Zeng Fanzhi : Near and Far/Now and Then นิทรรศการจิตรกรรมธรรมดา (ที่ไม่ธรรดา) หลอมรวมความเป็นตะวันออกและตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Zeng Fanzhi : Near and Far/Now and Then

นิทรรศการจิตรกรรมธรรมดา (ที่ไม่ธรรดา)

หลอมรวมความเป็นตะวันออกและตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน

 

ในตอนนี้ขอเล่าถึงอีกหนึ่งนิทรรศการที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Collateral Events หรือนิทรรศการนอกพื้นที่แสดงงานหลักของมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Zeng Fanzhi : Near and Far/Now and Then ที่จัดแสดงผลงานของ เจิ้ง ฟานจือ (Zeng Fanzhi) ศิลปินร่วมสมัยชาวจีน เจ้าของผลงานจิตรกรรมที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก และสัญชาตญาณในเชิงจิตวิทยาอย่างตรงไปตรงมา ผ่านเทคนิคทางจิตรกรรมอันพิถีพิถัน ภาพวาดอันเปี่ยมความหมายในเชิงประวัติศาสตร์และรูปลักษณ์อันซับซ้อนของเขาสะท้อนถึงการทดลองหลอมรวมและผสมผสานเนื้อหาและกระบวนการทำงานศิลปะแบบตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน

ในนิทรรศการครั้งนี้ นำเสนอผลงานของเจิ้งในสองรูปแบบ คือผลงานภาพวาดสีน้ำมันแบบนามธรรมชุดใหม่ของเขา และผลงานวาดเส้นบนกระดาษทำมือ จากสีหมึก, ชอล์ก, แท่งถ่านกราไฟต์ และสีจากแร่ธาตุธรรมชาติ

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเจิ้งเป็นการสำรวจความเป็นสองขั้วของสิ่งต่างๆ รอบตัวของเขา ทั้งในแง่ของวัสดุในการทำงานศิลปะของงานชุดนี้ ที่มีทั้งวัสดุที่มีความหนาและเต็มไปด้วยพื้นผิวขรุขระ และวัสดุที่มีความบางเบา โปร่งแสง ในขณะที่งานบางชิ้นในชุดนี้ให้ความรู้สึกในการรับรู้แก่ผู้ชมแตกต่างกัน บางชิ้นให้ความรู้สึกแปลกแยก ห่างเหิน หากบางชิ้นให้ความรู้สึกอบอุ่น ใกล้ชิดกับผู้ชม

ผนังในห้องแสดงงานที่เจาะช่องเปิดเล่นระยะทางสายตาให้มองเห็นภาพใหญ่ที่สุดในนิทรรศการในขนาดจากเล็กไปหาใหญ่

กระบวนการทำงานของเจิ้งเองก็เป็นการหยิบเอาแรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะแบบประเพณีของเอเชียและยุโรป มาหลอมรวมจนกลายเป็นผลงานศิลปะสร้างประสบการณ์ทางสายตาแบบลูกผสม ที่สร้างความขัดแย้งระหว่างความเป็นงานจิตรกรรมแบบประเพณีอันเก่าแก่โบราณ กับงานจิตรกรรมแบบร่วมสมัยอย่างจะแจ้งชัดเจน และให้ผู้ชมร่วมตีความ และสังเคราะห์ปรัชญาจากสองซีกโลกไปพร้อมๆ กัน

ผลงานของเจิ้งยังท้าทายและเฉลิมฉลองแนวคิดของการยึดติดและการถือครองเป็นเจ้าข้าวเจ้าของทางวัฒนธรรมและแนวคิดทางศิลปะของมนุษย์ ที่สำคัญ ผลงานของเขายังแสดงถึงคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงถ่ายโอนทางวัฒนธรรม ทั้งในเชิงความคิดสร้างสรรค์และในเชิงปรัชญา

เจิ้งดึงแรงบันดาลใจและท้าทายกระบวนการทำงานในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในกระแสความเคลื่อนไหว อิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionism) และ พอยต์ทิลลิสต์ (Pointillism) (หรืองานจิตรกรรมที่ใช้จุดสีเล็กๆ หลากสีสันผสานรวมตัวหันขึ้นมาเป็นภาพสิ่งต่างๆ เมื่อถูกมองด้วยตาในระยะไกลระดับหนึ่ง) ภาพวาดของเขาเกิดจากการศึกษาทฤษฎีสีอย่างลึกซึ้ง และการสั่งสมความเชี่ยวชาญในการวางจุดและแต้มสีในตำแหน่งอันเจาะจงและพิถีพิถัน เพื่อสร้างให้เกิดภาพลักษณ์ต่างๆ ขึ้นมา ทั้งภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากงานจิตรกรรมแบบประเพณีทางศาสนา ของศาสนาพุทธและคริสเตียน ทั้งงานจิตรกรรมโบราณของจีน และงานจิตรกรรมยุคเรอเนซองส์และบาโรก (Baroque) ทั้งภาพของเหล่าพระอรหันต์ในพุทธศาสนา เหล่านักบุญและพระแม่ในคริสต์ศาสนา หรือภาพของหัวกะโหลก อันเป็นตัวแทนของความตายและความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต หรือภาพผืนมหาสมุทรอาบลำแสงอาทิตย์ที่ทะลุมวลเมฆลงมาบนผิวน้ำ ภาพหมู่มวลต้นไม้ และภูมิทัศน์ธรรมชาติ ที่ดูคล้ายกับงานจิตรกรรมแบบประเพณีของจีน

