“ศาลรัฐธรรมนูญ” ปิดเกม | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

สถานการณ์ทางการเมืองในเดือนสิงหาคม มีเรื่องให้ลุ้นระทึกกันหลายวาระ ประเดิม “สถานีแรก” วันที่ 7 สิงหาคม “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีโปรแกรมนัดติดสินชี้ชะตา “ยุบพรรคก้าวไกล” จากกรณีที่ “กกต.” ยื่นร้อง ว่ามีพฤติการณ์ “กระทำการล้มล้างการปกครอง อันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

เสนอยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง(1) และ (2) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567

“คณะกรรมการการเลือกตั้ง” มีมติเป็นเอกฉันท์ยื่นยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 “ศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาแล้วและมีมติรับคำร้อง เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน และให้ผู้ถูกร้องส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

“พรรคก้าวไกล” ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน และได้ยื่นบัญชีเพิ่มเติมหลายจังหวะ ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 14 มิถุนายน ครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 พร้อมยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเป็นพยานบุคคลเพิ่มอีก 10 ปาก

“ก้าวไกล” ยกทุกตำรา ใช้ทุกกลยุทธ์ ดึงจังหวะ เตะถ่วง ประวิงเวลาก็แล้ว ไม้แข็งไม่ได้ผล ใช้ไม้นวมสารพัดรูปแบบ ดึงผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมาเป็นพยานเพิ่ม และโชคดีก็มีกะเขาเป็นเหมือนกัน

เมื่อสามารถดึง “ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์” นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ใครๆ ต้องคารวะในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน เป็นเสือข้ามห้วย มาเป็นแนวร่วมมุมกลับ เป็นพยานปากสำคัญ ทั้งๆ ที่มีสถานะเป็นที่ปรึกษา กกต. เจ้ากรรมนายเวรที่ยื่นยุบพรรคก้าวไกล

“สีส้ม” ขณะที่ตกที่นั่งลำบาก แต่เหมือนมีหลวงปู่เข้ามาช่วยยามสถานการณ์คับขัน เพราะ “ดร.สุรพล” นอกจากเชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญปฏิรูปการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2549

“นายชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่รอช้า รีบยื่นชื่อเป็นพยานโดยพลันเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พร้อมบันทึกถ้อยคำเพิ่มเติมของ “ดร.สุรพล” พร้อมสรุปความคิดเห็น เรียงร้อยสาระสำคัญสี่ซ้าห้าประเด็น สรุปว่า การยุบพรรคการเมืองต้องระมัดระวัง มิเช่นนั้นอาจนำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคส่งผลร้ายในอนาคต เป็นอาทิ

ตามด้วยเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม “นายชัยธวัช” แถลงให้ฝ่ายกฎหมายยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ โต้แย้ง กกต. เรียกว่า “หมาย ร.” และ “หมาย ศ.” เป็นข้อโต้แย้งในเอกสารของศาลรัฐธรรมนูญที่นำเข้าสู่สำนวนคือคำวินิจฉัยที่ให้พรรคก้าวไกลเลิกกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ซึ่งปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงที่อ้างอิงถึงพยานหลักฐาน

แต่ปรากฏว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” ไม่ได้สืบพยานที่ยื่นเพิ่มคือ “ดร.สุรพล” รับเพียงบันทึกถ้อยคำ และวันที่ 17 กรกฎาคม มีคำสั่งยุติการไต่สวนแบบโดยพลัน ระบุว่า พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้แล้ว

“ศาลรัฐธรรมนูญ” ปิดเกม กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา และลงมติยุบ-ไม่ยุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลาบ่ายจัดๆ 15.00 น.

