ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“อนุรักษนิยมเริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นศัตรูกับเสรีนิยม และไม่เคยยกเลิกข้อท้วงติงในเรื่องของประชาธิปไตย”
Edward Fawcett
Conservatism (2020)
ในเงื่อนไขของการพัฒนาทางการเมืองของอังกฤษ อันเป็นผลสืบเนื่องที่สำคัญจาก “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” ในปี 1688 และการประกาศ “The Bill of Right” ในปี 1689 ทำให้ความคิดทางการเมืองชุดใหม่จากเมืองแม่ ไปปรากฏชัดอีกส่วนใน “การปฏิวัติอเมริกา” ที่เริ่มก่อกระแสการกบฏในปี 1765
แต่กษัตริย์พระองค์ใหม่ก็ประกาศให้สิทธิแก่รัฐแต่ละรัฐในอาณานิคม และรัฐเหล่านี้หันกลับไปสู่การปกครองตนเองในแบบที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งการปกครองตนเองของรัฐเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญของอาณานิคมอเมริกันมาตั้งแต่เดิม
อีกทั้งบรรพชนผู้ก่อตั้งรัฐเอกราชใหม่เหล่านี้มีความรู้และความเข้าใจทางการเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะมีทักษะอย่างสูงในการออกแบบประเทศผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกระบวนการทางการเมือง อันเป็นรากฐานสำคัญของรัฐประชาธิปไตยอเมริกัน ที่เสรีนิยมและอนุรักษนิยมยังต่อสู้กันไม่จบ
สงครามปฏิวัติอเมริกา
ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของเสรีชนที่เป็นชาวอาณานิคมอเมริกา ได้เกิดการแบ่งคนในทางการเมืองออกเป็น 2 ฝ่าย คือ “ฝ่ายกษัตริย์นิยม” ในความหมายคือชาวอาณานิคมที่สนับสนุนการอยู่กับจักรวรรดิอังกฤษต่อไป และไม่ต้องการการแยกตัวออกเป็นเอกราช กับ “ฝ่ายกบฏ” คือกลุ่มที่สนับสนุนการเรียกร้องเอกราชของชาวอาณานิคม และต้องการแยกออกมาตั้งประเทศใหม่ หรือในภาษาสมัยใหม่ คนพวกนี้คือ “กบฏแบ่งแยกดินแดน” แม้ในเบื้องต้นจะมีข้อเรียกร้องเพียงขอให้อาณานิคมอเมริกาเป็น “อิสระ” จากระบบการเมืองของอังกฤษ แต่คนจะยังอยู่ในฐานะพลเมืองของจักรวรรดิอังกฤษ
ประเด็นของการต่อสู้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของเอกราชของอาณานิคมเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงปัญหาข้อถกเถียงในเรื่องของ “อธิปไตยของปวงชน” ที่โยงกับเรื่อง “ความยินยอมของผู้ถูกปกครอง” ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ตกค้างอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองในอังกฤษ แม้จุดเริ่มต้นของปัญหาคือ เรื่องของการที่รัฐสภาอังกฤษต้องการที่จะเก็บภาษีในอาณานิคมมากขึ้น
น่าสนใจว่าการเรียกเก็บภาษีครั้งนี้ไม่ได้มาจากคำสั่งของกษัตริย์ แต่มาจากการตัดสินใจของรัฐสภา และคนในอาณานิคมได้ต่อสู้ด้วยประเด็นของสิทธิทางการเมือง เนื่องจากคนในอาณานิคมไม่มีผู้แทนของตนเองในรัฐสภาที่ลอนดอน จึงทำให้เกิดประเด็นว่าการเก็บ “ภาษีที่ปราศจากผู้แทน” (tax without representation)
อีกทั้งการตรวจค้นและยึดทรัพย์สินโดยไม่มีเหตุอันควร ห้ามการครอบครองอาวุธ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองของชาวอังกฤษ (ในขณะนั้นพวกเขายังมีสถานะเป็นพลเมืองอังกฤษ)
การต่อสู้ในการปฏิวัติอเมริกานั้น เริ่มต้นด้วยเรื่องอำนาจในการเก็บภาษี หรืออาจต้องเรียกว่า “สงครามภาษี” ในทางการเมือง แต่ก็นำไปสู่ข้อถกเถียงชุดใหญ่ในปัญหาสิทธิของพลเมือง และอำนาจในการปกครอง ความขัดแย้งชุดนี้ขยายตัวเป็นสงครามนานถึง 5 ปี และยุติลงด้วยชัยชนะของชาวอาณานิคมในปี 1776
ในอีกด้านหนึ่ง การปฏิวัติอเมริกายังเชื่อมต่อเข้ากับการเมืองชุดสำคัญของยุโรปคือ การปฏิวัติฝรั่งเศสที่เกิดในอีก 13 ปีต่อมา และมีประเด็นที่เป็นข้อ “วิวาทะเรื่องการปฏิวัติ” ให้นักคิดทางการเมืองยุคปัจจุบันต้องเรียนรู้เสมอ
อีกส่วนของปัญหามาจากเรื่องของศาสนา เพราะราชสำนักและรัฐสภาอังกฤษมองว่าพวกอาณานิคมเป็น “กบฏทางศาสนา” เพราะพวกเขาไม่ได้ยอมรับศาสนจักรแองกลิคันที่เมืองแม่ คือเป็น “กบฏเพรสไบทีเรียน” หรือเกิดความศรัทธาในแบบ “ศาสนานิวอิงแลนด์” (New England Religion) ที่เชื่อว่ากษัตริย์และรัฐสภาเอาสิทธิที่พระเจ้าได้มอบให้ไปจากชาวอเมริกัน และความเชื่อดังกล่าวทำให้ศาสนาเป็นแรงจูงใจให้คนอเมริกันก่อกบฏ อันเป็นการต่อสู้เพื่อ “อิสรภาพของชาวคริสเตียน” อีกทั้งนักเทศน์มักจะเน้นว่า ชาวคริสเตียนที่ดีมีหน้าที่ที่ต้องต่อสู้กับทรราชเพื่อเสรีภาพ และมีคำสอนที่เน้นความเป็น “เสรีชน” แต่ก็มีนัยที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการยึดโยงอย่างมากกับพระเจ้า อันทำให้ปัจจัยศาสนาเป็นมรดกสำคัญของปีกขวาอเมริกัน
เพราะเสรีภาพในอีกด้านเป็นเรื่องของ “เสรีภาพทางจิตวิญญาณ” (spiritual liberty) ที่แม้การต่อสู้จะมีพื้นฐานแบบเสรีนิยม แต่ก็ผูกโยงโดยตรงเข้ากับพระเจ้าที่เป็นศูนย์กลางของโลกอนุรักษนิยม
ชัยชนะเช่นนี้ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาถือกำเนิดขึ้นเป็นประเทศใหม่ และถือเป็น “ระบอบสาธารณรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ” (constitutional republic) ประเทศแรกของโลกในปี 1776 [เปรียบเทียบ- อังกฤษเป็นประเทศที่มี “ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” เป็นครั้งแรกของโลกในปี 1689]
ความเป็นสาธารณรัฐของอเมริกาที่ตั้งอยู่บนหลักการทางการเมืองที่สำคัญ 2 ประการ คือ หลักความยินยอมของประชาชน และหลักนิติรัฐ โดยหลักการนี้มีรัฐธรรมนูญเป็นฐานรองรับที่สำคัญ
อนุรักษ์ชนอเมริกัน
การตั้งรัฐเอกราชของชาวอาณานิคมในอเมริกาหลังจากความสำเร็จของการปฏิวัติในปี 1776 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดของกลุ่มอนุรักษนิยม แต่เดิมการต่อสู้ชุดนี้สะท้อนถึง 2 ขั้วของความคิดที่อาจไม่ต่างจากอังกฤษ คือ การต่อสู้ระหว่าง “ฝ่ายรัฐสภานิยม vs. ฝ่ายกษัตริย์นิยม” ที่มาพร้อมกับข้อเรียกร้องในเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty) และประเด็นเรื่องเอกราชของการสร้างรัฐใหม่
เมื่อการต่อสู้ขยายวงกว้างออกไป การไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกษัตริย์ก็ขยายตัวออกไปด้วย ตลอดรวมถึงต่อต้านแนวคิดในแบบการรวมอำนาจ ดังจะเห็นได้ว่าการเมืองในยุคหลังอาณานิคมมีทัศนะที่ให้ความสำคัญกับอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลท้องถิ่น และต้องการลดอำนาจของรัฐบาลกลางให้มีเท่าที่จำเป็นในการดำรงความเป็นรัฐอธิปไตยเท่านั้น อีกทั้งการต่อสู้ในเรื่องสิทธิในการครอบครองอาวุธ เพราะสิทธินี้ถือเป็นสิ่งที่กฎหมายและนักเทศน์สนับสนุนไว้แต่เดิม ดังจะเห็นได้ว่าปีกอนุรักษนิยมปัจจุบันยึดมั่นในเรื่องปืน ในขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมต้องการออกกฎหมายควบคุมปืน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าบรรพบุรุษทางการเมืองของชาวอเมริกันในยุคสร้างชาติเป็นคนเก่ง มีความรู้มากและลึกซึ้งในเรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไม่น่าเชื่อ ดังที่ปรากฏความเห็นและข้อโต้แย้งเป็นเอกสารชื่อ “The Federalist Papers”
เอกสารชุดนี้รวมบทความทางการเมืองทั้งหมด 85 เรื่อง โดยผู้เขียนใช้นามปากกาว่า “Publius” และเป็นการเขียนเพื่อรณรงค์ให้คนสนับสนุนการให้สัตยาบันต่อร่างรัฐธรรมนูญอเมริกันในช่วงปี 1787-1788 ความคิดที่นำเสนอแนวคิดแบบเสรีนิยม และอิงอยู่กับนักคิดฝ่ายเสรีนิยมของยุโรป อีกทั้งเป็นรากฐานสำคัญของการสร้าง “สหพันธรัฐ” (federation) พร้อมกับออกแบบให้มลรัฐในสหพันธรัฐนี้ มีอำนาจในการปกครองตนเอง
แม้เอกสารนี้จะเป็นพื้นฐานของความคิดแบบเสรีนิยมอเมริกัน แต่พวกเขาก็ไม่ทิ้งประเด็นสำคัญในเรื่อง “สิทธิของรัฐ” ไว้เป็นข้อถกเถียงที่สำคัญให้แก่กลุ่มอนุรักษนิยมในเวลาต่อมา ดังจะเห็นเป็นมรดกทางรัฐศาสตร์ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมจะให้ความสำคัญกับ “รัฐ” รวมถึงเรื่องของการป้องกันทางรัฐธรรมนูญต่อสิทธิของบุคคลที่ต้องเผชิญกับการขยายอำนาจของรัฐบาลกลาง
ดังเช่นที่การต่อสู้ของพวกฝ่ายขวาในปัจจุบัน เรียกร้องที่จะ “เอารัฐกลับคืนมา” เพราะพวกเขามีความเชื่อเป็นพื้นฐานว่า การมาของกระแสโลกาภิวัตน์ได้ลดทอนความสำคัญของรัฐลง ดังนั้น พวกเขาจึงมีจุดยืนไม่เพียงต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์เท่านั้น หากยังยืนในจุดที่สนับสนุนต่อการสร้างความเข้มแข็งของรัฐ หรือดึงรัฐออกจากพันธะกรณีเดิม หากเป็นในการเมืองยุโรปแล้ว พวกเขาจะต่อต้านการเอารัฐไปไว้ “ใต้” องค์การระหว่างประเทศในแบบสหภาพยุโรป ซึ่งมีสถานะ “เหนือรัฐ”
ซึ่งประเด็นเช่นนี้ดูจะเป็นจุดยืนที่สำคัญของฝ่ายขวาในโลกปัจจุบัน และสะท้อนผ่านคำขวัญของคนอย่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คือ “America Great Again” (หรือ “อเมริกาต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง”)
ในกรณีของสหรัฐอเมริกา โทมัส เจฟเฟอร์สัน เป็นตัวแทนที่ชัดเจนของแนวคิดอนุรักษนิยมดั้งเดิมแบบอเมริกัน เขามีอิทธิพลในทางความคิดอย่างมากในฐานะผู้ร่าง “คำประกาศเอกราช” (The Declaration Of Independence, 1776) และเขียนเอกสารเรื่อง “บันทึกว่าด้วยรัฐแห่งเวอร์จิเนีย” (Note on the State of Virginia, 1784) ที่ถือเป็นต้นร่างของรัฐธรรมนูญอเมริกันในปี 1788 (การประกาศใช้รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาตรงกับ พ.ศ.2331 ในสมัยรัชกาลที่ 1)
เจฟเฟอร์สันพยายามสร้างความเป็นอุดมคติของอนุรักษนิยมในอเมริกา เช่น เขาสร้างบ้านในไร่ของเขาที่ Monticello ด้วยสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิค และเมื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (The University of Virginia) เขาออกแบบหลักสูตรให้เป็นแบบดั้งเดิม หรือที่กล่าวกันว่าเจฟเฟอร์สันสร้างความต่อเนื่องในความเป็นรัฐเอกราชใหม่ด้วยการแอบอิงกับความคิดของระเบียบแบบเก่ายุโรป และทั้งยังส่งเสริมค่านิยมของวิถีชีวิตเกษตร ที่ถือเป็นพื้นฐานของชีวิตชาวอเมริกันในยุคนั้น อันเป็นแนวคิดแบบ “อนุรักษนิยมอเมริกัน” ที่พัฒนาต่อมาอีก 2 ศตวรรษ
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเช่นนี้ก็ถูกท้าทายจากกระแส “เสรีนิยมคลาสสิค” ในแบบการเมืองอเมริกัน ที่ฝ่ายเสรีนิยมให้ความสำคัญกับเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และการสร้างพลังทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมยังยึดติดอยู่กับสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม ให้ความสำคัญกับการอาศัยอยู่เป็นชุมชนแบบเก่า เน้นความสำคัญของที่ดิน และยึดอยู่กับแนวคิดแบบ “หนึ่งชาติภายใต้พระเจ้า” (one nation under God) อีกทั้งให้คุณค่ากับความสวยงามแบบอุดมคติกับเมืองในแบบเดิม เช่น เมืองชาลส์ตัน เมืองเก่าของนิวยอร์ก หรือบอสตัน เป็นต้น
แต่สำหรับฝ่ายเสรีนิยมแล้ว เมืองเหล่านี้กำลังสิ้นสภาพไปกับกาลเวลา และไม่มีความสวยงามแบบที่พวกอนุรักษนิยมชอบกล่าวถึง
ภาวะเช่นนี้คือ การต่อสู้ระหว่าง “อารยธรรมเกษตร” ในแบบของเจฟเฟอร์สัน กับการเติบใหญ่ของโลกทุนนิยม ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของเศรษฐกิจการตลาดและการเมืองแบบเสรีนิยม กระแสชุดนี้จึงมักให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้ประโยชน์มากกว่าคุณค่าทางจริยศาสตร์แบบเดิม หรือที่หลายคนมองว่าการต่อสู้ระหว่าง “สังคมเกษตร” ของรัฐฝ่ายใต้ที่เป็น “อนุรักษนิยม” กับ “สังคมทุนนิยม” ของรัฐฝ่ายเหนือที่เป็น “เสรีนิยม” สะท้อนให้เห็นชัดในสงครามกลางเมืองอเมริกัน และสงครามนี้ก็คือภาพสะท้อนอีกส่วนของการต่อสู้ 2 อุดมการณ์ โดยมีปัญหาการเลิกทาสเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง
ว่าที่จริงแล้วการต่อสู้ชุดนี้ไม่ได้หายไปจากสังคมอเมริกันในปัจจุบัน กลุ่มอนุรักษนิยมจึงยังฝันถึง “โลกเก่าในอุดมคติ”
ภาวะเช่นนี้ทำให้คนที่สมาทานแนวคิดแบบอนุรักษนิยม ต้องการที่จะพาสังคมอเมริกันกลับสู่ “โลกอุดมคติ” ในแบบอเมริกัน หรือกลับไปสู่โลกแห่งความสวยงามของสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมเช่นในยุคของเจฟเฟอร์สัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022