ภาพเหล่านี้ถูกถ่ายทอดด้วยฝีแปรงทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ หลายชั้น ผสานตัวกันจนปรากฏเป็นภาพที่รวมตัวเป็นรูปเป็นร่างจากการมองจากระยะไกล แต่เมื่อผู้ชมเข้าไปมองใกล้ๆ ผลงาน ภาพเหล่านี้จะค่อยๆ สลายรูปทรงและลบเลือนจนกลายเป็นจุดแต้มสีสันพร่าวพรายหลายสิบเฉดสี ราวกับเป็นภาพวาดนามธรรม

ผนังในห้องแสดงงานที่เจาะช่องเปิดเล่นระยะทางสายตาให้มองเห็นภาพใหญ่ที่สุดในนิทรรศการในขนาดจากเล็กไปหาใหญ่
ผนังในห้องแสดงงานที่เจาะช่องเปิดเล่นระยะทางสายตาให้มองเห็นภาพใหญ่ที่สุดในนิทรรศการในขนาดจากเล็กไปหาใหญ่

ด้วยการใช้เทคนิคการวาดภาพสีน้ำมันอันชำนิชำนาญและเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลอันล้ำสมัยสามารถสร้างและถ่ายทอดภาพบนจออุปกรณ์สื่อสารได้อย่างง่ายดาย เจิ้งแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติอันพิเศษของสีน้ำมันและงานศิลปะอันประณีต ที่สร้างขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ ด้วยการใช้องค์ประกอบของภาพวาดนามธรรม สร้างภาพแบบรูปธรรมอย่างภาพบุคคล, หุ่นนิ่ง และภาพทิวทัศน์ ที่โน้มน้าวให้ผู้ชมหวนกลับไปทำความเข้าใจกับงานศิลปะที่ต้องใช้เวลาอันยาวนานและความพากเพียรของมนุษย์สร้างขึ้นมา

“ผมเริ่มทำงานชุดนี้ในปี 2019 สำหรับผม มันเป็นการสำรวจและทดลองใหม่อย่างสิ้นเชิง เพราะผมไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน ก่อนหน้านี้ผมมีรูปแบบและธรรมเนียมในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่มันก็เริ่มค่อยๆ มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในผลงานชุดนี้ ที่เป็นแนวทางการทำงานและการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ สำหรับผม ซึ่งใช้เวลาเกือบ 4-5 ปี”

“แต่ถึงกระนั้นผมก็ยังนิยามว่ามันเป็นภาพวาด เและยังเป็นงานจิตรกรรมอย่างแท้จริงอยู่ดี เพราะมันวิวัฒนาการขึ้นจากรูปแบบของงานจิตรกรรมสีน้ำมันแบบดั้งเดิม อย่างเช่น ฝีแปรง และพื้นผิวของจิตรกรรมสีน้ำมัน และยังมีความเชื่อมโยงกับเทคนิคของงานจิตรกรรมแบบดั้งเดิมที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งสัมพันธ์กับคุณสมบัติที่แท้จริงของสี”

“สำหรับผม ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีเสน่ห์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวของงานจิตรกรรม เพราะพื้นผิวเป็นองค์ประกอบที่เป็นหัวใจสำคัญของงานจิตรกรรมตั้งแต่ยุคสมัยแรกๆ ดูจากฝีแปรงของศิลปินชั้นครูเมื่อ 500 ปีที่แล้ว สร้างสุนทรียศาสตร์ขึ้นมาร่วมกันกับศิลปินในยุคเรา และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้”

ผนังในห้องแสดงงานที่เจาะช่องเปิดเล่นระยะทางสายตาให้มองเห็นภาพใหญ่ที่สุดในนิทรรศการในขนาดจากเล็กไปหาใหญ่
ผนังในห้องแสดงงานที่เจาะช่องเปิดเล่นระยะทางสายตาให้มองเห็นภาพใหญ่ที่สุดในนิทรรศการในขนาดจากเล็กไปหาใหญ่

