ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Multiverse |
ผู้เขียน | ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ |
เผยแพร่ |
โลกตะวันตกกล่าวถึงปรากฏการณ์ทรงกลดมาตั้งแต่สมัยกรีกแล้ว ดังปรากฏในหนังสือ Meteorologica ของอริสโตเติล แต่หากถามถึงภาพวาดหรือภาพเขียนที่มีรายละเอียดน่าสนใจในเชิงวิชาการ ก็อาจระบุได้ว่าหนึ่งในภาพที่โดดเด่นที่สุด คือ ภาพที่มีชื่อเป็นภาษาสวีเดนว่า Vädersolstavlan ออกเสียงว่า ‘วาเดอร์โซลสตาฟลัน’
บริเวณด้านล่างของภาพแสดงกรุงสตอกโฮล์มเมื่อมองจากพื้นที่ซึ่งเรียกว่าโซเดอร์มาล์ม (Sodermalm) ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเมือง
ส่วนบริเวณด้านบนของภาพแสดงเหตุการณ์บนฟ้าเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.1535 หากยึดตามปฏิทินแบบเก่า คือ ปฏิทินระบบจูเลียน (Julian calendar)
เหตุการณ์บนฟ้าที่ว่าคือ ปรากฏการณ์ทรงกลดแบบซับซ้อน (complex halos) กล่าวคือ มีการทรงกลดหลายแบบเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น วงกลมวงใหญ่สุดเต็มวงซึ่งลากผ่านดวงอาทิตย์ เรียกว่า วงกลมพาร์ฮีลิก (parhelic circle)
บนเส้นวงกลมพาร์ฮีลิกนี้มีจุดสว่าง 5 จุด โดย 2 จุดที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด เรียกว่า พาร์ฮีเลีย (parhelia) หรือซันด็อก (sundogs) จุดบนวงกลมพาร์ฮีลิกที่อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เรียกว่า จุดแอนทีลิก (anthelic point) ส่วนอีก 2 จุดที่เหลือ เรียกว่า พาร์ฮีเลีย 120 องศา (120 degree parhelia)
หากมองแค่เส้นวงกลมพาร์ฮีลิกและจุดสว่างอีก 5 จุดที่ว่ามานี้ ก็ถือได้ว่าภาพนี้มีความแม่นยำในเชิงวิทยาศาสตร์สูงอย่างน่าทึ่ง เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อราว 500 ปีมาแล้ว และภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นภาพที่คัดลอกมาอีกที โดยวาดขึ้นในปี ค.ศ.1636 หรือหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ถึง 101 ปี
นั่นคือ ถ้าภาพที่คัดลอกมาแสดงถึงความแม่นยำในบางส่วนของภาพ ก็แสดงว่าภาพต้นฉบับจะต้องเป๊ะมาก คือวาดได้อย่างที่ตามองเห็นเส้นวงกลมพาร์ฮีลิกและจุดสว่างอีก 5 จุดบนฟ้านั่นเอง
ส่วนภาพต้นฉบับซึ่งน่าจะวาดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่นานนัก กล่าวคือวาดในปีที่เกิดเหตุการณ์คือ ค.ศ.1535 ปัจจุบันภาพนี้ได้สูญหายไปแล้ว
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเส้นการทรงกลดอื่นๆ ในภาพ จะพบว่าตำแหน่งของเส้นไม่ตรงเป๊ะกับที่ควรปรากฏจริงบนท้องฟ้า เช่น วงกลมมุมขวาบนควรจะมีดวงอาทิตย์อยู่ที่จุดศูนย์กลาง เส้นโค้งสองเส้นที่ลากออกจากซันด็อกทั้ง 2 จุดนั้นมีส่วนที่ใกล้เคียงเส้นจริงในธรรมชาติและมีส่วนที่ไม่มีจริง (คือมีเส้นเกินออกมา) และเส้นโค้งคว่ำบริเวณขอบภาพด้านขวาไม่ควรตัดกับวงกลมพาร์ฮีลิก
แต่ถึงกระนั้น ตำแหน่งของซันด็อกทั้ง 2 จุด ก็ทำให้นักวิจัยด้านทัศนศาสตร์ในบรรยากาศ อย่างเช่น อาจารย์เลส คาวลีย์ (Les Cowley) สามารถระบุมุมเงย (altitude) ของดวงอาทิตย์ได้อย่างแม่นยำว่าคือ 36 องศา ซึ่งทำให้ระบุเวลาการเกิดเหตุการณ์ได้ 2 ช่วง คือ ช่วงเช้าราว 9 น. หรือช่วงบ่าย ราว 15 น.
