ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
1 ปี รัฐบาลเศรษฐา
ในสายตา ‘สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’
ทำไม่ได้ตามที่สัญญา
ผิดฟอร์ม จับงบฯ เหมือนยุค คสช.?
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ให้สัมภาษณ์มติชนสุดสัปดาห์ว่า ในฐานะศิษย์เก่าพรรคเพื่อไทย ยังคงมีความรู้สึก ความปรารถนาดี บวกกับความรู้สึกลุ้นให้รัฐบาลทำได้สำเร็จ เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยทำได้ก็เป็นประโยชน์กับประชาชน ถ้าเอานโยบายของไทยสร้างไทยไปทำได้ยิ่งดี เพราะเราไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่อย่าทำครึ่งๆ กลางๆ เพราะถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้ ปีหน้ายังไม่มีอะไรดีขึ้น จะเป็นผลเสียมากว่า
ที่ผ่านมามีการตอบโต้จากฝั่งรัฐบาล แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดผลงาน ไม่ต้องมาตอบโต้เรา การที่นายกฯ เศรษฐาบอกว่าการวิจารณ์ “เลอะเทอะ” แต่การกระทำที่ไม่รักษาสัญญาในการหาเสียงหรือการที่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงได้ ไม่ใช่การกระทำที่เลอะเทอะหรือ ที่สำคัญไม่อยากให้มองว่าการที่ฝ่ายค้านออกมาพูดเป็นการดิสเครดิต เพราะถ้าหากฝ่ายค้านพูดไม่มีเหตุผลไปด่าแบบไม่มีเหตุผล เราก็ต้องรับกรรมของเราเอง คนจะด่าเราเอง
แต่ถ้าติเพื่อก่อก็อยากให้ฟังบ้าง
: 1 ปี รัฐบาลเศรษฐา อยากจะทวงสัญญาอะไรบ้าง
ต้องแบ่งเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรก อะไรที่สัญญาไว้ก่อนการเลือกตั้งทำไม่ได้เลย เรื่องการเมืองเห็นชัดเจนการไม่จับมือ 3 ป. อันนี้ทำไม่ได้ตามสัญญาแน่ๆ
ส่วนเรื่องนโยบาย หลายนโยบายเป็นนโยบายที่ดี ถึงแม้ว่าเราจะเป็นฝ่ายค้านก็สนับสนุน แต่ปรากฏว่ารัฐบาลทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เพราะฝ่ายค้านจะไม่สนับสนุน
ตั้งแต่นโยบาย ดิจิทัล wallet 10,000 บาท ว่าจะทำทันที หรือเรื่องลดค่าน้ำ ค่าไฟ ก็ลดได้ไม่นาน เพราะว่าไม่ได้ลดโดยการปรับโครงสร้างแบบที่เคยหาเสียง ท้ายที่สุดกองทุนพลังงานก็รับไม่ไหว ไม่กล้าที่จะแตะทุนใหญ่ กรณีค่าไฟแพง ค่าน้ำมันเราแพงเกินเหตุ แต่บริษัทเหล่านี้กำไรเพิ่มขึ้น
ส่วนตัวค่อนข้างแปลกใจว่ารัฐบาลตั้งแต่ยุคไทยรักไทย หรือต้นตระกูลของเพื่อไทย เมื่อออกนโยบายมาแล้วมักทำได้จริงจนเกิดแรงศรัทธา แต่ครั้งนี้มันค่อนข้างที่จะผิดฟอร์ม
บอกว่าจะทำให้ปัญหาปากท้องดีขึ้น คนไทยจะมีกินมีใช้แน่นอนเมื่อเป็นรัฐบาล แต่วันนี้ไม่ได้ทำแล้วยังตรงกันข้าม จะเห็นว่าเศรษฐกิจแย่มาก กลับกันกับสมัยต้มยำกุ้ง ตั้งแต่คนชั้นกลางลงไปถึงชาวนา เกษตรกร คนใช้แรงงานหมดตัว หนี้สินล้นพ้น
วันนี้ปากท้องของคนชนชั้นกลางลงไป ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกำลังจะตายหมดแล้ว อยู่ในสภาพที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้ไม่พอรายจ่าย หนี้สินท่วมหัว จะเห็นว่าหนี้ครัวเรือนสูงถึง 91.3% หรือมากกว่า 16 ล้านล้านบาท ยังไม่นับรวบหนี้นอกระบบซึ่งดอกเบี้ยสูงมากร้อยละ 240 ต่อปี
ขณะที่คนรวยเสียดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 3-4 สะท้อนให้เห็นความล่มสลายของฐานราก
สิ่งที่ตกใจคือหนี้เสียประมาณ 1 ล้านล้านบาท คือหนี้ที่กู้มากิน กู้มาใช้ และหนี้เสียที่กำลังทะยานขึ้นอย่างไม่หยุด คือ หนี้เสียที่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ
หมายความว่าคนไทยจำนวนมากถูกยึดบ้าน ถูกยึดรถไปแล้วและกำลังจะถูกยึดเพิ่มขึ้น 20-30%
ตรงนี้คือสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้แก้ ภาคธุรกิจ SME โรงงานต่างๆ ตอนนี้ปิดตัวมาก คนตกงานเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้มีมาตรการที่จะเข้าไปช่วยแก้หนี้เติมทุนให้ SME อยู่ได้
