เล็บ (2)

ญาดา อารัมภีร

‘เล็บ’ มีขนาดเล็ก อะไรที่เล็กหรือน้อยมาก มักเปรียบกับเล็บมือ

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ขุนช้างเมาอาละวาดกลางงานแต่งงาน ทั้งหยอกเมียและลำเลิกบุญคุณลูกเลี้ยง ถูกพระไวยเจ้าของงานต่อยจนล้มคว่ำ

นางวันทองขอร้องพระไวยให้เห็นแก่แม่ อย่าถือสาคนเมา พระกาญจน์บุรี (ขุนแผน) ด่าเมียเก่าว่าเข้าข้างผัว แทนที่จะห้ามปราม กลับปล่อยให้ผัวดูถูกลูกและเล้าโลมนางเล่นเช่นหนุมานกับนางวานรินทร์ในวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์”

“พระกาญจน์บุรีชี้หน้าว่าวันทอง อ่อน้องเจ้าเป็นวานรินทร์ฤๅ

ช่างไม่อายไม่เจ็บเท่าเล็บมือ แค่นมาโลมให้เขาลือเล่นกลางคน”

ข้อความ “ช่างไม่อายไม่เจ็บเท่าเล็บมือ” หมายความว่า แม้ความละอายน้อยนิดเท่าเล็บมือ นางวันทองก็ยังไม่มี ช่างหน้าด้านยิ่งนัก ยอมให้ขุนช้างกระทำต่อหน้าคนทั้งหลาย

 

อีกตอนหนึ่งพระไวยเผชิญหน้ากับสมิงมัตรา หรือพลายชุมพล (น้องชายต่างแม่) ที่ปลอมตัวเป็นมอญยกทัพมารบ สมิงมัตราหยามหยันและคุยโวว่า

“อันสมบัติในศรีอยุธยา กูหาปรารถนาสิ่งใดไม่

ขุนแผนยกพลมาชิงชัย กูจับได้จึงฟันหั่นประจาน”

พระไวยตอบโต้สมิงมัตราทันที

“มึงอย่าทะนงองอาจ ประมาทว่าจับขุนแผนได้

หากแก่เฒ่าแรงน้อยถอยไป กูนี้ไม่กลัวมึงเท่าเล็บมือ”

ความหมายคือ ปริมาณความกลัวเท่าเล็บมือยังไม่มีเลย กูหากลัวมึงไม่ อย่าทะนงตัวเกินไป

 

นอกจากนี้ กวีที่นำเอา ‘เล็บ’ มาใช้เปรียบเทียบเช่นกัน คือ ‘สุนทรภู่’ ระหว่างบวชเป็นพระนั่งเรือเดินทางผ่านท้องทุ่งเจิ่งน้ำ เห็นธรรมชาติงดงามด้วยพืชพันธุ์ไม้น้ำ โดยเฉพาะบรรดาดอกบัวขาวต้องแสงแดดเป็นประกายราวดวงดาว ‘กระจับจอกดอกบัวบานผกา ดาษดาดูขาวดังดาวพราย’ ทำให้สุนทรภู่หวนนึกถึงสตรี

หากได้มาเห็นเป็นอดใจไม่ไหว ถ้าไม่ลงเล่นน้ำกลางทุ่งก็คงพายเรือไปเก็บสายบัวและสันตะวา เวลานี้ถ้าสุนทรภู่ยังมีโยมหญิง ไฉนเลยจะเฉยนิ่งให้อายดอกไม้ คงจะใช้ลูกศิษย์ไปเก็บดอกบัวมาเป็นของฝาก ดังที่บรรยายไว้ใน “นิราศภูเขาทอง” ว่า

“ถึงตัวเราเล่าถ้ายังมีโยมหญิง ไหนจะนิ่งดูดายอายบุปผา

คงจะใช้ให้ศิษย์ที่ติดมา อุตส่าห์หาเอาไปฝากตามยากจน

นี่จนใจไม่มีเท่าขี้เล็บ ขี้เกียจเก็บเลยทางมากลางหน”

‘เล็บมือ’ ว่าเล็กแล้ว เล็กกว่าเล็บยังมี คือ ‘ขี้เล็บ’ ซึ่งเป็นเพียงสิ่งสกปรกเล็กๆ น้อยๆ ในซอกเล็บ ข้อความว่า ‘นี่จนใจไม่มีเท่าขี้เล็บ’ หมายความว่า แม้สตรีจำนวนน้อยนิดเท่าขี้เล็บ สุนทรภู่ก็ยังไม่มีเลย แล้วจะเก็บดอกบัวไปฝากใครที่ไหนเล่า จนใจหมดหนทางจะทำให้สำเร็จได้

 

นอกจากเปรียบขนาด ปริมาณ จำนวนกับเล็บมือ ยังมีสำนวน ‘หยิกเล็บเจ็บเนื้อ’ ใช้กันอยู่ทั่วไป มีความหมายว่า เมื่อทำให้คนใกล้ชิดเดือดร้อน ย่อมส่งผลถึงตัวผู้กระทำหรือคนที่เป็นพวกเดียวกัน ทำคนนี้ก็เดือดร้อนถึงคนนั้น เช่น ทรมานลูกก็เหมือนทรมานพ่อแม่ด้วย หรือฟ้องร้องพี่น้องกันเองก็เหมือนหยิกเล็บเจ็บเนื้อ ต่างได้รับผลกระทบทั่วถึงไม่มากก็น้อย ดังจะเห็นได้จากบทละครนอกเรื่อง “ไกรทอง” นางจระเข้เลื่อมลายวรรณรำคาญนางวิมาลากับไกรทองทะเลาะกัน ต่างฝ่ายต่างแฉกันไปมาไม่จบไม่สิ้น จึงออกจากห้องมาร้องห้าม

“เยี่ยมเยี่ยมมองมองแล้วร้องว่า อะไรนี่บ่นบ้าน่าหนวกหู

ทั้งหม่อมเมียหม่อมผัวล้วนตัวรู้ ไม่อดสูผีสางบ้างเลย

จะสาวไส้ให้กาแย่งแร้งทึ้ง อื้ออึงมันไม่ดีนะพี่เอ๋ย

ใช่จะแกล้งแสร้งซ้ำปรำเปรียบเปรย พี่ก็เป็นคนเคยคนเข้าใจ

จะมาขืนฟื้นฝอยหาตะเข็บ หยิกเล็บจะเจ็บเนื้อฤๅหาไม่”

‘หยิกเล็บเจ็บเนื้อ’ ในที่นี้หมายความว่า การที่นางวิมาลาและไกรทองเอาแต่ด่าทอ ประชดประชัน เหน็บแนมกันไปมา ทำอย่างนี้ย่อมได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งคู่ ด่าอีกฝ่ายเสียๆ หายๆ มากแค่ไหน ตัวเองก็เสียหายมากแค่นั้น เพราะเป็นผัวเมียกันหาใช่คนอื่นคนไกลไม่

 

ไม่ต่างจากนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ตอนมังคลา (ลูกพระอภัยมณีกับนางละเวง) เปิดอ่านสาส์น หรือจดหมายของนางสุวรรณมาลีที่มีถึงพระชนนีโดยพลการ นางสุวรรณมาลีเท้าความถึงนางเสาวคนธ์และกล่าวหานางละเวงว่ารู้เห็นเป็นใจให้วายุพัฒน์และหัสกันยกทัพไปตีเมืองการะเวก

“แม่เสาวคนธ์มณฑากรุงการะเวก ขอเพชรเอกเอาไปไว้ไอศวรรย์

ให้นัดดาวายุพัฒน์หัสกัน ไปโรมรันรบเร้าเผาธานี

คืนเอาแก้วแล้วเอาทั้งข้าวของ ริบเงินทองสารพัดน่าบัดสี

กวาดไพร่พลคนผู้มาบูรี หรือราคีขัดเคืองด้วยเรื่องใด

แม่ก็รู้อยู่ว่ากรุงการะเวก ร่วมภิเษกสืบเนื้อเป็นเชื้อไข

ขืนคิดทำย่ำยีดังนี้ไซร้ เขาว่าไว้หยิกเล็บแล้วเจ็บเนื้อ”

การที่นางละเวงให้หลานทั้งสองไปโจมตีเอาดวงแก้ว หรือโคตรเพชรกลับคืนมา ริบทรัพย์สมบัติ กวาดต้อนผู้คน และเผาเมืองการะเวก ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติกับเมืองผลึก เท่ากับเป็น ‘การหยิกเล็บเจ็บเนื้อ’ เมื่อเมืองการะเวกได้รับความเดือดร้อน คนเมืองผลึกก็พลอยเดือดเนื้อร้อนใจตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นพระอภัยมณีพ่อของมังคลา ศรีสุวรรณพ่อวลายุดา สินสมุทรพ่อวายุพัฒน์ หรือสุดสาครพ่อของหัสกันก็ตาม

‘หยิกเล็บ’ กับ ‘หยิกเล็บเจ็บเนื้อ’ เหมือนกันไหม ฉบับหน้าอย่าพลาด •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร