ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
สัปดาห์หน้าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล จากนั้นศาลก็จะวินิจฉัยคดีถอดถอนคุณเศรษฐา ทวีสิน อีก
และไม่ว่าจะชอบพรรคก้าวไกลและคุณเศรษฐาหรือไม่ หากพิจารณาคดีทั้งสองโดยไม่นึกถึงพรรคและคนที่ถูกดำเนินคดี วิญญูชนย่อมเห็นว่าทั้งก้าวไกลและคุณเศรษฐาไม่ควรถูกดำเนินคดีเลย
ก้าวไกลเป็นพรรคชนะอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญคดียุบเหมือนไทยรักไทย, พลังประชาชน และอนาคตใหม่
ขณะที่คุณเศรษฐาเป็นนายกฯ ซึ่งกำลังเผชิญคดีถอดถอนเหมือนคุณทักษิณ ชินวัตร และคุณสมัคร สุนทรเวช ซึ่งหมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจชี้ชะตาพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรีในประเทศนี้มาแล้วเกือบ 20 ปี
คนที่เชียร์ยุบพรรคหรือเชียร์ถอดถอนคุณเศรษฐาอาจตะโกนว่าถ้าไม่ผิดก็ไม่โดนคดี
แต่การกระทำไหนจะผิดหรือไม่ในคดีแบบนี้เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนด ยิ่งไปกว่านั้นคือการลงโทษว่าการกระทำจะต้องถูกยุบพรรคหรือปลดจากตำแหน่งนายกฯ ก็เป็นเรื่องที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน
ความหมายตามตัวอักษรของรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่ความจริงของประเทศคือรัฐธรรมนูญสามฉบับหลังปี 2549 ล้วนเกิดจากคณะรัฐประหารเขียนเองตรงๆ หรือไม่ก็คณะรัฐประหารอำนวยการเขียน
ใครจะมีคดีหรือไม่จึงเกิดจากกติกาที่ไม่ได้มาด้วยหลักกฎหมายปกติตลอดเวลา
ไม่ว่าจะในคดียุบก้าวไกล, คดีถอดถอนคุณเศรษฐา, คดียุบไทยรักไทย, คดียุบพลังประชาชน หรือคดีไหนๆ บทบาทผู้ตัดสินลักษณะนี้ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่ามีอำนาจเกินไปหรือไม่ วินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายหรือเปล่า มาจากไหน
หรือแม้แต่คำวิจารณ์ว่าคำวินิจฉัยทำลายสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตยหรือไม่
“ดีเบต” เรื่องศาลควรมีบทบาทแค่ไหนในปริมณฑลการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ที่พูดเยอะในทุกสังคม แม้กระทั่งสหรัฐเองก็มีการโต้เถียงกันว่า “ศาลสูง” ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ อยู่เหนือกฎหมาย เพราะมีการพิพากษาว่าทรัมป์มีเอกสิทธิ์คุ้มครองต่อการกระทำต่างๆ ที่เป็นหน้าที่ช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
ทรัมป์เป็นอดีตประธานาธิบดีและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่อื้อฉาวที่สุดในสหรัฐอเมริกา เขาพยายามล้มผลการเลือกตั้งปี 2020 และคำตัดสินของศาลทำให้การดำเนินคดีทรัมป์เรื่องล้มผลเลือกตั้งต้องล่าช้าออกไป เพราะศาลชั้นต้นต้องไปวินิจฉัยก่อนว่าการกระทำไหนเป็นหน้าที่ประธานาธิบดีหรือไม่เป็น
ถ้าไม่มีคำตัดสินศาลสูงแบบนี้ ศาลอื่นก็สามารถตัดสินได้เลยว่าทรัมป์ผิดกฎหมายหรือไม่ในการแทรกแซงการรับรองผลการเลือกตั้งที่ไบเดนชนะในปี 2020
แต่เมื่อศาลสูงวินิจฉัยแบบนี้ ศาลอื่นก็ต้องไปวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าการแทรกแซงผลการเลือกตั้งเป็น “การกระทำตามหน้าที่ประธานาธิบดี” หรือไม่เป็น
