‘เรียนปรัชญา/การเมืองกับชัยวัฒน์’ (1)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

‘เรียนปรัชญา/การเมืองกับชัยวัฒน์’ (1)

 

(เรียบเรียงจากร่างคำอภิปรายหัวข้อ “ปรัชญา/การเมือง” ของผู้เขียนในงานสัมมนาวิชาการ “ความรัก ความรู้ โลกปฏิบัติ : ชัยวัฒน์ สถาอานันท์” ที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 8 สิงหาคม ศกนี้)

 

เกริ่นนำ

เนื้อหาที่ผมใคร่จะนำเสนอนี้อิงการเรียนรู้แลกเปลี่ยนพูดคุยกระซิบกระซาบนินทากับ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ โดยส่วนตัวเป็นหลักในลักษณะเก็บตกและครูพักลักจำ

ส่วนการศึกษาผลงานความคิดวิชาการที่เป็นข้อเขียนตีพิมพ์สาธารณะของ อ.ชัยวัฒน์โดยรวมอย่างเป็นระบบ ที่มีระยะห่างของดุลพินิจกว่านี้คงต้องอาศัยคนอื่นมาทำต่อไป

ผมขอตีความหัวข้ออภิปรายเกี่ยวกับอ.ชัยวัฒน์เรื่อง “ปรัชญา/การเมือง” ออกเป็น :

– ปรัชญา : พื้นที่ระหว่างกลางนอกขนบของการชวนเล่นปรัชญา (the heterotopian interspace of playful philosophizing) และ

– การเมือง : ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ (mission impossible)

สปิริตแบบ อ.ชัยวัฒน์

ในการคิดอ่านค้นคว้ามรดกความคิดความรู้ของ อ.ชัยวัฒน์ ท่านผู้จัดงานได้ไถ่ถามมาล่วงหน้าว่าผมตั้งใจ จะอภิปรายออกมาในทางใด?

ผมตอบท่านไปว่า :

“อาจารย์ชัยวัฒน์น่ะ ดูลูกศิษย์ลูกหาและคนที่ได้รับอิทธิพลจากแกแล้ว เหมือนน้ำในมหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาล แล้วแต่ใครจะวักดื่มตักล้างคราบไคลความคิดให้สดชื่นแปลกใหม่อย่างไร ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องของการพยายามไปรวบยอดทั้งหมดของมหาสมุทรนั้น แต่เป็นเรื่องของแล้วแต่ใครจะได้อะไรส่วนไหนซึ่งหลากหลายแตกต่างกันไม่มีวันหมดวันสิ้น ที่ร่วมกันคือความเมตตา ใจกว้าง เป็นมิตร เป็นครูของแก

“ผมคิดว่ามันก็มีเนื้อหาบางอย่างอยู่ แต่เปล่าประโยชน์ที่จะไปรวบยอดเนื้อหาเบ็ดเสร็จของแก แกกว้างและไกลกว่านั้น และที่แกไปได้เพราะความเมตตาเอื้อเฟื้อทางปัญญาของแก ต่อความคิดต่างๆ และต่อคนต่างๆ” (Messenger, 13 July 2024)

ตัวอย่างการเล่นปรัชญาสไตล์ อ.ชัยวัฒน์

ในช่วงนั้นเองมีเพื่อนอาจารย์กัลยาณเมาธ์ท่านหนึ่งเขียนถามผมมาทาง Messenger แต่เช้ามืดตึ๊ดตื๋อว่า :

“อ.ไม่กลัวปี๋ใช่มั้ยคะ? อ.คิดว่าปี๋มีจริงมั้ยคะ?”

ผมออกจะเชื่อว่านี่เป็นคำถามประเภทที่ อ.ชัยวัฒน์โปรดปรานที่จะ “เล่น” ด้วย จึงตอบท่านไปเล่นๆ ว่า :

“ผมว่ามันเป็นสิ่งที่เราไม่ ‘รู้’ อะคับ

จริงไหม? ตอบไม่ได้ เพราะเหนือ/พ้นความรู้ที่ใช้หลักฐาน/เหตุผลมารองรับคำตอบ แต่เป็นเรื่องความเชื่อ

อะไรที่เป็นความเชื่อมันก็ขึ้นอยู่กับเรากึ่งหนึ่ง กึ่งที่ไม่ขึ้นอยู่กับเรามาจากการปลูกฝังธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมล้อมเราที่หลอมเราและเราโตขึ้นมา ดังนั้น มันก็อาจคล้อยตามกัน เชื่อแบบไม่สงสัย หรือขัดแย้งกัน เชื่อแบบสงสัย เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง

อะไรที่เราเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ก็พอมีพื้นที่เสรีภาพ/อัตวินิจฉัยอยู่บ้าง เราก็อาศัยพื้นที่นั้นขยับเขยื้อนรับมือกับมันไป สรุปคือบางทีก็กลัว บางทีก็ไม่กลัว บางทีก็ชอบดูหนังปี๋ บางทีก็ไม่ชอบ แต่ไม่จำต้องคงเส้นคงวาเสมอไป

ดังนั้น พอหนังผีมา ก็ปิดเสียง ถอดแว่น หรี่ตา เอานิ้วปิดตา แต่ก็ดูไปไรงี้ เพราะอยาก ‘รู้’ แต่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ทำให้ยัง ‘กลัว’ อยู่ แต่ก็ไม่กลัวหมด

ถ้าเชื่อเต็มร้อย อาจไม่กลัวมากก็ได้ เพราะสามารถเห็นเป็นทำมะดา เข้าใจได้ อยู่กับมันได้ หาทางรับมือมันได้

แต่เพราะไม่เชื่อเต็มร้อย ก็เลยกลัว เพราะไม่ทำมะดา เข้าใจไม่ได้ รับมือไม่เป็น อยู่กับมันยากอ่า

ในความหมายนี้ ‘คน’ ซึ่งเข้าใจและเชื่อยุ่งยากกว่า ‘ผี’ มาก จึงน่าที่เราจะกลัวกว่าผีเป็นไหนๆ แต่เราดัน หลงว่าเรารู้จักเข้าใจ ‘คน’ ดี ก็เลยไม่กลัว ก็เลยเสร็จ ‘คน’ โดนหลอกปลาจำเบยยยยย

ตอบซะยาวเลย ไปหากาแฟดื่มดีฝ่า ถ่อ

(ป.ล. เขียนตอบไปก็คิดถึงอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ไป แหะ แกชอบคำถามแบบนี้แหละ)”

ปรัชญาเป็นมาอย่างไร?

มันคืออะไร?

เมื่อพูดถึงความเป็นมาของปรัชญา ผมนึกถึงบทสนทนาวิวาทะตอนหนึ่งในนิยายปรัชญาเรื่องการิทัตผจญภัยของสตีเว่น ลุคส์ (ฉบับแปล 2541) ซึ่งผมใช้เป็นตำราสอนปรัชญาการเมืองเบื้องต้นแก่นักศึกษา มันเป็นบทสนทนาระหว่างชาวชุมชนอุปัทรพผู้ยึดมั่นถือมั่นเอกลักษณ์ชาติพันธุ์กับนิโคลาส การิทัต อาจารย์ปรัชญาผู้ออกจาริกแสวงหาโลกประเสริฐสุดที่เป็นไปได้ในนครต่างๆ จนมาถึงชุมชนนคร และก็อดดิงตั้น บาทหลวงผู้เป็นเพื่อนของการิทัต…

“ทำไมท่านถึงสนใจปัญหาพวกนี้?” เขา (ชาวชุมชนนคร) ถามเกรี้ยวกราด

“ก็ผมเป็นนักปรัชญานี่ครับ” นิโคลาสตอบ มันเป็นคำตอบที่ไม่ถูกหูเท่าไหร่…

“โปรดอย่าถือสาหาความคำถามของผมเลยครับ” นิโคลาสทักท้วง “ผมเพียงแต่อยากเข้าใจเท่านั้นเอง”

บรรยากาศไม่อบอุ่นขึ้นแม้แต่องศาเดียว ตาลุกเป็นไฟทั้งสิบข้างจับจ้องนิโคลาสเขม็งด้วยความไม่เชื่อถือ เวลาหนึ่งนาทีผ่านไปอย่างเงียบกริบ

“ผมคิดว่าคงสมควรแก่เวลาที่เราจะไปแล้วล่ะครับ” ก็อดดิงตั้น พูดอย่างนุ่มนวล “ผมใคร่ขอความกรุณาท่าน สุภาพบุรุษทั้งหลายได้โปรดมองการสนทนาของเราวันนี้ด้วยใจเมตตาอารี การิทัตเพื่อนของผมคนนี้ยังใหม่ต่อธรรมเนียมของเรา และผมประกันได้ว่าเขาอยากจะค้นคว้าเข้าใจมันจริงๆ ไม่ใช่จะมาตัดสินอะไร ในถิ่นที่อยู่แต่เดิมของเขานั้น ผู้คนค้นคว้าหาความเข้าใจกันโดยตั้งคำถามซึ่งบางครั้งอาจจะชวนให้เข้าใจผิดได้ หากเขาล่วงเกินท่านไปโดยไม่เจตนาในประการใดก็ขอได้โปรดอโหสิแก่เขาด้วยเถิดครับ” (การิทัตผจญภัย, บทที่ 19)

