ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
7 สิงหาคม พ.ศ.2567 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)
ที่มาของคดีนี้สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2567 ว่าการที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) และพรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ…. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง
โดยส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ระบุว่า
“การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดําเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกโจมตี ติเตียน โดยไม่คํานึงถึงหลักการพื้นฐานสําคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีหลักสําคัญว่าพระมหากษัตริย์ต้องดํารงฐานะอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมือง การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชํารุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด”
ก่อนที่ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นฐานทางกฎหมาย ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งจะมีคำตัดสินในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
ยิ่งวันอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญงวดเข้ามาเท่าใด พรรคก้าวไกลยิ่งเร่งสื่อสารกับประชาชนเข้มข้นขึ้นเท่านั้น
28 กรกฎาคม พ.ศ.2567 เพจเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล ปล่อยคลิปวิดีโอเชิงสารคดี ความยาว 7.52 นาที เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับคดียุบพรรคก้าวไกล ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2567 พร้อมเขียนข้อความระบุว่า
“คดียุบพรรคที่ #ก้าวไกล กำลังเผชิญอยู่ ย่อมไม่ต่างกับสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่เผชิญเมื่อ 4 ปีที่แล้ว หรือพรรคการเมืองต่างๆ เจอมาในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา
การยุบพรรคอาจจะยุบได้แค่องค์กรนิติบุคคล แต่ไม่สามารถหยุดชุดอุดมการณ์เช่นนี้ได้ และเราจะเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าวันที่ 7 สิงหาคมนี้จะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
จากอนาคตใหม่ สู่ก้าวไกล สู่อนาคต”
ตามมาด้วยคลิปที่สองเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2567 พร้อมข้อความ
“หากพรรคการเมืองเกิดขึ้นมาได้ด้วยการสนับสนุนจากประชาชน ก็ย่อมตายด้วยประชาชน และเรื่องราวต่อไปนี้คือการพิจารณาพรรค #ก้าวไกล ว่าประชาชนจะสนับสนุนต่อไปหรือไม่…”
ตามด้วยการเชิญชวนประชาชน ร่วมติดตามความคืบหน้าคดียุบพรรคก้าวไกล โดยชัยธวัช ตุลาธน และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีกำหนดการร่วมแถลงข่าวในวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป เพื่อชี้แจงเนื้อหาและสรุปข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดี ที่พรรคก้าวไกลส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล 7 สิงหาคมนี้
รวมถึงเชิญชวนประชาชนร่วมรับฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคก้าวไกล ในข้อหาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมกัน ณ อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2567 ตั้งแต่เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป
แม้กระแสสังคมอาจเชื่อไปแล้วว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะไม่เป็นคุณต่อพรรคก้าวไกล แต่การต่อสู้ทางกฎหมายของพรรคก้าวไกลยังคงมีความจำเป็น
ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ “ใบตองแห้ง” อธึกกิต แสวงสุข ในรายการประชาธิปไตยสองสี ทางช่อง YouTube มติชนทีวี ว่า การเมืองไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นประสบการณ์ร่วมกันของคนในสังคมไปแล้วว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยม มันเป็นไปด้วยการยุบพรรคอยู่เสมอ จนทำให้สังคมเกิดความเคยชินทั้งที่เป็นเรื่องผิดปกติ
