ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | สุภา ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
คนทำงาน ใคร ๆ ก็อยากก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ตามอายุการทำงานและประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น อยากได้รับการยอมรับในความสามารถด้วยการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง
โดยเฉพาะในสังคมการทำงานแบบญี่ปุ่น ที่ทำงานกันอย่างทุ่มเทและอุทิศตน แข่งขันกันอย่างเคร่งเครียดเพื่อความก้าวหน้าในชีวิต เมื่อเรียนจบ เริ่มทำงานก็ก้มหน้าก้มตาทำไป ไม่ปริปากบ่น เรียนรู้ว่า “งานคือชีวิต และชีวิตคืองาน” เป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องทำและมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ
แต่…คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นไม่ได้คิดอย่างนี้แล้ว
สถาบันวิจัยด้านทรัพยากรบุคคลพาซอล(パーソル総合研究所)ทำการสำรวจพนักงานบริษัทชาย อายุ 20 – 30 ปี จำนวน 1 หมื่นคน ในปี 2024 ว่า “คุณอยากเป็นผู้บริหารในบริษัทที่ทำงานอยู่ตอนนี้หรือไม่?” (สังเกตว่าไม่ได้สำรวจพนักงานหญิง เป็นที่รู้กันว่าไม่ได้คาดหมายให้เป็นผู้บริหารนั่นเอง)
คนวัย 20 ปี ที่ตอบว่า “อยากเป็นผู้บริหาร” มี 36.5% ลดลงมากกว่า 10% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2021 ส่วนคนวัย 30 ปี มี 29.5% เป็นจำนวนที่ลดลงมากกว่า 10% เช่นกัน
น่าสังเกตว่า คนวัยเพิ่งเข้าทำงานไม่นาน ไฟยังแรง อยากก้าวหน้า แต่ยิ่งทำงานนานปีขึ้น ก็ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้น ดังนั้น คนที่มีวัยต่างกันเพียง 10 ปีคำตอบจึงต่างกันอย่างเห็นได้ชัดขึ้น และในจำนวนนี้ พนักงานของบริษัทใหญ่ขนาดมีพนักงานเกิน 1,000 คน ก็เห็นคำตอบในแนวทางเดียวกัน
ลองถามคำถามใหม่ ง่าย ๆ ว่า “คุณอยากก้าวหน้าหรือไม่”
พนักงานวัย 25 – 39 ปี ตอบว่า “ไม่ได้คิดอยากก้าวหน้า” มีเกินกว่า 30% และเป็นจำนวนมากกว่าผู้ที่ตอบว่า “อยากก้าวหน้า” พนักงานวัย 20 – 24 ปีเท่านั้น ที่มีผู้อยากก้าวหน้ามากกว่า ผู้ไม่คิดอยากก้าวหน้า
มาริ คาเนโมโตะ(金本麻理)นักวิจัยประจำสถาบันฯ นี้ชี้ให้เห็น 3 เหตุผล กล่าวคือ คนหนุ่มสาวยุคนี้ มุ่งเน้น “ไลฟ์”(life) ของ “เวิร์ค ไลฟ์บาลานซ์”(work life balance) มากขึ้นอย่างชัดเจน คนที่อยากทำงานยาว ๆไปจนเกษียณมีแนวโน้มลดลง การให้คุณค่าแก่ “เวิร์ค” (work) จึงเปลี่ยนไปแล้ว
นอกจากนี้ รูปแบบของการทำงานในปัจจุบัน มีหลากหลายมากขึ้น สามารถเปลี่ยนงานตามความชอบได้ง่ายขึ้น มี “งานรอง”(副業)ให้เลือกทำได้ และค่านิยมที่สามีเป็นเสาหลักทำงานนอกบ้านหาเลี้ยงครอบครัว ภรรยาเป็นแม่บ้าน เปลี่ยนไปเป็นการทำงานด้วยกันทั้งคู่ จึงทำให้ผู้ชายมีทางเลือกมากขึ้นไม่ต้องยึดติดกับวิถีชีวิตเคร่งครัดแบบคนรุ่นพ่อแม่
อีกประการหนึ่ง คือ ปัจจุบันงานของผู้บริหารเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มีหน้าที่ความรับผิดชอบขยายวงกว้างขึ้น ทั้งการพัฒนาบุคลากร จากปัญหาเด็กเกิดน้อยลง คนวัยทำงานลดลง ต้องแย่งชิงบุคลากร ขณะเดียวกันต้องฝึกอบรมพนักงานให้มีทักษะและทำงานอยู่กับบริษัทนาน ๆ การป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ การรักษาภาพลักษณ์ และธรรมาภิบาลในบริษัทด้วย เหล่านี้เองที่คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเป็นภาระหน้าที่ที่หนักเกินไปเสียแล้ว
บริษัท JGC Holding (日揮(にっき)ホールディングス)ยักษ์ใหญ่ด้านวิศวกรรมการก่อสร้างโรงงาน และธุรกิจในเครืออีกหลายประเภท มีสาขาทั่วโลกของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งปี 1924 ได้ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานจากเดิมใช้ “ระบบ 3 คน”(3人体制)คือ มีผู้ช่วย 1-2 คน ดูแลงานตามแต่ผู้จัดการฝ่ายมอบหมาย ความรับผิดชอบกระจุกตัวที่ผู้จัดการฝ่ายเพียงคนเดียว เปลี่ยนเป็น “รวมศูนย์ 3 ขั้น”(三位一体)กระจายงานให้กว้างขึ้น ผู้จัดการฝ่ายเบอร์หนึ่งสูงสุด มอบหมายนโยบายหลักและดูแลให้สัมฤทธิ์ผล ผู้จัดการเบอร์ 2 ดูแลพัฒนาด้านบุคลากรในฝ่าย ผู้จัดการเบอร์ 3 ดูแลการทำงานและวางคนให้เหมาะกับงาน
ผลจากการแบ่งงานแบบนี้ ทำให้บรรดาพนักงานวัยหนุ่มพึงพอใจที่ได้ทำงานตรงกับความสามารถของตัวเอง ทุกคนมีขอบเขตและรายละเอียดงาน ความรับผิดชอบชัดเจน นอกจากนี้ เมื่อพนักงานมีปัญหา ยังสามารถปรึกษากับผู้จัดการด้านนั้น ๆ โดยตรงได้ตลอด สรุปว่า ผู้บริหารได้กระจายงานและภาระหน้าที่เบาลง ส่วนพนักงานก็ทำงานง่ายขึ้น
ยังมีตัวอย่าง บริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์เทรุโม ริเริ่มนำระบบประกาศรับสมัครผู้จัดการฝ่ายโดยไม่จำกัดอายุมาใช้ คนหนุ่มวัย 20 ก็สามารถสมัครได้ถ้ามีความมุ่งมั่น จุดมุ่งหมายคือ ให้คนวัยหนุ่มสาวได้มีโอกาสกำหนดแนวทางอาชีพของตนเองได้อย่างอิสระ ไม่ใช่ว่าต้องอยู่ในเส้นทางที่บริษัทกำหนดฝ่ายเดียว บริษัทให้โอกาสแสดงความสามารถโดยไม่ได้พิจารณาจากวัย หรืออายุการทำงาน ตามแบบที่ปฏิบัติกันมา บริษัทกำหนดกรอบหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งผู้บริหารอย่างชัดเจน เพื่อท้าทายพนักงานวัยหนุ่ม โดยพิจารณาจากความสามารถและทักษะในด้านนั้นล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับอายุเลย
ช่วงเวลา 2 ปีกว่าที่นำวิธีนี้มาใช้ ได้ประกาศรับตำแหน่งผู้บริหารไปแล้ว 450 ตำแหน่ง มีผู้ที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร มาสมัครประมาณ 270 ตำแหน่ง 35% ของจำนวนนี้ล้วนอยู่ในวัย 20 – 30 ปี ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่เป็นผู้อยู่ในวัย 40 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการฝึกอบรมพนักงานที่ฉายแววเหมาะกับตำแหน่งระดับผู้บริหารได้ตั้งแต่ปีแรก ๆ ที่เข้าทำงาน บริษัทคัดเลือกพนักงานที่สนใจโอกาสทองนี้ ให้แสดงผลงานผ่านการรับผิดชอบงานยากชนิดต่าง ๆ หากสำเร็จก็เป็นโอกาสให้ทำงานที่ท้าทายและถือเป็นการอบรมเพื่อเตรียมพร้อมสู่เส้นทางผู้บริหารในอีกไม่นาน แม้ไม่สำเร็จ ก็เท่ากับได้สร้างแรงกระตุ้นและฝึกอบรมให้พนักงานไปด้วย
ตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่พยายามสื่อสารกับคนวัยหนุ่ม บริษัทจะเติบโตได้จำเป็นต้องมีพนักงานที่พัฒนาตนเองให้เติบโต การทำงานที่ท้าทายความสามารถ การทำงานร่วมกันเป็นทีมใหญ่ อาจมองดูเป็นภาระหนัก แต่การทำงานในระดับผู้บริหารก็มีโอกาสได้รู้ ได้สัมผัสสิ่งที่ระดับพนักงานไม่มีโอกาส
ฉะนั้น…อย่าหยุดใฝ่ฝันที่จะเติบโต !
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022