงอาทิตย์ทั้งบนดินและนอกชายฝั่งให้มากขึ้นกว่าเดิม
คาดกันว่า ในปี 2573 ญี่ปุ่นเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคพลังงานไฮโดรเจน ถึงเวลานั้นราคาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะถูกลงมาก ชาวญี่ปุ่นหันมาใช้พลังงานไฮโดรเจนมากกว่า 3 ล้านตัน
ส่วนเกาหลีใต้ วางยุทธศาสตร์สีเขียว (The Green New Deal) เพื่อมุ่งสู่สังคมปลอดคาร์บอน ใช้เทคโนโลยีสะอาด มีแผนลงทุนสร้างเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมดีเยี่ยมและเป็นเมืองอัจฉริยะ 25 แห่ง ลงทุนปรับปรุงอุทยานแห่งชาติ 16 แห่ง ฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม 25 แห่ง มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของเมืองเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รัฐบาลเกาหลีใต้ยังเดินหน้าผลักดันการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอนำไปใช้ตรวจสอบคุณภาพน้ำ ระบบป้องกันภัยพิบัติและจัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนธุรกิจสีเขียวลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทิศทาง “สีเขียว” ของโลกมีความเข้มข้นสูงมาก นักลงทุนจึงต้องยึด “อีเอสจี” เป็นแนวทางการตัดสินใจมากขึ้น
กลางเดือนที่แล้ว มีโอกาสเข้าร่วมกับคณะของข่าวหุ้นอะคาเดมี (KH Academy) ในโครงการนำคณะนิสิตนักศึกษาจำนวน 20 คนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าค่ายเรียนรู้การทำธุรกิจยุคใหม่เชื่อมโยงกับ “อีเอสจี” ที่เมืองญาจาง และกระบวนการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ของบริษัทบี.กริม เพาเวอร์ ที่เมืองฟูเอี้ยน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
คุณบูรพา สงวนวงศ์ ผู้บริหารสถาบันการเรียนรู้ข่าวหุ้นอะคาเดมี เล่าให้ฟังว่า ข่าวหุ้นอะคาเดมี เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มีเป้าหมายต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันยกระดับคุณภาพการศึกษาและสังคมไทยด้วยการพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนที่สนใจเข้าสู่วิชาชีพด้านการเงินการลงทุน รวมถึงเปิดบริการทางกฎหมายให้กับประชาชนทั่วไป
ข่าวหุ้นอะคาเดมีได้เชิญคณาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางไปร่วมคัดเลือกนิสิตนักศึกษา 2 คนที่มีคุณลักษณะของผู้นำองค์กร ตามแนวคิดการพัฒนาองค์การอย่างยั่งยืนถึงปัจจัยด้านอีเอสจีไปฝึกงานที่บริษัทบี.กริม เพาเวอร์ ประเทศเกาหลีใต้เป็นเวลา 1 เดือน
ในค่ายฝึกอบรมจัดขึ้นในเมืองญาจางนั้น คณาจารย์ร่วมกิจกรรมเพื่อจับสลากเลือกนิสิตนักศึกษาทั้ง 20 คน สมมุติให้เป็นซีอีโอของบริษัทที่ทำธุรกิจในภาคการเงินการธนาคาร ภาคพลังงานหรือภาคเอ็นเตอร์เทนคอมเพล็กซ์ พร้อมกับให้นำเสนอประเด็นอีเอสจีประยุกต์ใช้กับโมเดลธุรกิจตามที่กำหนดไว้
นิสิตนักศึกษาหลายคนโชว์ความสามารถยอดเยี่ยม บางคนมีทักษะในการนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษอย่างฉะฉาน
กิจกรรมของ “ข่าวหุ้นอะคาเดมี” ได้จุดประกายเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียนเข้าใจแนวคิดการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทางอีเอสจี นับเป็นกิจกรรมน่าชื่นชมอย่างยิ่ง •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022