โผทหาร เมดอิน USA ‘บิ๊กทิน’ อุ่นเครื่อง ถก 6 เสือ กห.ลุ้นโหวต จับตาซอฟต์เพาเวอร์ ‘บิ๊กหนุ่ย’ สายพิราบ เบียด ‘บิ๊กปู’

หลัง ผบ.เหล่าทัพ ส่งบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้าย ถึงมือบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม ตามกำหนดภายใน 15 สิงหาคมนี้แล้ว

ตามขั้นตอนธุรการ ต้องส่งให้กรมเสมียนตรา ทำการ “ร้อยบัญชี” คือ นำบัญชีรายชื่อของทั้ง 3 เหล่าทัพ บก.ทัพไทย สำนักปลัดกลาโหม และสำนัก รมว.กลาโหม เรียงร้อยเข้าด้วยกัน ตามลำดับเหล่าทัพ

พร้อมกับการตรวจสอบประวัติของนายทหารที่มีชื่อเป็นนายพลใหม่ ตามนโยบายของนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ที่คาดว่าจะใช้เวลาราว 10 วัน จากนั้น จะมีการประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลของกลาโหม หรือ 6 เสือกลาโหม ที่มีนายสุทินเป็นประธาน เพื่ออนุมัติบัญชีรายชื่อทั้งหมด ในกรณีที่การจัดโผของแต่ละเหล่าทัพลงตัว

แต่ในกรณีนี้ เป็นช่วงที่นายสุทินจะเดินทางไปเยือนเพนตากอน ของสหรัฐ ตามคำเชิญของ พล.อ.ลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหมสหรัฐ 15-25 สิงหาคมนี้พอดี

ดังนั้น เส้นทางของบัญชีรายชื่อโยกย้ายทหารปี 2567 นี้ โผทหารนี้จะต้องส่งถึงกลาโหมก่อน 15 สิงหาคม เพราะสำเนาโผทหารนี้จะต้องเดินทางไปสหรัฐกับนายสุทินด้วย เพราะนายสุทินสามารถจะเรียกโผมาดูได้ เพราะในคณะมี พล.อ.สนิธชนกร่วมไปด้วย รวมทั้ง ผบ.อ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด ซึ่งเป็นนานทหารที่นายสุทินไว้วางใจ

ดังนั้น โผทหารครั้งนี้ นายสุทินจะได้ดู และร่วมหารือกับ พล.อ.สนิธชนก และ พล.อ.ทรงวิทย์ ขณะอยู่ที่สหรัฐด้วย และเตรียมการสำหรับการประชุม 6 เสือกลาโหม ที่จะมีขึ้นหลัง 25 สิงหาคม เมื่อนายสุทินกลับมา

 

ก่อนหน้านี้ หลังการประชุมสภากลาโหม 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสุทินได้หารือวงเล็กกับ ผบ.เหล่าทัพทั้งหมด ที่อาจเรียกว่า เป็นการอุ่นเครื่อง วง “6 เสือกลาโหม” ในการโยกย้ายครั้งใหญ่นี้ครั้งแรก เพื่อมอบนโยบายในการจัดโผ ทั้งเรื่องความเป็นธรรม และการควบคุมจำนวนนายพลให้เป็นไปตามนโยบาย

ที่เป็นมิติใหม่ ที่นายสุทินพยายามจะซึมลึกประชาธิปไตยในกองทัพ คือ การรับฟังความเห็น เพราะแม้จะเป็นอำนาจของ ผบ.เหล่าทัพก็ตาม

ในการให้สัมภาษณ์ช่วงหนึ่ง นายสุทินระบุว่า แม้ตนเองจะเป็น รมว.กลาโหมพลเรือน แต่ก็หาข้อมูลจากทุกฝ่าย รับฟังความเห็นจากทั้งระดับข้างบน กลาง และล่าง จากนายทหารชั้นผู้น้อยในเหล่าทัพ กลางคือคนที่จะมาเป็นในระนาบเดียวกัน ส่วนบน ก็คือฝ่ายการเมือง รวมถึงกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ ที่จะทำงานร่วมกับทหาร

