ชาวพระนครอพยพ หนี ‘ฝนเหล็ก’ ในช่วงสงคราม (จบ)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

ชาวพระนครอพยพ

หนี ‘ฝนเหล็ก’ ในช่วงสงคราม (จบ)

 

เมื่อพระนครเริ่มร้างผู้คน

ช่วงปลายสงคราม เมื่อพระนครถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ชาวพระนครหลบภัยออกไปพักนอกเมืองมากเท่าไร ยิ่งทำให้พระนครในยามนั้นเริ่มร้างผู้คนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ประเก็บ คล่องตรวจโรค ชาวพระนครบันทึกสิ่งที่เขาเห็นไว้ว่า ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงในยามนั้นคลาคล่ำไปด้วยผู้คนหลายหมื่นต่างคนต่างแตกตื่นแย่งชิงกันขึ้นรถไฟอพยพออกไปยังจังหวัดอื่น ซึ่งเขาได้ส่งครอบครัวอพยพไปหลบภัยในต่างจังหวัดด้วยเช่นกัน

ด้วยสภาพขบวนรถจักรไอน้ำที่จะพาชาวพระนครหลบภัยนั้น “มีคนแน่นรถจนถึงหลังคา…แน่นยิ่งกว่ายัดทะนาน บนหลังคามีคนขึ้นเต็มไปหมด ตอนหลังเขาต้องห้าม เพราะมีคนโดนโครงเหล็กสะพานรถไฟตีตกรถ ตายไปหลายสิบคนแล้ว” (ประเก็บ คล่องตรวจโรค, 209)

ช่วงเวลานั้น ฝูงบินสัมพันธมิตรเข้าโจมตีพระนครแถบสถานีรถไฟบางกอกน้อยเพื่อทำลายการขนส่งและคลังสินค้าของญี่ปุ่นอย่างหนัก เสียงหวอที่ถังน้ำสูงในสถานีรถไฟดังเตือนภัยตลอดเวลา ชาวบ้านแถวนั้นบ้างวิ่งไปหลบที่วัดทอง และวัดดุสิตาราม ด้วยพวกเขาหวังให้พระคุ้มครองให้ปลอดภัย แต่การโจมตีทางอากาศบางครั้งพลาดเป้าทำให้ระเบิดตกลงในชุมชนทำให้มีคนตายจำนวนมาก ยิ่งทำให้ชาวบ้านอพยพหนีเข้าไปในสวนลึกเข้าไป ห่างไกลชุมชนมากยิ่งขึ้น บ้างก็นั่งเรือ บ้างก็เดินเพื่อหลบภัย (สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์, 2553, 267)

สภาพการอพยพครั้งนั้นดูแล้วช่างโกลาหลยิ่งนัก คนที่อยู่ทางใต้ของพระนคร เช่น ยานนาวาก็อพยพไปทางตอนเหนือ คนอยู่ทางตอนเหนือก็อพยพมาทางตอนใต้ ตามแต่ใจพวกเขาคิดว่า ที่ใดจะปลอดภัย แต่ชาวพระนครที่ยังมีภารหน้าที่การงานนั้นไม่สามารถอพยพไปนอกเมืองได้ก็สร้างหลุมหลบภัยในบริเวณบ้าน ด้วยการขุดหลุมเป็นบ่อไม่ลึกนัก เอากระดานไม้ปิดข้างบนแล้วถมดินทับเปิดให้มีช่องทางเข้าออก บ้านใดมีสนามหน้าบ้านก็ขุดทำหลุมหลบภัยที่สนาม บ้านไหนมีฐานะดีหน่อยก็ทำเป็นหลุมคอนกรีตเหมือนเข้าไปหลบอยู่ในอุโมงค์

ช่วงเวลานั้น รัฐบาลอำนวยความปลอดภัยด้วยการสร้างหลุมคอนกรีตสำหรับประชาชนไว้ตามถนนหลายแห่งในพระนครอีกด้วย (พล.ต.อ.จำรัส มัณฑุกานนท์, 2521, 76)

ย่านการค้าในพระนครเสียหายช่วงปลายสงคราม เมื่อ 19 มกราคม 2487

คลื่นการอพยพ

สร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชนบท

นายตำรวจคนหนึ่งบันทึกว่า เมื่อพระนครถูกโจมตี ชาวกรุงต่างอพยพออกไปหาเช่าที่ดินปลูกบ้าน หรือบ้านเช่าเขตนอกเมืองตามแต่กำลัง อย่างไรก็ตาม คลื่นการอพยพนั้น ไม่แต่เพียงเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับชาวบ้านที่มีที่ดินในเขตเรือกสวน ไร่นาจากการขายที่ดินหรือให้เช่าเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านจากการทำอาหารและขนมขายให้กับชาวกรุงผู้ที่เข้าเมืองไปทำงานแต่เช้าและกลับมาบ้านราว 16.00-17.00 น. พวกเขาย่อมต้องฝากท้องกับเพิงขายอาหารอีกด้วย (พล.ต.อ.จำรัส มัณฑุกานนท์, 2521, 75)

ขุนวิจิตรมาตรา เป็นข้าราชการอีกคนหนึ่งที่หาซื้อที่ดินแถวบางใหญ่ นนทบุรี ปลูกบ้านเพื่อใช้เป็นที่หลบภัยทางอากาศ ชีวิตราชการครั้งสงครามนั้น หลังจากที่เขาเลิกงานจากกระทรวงพาณิชย์แล้ว เขาต้องนั่งเรือกลับบ้านที่บางใหญ่ ใช้เวลาเดินทางราว 2 ชั่วโมง (ขุนวิจิตรมาตรา, 484)

อดีตทหารไทย ผู้หนึ่งที่พาครอบครัวไปนอกเมือง เขาบันทึกว่า พระนครไม่ปลอดภัย เขาจึงซื้อบ้านไม้ 2 ชั้น หลังหนึ่งในราคา 800 บาท แถวอู่บางกอกด๊อด เขาจ้างช่างรื้อถอน ไปปลูกใหม่ในที่ดินใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถวปทุมธานี เขาออกแบบให้ตัวบ้านปลูกในน้ำ มีชานสำหรับกินอาหาร ทำส้วมซึม มีชานด้านข้างสำหรับวางตุ่มน้ำและเป็นที่ตากผ้า ส่วนการซักผ้านั้นใช้น้ำจากแม่น้ำมาแกว่งสารส้มก่อน ทำให้ผ้าที่ซักยังคงความขาวจนชาวบ้านแถวนั้นทึ่ง จึงถามว่าใช้น้ำจากแหล่งใดซักผ้า (เสถียร, 2518, 145-146)

ภาวะสงครามทำให้ราคาที่ดินพระนครมีราคาตกลงมาก ดังมีผู้บันทึกว่า ที่ดินแถบริมใจกลางเมืองมีราคาเพียงตารางวาละ 2-3 บาท ไร่ละ 800 บาทหรือ 1,000 บาทเท่านั้น หากเป็นใจกลางเมืองแล้ว ตารางวาละ 10 บาท หรือไร่ละ 4,000 บาท เมื่อเกิดการทิ้งระเบิดมากเข้า ราคาที่ดินยิ่งตกลงอีก (อาจินต์, 2534, 223)

อย่างไรก็ตาม การมีบ้านหลบภัยนอกเมืองนั้นเป็นเรื่องของผู้ที่มีฐานะ ในขณะที่คนยากจนและผู้มีกำลังทรัพย์น้อยย่อมเกินเอื้อมที่จะทำตามได้ ทำให้พวกเขาจำต้องอาศัยในเมืองเผชิญกับเสียงหวอและความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายต่อไปจวบจนสงครามสิ้นสุดลง

โปสเตอร์เตือนผู้โดยสาร ช่วงทศวรรษ 2510 เครดิตภาพ : โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ

โจรผู้ร้ายสมัยสงคราม

ในช่วงต้นสงครามนั้น ราชการและห้างร้านเปิดทำการตามปกติ แต่เมื่อภยันตรายเกิดขึ้นมากในช่วงปลายสงคราม จากพระนครถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีอย่างหนักทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้คนจึงพากันอพยพไปนอกเมืองกัน แต่ด้วยความเป็นห่วงบ้านทำให้พวกเขาต้องแวะกลับมาบ้านตรวจความปลอดภัยด้วยโจรผู้ร้ายชุกชุม (สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์, 2553, 264-265)

ดังนั้น หากชาวกรุงคนใดอพยพทิ้งบ้านอพยพไปนอกเมือง แต่ไม่มีคนเฝ้าบ้านนั้น บ้านนั้นอาจต้องเผชิญกับอาชญากรรมย่องเบาลักขโมยน้อยที่เกิดขึ้นไปทั่ว บางคนถึงกับขายบ้านขายที่ดินอพยพออกไปนอกเมืองกันเลยทีเดียวเพื่อตัดความกังวลใจและไม่ต้องเสียเวลามาดูแลบ้านอีก (อาจินต์, 2534, 223)

ด้วยเหตุการพรางไฟและโรงไฟฟ้าถูกทำลายลงในช่วงปลายสงคราม ความที่ถนนมืดจึงคืบคลานเข้าปกคลุมทั่วพระนครในยามค่ำคืน เหล่าอาชญากรจะอาศัยความมืดซ่อนตัวตามมุมรอคอยเหยื่อ ใครเคราะห์ร้ายเดินมาจะถูกขู่เข็ญเอาทรัพย์สินไปจนหมด

ใบปลิวของฝ่ายสัมพันธมิตรเตือนคนไทย

ดังมีผู้ถูกบันทึกไว้ว่า มีนักเรียนแพทย์ศิริราชคนหนึ่งเพิ่งรับเงินเดือน และข้ามฟากไปธุระฝั่งพระนครและข้ามกลับมาที่ศิริราช ในยามค่ำ ระหว่างเขาเดินลัดผ่านสนามหลวงเพื่อมาท่าพระจันทร์เพื่อข้ามเรือ ตรงมุมวัดมหาธาตุนั้นเอง มีโจรกระโดดลงมาจากกำแพงวัด เอามีดจ่อเรียกเอาทรัพย์สินทั้งหมดจากเขาไป (เสนอ, 2548, 87)

ความอัตคัดขัดสนทำให้สิ่งใดพอมีมูลค่าทุกอย่างจะถูกคนฉวยถูกขโมยไป แม้กระทั่งป้ายบ้านเลขที่ ตัวอักษรที่เป็นโลหะหรือทองเหลืองที่ติดอยู่ตามประตูบ้าน ตามตึก สะพาน ตามเสาไฟตามถนน หรือแม้แต่หลอดไฟฟ้าที่หน้าประตูบ้านก็ถูกขโมยแกะออกไปจนหมดสิ้น (เสนอ, 2548, 87-88)

รัฐบาลสมัยนั้นตระหนักในความเดือดร้อนของประชาชนจากโจรผู้ร้าย ทำให้จอมพล ป.สั่งการเมื่อ 7 มกราคม 2487 ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองลงโทษอาชญากรเหล่านั้นให้รุนแรงว่า

“ในเวลานี้มีเหตุเกิดขึ้น ทำให้ห่วงว่าจะนำไปสู่การจลาจลของชาติในภายหน้าได้ หากไม่คิดหาทางป้องกันเสีย กล่าวคือ : 1.เวลามีการโจมตีทางอากาศ ยิ่งเวลาไฟไหม้ มีคนก่อการลักขโมยกันมาก บางทีทำเป็นเจ้าหน้าที่ หรือคนไปช่วยขนของ แล้วพาเอาของไปเสียเลย 2.เวลานี้มีผู้อพยพทิ้งบ้านช่องไป ไม่มีคนเฝ้าก็มีพวกขโมยฉวยโอกาสเข้างัดบ้าน ขโมยข้าวของไปมากราย 3.มีการปล้นสะดมกันมากขึ้นเป็นทางทำให้ไม่ปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชน 4.มีการลอบวางเพลิงมากขึ้น

การปราบปรามพวกเหล่านี้ให้หายไปจะไม่มีทางอื่นดีเท่าลงโทษแรงที่สุด ฉันเห็นว่าใครขโมยทรัพย์ของผู้ต้องภัยทางจากการโจมตี ใครขโมยทรัพย์สินของผู้อพยพ ใครปล้นทรัพย์ ใครวางเพลิง ขอให้ประกาศมีโทษจำตลอดชีวิตหรือมีโทษประหาร ทั้งนี้ ไม่ว่าจะขโมยในสิ่งเล็กน้อย นอกนั้นให้เจ้าหน้าที่ซึ่ง ผบ.ทหารสูงสุดมอบอำนาจให้มีอำนาจประหารเหล่าร้ายได้ทันที” (อนันต์ พิบูลสงคราม, เล่ม 1, 2540, 319-320)

ความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวพระนคร เครดิตภาพ : 2483 Reenactment Group
บ้านเรือนแถวเยาวราชถูกระเบิดทำลายเมื่อ 19 มกราคม 2487
บ้านเรือนพังพินาศจากระเบิดสัมพันธมิตร เมื่อ 10 มกราคม 2487
ความเสียหายของโรงงานมักกะสันจากระเบิดทำลาย เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2487