ฅนบุรีสีน้ำเงิน

จัดได้ยิ่งใหญ่จริงๆ สำหรับงาน “ลมหายใจของแผ่นดิน” ณ สนามช้างอารีนา บุรีรัมย์ โดยหัวเรือใหญ่ เนวิน ชิดชอบ หรือที่เจ้าตัวเคยเรียกตัวเองว่า “ครูใหญ่ภูมิใจไทย”

งานนี้มีไอเท็มเด็ด นายเนวินใส่เสื้อสีนำเงิน สกรีนตัวอักษรสีเหลืองตัวใหญ่ๆ ว่า “ฅนบุรีรัมย์”

เนวินแจงเหตุที่ใช้ ฅ. “เพราะเราเป็นคน หากเราใช้ ค. เราก็เป็นควาย และทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย” แถมพูดทำนองดุใส่กลางวงสื่อที่ถามว่าทำไมต้องเป็นสีน้ำเงิน

“ถ้ามีคนพูดการเมืองแถวนี้ อาจจะโดนอะไรก็ได้… ในสมองต้องพักเรื่องการเมืองไปเสียบ้าง บ้านเมืองก็จะสงบสุข และประชาชนก็จะมีความสุขมากขึ้น”

ก่อนที่จะทิ้งท้ายว่า “บุรีรัมย์เมืองแห่งความจงรักภักดี” นั่นคือสไตล์ตอบโต้แบบลูกทุ่งๆ ฉบับเนวิน

ไม่ได้มีแต่นายเนวิน งานนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย มาร่วมงานพร้อมโชว์เป่าแซกโซโฟนร่วมกับวงบุรีรัมย์ออร์เคสตรา บรรเลงเพลง “สดุดีจอมราชา” ด้วย

ต้องยอมรับว่า หมุดหมายทางการเมืองพรรคภูมิใจไทยวันนี้กลับมาเป็นเรื่องการ “ปกป้องสถาบัน” อีกครั้ง

เรื่องนี้ถูกย้ำชัดจากปากของหัวหน้าพรรคเอง และแน่นอนว่า นี่จะเป็น “จุดเปลี่ยนทางการเมืองสำคัญ” ของภูมิใจไทยที่เข้มข้นยิ่งขึ้นนับจากนี้

 

ถอยกลับมามอง “ภาพกว้างของการเมืองไทย” วันนี้

ในมิติอุดมการณ์ ขั้วอนุรักษ์จารีตนิยมที่เคยเข้มแข็ง อยู่ในอำนาจต่อเนื่องยาวนานผ่านกลุ่มก้อนการเมืองต่างๆ อ่อนแอลงอย่างมากในแง่ของ “ตัวเล่นทางการเมืองในระบบ”

“พรรคทหาร” ที่พยายามสืบต่อมรดกการรัฐประหาร 2557 แม้จะเข้ามารักษาอำนาจไว้ได้ในการเลือกตั้งปี 2562 แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้อย่างหนักในการเลือกตั้ง 2566 ต้องยอมรับสภาพ “ลงจากอำนาจ”

พรรครวมไทยสร้างชาติที่ได้ชื่อว่าเป็นทายาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังแทบเอาตัวเองไม่รอดจากวิกฤตกระทรวงพลังงาน ไม่ต้องถามเรื่องการเปิด “เกมรุก” อื่นๆ

พรรคพลังประชารัฐก็มีการลักษณะ “การต่อรอง” สไตล์กลุ่มทางการเมืองมากไป ตอบได้ไม่ชัดเจนว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “มีสถานะนำ” จริงไหม? จึงยังไม่ใช่ตัวเล่นที่ดีของ “พลังจารีต”

หันไปดูประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นฐานที่มั่น “พลังจารีต” ของไทยช่วงทศวรรษที่ผ่านมา วันนี้ยิ่งหนัก แทบไม่เหลือวี่แวว-ไม่ได้ร่วมรัฐบาลด้วยซ้ำ

คำถามคือ แล้วพรรคฝั่งอนุรักษ์จารีตนิยมใด ประคองสถานะทางการเมืองตามกระแสวันนี้ได้ดีที่สุด

คำตอบจึงอยู่ที่ “ภูมิใจไทย”

 

ยุครัฐบาลประยุทธ์ พรรคภูมิใจไทยซึ่งได้คะแนน “ระดับกลาง” มีส่วนสำคัญในการเทคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งรัฐบาลสำเร็จ คว้า “กระทรวงชิ้นปลามัน” ร่วมรัฐนาวา คสช.จนครบ 4 ปี