 

ดังนั้น โปรดรอสักครู่ อีกไม่กี่วันหวยจะออกว่า “ยานพาหนะสายสีส้ม” จะยางแตก ต้องผ่องถ่ายผู้โดยสารลงกลางทางอีหรอบเดียวกับอนาคตใหม่หรือไม่ สวรรค์มีกฎ โลกมีเกณฑ์ อนาคตของก้าวไกลขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ ประวัติศาสตร์มีหลายหน้าอาจจะไม่ซ้ำรอย เกิดรอดปาฏิหาริย์ ไม่ยุบพรรคเท่ากับได้ไปต่อ ส.ส.ทั้ง 2 ระบบ จากเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ยังอยู่กันครบ สามารถใช้ความรู้ความสามารถ ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปได้

แต่กรณีจอดป้ายต้องเกลี่ยผู้โดยสารเบอร์ต้นๆ ลงจากยานพาหนะ หากวันที่ 7 สิงหาคม “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล จะมี 11 กรรมการบริหารพรรคชุดเก่า ถูกตัดสิทธิทางการเมือง คนละ 10 ปีทันที

กำลังสำคัญ เบอร์ต้นๆ จะถูกเว้นวรรค ประกอบด้วย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล “นายชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน “นายณธีภัสร์ กุลเศรษสิทธิ์” เหรัญญิก “ณกรษ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล” นายทะเบียนและสมาชิกพรรค “นายปดิพัทธ์ สันติภาดา” กรรมการบริหารพรรค “นายสมชาย ฝั่งชลจิตร” กรรมการบริหารพรรค “นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” กรรมการบริหารพรรค “นายอภิชาติ ศิริสุนทร” กรรมการบริหารพรรค “เบญจา แสงจันทร์” กรรมการบริหารพรรค และ “นายสุเทพ อู่อ้น” กรรมการบริหารพรรค

แต่พรรคก้าวไกลเสียเซลฟ์แค่จิ๊บ-จิ๊บ เก้าอี้หายไปเพียง 7 ที่นั่งจากสัดส่วนบัญชีรายชื่อเท่านั้น ไม่มีผลสะเทือน ฐานเสียงยังไม่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินลงแต่ประการใด ยังครองบัลลังก์จ่าฝูงอันดับ 1 ที่ 142 เสียงอยู่

ประเด็นมันอยู่ที่ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลแล้ว จะเกิดปรากฏการณ์งูเห่าทำนองเดียวกับเมื่อครั้งยุบอนาคตใหม่อีกหรือไม่

เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กรของ “อนาคตใหม่” ก็ดี “ก้าวไกล” ก็ด้วย การบริหารจัดการแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นโดยสิ้นเชิง คือสมาชิก หรือ ส.ส.พรรค ไม่ว่าจากบัญชีรายชื่อ หรือเขตเลือกตั้ง นอกจากจะไม่มีรายรับจากพรรคช่วยสนับสนุนรายเดือนให้แล้ว

“ลูกข่ายสีส้ม” ทุกคนต้องหักเงินเดือน ส.ส.เข้าสมทบกองทุนเพื่อบริหารพรรคกันอย่างเสมอหน้า คนละ 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ลูกพรรคส่วนใหญ่ไม่ได้รวยอู้ฟู่ ชนิดกินหรู อยู่เฟ่ การออกพื้นที่ไม่ว่า งานบุญ งานบวช การกุศล ทอดกฐิน ผ้าป่า ซองทำบุญ ไม่ค่อยตุง อุดมสมบูรณ์เหมือนค่ายอื่นๆ

“ก้าวไกล” กินอุดมการณ์กับกระแส แต่ขาดกระสุน

จึงมีข่าวมาตั้งแต่ กกต.ยื่นยุบพรรค ว่ามีบางพรรคเตรียมทุนไว้ช้อนซื้องูเห่าก้าวไกล “หัวหน้าพรรคบางค่าย” ถึงกับฝันกลางวันว่า จะมีงูเห่าก้าวไกล ไหวเข้าเล้าไปสมทบได้ 50 ที่นั่ง ตัวเองได้เป็นนายกรัฐมนตรี ดังที่นิมิต

“งูเห่าสีส้ม” ถ้ารังแตกชั่วโมงนี้ เชื่อหัวเณรเรืองเถอะ จะแห่ไปลงรู “ค่ายสีน้ำเงิน” มากกว่าใครเพื่อน

“ภูมิใจไทย” นาทีนี้เวิร์กที่สุด ได้งูเห่าไปสมทบ 30 ที่นั่ง ทะลุหลัก 100 เสียง บวกกับ ส.ว.อีก 150 เต็มตุ่ม 250 ที่นั่ง 2 สภารวมกัน

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล