ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
อีกครั้งของขุนศรีศรากร
แม้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและมีผลทางกฎหมายไปแล้วเมื่อ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2487 แต่ก็มีท่าทีจะไม่ยอมออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยไปรวบรวมกำลังที่จังหวัดลพบุรีและมีท่าทีว่าจะใช้กำลังยึดอำนาจเพราะยังมีฐานกำลังพร้อมมูล
ขุนศรีศรากรบันทึกไว้ใน “สันติบาลใต้ดิน” ต่อไปว่า
“ท่านอดุลเดชจรัสมีความเป็นห่วงว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม จะเดินการเมืองในทางที่ผิดวิธีทางแห่งรัฐธรรมนูญเพราะมัวเมาอำนาจมานานจนชิน เกรงว่า จอมพล ป.จะยกกำลังมายึดพระนครหรือใช้อุบายทางอ้อมก่อนให้ยุ่งยากในการใช้กำลัง ท่านอดุลเดชจรัสจึงได้สั่งให้ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลคือข้าพเจ้าเดินทางโดยเครื่องบินไปพบจอมพล ป.ที่ลพบุรีเพื่อขอร้องให้ระงับการใช้กำลังไว้ เพราะทราบว่าได้สั่งการให้ใช้กำลังเริ่มประปรายเป็นเค้ามูลขึ้นแล้ว”
“ตัวจี๊ด” แห่งคณะราษฎรซึ่งเคยรับหน้าที่จับตัวพระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อเช้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครองและยังเดินทางไปนครราชสีมาเพื่อขอให้พระองค์เจ้าบวรเดชล้มความคิดก่อกบฏเมื่อต้นตุลาคม พ.ศ.2476 รับคำสั่งนี้และเดินทางไปลพบุรีทันที
“วันที่ 8 สิงหาคม 2487 ตั้งแต่เวลา 14.00 น.ถึงเวลา 16.45 น. ข้าพเจ้าได้นั่งสนทนากันกับจอมพลเพื่อปรับความเข้าใจกันและขอร้องให้ร่วมสมัครสมานสามัคคีกัน วันนี้ จอมพล ป.ยิ้มแย้มพออกพอใจมาก แสดงความร่วมมืออย่างดี แต่ข้าพเจ้าสังเกตเห็นผู้ที่อยู่ในบ้านพักของจอมพลแล้วข้าพเจ้ายังรู้สึกวิตกอยู่มาก วิตกว่าถ้าข้าพเจ้ากลับแล้วจอมพลอาจเปลี่ยนใจได้ง่ายมาก เพราะผู้ที่เหลืออยู่มีแต่พวกสอพลอกราบไหว้ยังนับถือจอมพลเป็นเทวดาอยู่ อาจจะยุยงให้เห็นผิดเป็นชอบอีก ซึ่งความจริงนั้นท่านจอมพล ป.ก็ไม่อยากออกจากตำแหน่งนายกฯ เพราะหลงอำนาจและมักใหญ่ใฝ่สูงอยู่มาก ผู้ที่นั่งเก้าอี้การเมืองนานๆ ปีจึงมักจะลุกจากเก้าอี้ไม่ขึ้น ถ้าพวกประจบสอพลอยุยงบ่อยๆ ก็กลับใจได้ง่าย”
แม้บรรยากาศที่ลพบุรีจะออกมาในทางที่น่าพึงพอใจ แต่ขุนศรีศรากรยังไม่ไว้วางใจ ขุนศรีศรากรกับภรรยาของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นั้นสนิทสนมเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กเมื่อครั้งเรียนหนังสือที่พิษณุโลก ขุนศรีศรากรจึงตัดสินใจเขียนจดหมายส่วนตัวถึงคุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม ฉบับหนึ่งหลังการพบปะครั้งนี้ และได้นำจดหมายฉบับนี้ตีพิมพ์ไว้ในบันทึก “สันติบาลใต้ดิน” ซึ่งเนื้อหายังคงตรงไปตรงมาตามนิสัยของตน
