ความรู้สึกไร้อำนาจ กับอาการสิ้นหวังทางการเมือง

แต่ก่อนเรื่องย้ายหนีไปอยู่ต่างประเทศนี่ผมเข้าใจว่าเขาเอาไว้บ่นตัดพ้อกัน ไม่ก็ไว้ให้ใครบางคนเอาไว้ขับไล่ผู้เห็นต่างทางการเมือง

แต่ในฐานะคนเดินทางไปทำงานไทย-ต่างประเทศ กลับบ้านรอบนี้ผมรู้สึกว่าคนที่พูดเรื่องนี้เขาจริงจังกันขึ้นมาก

“ผมขายที่ดินส่งลูกไปโตเมืองนอกหมดแล้ว เกิดมาหกสิบปีรู้สึกว่าประเทศไทยมีความหวังบ้างไม่มีบ้าง แต่ช่วงหลังมานี้ผมรู้สึกว่าไม่มีเลย”

“เชื่อผม อีกไม่เกินสิบยี่สิบปีประเทศนี้ล่มสลายแน่นอน ทำอะไรไม่ได้ด้วย”

“ตอนนั้นกูมีโอกาสอยู่ต่อ กูไม่น่าตัดสินใจกลับมาเลย”

เหล่านี้คือถ้อยคำที่ได้ยินซ้ำไปซ้ำมาจากมิตรสหายหลากเฉดการเมือง จำนวนมากในอดีตเคยชวนผมกลับมาอยู่ไทยถาวรเพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศ

มิตรสหายฝ่ายบริหารบุคคลขององค์กรหนึ่งซึ่งจ่ายค่าตอบแทนสูง เขาก็เล่าให้ฟังทำนองเดียวกันว่าเด็กที่เข้ามาทำงานกับเขานั้นเป็นพวกศักยภาพสูง แล้วถ้าสนิทพอที่เขาจะเปิดใจด้วย ก็พบว่าความฝันของพวกเขาส่วนใหญ่คือหาทางย้ายไปอยู่ต่างประเทศเมื่อโอกาสอำนวย

 

ถ้อยคำเหล่านี้ชวนให้ผมใคร่ครวญอยู่พักใหญ่เพราะอีกสักพักผมจะกลับไปทำงานในไทยถาวร ส่วนตัวผมเข้าใจว่าทั้งหมดนี้เกิดจากความรู้สึกหมดหวัง แต่อยากเข้าใจว่าความหมดหวังนี้มันเกิดจากอะไร

จะว่าเพราะผู้นำห่วย บ้านเมืองไม่มีขื่อแป คอร์รัปชั่น ปัญหาสิทธิมนุษยชน นิติรัฐ ประชาธิปไตยอ่อนแอก็ไม่ใช่ เพราะมันก็เป็นเช่นนี้เสมอมา ที่ผ่านมาสถานการณ์จะแย่แค่ไหนผมก็ไม่เคยได้ยินมิตรสหายหมดหวังกันขนาดนี้

หลายคนยังอยู่ด้วยความเชื่อเสมอว่าประเทศไทยดีกว่านี้ หรือเขาเชื่อว่าอย่างน้อยสถานการณ์ก็เปลี่ยนได้ คิดถึงตรงนี้ผมก็ตระหนักว่าสิ่งที่หายไปจากสมการทางความรู้สึกของพวกเขาอาจได้แก่ความรู้สึกสุดท้ายนี้นี่แหละ ความรู้สึกที่ว่าประเทศไทยเปลี่ยนได้

มาพยายามแกะลึกลงไปอีก ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก แต่ผมคิดว่าอาการหมดหวังของพวกเขาและอาจจะคนไทยจำนวนมากมาจากความเป็นปึกแผ่นของชนชั้นนำที่ครองอำนาจและอิทธิพลในปัจจุบัน

 

ชนชั้นนำไทยที่อยู่ในและรอบอำนาจรัฐไม่เคยรวมตัวเป็นปึกแผ่นเหนียวแน่นแบบตอนนี้ ที่ว่าเป็นปึกแผ่นไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดเลิกเขม่น ขัดแย้ง เตะตัดขากัน

แต่หมายถึงว่าความขัดแย้งเหล่านี้จะไม่ลุกลามไปถึงระดับล้มกระดาน

เราไม่เห็นความขัดแย้งเขม่นจะยึดอำนาจกันแบบรัฐบาล-กองทัพบก จปร.5-จปร.7 บ้านสี่เสาฯ-ซอยราชครู อะไรแบบนั้นอีกต่อไป

ตอนนี้จะจัดแบ่งอำนาจอิทธิพลกันอย่างไรพวกเขาก็พูดคุย ต่อรองกันภายในกลุ่มหรือถาม “บอส” เอาได้