ภาพนี้ยังมีแง่มุมที่น่ารู้อีกเล็กน้อย นั่นคือ ชื่อ V?dersolstavlan ในภาษาสวีเดน แปลตรงตัวว่า ‘weather sun painting’ หรือ ‘ภาพวาดภาพดวงอาทิตย์ที่เกิดจากสภาพอากาศ’ ทั้งนี้เนื่องจากคำว่า v?der คือ weather (สภาพอากาศ) sol คือ sun (ดวงอาทิตย์) และ tavlan คือ painting หรือ picture (ภาพ)
อย่างไรก็ดี ชื่อของภาพนี้ในภาษาอังกฤษคือ Sundog Painting ซึ่งบ่งถึงการเลือกเอาจุดสว่าง 2 จุดข้างดวงอาทิตย์ ซึ่งเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่เกิดจากสภาพอากาศมาเป็นชื่อนั่นเอง (แต่การเรียกเช่นนี้ มองในแง่หนึ่งคือ ลดทอนความสำคัญของจุดอื่นๆ และเส้นการทรงกลดอีกหลายเส้นในภาพ)
ภาพ Vädersolstavlan เป็นภาพสีของกรุงสตอกโฮล์มที่เก่าแก่ที่สุด ดังนั้น ในช่วงศตวรรษที่ 20 ภาพนี้จึงถือกันว่าเป็นไอคอน (icon) สำหรับประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ และเมื่อใดก็ตามที่มีการเฉลิมฉลองเกี่ยวกับกรุงสตอกโฮล์ม ก็จะมีการนำภาพนี้มาใช้เป็นประจำ
นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ด้วยว่า ภาพนี้อาจจะเป็นภาพเขียนแสดงทิวทัศน์ของสวีเดน (Swedish landscape painting) ที่เก่าแก่ที่สุด รวมทั้งอาจเป็นภาพของซันด็อกที่เก่าที่สุดก็เป็นได้
ยังมีการทรงกลดในอดีตอีก 2 ครั้งซึ่งควรรู้จักไว้ เหตุเพราะมีความอลังการและส่งผลกระทบต่อวงการวิชาการอย่างสูง
กล่าวคือ ที่กรุงโรม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ.1629 ผู้คนเห็น “ดวงอาทิตย์” ถึง 5 ดวงบนท้องฟ้า ซึ่งผมขอเรียกว่า ปัญจสุริยาเหนือฟ้ากรุงโรม
ต่อมาอีกไม่ถึง 1 ปี คือวันที่ 24 มกราคม ค.ศ.1630 ก็น่าตื่นเต้นเช่นกัน เพราะกล่าวกันว่าคราวนี้ มี “ดวงอาทิตย์” บนฟ้าถึง 7 ดวง ซึ่งผมขอเรียกว่า สัปตสุริยาเหนือฟ้ากรุงโรม
เหตุการณ์ทั้งสองนี้มีความสำคัญต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากทำให้นักคิดคนสำคัญในห้วงเวลานั้นหันมาสนใจปรากฏการณ์ในบรรยากาศ ตัวอย่างเช่น
เรอเน เดการ์ต (Rene Descartes) เสนอว่าการทรงกลดแบบวงกลมขนาด 22 องศา อาจจะเกิดจากผลึกหิมะที่มีรูปร่างเหมาะสม แนวคิดนี้มาถูกทางและสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
คริสตีอาน ฮอยเกนส์ (Christiaan Huygens) เสนอทฤษฎีอธิบายการเกิดทรงกลดแบบซันด็อก โดยสามารถคำนวณออกมาเป็นค่าตัวเลขได้ แม้ว่าทฤษฎีของฮอยเกนส์ยังมีจุดผิดพลาด กล่าวคือ ระบุรูปร่างของผลึกน้ำแข็งที่หักเหแสงไม่ถูกต้อง แต่นักวิชาการด้านการทรงกลดหลายคนก็ถือว่าแนวคิดของเขานับเป็นการก้าวกระโดดในเชิงความคิดครั้งสำคัญ
ในบทความตอนต่อไป จะเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการทรงกลดปัญจสุริยาและสัปตสุริยา โปรดติดตาม!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022