หลังเลือกตั้ง 2566 พรรคภูมิใจไทยคว้าคะแนนลำดับ 3 มีส่วนอย่างสำคัญยิ่งในการเทคะแนนให้พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล แลกกับ “กระทรวงชิ้นปลามัน” ต่อเนื่องอีกเทอม

ว่ากันในทางการเมือง เห็นได้ชัดว่ายุทธศาสตร์ของภูมิใจไทยช่วง 2 เทอมที่ผ่านมา “กำไรเห็นๆ”

ต้องยอมรับว่าการกลับมาของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้มีอิทธิพลแห่งพรรคเพื่อไทย คือปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนท่าทีทางการเมืองของพรรค จำเป็นต้องเดินเกมแบบ “ประนีประนอม” จับมือกับฝ่ายอนุรักษ์จารีตนิยม แม้จะเคย “ฟัด” กันอย่างหนักกับภูมิใจไทยช่วงเลือกตั้ง

แต่ปัญหาวันนี้ก็คือครบ 1 ปีการบริหารงานของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แล้ว คนยังรู้สึกไม่เห็นผลงานรูปธรรมจากพรรคเพื่อไทย

การบริหารเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามที่คาด ทำให้การ “กู้วิกฤตศรัทธา” กลับคืนไม่ได้ กำลังเป็นปัญหารุมเร้าเพื่อไทยอยู่ขณะนี้

แม้นายทักษิณออกโรงช่วยรัฐบาลเต็มที่ เพื่อไทยก็ยังอยู่ในอาการ “ร่อแร่”

นายเศรษฐาเองวันนี้ก็ยังคอพาดเขียง รอการตัดสินอนาคตทางการเมืองจากศาลรัฐธรรมนูญ กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ก็ยังไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย

จึงไม่แปลกใจที่สปอตไลต์ทางการเมืองจะฉายไปที่นายอนุทินแห่งพรรคภูมิใจไทย จนวันนี้ออกปากเรียกกันว่าเป็น “นายกฯ สำรอง” ไปแล้ว

 

คําถามต่อมาก็คือ ภูมิใจไทยจะใช้ยุทธการใดที่จะประคองตัวเองให้ดำรงอยู่ในพื้นที่การเมืองได้

คำตอบจึงปรากฏในสัปดาห์นี้ ด้วยการชูความเป็น “เลือดสีน้ำเงินอย่างเข้มข้น” ที่บุรีรัมย์

ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกประการใด

ย้อนกลับไปการเมืองช่วงปี 2552-2554 นายเนวินก็เคยตั้งขบวนการคนเสื้อสีน้ำเงิน ปกป้องสถาบัน ช่วงวิกฤตการเมืองเหลือง-แดง

แต่หลังการเลือกตั้ง 2554 ผลปรากฏพรรคภูมิใจไทยแพ้เลือกตั้งให้กับเพื่อไทย นายเนวินก็หันมาเอาดีด้านการสร้างทีมฟุตบอล กระทั่งเลือกตั้ง 2562 นั่นแหละ ที่ภูมิใจไทยกลับมาโลดแล่นทางการเมืองอีกครั้ง โดยมีคู่ต่อสู้คือ เพื่อไทย-อนาคตใหม่

หลังการเลือกตั้ง 2566 ช่วงวิกฤตเลือกนายกฯ ก็ได้ภูมิใจไทยนี่เอง ที่ยืนกรานกลางสภาประกาศสกัดกั้นพรรคก้าวไกลจากการเป็นรัฐบาล (ก่อน 250 ส.ว.เสียอีก) โดยยื่นเงื่อนไขให้ก้าวไกลเปลี่ยนจุดยืนเรื่อง 112 แล้วจะยกมือให้เป็นนายกฯ พร้อมประกาศปกป้องสถาบันด้วยชีวิต

จะเห็นได้ว่าภูมิใจไทยไม่ได้เพิ่งมามีจุดยืนวันนี้ แต่ภูมิใจไทยสร้างฐานของการเป็นพรรคอนุรักษ์จารีตนิยมมานานแล้ว เพียงแต่เป็นพรรคที่พร้อมทำตามแนวทางประชานิยม มีนโยบายตามกระแสทางสังคมได้ด้วย

 

เกมมาเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อเกิดปรากฏการณ์ “ส.ว.สีน้ำเงินครองสภา”