ปิยบุตรกล่าวว่า โลกใบนี้เวลาเขาเข้าสู่ระบบนิติสงคราม เขาไม่ใช้อาวุธปืน แต่ใช้กฎหมาย ดังนั้น ต่อให้เขาใช้กฎหมายผิดวิปริตอย่างไรก็ตาม มันจะมีกติกาอะไรในทางกฎหมายอยู่บ้าง ซึ่งเราจะเข้าไปอธิบายว่าเขาใช้ผิด เขาใช้แบบประหลาดๆ อย่างน้อยมันคืออะไร มันทำลายความชอบธรรมลงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าทุกคนบอกไม่ต้องไปพูดหรอก มันมีธง อย่างนี้มันก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
รู้สึกดีใจที่เห็นพรรคก้าวไกลสู้คดีอย่างเต็มที่ เล่าให้ประชาชนฟังว่าพรรคสู้คดีอย่างไร อย่างน้อยที่สุดในฐานะที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้ถูกกระทำ ต้องอธิบายให้สังคมเห็นว่ากระบวนการทางกฎหมายที่ใช้กันทุกวันนี้มันผิดพลาดผิดเพี้ยนอย่างไร ซึ่งในระยะหลังเห็นนักวิชาการออกมาพูดกันค่อนข้างน้อย จึงอยากเห็นนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ในมหาวิทยาลัยออกมาพูดกันให้มากขึ้น
ปิยบุตรกล่าวต่อว่า การคิดว่าหากถูกยุบพรรคแล้วจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาแทนเพื่อลงเลือกตั้งในครั้งต่อไป และหวังว่าจะชนะการเลือกตั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
“พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล ที่ได้คะแนนนิยมสูงอยู่ในกระแสตลอดเวลา มาจากความหวัง คนเชื่อว่ายานพาหนะที่ชื่ออนาคตใหม่-ก้าวไกล จะเป็นยานพาหนะที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้ นั่นก็หมายความว่าประชาชน ผมใช้คำว่า Politicize ตัวเอง ซึ่งมันเป็นผลพลอยได้มาจากการรัฐประหารต่อเนื่องยาว ทีนี้ฝั่งผู้มีอำนาจต้องการจะ Depoliticize พลเมือง ให้พลเมืองเลิกคิดเรื่องส่วนรวม” ปิยบุตรกล่าว
และว่ายกตัวอย่างง่ายๆ Politicize คือ ณ เมื่อไหร่ก็ตามคุณคิดถึงเรื่องคนอื่น คุณคิดถึงเรื่องสังคม คุณคิดถึงเรื่องส่วนรวม แต่ถ้าวันหนึ่งคุณคิดวันนี้ฉันมีเงินเท่าไหร่ ฉันจะซื้อบ้านได้เมื่อไหร่ ซื้อรถเมื่อไหร่ (โดยที่เลิกคิดเรื่องสังคม) นี่คือค่อยๆ Depoliticize ตัวเอง
จังหวะที่คน Politicize ตัวเองมากขึ้น มันมียานพาหนะนี้ (อนาคตใหม่-ก้าวไกล) ออกมาพอดี ผมลองจินตนาการดูว่า ถ้าเลือกตั้ง พ.ศ.2570 แล้วก้าวไกลยังไปไม่ถึงฝัน พอถึง พ.ศ.2574 คนอาจจะลงจากยานพาหนะนี้แล้ว
“ก้าวไกลเวลาคนเขาเลือก เขาไม่ได้เลือกจากฉีดยุงลายถูกไหม เขาไม่ได้เลือกจากทำหมันหมา เขาเลือกจาก โอ้โห คุณแบบเข้าไปเปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ต่างๆ นานา ซึ่งถึงเวลาทำได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่วันนี้เขาเชื่อว่าฝากความหวังไว้ที่คุณไปทำ แต่ถ้าเมื่อไหร่คนบอกไอ้อย่างนั้นมันไกลเกินจริง เป็นไปไม่ได้แล้ว เราเลือกจาก ส.ส.เขตที่ดูแลเราดีกว่า ถ้าคนเริ่มคิดแบบนี้มากเท่าไหร่คะแนนของพรรคก้าวไกลจะหายลงไปทันที” ปิยบุตรกล่าว และว่า
แน่นอนว่าปัญหาของพี่น้องประชาชนสำคัญมาก ต้องแก้ แต่คุณต้องพยายามผูกโยงให้เห็นว่า ปัญหารายวันบันเทิงแบบที่พวกเราเจอนี้มันโยงกับระบบทั้งระบบ ปัญหาน้ำไม่สะอาด ปัญหาน้ำไม่ไหลทางไม่ดีพวกนี้โยงเข้ากับการกระจายอำนาจ ปัญหาเรื่องที่ ส.ส.ต้องมาฉีดยุงลาย ทำหมันหมา ก็โยงเข้ากับกระจายอำนาจ ปัญหาเรื่องที่ดินก็โยงเข้ากับระบบภาษีได้ ระบบกลุ่มทุนผูกขาดได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ทุกเรื่องถูกย่อยให้เป็นปัญหาเชิงจุลภาค เมื่อนั้น ส.ส.หน้าใหม่แบบก้าวไกลลงไปมันก็ไม่มีใครเลือก เขาก็เลือกคนที่ดูแลเขาได้ดีที่สุด
แต่ก่อนอื่น 7 สิงหาคมนี้ เชิญชวนจับตาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยพร้อมเพรียงกัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022