ท่ามกลางการจับตามองว่า โผทหารใหญ่ครั้งแรกของรัฐบาลเพื่อไทย และ รมว.กลาโหมพลเรือน จะปฏิรูปกองทัพได้หรือไม่ แม้จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

โดยเฉพาะขั้วอำนาจในกองทัพ ที่แม้จะไม่อาจเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจที่ “3 ป.บูรพาพยัคฆ์” หยั่งรากลึกไว้ยาวนานก็ตาม แต่ก็อาจมีการร่วมแชร์อำนาจได้บ้าง

แน่นอนว่า การแต่งตั้ง ผบ.ทบ.คนใหม่ ฝ่ายการเมืองไม่อาจแตะต้องได้ก็ตาม แต่หากไม่ลงตัว ก็อาจเป็นช่องที่นายสุทินมีส่วนร่วมในการพิจารณาได้

ระหว่างบิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสธ.ทบ. ที่เคยเป็นเต็งหนึ่ง ก็เริ่มแผ่วลง หลังการเกษียณอัสดงไปของบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. และบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ อดีต ผบ.ทบ. ที่เป็นผู้สนับสนุนสำคัญ จน พล.อ.พนาขึ้นฟาสต์แทร็กมาตลอด ตั้งแต่เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นเสียบแม่ทัพภาคที่ 1

อย่างไรก็ตาม ชื่อของบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ผช.ผบ.ทบ. ก็มาแรงขึ้น เพราะเป็น ตท.24 และเคยถูก พล.อ.พนาแซงหน้านั่งแม่ทัพภาคที่ 1 มาก่อน จึงมีกระแสคืนความชอบธรรมมาสนับสนุน

แม้จะเป็นสายบูรพาพยัคฆ์คอแดง ในสาย 3 ป. แต่จุดแข็งของ พล.อ.ธราพงษ์ คือความซอฟต์ นิ่ง นุ่ม แม้จะโตจากสายกำลังรบ แต่ทว่า ก็ถูกมองเป็นสายพิราบ ที่ไม่ขัดแย้งอะไรกับใคร มีรอยยิ้มเสมอ ตามสไตล์นายทหารนุ่มนวล ที่เหมาะกับการเมืองที่ร้อนแรง เช่นที่เป็นอยู่ และในอนาคตอันใกล้

เพราะหากเป็น พล.อ.พนา จะมีภาพของการเป็นนายทหารสายบู๊ สายเหยี่ยวมากกว่า และเสียเปรียบที่เป็นรุ่นน้อง ตท.26 ที่ยังมีอายุราชการถึงกันยายน 2570

 

ดังนั้น จึงมีทางสายกลางที่ฝ่ายการเมืองก็ไม่หวาดระแวง และในกองทัพก็ไม่ขัดแย้งกัน คือ การให้ พล.อ.ธราพงษ์ เป็น ผบ.ทบ.ก่อน 2 ปี จะเกษียณกันยายน 2569 แล้วให้ พล.อ.พนา ขยับขึ้น ผช.ผบ.ทบ. รอลุ้นไปก่อน

หรือเพื่อยื้อเวลาที่จะข้ามไป บก.ทัพไทย เพื่อที่จะจ่อเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคอแดงคนต่อไป ในปลายปี 2568 แต่ทว่า บก.ทัพไทยก็มีกฎว่า ถ้า ทบ.จะส่งใครข้ามไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด จะต้องข้ามไปอยู่ก่อนอย่างน้อย 1 ปี ในตำแแหน่งรอง ผบ.ทหารสูงสุด ส่วนเก้าอี้เสนาธิการทหาร จะสงวนไว้ให้คนใน บก.ทัพไทยได้เติบโต

ดังนั้น ถ้า พล.อ.พนา ไม่ได้เป็น ผบ.ทบ.ในครั้งนี้ โอกาสที่จะต้องข้ามมา บก.ทัพไทย จึงมีสูงกว่า

บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ในหมวก ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ไม่อาจตัดสินใจคนเดียวในการเสนอชื่อ ผบ.ทบ.คนใหม่ แต่ยังมีโครงสร้างของ ฉก.ทม.รอ.904 มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะ ผบ.ทบ.ต้องควบ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยนอกเหนือจากคอแดงในกองทัพบก

แม้ พล.อ.ธราพงษ์ จะเป็น ตท.24 ที่จะทำให้ ตท.24 มีทั้งปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.ทอ.ก็ตาม แต่การเป็นนายทหารสายพิราบของ พล.อ.ธราพงษ์ ก็มีส่วนสำคัญที่ฝ่ายรัฐบาลสบายใจ

รวมถึงการที่ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุทินเองก็ไว้วางใจใน พล.อ.ทรงวิทย์ แกนนำรุ่น ตท.24 ที่เป็นนายทหารประชาธิปไตย จึงจะส่งผลดีต่อ พล.อ.ธราพงษ์ด้วย

“เรื่องรุ่นไม่ใช่ประเด็นแรกและประเด็นหลักในการเลือก ผบ.เหล่าทัพ เราดูที่ความรู้ ความสามารถ ในการยอมรับในกองทัพ แต่จะบังเอิญไปตรงกับรุ่นไหน ก็ไม่เป็นไร หรือจะบังเอิญตรงกับรุ่นเดียวกันทั้งหมด เราก็ต้องยอมรับ” นายสุทินระบุ

“ปัจจุบันบรรยากาศการเมืองเปลี่ยน ทหารก็ไม่เข้ามายุ่งแล้ว ถ้าเขาไม่ยุ่ง ก็ไม่มีผล แต่ต้องกำกับให้เป็นไปด้วยความเป็นธรรม ให้ได้คนที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุด” รมว.กลาโหมพลเรือนกล่าว

แต่ท้ายที่สุด หากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทำให้โผไม่ลงตัว นายสุทินยอมรับว่า อาจต้องมีการโหวตในบอร์ด 6 เสือกลาโหม หากตกลงกันไม่ได้ก็ต้องโหวต แม้ที่ผ่านมา จะไม่เคยต้องมีการโหวตก็ตาม ถ้าบริหารกันเองได้ ก็ไม่ถึงขั้นต้องโหวต

 

แน่นอนว่า ผบ.เหล่าทัพย่อมไม่ต้องการให้มีการโหวต เพราะอำนาจอยู่ในมืออยู่แล้ว ขณะที่นายสุทินก็คงไม่กล้าที่จะใช้การโหวตในการแก้ปัญหา ยกเว้น ผบ.เหล่าทัพยินยอมเอง

ที่น่าสังเกตคือ บทบาทของ พล.อ.ทรงวิทย์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสายตรงของ ผบ.เหล่าทัพอยู่แล้ว มีความใกล้ชิดและเป็นที่ไว้วางใจของทั้งนายเศรษฐาและนายสุทิน รวมทั้งบุคคลสำคัญในฝั่งรัฐบาล และได้รับการยอมรับว่าเป็นนายทหารที่มีแนวคิดทหารสมัยใหม่

จึงทำให้ท่าทีของ พล.อ.ทรงวิทย์ ถูกจับตามอง โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ พล.อ.ทรงวิทย์ ได้บรรยายพิเศษที่โรงเรียนเตรียมทหาร โดยยก Quote ของ William Shakespeare เป็นข้อคิดเตือนสติน้องๆ ทหาร ถึงหลักการที่ถูกมองว่า อาจจะนำมาใช้ในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ ในส่วนของ บก.ทัพไทย และสะท้อนแนวคิดในการโยกย้าย “Love all, trust a few, do wrong to none” “รักทุกคน ไว้ใจบางคน ไม่รังแกใคร”

“เมื่อมีอำนาจ ‘อย่ารังแกใคร’ เพราะจะติดเป็นนิสัย เพราะอำนาจไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป แต่ความเป็นมนุษย์ต่างหาก ที่จะอยู่กับเราจนวันสุดท้าย”