นำมาสู่การเกิด “ปฏิญญาเขาใหญ่” เป็นภาพการพูดคุยกันของระดับ “บิ๊ก” ภูมิใจไทย และผู้มีอิทธิพลตัวจริงแห่ง “พรรคเพื่อไทย” นั่นคือนายทักษิณ

อย่าแปลกใจว่าวันต่อมา นายเศรษฐา ในฐานะนายกฯ จู่ๆ ก็เปลี่ยนจุดยืนกะทันหันเรื่องนโยบายกัญชา

จากประกาศลั่น “จะเอากลับไปเป็นยาเสพติด” เปลี่ยนจุดยืนเป็น “ออก พ.ร.บ.ควบคุม” ทำเอาสื่อต่างชาติที่ติดตามเรื่องนี้งงกับจุดยืนรัฐไทยกันหมด

พูดอย่างตรงไปตรงมา การกลับจุดยืนของนายกฯ และพรรคเพื่อไทยเรื่องกัญชา สะท้อนชัดถึงอำนาจต่อรองที่สูงขึ้นมาของ “พรรคภูมิใจไทย” ที่ย้ำจุดยืน ไม่ยอมให้ใครมาทำลายนโยบายเรือธง

 

ต้องยอมรับว่าวันนี้ สถานะของ “ขั้วเพื่อไทย” ในฐานะแกนนำรัฐบาล ก็อยู่ใน “ระดับอ่อนแอ” ในแง่วิกฤตศรัทธา มีอำนาจก็ใช้เต็มที่ไม่ได้เหมือนยุคไทยรักไทย ทำอะไรก็ติดขัดรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. นายทักษิณเองก็ยังมีปัญหาการนำน้องสาวกลับไทย และภารกิจส่งบุตรสาวเป็นนายกฯ ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ขณะที่ “ขั้วก้าวไกล” แม้มีประชาชนหนุน แต่ก็ถูกทำให้อ่อนแอจากองค์กรอิสระ แม้จะเป็นฝ่ายค้านก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ ชีวิตทางการเมืองแกนนำพรรควันนี้ อยู่ในสถานะ “นับถอยหลัง”

ขั้วการเมืองเดียวที่ได้แต้มบวกวันนี้จึงเป็น “ภูมิใจไทย”

1. ในทางอุดมการณ์ คือชูการปกป้องสถาบัน เนื่องจากเป็นสิ่งที่พรรคประกาศจุดยืนมานาน เพียงแต่ทำให้เด่นชัดเข้มข้นขึ้น

2. ในทางการเมือง คือจับมือกับเพื่อไทยต่อรองทางการเมืองกันบ้างตามจังหวะ ต่อรองกันไปจนหมดสมัย เพราะวันนี้ได้เปรียบจากการคุมเสียงสภาสูง

แถมภูมิใจไทยยังไม่ต้องออกหน้าสู้กับก้าวไกล เพราะเพื่อไทยสู้อยู่

เพียงแค่ประคอง 2 สถานการณ์นี้ไปเรื่อยๆ จนถึงวันเลือกตั้ง อย่างน้อยการันตีแล้วว่า “ภูมิใจไทยไม่เสีย” ในทางการเมือง หรืออาจ “เป็นบวก” เพราะมีการเมืองฝากอนุรักษนิยมเป็นกองหนุน

เพราะยิ่งหากสถานการณ์เพื่อไทยเป็นแบบนี้ต่อไป ยังไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม ยิ่งทำให้ภูมิใจไทยโดดเด่นกว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะมีความชัดเจนกว่าอย่างน้อยในมิติอุดมการณ์

ถือว่าวันนี้ภูมิใจไทย “ขี่คอเพื่อไทยอยู่ทุกประตู” ไม่ว่าจะโดยไม่ตั้งใจหรือตั้งใจก็ตาม

 

สถานการณ์เอื้อให้ภูมิใจไทย “เปิดเกมรุกทางการเมืองได้มากกว่า”

ไม่รู้ว่าอนาคตของนายเศรษฐาและขั้วอำนาจในรัฐบาลเพื่อไทยจะเป็นอย่างไรหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน

ที่แน่ๆ วันนี้ “ขั้วอำนาจขั้วใหม่” เกิดขึ้นแล้วอย่างแข็งแรง โดยมีฐานที่มั่นอยู่ที่ “บุรีรัมย์” (ที่ชอบใส่เสื้อ “ฅนบุรีรัมย์”)