ด้วยคณะผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐชุดปัจจุบันซึ่ง 3 คนถูกแต่งตั้งโดยทรัมป์ จำนวนผู้พิพากษาหัวอนุรักษนิยมพุ่งขึ้นเป็น 6 จากคณะผู้พิพากษาทั้งหมด 9
ซึ่งเท่ากับ “ฝ่ายขวา” คุมเสียงข้างมากในศาลในที่สุด
คำวินิจฉัยคดีทรัมป์กรณีนี้ถูกตีความว่าเป็นหลักฐานที่ศาล “เอียงขวา” จนทำลายประชาธิปไตยในอเมริกา
ตรงข้ามทรัมป์ที่บอกว่าคำตัดสินปกป้องประธานาธิบดีจน “เป็นชัยชนะของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย” แต่ โจ ไบเดน กลับระบุว่าคำวินิจฉัยทำลายหลักคนเท่ากันและนิติธรรม เพราะสหรัฐเกิดบนหลักการไม่มีกษัตริย์ แต่ละคนเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย แต่คำตัดสินนี้กลับคุ้มครองประมุขเหนือกว่าคนธรรมดา
คนไทยชอบบ่นว่าทหารและคนฆ่าประชาชนตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, การปราบปรามคนเสื้อแดงปี 2553, ม็อบราษฎรปี 2563, การฆ่าหมู่กรือเซะ-ตากใบ ฯลฯ ลอยนวลโดยไม่ต้องรับผิดอะไร (Immunity)
และคำตัดสินศาลสูงสหรัฐก็ถูกวิจารณ์ว่าทำให้ทรัมป์ลอยนวลโดยทำอะไรไม่ผิดเช่นกัน
เห็นไหมครับว่าบทบาทต่อเรื่องการเมืองแบบนี้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปหมด และถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญของไทยจะต่างจากศาลสูงของสหรัฐ คำวินิจฉัยของศาลที่มีต่อ “การเมือง” ย่อมถูกตั้งคำถามได้ทั้งสิ้นว่าตัดสินได้มีเหตุผลหรือไม่ และแม้แต่ศาลเป็นหรือไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย
สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “ศาล” กับ “ประชาธิปไตย”
ข้อถกเถียงพื้นฐานสำคัญที่สุดคือต้นกำเนิดของศาลมาจากไหน, องค์ประกอบคณะผู้พิพากษาเป็นอย่างไร, เขตอำนาจของศาลใน “เรื่องการเมือง” (Political Sphere) มีมากแค่ไหน และความรับผิดชอบของศาลต่อสาธารณะเป็นอย่างไร
ตรงข้ามกับการอ้างลอยๆ ว่าศาลเป็นกลางและผู้พิพากษาตัดสินคดีตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม การตั้งคำถามแบบนี้ทำให้เห็น “ความเป็นการเมือง” ในศาลและในผู้พิพากษาว่ามีผลต่อคดีเยอะไปหมด ผลก็คือศาลต้องตัดสินโดยอิงหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงให้แม่นยำเพื่อสร้างคำพิพากษาที่สิ้นสงสัยได้จริงๆ
ในกรณีศาลสูงสหรัฐที่ตัดสินคดีทรัมป์จนความผิดจากการล้มผลเลือกตั้งชะลอไป ศาลถูกวิจารณ์ประกอบหลักฐานจนเป็นที่ประจักษ์ว่า “เอียงขวา” ถึงขั้น “ยอมรับวาระของฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” เพราะทำให้เกิดระบอบที่ประธานาธิบดีลอยนวลพ้นผิดในความเป็นจริง (De Facto Presidential Immunity)
ในบริบทของศาลสูงสหรัฐ คำวิจารณ์ศาลเรื่องต้นกำเนิด, องค์ประกอบ, เขตอำนาจ และความรับผิดชอบต่อสาธารณะนั้นช่วยให้เห็นว่าศาลอาจ “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” ประชาธิปไตย
แต่ในบริบทของประเทศที่ใช้ระบบศาลรัฐธรรมนูญ คำถามอีกชุดที่เกิดขึ้นคือแล้วใครจะเป็นฝ่ายควบคุมศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นประดิษฐกรรมทางกฎหมายที่เพิ่งเกิดในโลกไม่ถึงร้อยปี ต้นกำเนิดของประดิษฐกรรมนี้มาจากความคิดว่าควรมีองค์กรมาทำหน้าที่ “บังคับให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ” ในกรณีที่สถาบันการเมืองไม่ใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือพูดง่ายๆ ศาลทำหน้าที่ให้รัฐธรรมนูญถูกปฏิบัติจริงๆ
