ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โล่เงิน |
เผยแพร่ |
บทความโล่เงิน
ถอดบทเรียน คดีเสี่ยคลั่ง
‘รองหรั่ง’ พลีชีพระงับเหตุ
บช.น.เสริมเขี้ยวเล็บป้องกัน
เหตุคนคลุ้มคลั่งกระทำความรุนแรงกับคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน และคนในชุมชนมีถี่ขึ้นทุกวัน
ตัวการสำคัญคือยาเสพติด และความเครียดในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดปัญหาคนป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น
ยิ่งการใช้ชีวิตในเมืองหลวงอยู่ในสภาวะปากกัดตีนถีบท่ามกลางเศรษฐกิจบีบรัดยิ่งซ้ำเติมให้คุณภาพชีวิตแย่ลง
เร่งให้เกิดอาชญากรรมในกรุงเทพมหานครทวีขึ้น และรุนแรงมาก
พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รอง ผบช.น. คุมงานป้องกันปราบปรามได้เล็งเห็นปัญหา ตระหนักดีว่า นี่คือระเบิดเวลาในอนาคต
ได้มีไอเดียที่จะฝึกตำรวจสายตรวจที่เป็นผู้เผชิญเหตุ ซึ่งเป็นหน้าด่านอันดับแรก เพื่อให้เข้าใจยุทธวิธี การใช้เครื่องมือ และบริหารสถานการณ์ที่ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นไม่เสียขวัญ
จึงเสนอแม่ทัพนครบาล “พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง” ทำโครงการฝึกทบทวนยุทธวิธีตำรวจและการประเมินสถานการณ์ในหน้างานป้องกันปราบปรามของ บช.น.
ปรากฏว่าได้รับไฟเขียวจาก “น.1”
ขณะนี้ได้อบรมผ่านไป 9 รุ่นแล้วโดยเริ่มตั้งแต่ 20 พฤษภาคม ถึง 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา
มีตำรวจผ่านการอบรมแล้ว 245 นายจาก 88 สน.ทั่วกรุงเทพฯ
แต่กระนั้นเหตุการณ์นำมาซึ่งความเศร้าสลดใจและสูญเสียตำรวจผู้กล้าซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นจนได้
นำมาสู่การถอดบทเรียนเพื่ออุดช่องโหว่การสูญเสียกำลังพลซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ
สำนวน Put yourself in someone else’s shoes. มีแทรกอยู่ในการศึกษาเพื่อกำจัดจุดอ่อน
เหตุการณ์ระงับเหตุความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 20 กรกฎาคม ต่อเนื่องเช้าวันที่ 21 กรกฎาคม
เรื่องราวพ่อคลั่งจับลูกเป็นตัวประกัน จนทำให้วงการสีกากีต้องสูญเสียตำรวจน้ำดี
พ.ต.ท.กิตติ์ชนม์ จันยะรมณ์ รอง ผกก.ป.สน.ท่าข้าม
ต่อมาได้รับการปูนบำเหน็จ 6 ชั้นยศ เป็น “พล.ต.อ.”
ความหมายภาษาไทยของสำนวนนี้ว่า “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา”
เพราะว่าเหตุการณ์ขณะนั้น ถ้าใครไม่ใช่ “รองหรั่ง” ไม่เข้าใจหรอกว่าเกิดอะไรขึ้น
แต่เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย จึงต้องถอดบทเรียนการระงับเหตุการณ์
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. ทบทวนยุทธวิธีการปฏิบัติของตำรวจจากกรณีดังกล่าว
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอีก และหากสุดวิสัยต้องเกิดขึ้นก็ลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด
สําหรับ “รองหรั่ง” นั้น บุคคลใกล้ชิดทั้งหลายทราบดีว่ามีเลือดสีเลือดหมูเข้มข้น ความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เต็มเปี่ยม
มีภาวะความเป็นผู้นำสูง และความรับผิดชอบเต็มที่ เห็นได้จากขณะอยู่ระหว่างออกตรวจพื้นที่เมื่อได้รับแจ้งได้เข้าระงับเหตุทันที
ชุดสายตรวจเผชิญเหตุของ สน.ท่าข้าม ที่ได้ผ่านการฝึกทบทวนยุทธวิธีของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ไม่มีความเกรงกลัวต่อเหตุ
