ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Agora |
ผู้เขียน | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ |
เผยแพร่ |
Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.facebook.com/bintokrit
ลาก่อนพุทธรามา
กำเนิดและอวสาน
โรงภาพยนตร์คู่แฝดอาร์ตเดโค
กลุ่มสุดท้ายในประเทศไทย
โรงภาพยนตร์ “พุทธรามา” ตั้งอยู่ที่ “วงเวียนตลาดใน” หรือ “วงเวียนหอนาฬิกา” อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เป็นโรงหนังเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาเมื่อราวๆ 70 ปีก่อน สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วง พ.ศ.2495-2505 ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคหลัง หรือไม่ก็สมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เดิมมีชื่อว่า “พุทธบูชา” ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพุทธรามาในภายหลัง
คนในท้องถิ่นเรียกว่า “วิกยายฮวย” ตามชื่อเจ้าของคือ “กิมฮวย แซ่ลี้”
จุดเด่นของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ก็คือเป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบ “อลังการศิลป์” หรือ “อาร์ตเดโค” (Art Deco) สร้างขึ้นตามแบบของ “โรงภาพยนต์ทหานบก” ที่วงเวียนศรีสุริโยทัยหรือวงเวียนสระแก้ว อ.เมือง จ.ลพบุรี
จึงทำให้เกิดโรงภาพยนตร์คู่แฝดสไตล์อาร์คเดโคขึ้นในยุครุ่งเรืองของโรงหนังแบบ stand alone ช่วงระยะเวลา 50 ปี ระหว่าง พ.ศ.2480-2530
โรงภาพยนต์ทหานบกซึ่งเป็นแฝดพี่นั้นเป็นโรงภาพยนตร์เก่าแก่อายุ 87 ปี เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 ในสมัยรัฐบาลพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) กระทั่งแล้วเสร็จในปี 2482 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคแรก
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโรงหนังแห่งนี้คือใช้การสะกดภาษาไทยตามอักขรวิธีในยุคนั้น โดยเริ่มเปิดตัวด้วยชื่อว่า “โรงภาพยนตร์ทหารบก” ครั้นรัฐบาลมีนโยบายปรับเปลี่ยนการใช้ภาษาไทยในสมัยจอมพล ป. โดยลดทอนพยัญชนะที่ไม่จำเป็นลง ทำให้ภาษาไทยมีความเรียบง่ายขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนการสะกด
เช่น คำว่าภาพยนตร์ก็สะกดเป็น “ภาพยนต์” และทหารบกก็สะกดว่า “ทหานบก”
ต่อมาเมื่อทางการเปลี่ยนกลับมาใช้อักขรวิธีตามเดิม คือเป็นโรงภาพยนตร์ทหานบก และเป็นโรงภาพยนตร์ทหารบกในที่สุด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันไม่สามารถเห็นชื่อโรงภาพยนต์ทหานบกแบบดั้งเดิมได้ เนื่องจากถูกป้ายของบริษัทรักษาความปลอดภัยปิดทับอยู่
รูปโฉมของโรงภาพยนตร์ตามต้นฉบับเดิมจึงเห็นได้เฉพาะในภาพถ่ายเก่าๆ และหุ่นจำลองย่อส่วนซึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทหารรบพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ที่ป่าหวายเท่านั้น
โรงหนังทหานบกนับเป็นอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ถึงขั้นที่จอมพล ป. เคยวางแผนว่าจะใช้เป็นที่ประชุมของรัฐสภาในยามสงคราม มีขนาดกว้างขวางจุได้ถึง 800 ที่นั่ง ติดเครื่องปรับอากาศ ออกแบบตกแต่งด้วยทรวดทรงเรขาคณิต เรียบง่าย แต่สง่างาม และดูทรงพลัง จากสถาปนิกชื่อดังคือ “หมิว” จิตรเสน อภัยวงศ์
ที่นี่เป็นตัวแทนความทันสมัยของลพบุรีในยุคจอมพล ป. ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อความรู้สึกของประชาชนในแถบใกล้เคียงด้วย
ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการที่พระพุทธบาท สระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกันมีความคิดจะทำโรงหนังขึ้นจึงขอแบบก่อสร้างของโรงหนังทหานบกมาสร้างตามต้นฉบับทั้งรูปแบบศิลปะ สถาปัตยกรรม และขนาด
โรงหนังคู่แฝดนี้ต่างกันเล็กน้อยคือโรงหนังทหานบกมีอุดมการณ์ของระบอบใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นฐานคิดในการออกแบบด้วย
ขณะที่โรงหนังพุทธรามาแค่ลอกเลียนรูปแบบมาเฉยๆ ไม่ได้อิงคติความเชื่อทางอุดมการณ์
นอกจากนั้นก็คือโรงหนังพุทธรามาไม่มีตัวอักษรชื่อโรงหนังติดอยู่กับตัวอาคารด้านหน้า ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ รวมทั้งไม่มีเครื่องปรับอากาศด้วย แต่โรงหนังทหานบกเป็นโรงหนังติดแอร์ ทั้งสองแห่งก็มี 2 ชั้นเหมือนกัน
แต่โรงหนังทหานบกเป็นเก้าอี้ ส่วนพุทธรามานั้นมีเก้าอี้อยู่แค่ชั้นบน ชั้นล่างจะเป็นเก้าอี้ยาวเรียงเป็นแถว ไม่ใช่เก้าอี้แยกเป็นตัวๆ
โรงภาพยนตร์แบบ stand alone เดินทางมาถึงขาลงในช่วงทศวรรษที่ 2530 เมื่อธุรกิจการเช่าวิดีโอเข้ามาครองส่วนแบ่งรายได้ไปจากโรงภาพยนตร์ เมื่อผู้คนได้รับความสะดวกสบายในการเสพคอนเทนต์อยู่กับบ้านมากขึ้น ยอดจำหน่ายตั๋วของโรงภาพยนตร์ก็น้อยลงเป็นลำดับ
โรงภาพยนตร์ที่ยังคงอยู่ได้คือโรงที่ย้ายเข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า และแล้วเมื่อถึงยุคของวีซีดีและดีวีดีโรงภาพยนตร์แบบ stand alone ก็แทบจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย
มีเหลือรอดอยู่เพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น
โรงภาพยนตร์พุทธรามาก็เช่นกัน เมื่อธุรกิจนี้ชักเอาตัวไม่รอดในปี พ.ศ.2532 เจ้าของเดิมก็ปล่อยให้ผู้อื่นเข้ามาเช่ากิจการทำต่อ แต่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาทำได้แค่ประมาณสามปีก็ฝืนธรรมชาติไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ถอยออกไปในตอนต้นปี 2535 และปิดกิจการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งการที่ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เลยมาเป็นเวลาสามสิบกว่าปีจึงทำให้สภาพอาคารเกิดความทรุดโทรมลงเรื่อยๆ กระทั่งในที่สุดหลังคาโรงฉายก็พังทลายลงมาในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2535
การล่มสลายของโรงหนังพุทธรามาได้ทำให้เกิดเรื่องเล่าขานไปทั่วว่าที่นี่คือโรงหนังผีสิง ผู้คนร่ำลือกันจนแพร่กระจายไปว่าที่กิจการต้องปิดตัวลงก็เพราะอาถรรพ์หรือความเฮี้ยนของเหล่าภูตผีปีศาจ
ข่าวลือนี้ไม่มีทีท่าจะยุติ ซ้ำยังถูกโหมกระพือมากขึ้นด้วยสื่อต่างๆ ทั้งจากรายการโทรทัศน์ facebook YouTube และ Tik Tok
เรื่องเล่าผีสิงซึ่งได้รับความนิยมสูงอยู่เป็นทุนเดิมแล้วก็เลยสบช่องที่จะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นวัตถุดิบชั้นดีในการสร้างคอนเทนต์
ยิ่งบางสื่ออ้างอิงคำสัมภาษณ์จากผู้คนด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้มีคนเชื่อมากขึ้นไปใหญ่