“เรื่องที่ข้าพเจ้าชี้แจงไว้แต่วันวานนี้ 8 สิงหาคม 87 ข้าพเจ้ายังติดใจที่จะเรียนยืนยันเป็นหนังสืออีกครั้งหนึ่งและได้กรุณาเสนอหนังสือนี้ต่อท่านจอมพลด้วย”
“ข้าพเจ้าขอเรียนยืนยันว่าความสามัคคีเป็นยากำลังที่ส่งประเทศให้ก้าวหน้า อย่าหันหลังให้กัน ต้องยินยอมที่จะให้คนอื่นทดลองความสามารถ ให้มีความเป็นสุภาพบุรุษเพียงพอในอันที่จะยอมให้คนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรีดูบ้าง ถ้าคนอื่นไม่ดีเท่าเรา เขาก็ถูกตำหนิจากประชาชน และในที่สุดขาดความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วเขาก็อยู่ไม่ได้ ขออย่าได้เข้าใจผิดว่าจะไม่มีบุคคลใดที่จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ดีเท่าท่านจอมพล ป. และความเข้าใจผิดเช่นนี้จะเป็นชนวนให้เข้าใจผิดต่อรัฐธรรมนูญ เราต้องต่อสู้กันตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ อย่าใช้กำลังบังคับเพื่อตนจะต้องเป็นนายกรัฐมนตรีแต่คนเดียว”
“เพราะเข้าใจผิดไปว่าไม่มีใครในประเทศไทยอีกแล้วที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีดีเท่าตัว ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าใครยังคิดเช่นนี้ก็เป็นความคิดของคนโลภเห็นแก่ตนเองซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง”
จากนั้น ขุนศรีศรากรได้อธิบายผลเสียที่จะตามมาหากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแล้วใช้กำลังยึดอำนาจว่า ยากต่อการอธิบายการกระทำ และอาจนำไปสู่การแทรกแซงจากกองทัพญี่ปุ่นซึ่งกำลังยึดครองประเทศไทยอยู่ อาจถึงขั้นปลดอาวุธกองทัพสยาม
“1. การโฆษณา ถ้าญี่ปุ่นไม่เข้ามาแทรกแซงแล้วหรือญี่ปุ่นหนุนหลังให้ทำแล้วการที่จะใช้กำลังบังคับนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านจอมพลสามารถทำได้อย่างดี แต่การโฆษณาจะลำบากมาก ท่านจอมพลจะโฆษณาไว้อย่างไร จะนำเหตุผลอันใดมาทำการโฆษณาได้ จอมพลจะกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ ทำผิดในข้อหาใดหรือทำลายชาติในข้อหาใด ข้าพเจ้ายังมองไม่เห็นเหตุผลซึ่งจะหาเหตุผลนำมาโฆษณาได้ยากมาก
เมื่อครั้งรัฐบาลพระยามโนฯ เรามีเหตุผลดีมากเพราะพระยามโนฯ ปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญ ในครั้งนี้ท่านจะหาเหตุผลไม่ได้เลย ถ้าได้เห็นผิดเป็นชอบไปโดยนำกำลังมาบังคับแล้ว ประชาราษฎรก็จะเหมาเอาว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำเพื่อส่วนตัว ทำประโยชน์แต่ตัวคนเดียว มิได้คำหนึ่งถึงประเทศชาติอย่างใดไม่”
“2. บุรุษที่ 3 ถ้าเห็นผิดคนชอบโดยใช้กำลังบังคับแล้วบุรุษที่ 3 จะยื่นมือเข้าแทรกแซงหรือไม่ ข้าพเจ้ายังเชื่อว่าบุรุษที่ 3 จะต้องแทรกแซงทันทีเพราะญี่ปุ่นเขาต้องการแทรกแซงเป็นอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นยังหาเหตุผลในการแทรกแซงไม่ได้ ถ้าใช้กำลังบังคับแล้วเกิดต่อสู้กันขึ้นในชั้นต้นกล่าวคือบุรุษที่ 1 และที่ 2 เกิดปะทะอาวุธกัน บุรุษที่ 3 ก็เกิดขึ้นทันที เพราะญี่ปุ่นถือว่ามีเหตุผลเพียงพอแล้ว ญี่ปุ่นจะตั้งตัวเป็นกลางเข้าตัดสิน”