แต่ขณะเดียวกันนายกฯ พยายามไปชวนคนมาลงทุน แต่ละเลยการดูแลทั้งภาคธุรกิจภายในประเทศ ละเลยการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนรายบุคคล
ถ้ามาดูตัวเลขการจัดงบประมาณปี 2568 นอนหลับไป 10 ปี ตื่นขึ้นมานึกว่าจัดทำโดยรัฐบาลสมัย คสช. เพราะยังให้ความสำคัญกับเรื่องของความมั่นคง ซึ่งสูงกว่างบประมาณด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยังมากกว่างบประมาณทางด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกคนรู้ว่าตอนนี้เรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นแค่เรื่องน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องกระเทือนไปถึงภาคอุตสาหกรรม ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าเป็นเรื่องคาร์บอนเครดิต คาร์บอนแทค
เมื่อมาดูงบฯ ด้านอื่นๆ ยกตัวอย่าง งบฯ ด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ ซึ่งหมายถึงสร้างสะพาน ถนน มากถึง 200,000 ล้านบาท ปรากฏว่าเมื่อเทียบกับงบฯ การท่องเที่ยวที่หวังว่าเป็นเครื่องยนต์เดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลับมีแค่ 11,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันงบฯ ด้านอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท ซึ่งด้านนี้เป็นปัญหาที่เราไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีทักษะที่จะผลิตสินค้าที่โลกต้องการในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมจัดงบฯ ให้ 4,900 ล้านบาท น้อยกว่าอดีต
แค่ยกตัวอย่างยังสะท้อนให้เห็นว่าวิธีการคิดของรัฐบาลไม่ได้คิดสำหรับอนาคต ไม่ได้คิดที่จะรองรับโลกยุคใหม่ เพื่อจะ reskill upskill ให้ทั้งประชาชนวัยทำงานหรือวัยเรียน ไม่มีเรื่องของการปรับโครงสร้างระยะยาว
เข้าใจว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต้องใช้เวลา แต่เรายังไม่ได้เห็นใน IGNITE Thailand เราอยากจะเป็นฮับต่างๆ เป็นไม่ได้ ถ้าพื้นฐานเรายังล้าสมัยแบบนี้ ยังคิดเหมือนกับสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ไปลงงบฯ 200,000 ล้านบาทให้กับการสร้างถนน แต่ infrastructure สมัยนี้คือเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของโลกใหม่ ที่ต้องเตรียมพร้อมให้กับประชาชน นักเรียน ผู้ประกอบการ
แต่เราเห็นความสำคัญของการปรับโครงสร้างตรงนี้น้อยมาก
: ในอดีตเพื่อไทยสัญญาอะไรทำได้ทันที แล้วตอนนี้?
รู้สึกแปลกใจเหมือนกันว่าทำไมนโยบายแต่ละนโยบายตอนหาเสียง เหมือนยังไม่ได้คิดแต่พูดไปก่อน พอถึงหน้างานก็คิดไปทำไป แล้วก็เหมือนทำท่าจะไม่สำเร็จ เหมือนกับฝีมือคนทำมือตก อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นคนใหม่ๆ มาทำ คนเก่าๆ ก็ไม่ได้อยู่หรือออกจากพรรคเพื่อไทยกันหมดแล้ว คนที่เคยทำในอดีตในยุคไทยรักไทยแทบจะเหลืออยู่ไม่กี่คน
: ทั้งที่คุณทักษิณ ชินวัตร อยู่ในเมืองไทย อะไรน่าจะง่ายขึ้น
นายกฯ ทักษิณต้องทำงานหนัก เพราะนอกจากเป็นผู้นำจิตวิญญาณ ต้องยอมรับว่านายกฯ ทักษิณคือมันสมองของพรรคตระกูลไทยรักไทยจนมาถึงเพื่อไทย ท่านเป็นคนเก่ง คนฉลาด และเป็นคน implement เก่งด้วย ทุกนโยบายนายกฯ ทักษิณคิดหมด แต่คนทำทำไม่เป็นหรือเปล่า ต้องให้นายกฯ ทักษิณลงมาทำเองด้วยหรือ
แต่ตอนนี้เหมือนนายกฯ ทักษิณคิดได้ แต่คน implement ไม่เก่งหรือเปล่า
เพื่อไทยคงไม่มีทางเลือก เราอาจจะเห็นหลังเดือนสิงหาคม รู้สึกต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะว่าภารกิจในการกู้เศรษฐกิจ กู้พรรคเพื่อไทยให้ทันก้าวไกล คะแนนเสียงทั้งหมดต้องยอมรับว่าอยู่ที่นายกฯ ทักษิณคนเดียว