คนรุ่นหลังที่เกิดมาไม่ทันยุคสมัยที่โรงหนังยังประกอบกิจการก็ปักใจเชื่อได้โดยง่ายเนื่องจากภาพลักษณ์ของอาคารเก่าคร่ำคร่าดูน่ากลัวนั่นเอง เรื่องเล่าเหล่านี้ถูกเติมสีสันลงไปมากขึ้นทุกวันในยุคที่ใครๆ ก็มีสื่ออยู่ในมือและพร้อมจะพูดอะไรก็ได้
เช่น เกิดเรื่องเล่าว่ามีไฟดับขณะฉายเพราะอาถรรพ์ หรือเกิดเหตุแปลกประหลาดต่างๆ เมื่อฉายเรื่องแม่นาค พระโขนง เป็นต้น
ทว่า ความจริงแล้วการปิดตายของโรงหนังนี้ไม่มีเหตุผลใดเกี่ยวกับเรื่องผีสางนางไม้เลย
แต่เป็นเพราะธุรกิจประสบภาวะขาดทุนเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย
ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับโรงหนังแบบ stand alone ทุกโรงในประเทศไทย และเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย ขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะไปก่อนหรือหลังเท่านั้นเอง
สําหรับสถานการณ์ล่าสุดของโรงหนังทั้งสองก็คือโรงหนังทหานบกกลายเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยที่มาเช่าอาคารเพื่อประกอบกิจการอยู่โดยมีการติดป้ายต่างๆ มากมายจนไม่สามารถเห็นสภาพการออกแบบตกแต่งที่พื้นผิวภายนอกได้
พื้นที่โดยรอบก็ถูกปล่อยซบเซา และลดความลำคัญลงจนแทบไม่มีบทบาทอะไรกับชีวิตคนในพื้นที่อีกแล้ว ไม่มีนักท่องเที่ยวสนใจหรือรู้จักด้วยซ้ำ
ขณะที่โรงหนังพุทธรามาปล่อยเช่าพื้นที่ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ซึ่งก็คือ CJ Supermarket เข้ามาสร้างสาขาของร้านขึ้นแทนโรงหนัง ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการรื้อถอน โดยอาคารโรงหนังจะถูกทุบทิ้งลงมาทั้งหมดในต้นเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อสร้างร้าน CJ Supermarket สาขาวงเวียนหอนาฬิกา ตลาดพุทธบูชา พระพุทธบาท สระบุรีขึ้นมาแทน
ปิดฉากตำนานคู่แฝดโรงหนังสไตล์อาร์ตเดโคที่น่าจะเป็นคู่แรกและคู่สุดท้ายของไทยไปอย่างถาวร
ผู้เขียนเองเมื่อทราบเรื่องก็ได้พยายามพูดคุยเพื่อขอพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้
แต่เนื่องจากขั้นตอนทางธุรกิจและทางกฎหมายได้ดำเนินลุล่วงไปไกลมากแล้ว ความพยายามในการปรับรูปแบบการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่ออนุรักษ์ประวัติศาสตร์ตรงนี้ไว้ต่อไปจึงไม่ทันการณ์
ก็ได้แต่ทำใจ และพยายามบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะโรงหนังในอดีตนั้นเป็นแหล่งบันเทิงมหาชนไม่กี่แห่งเมือง ดังนั้น ผู้คนแทบทุกคนในยุคสมัยเดียวกันจึงเติบโตพร้อมกับ “collective memory” หรือ “ความทรงจำร่วม” ที่มีอยู่ร่วมกันทั้งเมืองทั้งเจเนอเรชั่น
สถานที่จำพวกนี้จึงไม่เพียงแค่ตึกปูนแต่ประหนึ่งมี “วิญญาณ” หรือ “จิตวิญญาณ” แฝงฝังอยู่ ซึ่งทำให้คนในพื้นที่รู้สึกผูกพันตัวตนของแต่ละคนกับสถานที่เข้าด้วยกันได้ แม้จะเข้าใจเหตุผล และตระหนักดีถึงสัจธรรมของความเปลี่ยนแปลงก็ตาม แต่ก็อดใจหายไม่ได้เมื่อรู้ว่าโมงยามของการจากลาได้มาถึงแล้ว
ลาก่อนพุทธรามา ลาก่อนแฝดน้องโรงหนังอาร์ตเดโคที่หลงเหลืออยู่เป็นกลุ่มสุดท้ายในประเทศไทย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022