“และในที่สุดญี่ปุ่นก็ปลดอาวุธทหารไทยทั้งหมด ญี่ปุ่นต้องการปลดอาวุธทหารบกเรืออากาศและตำรวจอยู่ก่อนแล้วท่าน จอมพล ป.คงจะไม่ยินดีให้ญี่ปุ่นปลดอาวุธทหารไทย แต่ญี่ปุ่นอาจใช้ลูกไม้ยุแหย่จอมพลโดยผ่านทางพวกที่มีสันดานประจบสอพลอก็ได้ ข้าพเจ้าจึงวิตกอย่างยิ่ง”
ขุนศรีศรากรกล่าวถึงปัญหาการรับรองจากต่างประเทศหากมีการล้มล้างรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งด้วยกำลังอาวุธดังนี้
“3. การรับรองรัฐบาล สมมุติว่า จอมพล ป.ใช้กำลังบังคับได้เรียบร้อยไม่มีการปะทะระหว่างไทยกันเองและไม่มีการแทรกแซงจากบุรุษที่ 3 ทั้งการโฆษณาก็พอกล้อมแกล้มขอไปทีโดยประชาชนเชื่อฟังรัฐธรรมนูญ ปฏิวัติแล้ว คณะรัฐบาลปฏิวัติที่ตั้งขึ้นนั้น นานาประชาชาติจะรับรองหรือไม่ เมื่อไม่มีใครรับรองรัฐบาลแล้วรัฐบาลปฏิวัติก็จะลำบากมาก เฉพาะอย่างยิ่งในเวลาภายหลังสงครามจะมีความลำบากอย่างที่สุด”
ขุนศรีศรากรประกาศจุดยืนคัดค้านอย่างชัดเจนหากมีการกระทำที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญด้วยการยึดอำนาจ “ข้าพเจ้าก็ดี และอธิบดีกรมตำรวจก็ดี คงจะไม่ยินยอมตามเป็นแน่”
“4. ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ การใช้กำลังบังคับนั่นถือว่าเป็นกบฏเพราะทำผิดรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับพวกก่อการกบฏจลาจลเมื่อ พ.ศ 2476 จอมพล ป.เป็นผู้นำรัฐธรรมนูญให้ชาติไทยด้วยผู้หนึ่ง ถ้าท่านทำผิดรัฐธรรมนูญท่านจะอยู่ปกติสุขได้อย่างไร ข้าพเจ้าก็ดี และอธิบดีกรมตำรวจก็ดี คงจะไม่ยินยอมตามเป็นแน่ และยิ่งเวลาภายหลังสงครามแล้วก็ยิ่งลำบากหนักขึ้นเพราะอังกฤษก็ดี อเมริกาก็ดี เขากล่าวว่าเป็นรัฐบาลที่ทำผิดรัฐธรรมนูญและเป็นรัฐบาลที่ไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย ความจริงนั้นอังกฤษและอเมริกาไม่ชอบจอมพล ป.อยู่อย่างมาก”
“ฉะนั้น ในภายหลังสงคราม จอมพล ป.ก็กลายเป็นกบฏต่อแผ่นดินได้ง่ายมาก”
สุดท้ายขุนศรีศรากรได้ย้ำให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ระลึกถึงคุณงามความดีที่มีอยู่มาก แต่หากตัดสินใจยึดอำนาจก็จะเป็นการทำลายคุณงามความดีเหล่านั้นทั้งหมดลงทันที การลาออกเป็นอีกเรื่องที่จะได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชน
“5. ความดี ท่านจอมพลได้ทำความดีมามากซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถจะปฏิเสธได้ และในเวลาเดียวกันท่านจอมพลก็ได้ทำความไม่พอใจให้แก่ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจและประชาราษฎรอยู่เป็นอันมาก เป็นต้นว่า ใช้อำนาจบีบบังคับราษฎรอย่างแร้นแค้น สั่งงานคนเดียวกลับไปกลับมา กิจการบริหารยุ่งยากมาก ทำให้กิจการราชการก้าวก่ายจนเป็นเหตุให้เกิดความระส่ำระสาย ข้าราชการเกิดความท้อถอย