ที่หมายความว่า เมื่อท่านมีอำนาจ เมื่อท่านได้ปกครองคน ขอเพียงอย่างเดียวว่า อย่าใช้อำนาจไปรังแกคน เพราะเมื่อใดที่ท่านเข้าสู่วงจรในการรังแกคนแล้ว ก็จะทำเป็นนิสัยอย่างต่อเนื่อง เพราะคิดว่าอำนาจจะอยู่ติดกับตัวเราไปตลอด แต่จริงๆ ไม่ใช่ แต่ความเป็นมนุษย์ คือสิ่งที่จะอยู่กับตัวเราจนถึงวันสุดท้าย ไม่ใช่ความเป็นอำนาจ

“ดังนั้น เอื้อเฟื้อต่อคนอื่น ตัดสินเขาบนความยุติธรรม และการเลือกคนมาทำงานเพราะเราไม่สามารถเลือกทุกคนได้ Love all, trust a few, do wrong to none” พล.อ.ทรงวิทย์กล่าว ที่อาจสะท้อนได้ด้วยว่า ต้องเลือกคนมาทำงาน แต่ไม่สามารถเลือกทุกคนได้

ทั้งนี้เพราะนายทหารคนเก่งในกองทัพ โดยเฉพาะกองบัญชาการกองทัพไทย มีหลายคนที่รุ่นใกล้ๆ กัน อายุไล่เลี่ยกัน แต่ พล.อ.ทรงวิทย์อาจเลือกได้แค่ไม่กี่คน

จึงทำให้บิ๊กจุ๊ฟ พล.อ.ชิดชนก นุชฉายา ได้กลับมาเป็นพลเอก ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ บก.ทัพไทย ที่คาดกันว่า เพื่อมาเตรียมรอเป็นเสนาธิการทหาร ในโยกย้ายครั้งนี้

 

ดังนั้น จึงน่าจับตามองว่า หาก พล.อ.พนา พลาดเก้าอี้ ผบ.ทบ. ต้องข้ามไป บก.ทัพไทย แล้วจะได้เป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุด ตามหลักการ หรือจะเป็นเสนาธิการทหาร เช่นที่มีกระแสข่าวลือการต่อรอง เพราะตำแหน่ง เสธ.ทหาร มีบทบาทสำคัญมากกว่ารอง ผบ.ทหารสูงสุด

แต่ทหารคอเขียวอย่าง พล.อ.ชิดชนก อาจจะต้องทำใจ และอาจต้องหลบทางให้ พล.อ.พนา ที่จะมาเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคอแดงคนที่ 3 แม้ว่า พล.อ.ทรงวิทย์ จะอยากเปิดโอกาสให้ทหารคอเขียวได้เติบโต เพราะไม่มีข้อกำหนด หรือระเบียบใดที่ ผบ.ทหารสูงสุดเป็นทหารคอแดง เช่นเดียวกับคนที่จะเป็น ผบ.ทบ. แม้ไม่มีระเบียบกำหนดว่าต้องเป็นทหารคอแดง แต่เพราะ ผบ.ทบ.ต้องเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย

แต่ทว่า ดูจะกลายเป็นเทรดดิชั่นของทัพไทย และ ทบ.ไปแล้ว ที่จะต้องมาจากทหารคอแดง

จึงทำให้โผโยกย้ายทหารครั้งนี้ถูกจับตามองอย่างยิ่ง และถือเป็นการโยกย้ายใหญ่ครั้งแรกในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะแม้การเมืองจะแทรกไม่ได้ เพราะมีบอร์ด 6 เสือกลาโหม ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมปี 2551 แต่ รมว.กลาโหม จะมีถึง 2 เสียง หากต้องโหวต เพราะนอกจากมี 1 เสียงตามปกติแล้ว จะเป็นเสียงตัดสิน หาก 6 เสือฯ เสียงเท่ากัน 3 ต่อ 3 นั่นเอง

แต่ในเมื่อพรรคเพื่อไทยมีนโยบายปฏิรูปกองทัพ ก็อาจจะเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่โผนี้ก็เป็นได้