นอกจากผลงานจิตรกรรมของ เจิ้ง ฟานจือ แล้ว องค์ประกอบอีกอย่างของนิทรรศการนี้ที่ทำให้มันไม่ได้เป็นแค่นิทรรศการแสดงผลงานจิตรกรรมธรรมดา (ที่ไม่ธรรมดา) ก็คือการออกแบบพื้นที่แสดงนิทรรศการ ด้วยการกั้นแบ่งห้องแสดงงานที่อยู่ภายในอาคาร Scuola Grande della Misericordia เป็นส่วนๆ ด้วยผนังสี่เหลี่ยมอันเรียบง่ายสะอาดตา หากมีความพิเศษตรงการเจาะช่องเปิดบนผนังแต่ละด้านที่ค่อยๆ ขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยแต่ละช่องเชื่อมต่อกับผนังด้านอื่นๆ เล่นระยะทางสายตาที่เปิดให้เห็นภาพวาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในนิทรรศการจากระยะไกลที่สุดจนดูมีขนาดเล็กที่สุด เมื่อผู้ชมค่อยๆ เดินผ่านแต่ละผนังเข้าไปจะเห็นงานชิ้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงภาพขนาดใหญ่ขนาดมหึมาที่สุดตรงปลายทาง

ด้วยความสงสัย เราจึงค้นดูรายชื่อของผู้ออกแบบพื้นที่แสดงนิทรรศการ เมื่อได้เห็นก็ไม่แปลกใจอย่างสิ้นเชิง เพราะนักออกแบบที่ทำหน้าที่ออกแบบก็คือสุดยอดสถาปนิกระดับโลกชาวญี่ปุ่นอย่าง ทาดาโอะ อันโด (Tadao Ando) ผู้ได้รางวัล Pritzker Prize ที่เปรียบเสมือนรางวัลโนเบลทางด้านสถาปัตยกรรมนั่นเอง

ด้วยการออกแบบอันสุดพิเศษเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ปฏิวัติรูปแบบเดิมๆ ในการชมงานจิตรกรรมให้แก่ผู้ชมแล้ว การออกแบบของเขายังเชื่อมโยงกับบริบททางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคของอาคารเก่าแก่ในศตวรรษที่ 14 อย่าง Scuola Grande della Misericordia ได้อย่างกลมกลืน แนบเนียน โดยไม่จำเป็นต้องตะโกนให้หนวกหูแต่อย่างใด

“นิทรรศการครั้งนี้มีความเชื่อมโยงอันแนบแน่นระหว่างผลงานและพื้นที่จัดแสดงงาน และยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมใช้ประโยชน์จากจินตนาการของตัวเองอย่างเต็มที่ ในการเลือกหนทางอันแตกต่างหลากหลายในการชมงาน และสามารถสัมผัสประสบการณ์จากหลายหลายแง่มุม ที่ทั้งมีความแปลกใหม่และเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

ผนังในห้องแสดงงานที่เจาะช่องเปิดเล่นระยะทางสายตาให้มองเห็นภาพใหญ่ที่สุดในนิทรรศการในขนาดจากเล็กไปหาใหญ่
ผนังในห้องแสดงงานที่เจาะช่องเปิดเล่นระยะทางสายตาให้มองเห็นภาพใหญ่ที่สุดในนิทรรศการในขนาดจากเล็กไปหาใหญ่

เจิ้ง ฟานจือ กล่าวถึงความโดดเด่นในการออกแบบห้องแสดงนิทรรศการครั้งนี้ของเขา

เมื่อได้ชมนิทรรศการครั้งนี้แล้ว ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า ถึงแม้นิทรรศการนี้จะเป็นนิทรรศการนอกพื้นที่แสดงงานหลักของมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ของศิลปินจีนเพียงแค่คนเดียว และเป็นนิทรรศการจิตรกรรมเท่านั้น แต่กลับมีความโดดเด่นเหนือชั้นยิ่งกว่านิทรรศการของพาวิลเลียนจีน (China Pavilion) (ที่จัดแสดงในพื้นที่แสดงงานหลักของมหกรรมอย่าง Arsenale) ที่จัดเต็มทั้งงานมัลติมีเดีย ศิลปะจัดวาง และมีลูกเล่นต่างๆ มากมาย (แต่อ่อนปวกเปียกด้วยเนื้อหาและไร้ความแปลกใหม่) เสียอีก นี่แสดงให้เห็นว่า การทำงานชั้นเยี่ยมออกมานั้น ไม่เพียงแค่มีเงินและมีอำนาจเท่านั้น หากแต่ต้องมีสมองและความคิดสร้างสรรค์ด้วย ถึงจะทำสำเร็จได้ ก็ต้องฝากไปยังหน่วยงานทางศิลปะในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานเกี่ยวกับซอฟต์เพาเวอร์ เอาไว้ด้วยแหละนะ!

นิทรรศการ Zeng Fanzhi : Near and Far/Now and Then โดย เจิ้ง ฟานจือ สนับสนุนโดย The Los Angeles County Museum of Art (LACMA) จัดแสดงในส่วน Collateral Events ในพื้นที่แสดงงาน Scuola Grande della Misericordia กรุงเวนิส ประเทศอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน-30 กันยายน 2024 •

ผนังในห้องแสดงงานที่เจาะช่องเปิดเล่นระยะทางสายตาให้มองเห็นภาพใหญ่ที่สุดในนิทรรศการในขนาดจากเล็กไปหาใหญ่
ผนังในห้องแสดงงานที่เจาะช่องเปิดเล่นระยะทางสายตาให้มองเห็นภาพใหญ่ที่สุดในนิทรรศการในขนาดจากเล็กไปหาใหญ่

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์