ท่านก็คงต้องแบบเดินสายทั้งประเทศที่จะดึงคะแนนเพื่อไทย ผลงานกลับมาให้ได้
: เสียงสะท้อนอะไรที่ได้ยินจากประชาชนตอนลงพื้นที่
โอ้แปลก! ตอนลงพื้นที่ไม่ว่าจะอยู่วงไหนจะบ่นเรื่องปากท้อง ข้าวของแพงทุกอย่าง กำลังซื้อหดขายไม่ดี ตลาดเงียบ แล้วก็จะพูดว่าสู้สมัยลุงตู่ไม่ได้ เราแปลกใจนะ ซึ่งมันไม่น่าใช่ ความหวังของเราในการเลือกตั้งก็หวังว่าถึงแม้เขาจะข้ามขั้ว แต่ก็ยังเชื่อฝีมือในอดีตน่าจะหลงเหลืออยู่ในเพื่อไทยบ้าง แต่ปรากฏว่า 1 ปีมามันตอบโจทย์ตรงนี้ไม่ได้
แต่มันแปลกตรงที่ว่า นโยบายที่จะแก้ไขปัญหาปากท้องที่เขาบอกว่าเศรษฐกิจแย่ คนแก้ต้องเพื่อไทย วันนี้มันไม่ใช่แล้ว เกือบปีแล้วยังทำไม่ได้
นโยบายที่ออกมาแต่ละเรื่อง เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วแทบจะไม่พูดนโยบายที่เคยหาเสียง ยกเว้น Digital wallet แต่กลับมีนโยบายที่ตอนหาเสียงไม่ได้พูด เช่น Entertainment Complex ก็คือบ่อน จะให้ License 5-9 ใบ Landbridge หรือการให้เช่าที่ดิน 99 ปี ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นเรื่องของการให้สัมปทานกับนายทุนหรือคนต่างชาติ อย่างแรกเลยทางด้านเศรษฐกิจเราอาจจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้ คนไทยอาจจะได้การจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ถามว่าแล้วเศรษฐกิจที่ได้เป็นการกระจุกหรือกระจาย เรากำลังสร้างสัมปทานผูกขาดเพิ่มอีกหนึ่งธุรกิจ ชาวบ้านได้แค่เป็นลูกจ้างแรงงานเพิ่ม แต่รายได้มันจะขึ้นไปอยู่ส่วนยอดก็คือเจ้าของสัมปทานนั้นๆ
การให้สัมประทานแบบนี้จะมีเรื่องทุจริตหรือเปล่า กลายเป็นนักการเมือง นายทุนรวย ประชาชนได้แค่เศษเนื้อ แต่เงินทั้งหมดไม่ได้กระจายความมั่งคั่งให้กับคนทั้งประเทศ
ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ดังนั้น มันจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลผู้สูงอายุด้วยบำนาญประชาชนของนโยบายไทยสร้างไทย
ดังนั้น มีอย่างเดียวที่คุณทำ และถือว่าทำให้นโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สำเร็จอย่างเดียวเท่านั้น คือที่บอกว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รัฐบาลนี้ก็สานต่อเรียบร้อยแล้ว ประเทศไทยไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลังเลย
เพราะเราให้คนอื่นแซงไปหมด เราอยู่รั้งท้าย ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศด้านเทคโนโลยี แม้แต่เรื่องดัชนีคอร์รัปชั่น
: เราจะได้แห็นแสงสว่างของประเทศเมื่อไหร่
ถ้าทำแบบนี้ลำบากทั้งระยะสั้นและการปรับตัวสู่เศรษฐกิจของโลกยุคใหม่ ที่จะทำให้เราเพิ่ม GDP ได้จริงๆ การเพิ่ม GDP ยังวนเวียนอยู่กับการทำถนน การแจกเงินไม่มีทางเพิ่ม GDP ได้จริง
การจะเพิ่ม GDP ได้จริงและยั่งยืน คือการปรับโครงสร้างเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงวัย สร้างคุณภาพของเด็กไทยตั้งแต่อยู่ในครรภ์
ดังนั้น จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาเร่งด่วนเหล่านี้ ก่อนที่จะชวนคนอื่นมาลงทุน หันกลับมาดูปากท้องคนไทยและธุรกิจของคนไทยต้องอยู่ได้ ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องทำควบคู่ทันที คือ ต้องปรับโครงสร้างประเทศระยะยาว ถึงแม้ว่าคุณจะมองแล้วว่ามันต้องใช้เวลา คุณจะไม่ได้คะแนนเสียง แต่ถ้าทำเพื่อประชาชนด้วยหัวใจจริงๆ คุณจะต้องทุ่มเทใช้มันสมอง
GDP ของประเทศหรือความมั่งคั่งของคนไทยจะไม่ได้เกิดขึ้นจากการทุ่มเททำ Digital wallet และงบฯ ทำถนนที่ทุ่มเทกันไป แต่มันเกิดจากการที่จะต้องคิดว่ารากของปัญหาคืออะไร และแก้อย่างไรถึงจะตรงจุด
ชมคลิป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022