แม้จะมีกระทบกระทั่ง ซื้อตัว ตบตี ด่ากันบ้าง แต่ทั้งหมดก็ไม่ถึงขั้น “ฆ่า” กันทางการเมืองเพื่อเข้าแทนที่

นอกจากนี้ กลุ่มก้อนการเมืองอันเป็นปึกแผ่นนี้ยึดกุมอำนาจและอิทธิพลเพียงพอจะกีดกันกลุ่มการเมืองแตกแถวออกจากพื้นที่ทางอำนาจ (และอิทธิพล)

ทำไมความเป็นปึกแผ่นของชนชั้นนำที่ว่าจึงสำคัญ?

ผมว่าที่มันสำคัญก็เพราะแต่ไหนแต่ไรมาความไม่เป็นปึกแผ่นในสังคมไทยคือเงื่อนไขที่ทำให้คนธรรมดามีอำนาจต่อรองในสังคมไทย

งานเขียนเรื่อง “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยอธิบายไว้ว่าแต่ไหนแต่ไรมาคนไทยต่อรองกับชนชั้นนำด้วยการใช้กลุ่มอิทธิพลและอิทธิพลต่างๆ ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

เงื่อนไขดังกล่าวเกิดขึ้นได้บนฐานความไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เช่น พรรคการเมืองแข่งขันกันแย่งความนิยม เจ้าพ่อแข่งกันเลี้ยง ขยายเครือข่าย

พูดโดยง่ายคือรอยแยกระหว่างชนชั้นนำคือเงื่อนไขที่ทำให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่ชนชั้นนำสามารถต่อรองทางอำนาจและผลประโยชน์

 

ในชีวิตประจำวัน เราฟ้องตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหากถูกผู้มีอิทธิพลหาเรื่อง กลับกัน เราวิ่งหาเส้นสาย ผู้มีอิทธิพลให้ช่วยเคลียร์ให้หากถูกเจ้าหน้าที่รัฐรังแก ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการหาผู้มีอิทธิพลมาเคลียร์กับผู้อิทธิพล หรือร้องเรียนผู้มีอำนาจให้เข้ามาตรวจสอบผู้มีอำนาจ

ในระดับชาติ นโยบายภาคประชาชนจำนวนมากเข้าไปมีพื้นที่ในรัฐสภาได้ก็เพราะพรรคการเมืองที่แข่งขันกันอยู่ต้องการ ภายใต้เงื่อนไขที่ชนชั้นนำไม่เป็นเนื้อเดียว ภาคประชาชนที่สะสมความรู้ แนวร่วม สามารถผลักดันนโยบายบางประการให้ชนชั้นนำที่แข่งขันแย่งชิงความนิยมกันอยู่รับไปผลักดันต่อ ในอดีตก็เช่นการที่ไทยรักไทยรับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวผลักดันเรื่องนี้กันมาสามสิบกว่าปี

เหตุการณ์อย่าง 14 ตุลาฯ เกิดขึ้นได้ก็เพราะผู้ที่ถือครองอำนาจรัฐและผู้นำเหล่าทัพเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อการประท้วงลุกลามกลายเป็นจลาจลลุกฮือต่อต้าน ปฏิกิริยาอัตโนมัติของรัฐบาลทหารขณะนั้นคือการตรวจสอบความเคลื่อนไหวเหล่าทัพ ก่อนฝ่ายหลังส่งสัญญาณชัดเจนว่าไม่ยืนอยู่ข้างรัฐบาล ทำให้รัฐบาลต้องยอมจำนน ลาออก แล้วหนีออกนอกประเทศ

กล่าวโดยสรุปคือการลุกฮือของประชาชนเปิดทางทั้งในแง่โอกาสและความชอบธรรมให้ชนชั้นนำที่ไม่ลงรอยกับผู้ถือครองอำนาจและพร้อมประนีประนอมกับข้อเสนอของประชาชนมากกว่า (อย่างน้อยก็กับกลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหวเรียกร้อง) เข้าล้มกระดาน หากทหารที่ผูกขาดปืนเป็นปึกแผ่น มีหรือเขาจะ “เอาไม่ลง” ไม่เชื่อลองดูเหตุการณ์เทียนอันเหมินในจีนเป็นตัวอย่าง เอาเข้าจริงม็อบพันธมิตรและ กปปส. ก็มุ่งยุทธศาสตร์หลักนี้ คือทำม็อบสร้างเงื่อนไขเปิดทางให้ชนชั้นนำกลุ่มตรงข้ามรัฐบาลเข้ายึดอำนาจ