พร้อมปฏิบัติการและช่วยเหลือ และมีสติดีมากในขณะเกิดเหตุ
แต่เนื่องจากที่ผ่านมาครอบครัวนายบุญมา วณิชพงศ์ธร หรือเฮียตุ้ง ได้ทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อย จนทำเป็นภาพชินตาของชาวบ้านละแวกนั้น
ก่อนหน้านี้เมื่อพฤศจิกายน 2565 เกิดเหตุทำนองนี้เช่นกัน แต่ตอนนั้นมีเพื่อน “เฮียตุ้ง” ที่แกเกรงใจมาช่วยเจรจา เหตุการณ์จึงผ่านพ้นไปได้
แต่พอเกิดเหตุคราวนี้อีก ผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ประเมินเป็นเรื่องในครอบครัวสามารถคุยรู้เรื่องได้
อีกทั้ง “ครอบครัวเฮีย” ให้ข้อมูลตำรวจว่า ตัวเฮียป่วยเป็นไบโพลาร์ แต่ต่อมาแจ้งว่าติดยาเสพติด
จึงเป็นอีกประเด็น ส่งผลต่อการประเมินเหตุการณ์คลาดเคลื่อน ความเข้มข้นลดลง
เพราะอาการคนป่วยอารมณ์สองขั้ว จะไม่คลุ้มคลั่งรุนแรงเท่าคนติดยา
นอกจากนี้ การที่ “คีย์แมน” คลี่คลายเหตุการณ์ยืนบริเวณหน้าบ้าน เรียกว่า “พื้นที่กรวยมรณะ” นั้น อยู่ในวิถีการยิงฝ่ายตรงข้ามได้ ถือว่าอันตรายมาก
ระหว่างเจรจาต่อรอง บุตรสาวคนหนึ่งได้ตะโกนด่าท้าทายผู้เป็นพ่อตลอด ทำให้กระตุ้นอารมณ์ผู้ก่อเหตุ ยิ่งเดือดดาลพลุ่งพล่านควบคุมอารมณ์ไม่อยู่
ทำให้เหตุการณ์ยิ่งบานปลาย ทั้งๆ ที่ “รองหรั่ง” พยายามพูดจาลักษณะใช้น้ำเย็นเข้าลูบเพื่อคลายความตึงเครียดแล้ว
ต่างกับเหตุการณ์ปี 2565 ที่มีเพื่อนมาช่วยเจรจา
ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือการประเมินเหตุ ตามหลักยุทธวิธีต้องประเมินไว้สูงเสมอ
ไม่เช่นนั้นจะทำให้ความเข้มงวดในการปฏิบัติอาจลดระดับลงมา
อีกทั้งชุดและอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเอง เช่น เสือเกราะ อาจถูกมองข้ามไป
ที่สำคัญต้องยึดแนวทาง 5Cs นั่นคือ 1.Contain การจำกัดวงพื้นที่ไม่ให้คนร้ายเคลื่อนที่ 2.Control การควบคุมสถานการณ์ 3.Communicate ดำรงการติดต่อสื่อสาร 4.Call SWAT & Negotiators ร้องขอหน่วยปฏิบัติการทางยุทธวิธีและทีมเจรจาต่อรอง และ 5.Create an lmmediate Action Plan เตรียมแผนฉุกเฉินไว้รองรับและรักษาความปลอดภัย
รวมทั้งต้องเป็นไปตามหลัก NEWHALL สรุปความคือ อย่ารีบร้อนแสดงตัว, ประเมินอันตราย, รอกำลังสนับสนุน, มีแผนไว้ในใจเสมอ, หลีกเลี่ยงประจัญบานตัวต่อตัว, หาสิ่งผิดปกติ และถ้าไม่คุ้มอย่าเสี่ยงดีกว่า
นอกจากนี้ ความขาดแคลนของอุปกรณ์ เป็นอีกประเด็นที่นายกฯ เศรษฐาได้เล็งเห็นจึงกำชับเรื่องความปลอดภัยเวลาเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานต้องมีความปลอดภัยสูงสุด ทั้งเสื้อเกราะ อาวุธปืนควรติดไฟฉายติดปืน หมวกกันกระสุน โทรโข่ง
มูลเหตุในเหตุการณ์นี้ทำให้ บช.น.นำร่องตรวจสอบข้อมูลบุคคลวิกลจริตที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองปืน เพื่อนำไปสู่การเพิกถอนต่อไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลัง สน.ท่าข้ามสูญเสียรอง ผกก.มือดี บรรยากาศโรงพักค่อนข้างเงียบเหงา
พล.ต.ต.ชรินทร์จึงได้ไปเยี่ยมเยียนโรงพัก
เพราะตระหนักว่า อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน คือขวัญและกำลังใจกำลังพล
ฉะนั้น การถอดบทเรียนและป้องกันเหตุด้วยการอบรมยุทธวิธีกำลังพลไม่ทำให้เกิดการสูญเสียอีก
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022