 

อาจสรุปได้ว่าปรัชญามีที่มาจากคำถามผิดหูกวนตีนต่อสถาบันสังคม/วัฒนธรรมหนึ่งๆ นั่นเอง หรือพูดให้เป็นระบบยิ่งขึ้นคือ :

ปรัชญาการเมืองคือสมรรถนะที่จะตั้งคำถามลงไปที่ฐานคิด/ฐานรากของสังคม ดังคำขวัญปรัชญายุครู้แจ้งในยุโรปที่ว่า “Dare to know the basis of political things.”

ซึ่งหมายถึงถามลงไปตรงบรรดาสมมุติฐานที่รองรับระเบียบอำนาจและแบบแผนการประพฤติปฏิบัติทางการเมืองของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันโดยที่ส่วนใหญ่แล้วเราไม่ตระหนักสำนึกรู้ตัวรู้เท่าทัน

ที่สำคัญคือวัฒนธรรมการเมืองและสถาบันทางการเมือง

ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า [ปรัชญา] ตรงข้ามหรือเป็นปฏิปักษ์กับ VS. [วัฒนธรรมและสถาบัน]

และพอเราซักถามเสวนาจนได้ความตระหนักสำนึกรู้ตัวรู้เท่าทันหรือเข้าใจ (ยังไม่ใช่ตัดสิน) ว่าสมมุติฐานดังกล่าวคืออะไรแล้ว ก็เปิดช่องทางความเป็นไปได้อื่นๆ และทางเลือกอันหลากหลายในแง่ฐานคิด ระเบียบและการปฏิบัติทางการเมืองขึ้นมา (ในทำนอง “มันไม่จำต้องเป็นอย่างนี้ก็ได้” “มันเป็นอย่างอื่นก็ได้นี่นา”)

ผ่านการคิดเองเป็นและเลิกเชื่อเป็น

อันนำไปสู่ฐานะสำคัญทางปรัชญาของเด็กไร้เดียงสาและมนุษย์ต่างดาวในการตั้งคำถาม (ทางปรัชญา) ต่อวัฒนธรรมและสถาบันแต่เดิม ค่าที่คำถามพิลึกนอกขนบนอกกรอบวัฒนธรรม/สถาบัน (นอกเดียงสา) นี่เองที่นำไปสู่ทางเลือกใหม่ในการมองการคิด

ดังที่คุณปราบต์ บุนปาน ศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เล่าว่า :

อาจเปรียบเปรยอีกอย่างได้ว่าปรัชญานั้นคือท่ายากของการออกกำลังบริหารทางความคิด (mental exercise) เหมือนท่ากายบริหารตอนผมเรียนรักษาดินแดน (ร.ด.) แล้วออกฝึกภาคสนามที่เขาชนไก่ กาญจนบุรี เมื่อเกือบห้าสิบปีก่อน

มันมีอยู่ท่าหนึ่งซึ่งยากชิบเป๋ง และพอครูฝึกสั่งให้นักศึกษา ร.ด. เราทั้งหลายลองพยายามทำทีไร ก็มีอันกลิ้งโค่โร่กันทั้งกองร้อย คือท่ากระโดดข้ามขาตัวเองครับ (ลองทำดูบัดเดี๋ยวนี้ได้เลย)

ที่ปรัชญาเป็นท่ายากทางความคิดเพราะมันเรียกร้องให้คิดข้ามขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมสถาบันของตัวเรานั่นเอง

 

ชัยวัฒน์ชวนเล่นปรัชญาอย่างไร?

มันเหมือน อ.ชัยวัฒน์กวักมือไหวๆ ร้องเรียกเรามาเล่นกันตรงนี้ซี่ มาเล่นปรัชญากัน แล้วเราตามไป…

และแกก็ตั้งคำถาม ชวนให้เราออกจากขนบคิดเคยชิน เข้าไปเล่นปรัชญาในพื้นที่ระหว่างกลางนอกขนบ

ไม่ใช่ทั้งขั้วความเป็นจริงทางภาววิสัย และก็ไม่ใช่ขั้วอุดมคติทางอัตวิสัย

แต่เป็นพื้นที่ของการคิดได้ฝันได้จินตนาการได้ เมื่อขยับเลื่อนเสดาะให้หมุดยึดฐานรากทางการคิดหลวมคลอนลื่นไหลหลุดออก

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)