เงื่อนไขที่ประชาชนสามารถสะเทือนการเมืองได้แบบนี้ยังทำให้นายกฯ หรือคณะรัฐมนตรีต้องลาออกเมื่อถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจระดับแทงจุดตาย เพราะรัฐบาลรู้ว่าฝืนไปก็อาจถูกประชาชนออกมาต่อต้าน และการต่อต้านของประชาชนจะนำไปสู่การสร้างเงื่อนไขการล้มกระดานให้พรรคการเมืองคู่แข่งหรือกลุ่มอำนาจนอกระบบ

 

ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้บอกว่าระบบถ่วงดุลอำนาจเหล่านี้ถูกต้องเหมาะสม (ชนชั้นนำ กองทัพไม่ควรมีอิทธิพลทางการเมือง) แต่เป็นตัวอย่างว่าการไม่ลงรอยและแข่งขันระหว่างชนชั้นนำคือสมการที่เปิดช่องให้คนธรรมดามีอำนาจต่อรองทางนโยบายและทิศทางการใช้อำนาจ ถึงส่วนใหญ่จะผลักทิศทางภาพรวมไปในทางที่ดีไม่ได้ แต่กรอบดังกล่าวก็ขีดเส้นไม่ให้ผู้มีอำนาจทำอะไรน่าเกลียดจนเกินเลย

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ความเชื่อเหล่านี้ได้ล่มสลายลงไปอย่างน้อยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งผมคิดว่าเกิดจากการที่เงื่อนไขหนึ่งหายไปในภูมิทัศน์การเมืองไทย เมื่อชนชั้นนำเย็บตะเข็บปิดช่องว่างระหว่างกัน ช่องทางการต่อรองของประชาชนก็เลือนหาย

ผมลองนึกดู หากตอนนี้มีม็อบฝั่งใดก็ตามออกมายึดถนน กลุ่มชนชั้นนำไทยที่เป็นปึกแผ่นในตอนนี้สามารถสั่งสลายหรืออย่างน้อยก็ตรึงการชุมนุมใหญ่ไปเรื่อยๆ จนม็อบหมดพลังไปเอง ถ้าพวกเขาเลือกทางหลัง ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้จะสร้างเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงใด หรือจะมีใครใช้อำนาจอิทธิพลตนเองออกมากดดันให้ “ทรราช” ลาออกแบบในอดีต

หากเปลี่ยนมาเป็นภาคประชาชนยื่นแนวคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งมีประชาชนสนับสนุนหลักล้านแต่ต้องพบแรงต้านจากบุคลากรในระบบ ข้าราชการ และชนชั้นนำบางส่วน ผมเดาว่าผู้ถือครองอำนาจในปัจจุบันอาจเลือกไม่ตอบสนองกับภาคประชาชน เพราะฝ่ายนี้ทำอะไรเขาไม่ได้ด้วยเหตุผลที่ว่าไป หนำซ้ำหากรับนโยบายนี้แล้วผู้ใหญ่บางคนไม่ชอบขึ้นมาจะสร้างเรื่องเอา

ความเป็นปึกแผ่นที่ว่าปิดช่องทางอำนาจของประชาชน และโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผมคิดว่าอำนาจต่อรองที่หายไปทำให้หลายคนโดยเฉพาะคนที่ผูกชะตาตัวเองเข้ากับเรื่องบ้านเมืองมาเป็นเวลานานรู้สึกหมดหวังขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว

บางคนอาจบอกว่าม็อบใหญ่เมื่อหลายปีก่อนแม้จะเปลี่ยนอะไรเป็นรูปธรรมไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็กระตุ้นสำนึกความตื่นตัวทางการเมืองวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ให้คนจำนวนมาก ซึ่งที่ว่าก็ถูก แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงและอาจยิ่งยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงรูปธรรมได้ในเงื่อนไขปัจจุบัน (ไปคาดหวังกับอนาคตเอา)

 

หากทั้งหมดที่ว่ามาถูกต้อง คำถามสำคัญของการเมืองไทยตอนนี้อาจเป็นว่ากลุ่มผู้ปกครองหลักในปัจจุบันเป็นปึกแผ่นได้เพราะเงื่อนไขใด และเงื่อนไขดังกล่าวจะคงอยู่อีกนานแค่ไหน

หากสิ่งที่หลอมรวมคือผลประโยชน์ ก็อาจไม่น่ากลัวเพราะไม่ยั่งยืน แต่กลุ่มก้อนดังกล่าวหลอมรวมด้วยความกลัวบางประการ (เช่น อาจเป็นกลุ่มพลังใหม่หรือเก่าในสังคม)

ก็น่าสนใจว่าเงื่อนไขความกลัวที่ว่าจะจบลงเมื่อใด