นักคิดที่มีบทบาทให้เกิด “ศาลรัฐธรรมนูญ” คือ “ฮานส์ เคลเซน” ซึ่งเริ่มต้นแนวคิดนี้ด้วยสมมุติฐานว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายล้วนกำเนิดจากบรรทัดฐานของสังคม (General Theory of Norms) ศาลรัฐธรรมนูญจึงทำหน้าที่ควบคุมให้สถาบันการเมืองทำตามบรรทัดฐานที่เป็นต้นกำเนิดกฎหมายตลอดเวลา
อาจสรุปง่ายๆ ว่าแนวคิดนี้ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญคือ “ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” (The Guardian of the Constitution)
ปัญหาคือแม้ “บรรทัดฐานของสังคม” จะเป็นสิ่งที่เหมือนทุกคนจะเข้าใจตรงกัน แต่ความจริงแล้วแต่ละคนอาจเข้าใจเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน และสิ่งที่ถือว่าเป็น “บรรทัดฐานของสังคม” อาจเกิดจากการทึกทักไปเองของคนบางกลุ่ม รวมทั้งการตัดสินไปเองของศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุดังนี้ แนวคิดในการสร้างองค์กรที่เรียกว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จึงถูกวิจารณ์ตั้งแต่ต้นโดยนักกฎหมายและนักทฤษฎีการเมืองคนสำคัญอย่าง “คาร์ล ชมิทท์” ว่าสิ่งสำคัญกว่าการมีศาลรัฐธรรมนูญคือคำถามว่าใครจะเป็นผู้เฝ้าระวังศาลรัฐธรรมนูญ (Who guards the guardians?)
เห็นได้ชัดว่าแนวคิดเรื่องการตั้งศาลเพื่อบังคับให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญต่างจากแนวคิดเรื่องใครเป็นผู้ควบคุมศาลรัฐธรรมนูญ แนวคิดแรกเชื่อว่ารัฐธรรมนูญมาจากบรรทัดฐานในสังคมจนถูกแล้วที่ศาลทำตามรัฐธรรมนูญ ส่วนแนวคิดที่สองไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญและศาลวางอยู่บนบรรทัดฐานของสังคมจริงๆ
ยกตัวอย่างง่ายๆ ศาลรัฐธรรมนูญไทยมักตัดสินคดีโดยอ้างว่าเพื่อปกป้อง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ถ้าคิดแบบเคลเซนคือระบอบนี้เป็น Norm ซึ่งศาลมีหน้าที่บังคับให้ทุกคนปฏิบัติตามขั้นลงโทษบุคคลหรือพรรคการเมืองที่ทำผิดจากบรรทัดฐานนี้ได้ทันที
อย่างไรก็ดี แม้ “บรรทัดฐานของสังคม” จะเป็นสิ่งที่เหมือนทุกคนจะเข้าใจตรงกัน แต่ความจริงแต่ละคนอาจเข้าใจเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน ระบอบนี้จึงอาจเป็นสิ่งที่คนบางกลุ่มกำหนดให้คนกลุ่มอื่นต้องปฏิบัติตามเท่านั้นก็เป็นได้ เช่นเดียวกับการนิยามว่าอะไรคือระบอบนี้ และอะไรเป็นภัยคุกคามระบอบนี้โดยตรง
สังคมไทยสร้างศาลรัฐธรรมนูญเพราะเชื่อว่าศาลบังคับให้ทุกคนทำตามรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาคือประเทศนี้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญแล้ว 3 ฉบับในเวลา 18 ปี รัฐธรรมนูญจึงสะท้อนบรรทัดฐานสังคมน้อยกว่าความปรารถนาของผู้มีอำนาจ การบังคับให้ทำตามรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้เท่ากับการทำตามสังคมทุกกรณี
ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรถกเถียงเรื่องศาลรัฐธรรมนูญว่าใครคือคนที่จะควบคุมให้ศาลทำหน้าที่ตามบรรทัดฐานที่ควรจะเป็นจริงๆ ในระบอบประชาธิปไตย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022