แต่อย่างไรก็ตาม ในการลาออกของท่านจอมพลครั้งนี้ก็ยังมีประชาชนเอาใจใส่ในความดีอยู่ไม่น้อย ซึ่งความเลวอันกำลังเบ่งตัวขึ้นนั้นได้กำลังลดลงแล้ว ความดีของท่านจอมพลที่มีอยู่นั้นกำลังนำมากล่าวถึงกันอยู่
เมื่อท่านจอมพลได้ทำความดีมามากแล้วเช่นนี้ท่านควรจะออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยความเต็มใจ คนอื่นที่ยังไม่มีโอกาสทำความดียังมีอีกมาก ท่านจอมพลควรจะปีติยินดีที่จะเห็นคนอื่นได้แสดงความดีบ้าง
การช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้มีโอกาสทำความดีนั้นเป็นความเมตตาอย่างยิ่งเพราะเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นในทางที่ปราศจากโทษและควรจะกรุณาแบ่งความดีของท่านให้ผู้อื่นบ้าง ใครทำความดีก็ส่งกระแสจิตอันยินดีในความดีของคนอื่น
อย่าคิดผิดไปว่าไม่มีใครอีกที่จะสามารถทำความดีเท่าตัว ควรจะฝึกให้ผู้อื่นได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งฝึกไว้หลายๆ คนยิ่งดีมาก คนเราเกิดมาในโลกนี้ไม่มีใครที่จะสามารถหนีความตายพ้นถ้ามีตัวตายจะได้มีตัวแทนบ้าง
อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านจอมพลยังคิดผิดอยู่คือคิดว่าไม่มีใครสามารถจะเป็นนายกรัฐมนตรีดีเท่าแล้วเกิดหลงผิดไปในทางไม่ดี กล่าวคือ ยกกำลังมายึดอำนาจเพื่อช่วงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่นนี้ความดีต่างๆ ที่มีอยู่จะพลอยสาบสูญไปสิ้น แล้วประวัติศาสตร์ชาติไทยจะบันทึกประพฤติกรรมของท่านจอมพลไว้อย่างชั่วช้าซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง”
ขุนศรีศรากรบันทึก “ความในใจ” ไว้ท้ายจดหมายว่า
“ตามความในจดหมายนี้ ถ้าท่านจอมพลอ่านแต่ผิวเผินแล้ว ข้าพเจ้าก็ตกอยู่ในสถานะที่ถูกท่านจอมพลระแวง โดยระแวงไปว่าข้าพเจ้าไม่เข้าข้างจอมพล ความจริงนั้นข้าพเจ้าเข้าข้างท่านจอมพลเสมอ แต่เข้าข้างจอมพลในส่วนดี ในส่วนไม่ดีนั้น ข้าพเจ้าได้คัดค้านและตักเตือนเสมอ บางครั้งถึงกับโกรธกันเป็นเวลาแรมเดือน ครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญอย่างสูงที่จำเป็นจะต้องคัดค้านอีก แม้ข้าพเจ้าจะถูกต่อว่า ถูกด่า ถูกไม่พึงพอใจอย่างใด ข้าพเจ้าก็ดีใจเป็นอย่างยิ่ง ดีใจที่ยังได้มีโอกาสคัดค้านท่านจอมพล มีโอกาสพาจอมพลไปสู่ทางที่ดี ชักชวนให้จอมพลได้ทำแต่ความดี แม้ข้าพเจ้าจะไม่มีทางได้ดีแต่อย่างใด ข้าพเจ้าก็ไม่ว่า ไม่ขอร้อง”
“เพราะข้าพเจ้าไม่มีนิสัยในการขอร้องแต่อย่างใด ซึ่งท่านจอมพลและภริยาของท่านจอมพล คือท่านย่อมทราบดีแก่ใจของท่านเองแล้ว”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022