ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
วันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมาเพียงไม่กี่วัน ผู้ที่สนใจและอยู่ในแวดวงของภาษาไทยย่อมทราบดีว่าเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ
ที่กำหนดวันนี้ว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากหลายสิบปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมอภิปรายครั้งสำคัญที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับเรื่องการใช้ภาษาไทย
นับว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอภิปรายบนเวทีสาธารณะ
และน่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องของภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อสามสิบปีก่อน ในโอกาสที่ผมได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เรื่องหนึ่งที่ทรงยกขึ้นมีพระราชกระแสพระราชทานผมในวันนั้นก็เป็นเรื่องความสำคัญของการใช้ภาษาไทยอีกเช่นเดียวกัน
สองเรื่องนี้ประกอบกันน่าจะเห็นได้ชัดเจนแล้วว่าพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นั้นทรงให้ความสำคัญกับภาษาไทยของเราเพียงใด
ก่อนหน้าวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้ไม่กี่วัน ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายในที่ประชุมแห่งหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า มีการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสองวัน โดยมีนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากหลายสถาบันมาร่วมกิจกรรมด้านภาษาไทย ประมาณว่าเป็นการฝึกเขียนโคลงฉันท์กาพย์กลอนเฉลิมพระเกียรติ แล้วลงท้ายกิจกรรมด้วยการส่งผลงานประกวดกัน
ก่อนมอบรางวัล มีคนแก่คนหนึ่ง คือผมนี่แหละครับไปพูดอะไรนิดหน่อยพอหอมปากหอมคอ แล้วก็มอบรางวัลกัน
ก่อนมอบรางวัล ผู้ได้รับรางวัลต้องอ่านคำประพันธ์ที่ตัวเองเขียนด้วยทำนองเสนาะ ฟังแล้วจับจิตจับใจดีพิลึก
และถ้าไม่ตั้งสติไว้มั่นคง ผมอาจเผลอนึกไปว่า มาตรฐานการใช้ภาษาไทยของเด็กรุ่นหลังนี้ไม่เลวเลยทีเดียว
แต่โชคดีที่ผมเป็นคนมีสติเหลืออยู่บ้าง จึงบอกกับตัวเองว่า หมู่เด็กนักเรียนนักศึกษาที่นั่งอยู่ตรงหน้าผมต้องถือเป็นข้อยกเว้นของคนสมัยนี้ ที่ส่วนใหญ่ความสันทัดในการใช้ภาษาไม่เหมือนเดิม
ผมสังเกตดูว่าภาษาไทยของคนสมัยนี้ เขียนอะไรให้ยืดยาวไม่ได้เสียแล้ว ถ้าจำเป็นจะต้องเขียนยาวหน่อยก็วกวนเหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง วรรคตอนย่อหน้าแตกต่างไปจากแบบแผนที่ผมคุ้นเคย
นักเรียนที่ตอบข้อสอบของผมบางคนเขียนคำตอบยาวสองหน้าเต็มโดยไม่ย่อหน้าเลยสักครั้งเดียว คนอ่านแทบขาดใจ
การใช้สันธานหรือคำเชื่อมประโยค โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยคำว่า “ซึ่ง” มีบ่อยครั้งโดยไม่จำเป็น แถมบางทีคำว่า ซึ่ง ยังไปปรากฏเป็นคำแรกของย่อหน้าเสียด้วย
เช่น มีผู้เขียนประโยคแรกของย่อหน้าว่า “ซึ่งในเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า…”
ซึ่งในเรื่องนี้ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมต้องซึ่ง ฮา!
ในการบรรยายหรือพูดพร่ำเพ้อของผมวันนั้น เรื่องหนึ่งที่ผมยกขึ้นกล่าว คือเรื่องที่ผมเรียกว่า “คลังคำ” อันมีความหมายว่าในสมองของคนเขียนหนังสือนั้น ต้องมีคำที่หลากหลายและเป็นจำนวนมากพอสมควรเพื่อหยิบมาใช้ได้ตามความต้องการ
และนั่นมีความหมายสืบต่อไปอีกทอดหนึ่งว่า ผู้ที่จะมีคลังคำมากพอที่จะใช้งานได้สะดวก ต้องเป็นคนอ่านหนังสือมาก
เมื่อเราอ่านมากเราก็ได้เห็นถ้อยคำที่งดงาม อ่านแล้วได้ความดั่งใจปรารถนา แล้วโดยอัตโนมัติ สมองของเราก็จะเก็บคำเหล่านั้นบันทึกไว้เพื่อพร้อมจะใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้า
ถ้าภาษาที่เราอ่านอยู่ทุกวันเป็นประโยคสั้นที่อยู่ใน LINE เสียเป็นส่วนใหญ่ จะอ่านข้อความยาวกว่านั้นก็เป็นเพียงการอ่านข่าวออนไลน์จากสื่อต่างๆ ในพื้นที่จำกัดและในเวลาที่จำกัดย่อมเป็นการยากลำบากที่จะไปกะเกณฑ์ให้ภาษาไทยที่ปรากฏอยู่ในที่เหล่านั้นเป็นภาษาไทยที่งดงามและมีความหลากหลายของถ้อยคำได้
จะไปโทษว่าใครผิดใครถูกเห็นจะไม่ได้ เรื่องมีอยู่ว่า โลกเป็นอย่างนี้นั่นเอง
ดังนั้น ถ้าเราอยากจะเขียนหนังสือได้ดี ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการอ่าน ผมบอกกับลูกหลานในวันนั้นว่า ยิ่งถ้าอยากจะแต่งคำประพันธ์ซึ่งเป็นงานศิลปะจรรโลงโลกอย่างหนึ่ง และเป็นความสุขในหัวใจของคนเขียนไปด้วยพร้อมกัน เรียกว่ายิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว
ผู้ที่จะเขียนงานชนิดนี้ได้ก็ต้องอ่านแบบอย่างของครูในอดีตเสียก่อน
ผู้ที่ไม่เคยอ่านโคลงรุ่นเก่า เช่น ฝีมือของศรีปราชญ์ นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) หรือของพระยาตรัง ต้นทุนก็จะขาดตกบกพร่องอยู่
ผู้ที่มีต้นทุนน้อย เขียนแค่ส่งการบ้านให้คุณครูให้ถูกแบบ สัมผัสครบ เอกโทไม่ผิดพลาด ก็ถือว่าเก่งแล้ว
ผมมีความลับจะขอกระซิบอย่างหนึ่งว่า เมื่อครั้งเรียนหนังสืออยู่ที่สาธิตปทุมวัน นอกจากเขียนการบ้านภาษาไทยของตัวเองส่งครูบาอาจารย์แล้ว ผมยังช่วยเพื่อนเขียนหรือแต่งโคลงแต่งกาพย์ ส่งการบ้านให้เพื่อนด้วย ยังเป็นบุญคุณที่ทวงกันจนถึงเวลานี้ไม่เสร็จสิ้น ส่วนเมื่อทวงแล้ว ลูกหนี้ใช้หนี้บ้าง ไม่ใช้หนี้บ้างก็ไม่เป็นไรครับ ไม่ว่ากันอยู่แล้ว
การเขียนงานได้ดี นอกจากมีคลังคำแล้ว อีกข้อหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ ต้องมีระบบความคิดที่ชัดเจน เป็นลำดับขั้นตอน เป็นเหตุเป็นผลด้วย ยิ่งถ้าเป็นงานเขียนประเภทร้อยกรอง นอกจากเขียนถูกต้องตามแบบฉันทลักษณ์แล้ว ถ้าจะให้งานเขียนของเราอ่านแล้วอิ่มเอิบหัวใจ ก็ต้องมีแง่มุมที่นำเสนอให้แปลกหรือชวนคิดด้วย
ตัวอย่างเช่น การเขียนคำประพันธ์ถวายพระพรชัยมงคลในวันเฉลิมพระชนมพรรษา คำประพันธ์ประเภทที่ง่ายที่สุดและได้รับความนิยม คือ การเขียนกาพย์ยานี เพราะสามารถใช้คำธรรมดาที่ไม่ซับซ้อนได้ ไม่บังคับว่าต้องใช้วรรณยุกต์เอกโท ไม่บังคับว่าต้องมีเสียงหนักเสียงเบาที่เรียกว่าครุ ลหุอย่างการแต่งฉันท์ แค่นึกถึงกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งไว้เป็นแบบ ก็เห็นจะพอเอาตัวรอดแล้ว
อย่างไรก็ดี ผมสังเกตเห็นว่า กาพย์ยานีถวายพระพรที่มาอ่านออกโทรทัศน์หรือลงพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ เกือบครึ่งเกือบค่อนมักลงท้ายคำประพันธ์ว่า “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ”
แน่นอนว่าวรรคสุดท้ายดังกล่าวถูกต้องตามฉันทลักษณ์ เนื้อความก็บริบูรณ์ครบถ้วน แต่สำหรับผมซึ่งเป็นคนแก่จู้จี้ก็อาจจะต้องบอกว่า อ่านแล้วจืด อ่านแล้วเหมือนกันกับอีกร้อยหน่วยงาน ที่เขียนคำประพันธ์ถวายพระพรแล้วลงท้ายด้วยประโยคเดียวกัน
ดังนั้น ในทัศนะของผม ใครก็ตามที่สามารถสะสมคลังคำไว้ได้มากพอสมควร และมีระบบความคิดที่ชัดเจน ย่อมสามารถเขียนหนังสือได้ดั่งใจปรารถนา จะเรียกว่าเป็นนายของภาษาก็เห็นจะได้ เรื่องของภาษานี้เรียนรู้กันไม่สิ้นสุดครับ
ผมเองไม่เคยนึกว่าตัวเองรู้ทุกอย่างครบถ้วนแล้ว หนังสือบางเล่มเคยอ่านมาเมื่อหลายปีก่อน และเมื่อหยิบมาอ่านอีกครั้งหนึ่งก็เป็นการทวนความจำ แถมมีบ่อยครั้งที่เกิดความคิดใหม่หรือมองเห็นมุมใหม่จากหนังสือเก่าเล่มนั้นเสียด้วยซ้ำไป
งานอย่างหนึ่งที่ผมชอบและมีความสนุกเมื่อได้ทำ คือการพิจารณาร่างกฎหมายหรือการเขียนบันทึกให้ความเห็นทางกฎหมาย ผมเห็นว่าเป็นงานท้าทาย และต้องระดมทั้งคลังคำและความคิดรวมตลอดถึงความรู้ทางกฎหมายของเรามาใช้งานไปพร้อมกัน
จะเลือกเฟ้นใช้ถ้อยคำอะไรดีหนอ จึงจะได้ความหมายอย่างที่สมองคิด อ่านแล้วไม่มีทางเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปได้ แถมบางคราวยังต้องคิดเผื่อไปอีกชั้นหนึ่งด้วยว่า ต้องสามารถหักล้างความเห็นที่เป็นความเห็นต่าง รวมทั้งวางกลยุทธ์ในการรับมือกับความเห็นที่เป็นอย่างอื่นด้วย
จะถือว่าเป็นเกมอย่างหนึ่งของนักกฎหมายก็ได้
งานเขียนของนักกฎหมายในผลงานชิ้นสำคัญ เช่น การตัดสินคดีความที่มีผลกระทบยิ่งใหญ่ จึงต้องระมัดระวังในการใช้ภาษาและการให้เหตุผลเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเป็นการตัดสินและเขียนคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยที่ไม่สามารถเขียนเป็นภาษาไทยเพื่อสื่อสารเหตุผลทางกฎหมายที่หนักแน่นได้เพียงพอ การบรรยายข้อเท็จจริงไม่ที่สมเหตุสมผล ขัดต่อสามัญสำนึกของบุคคลทั่วไป เอียงกระเท่เร่ คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยเช่นว่านั้นย่อมไม่อาจเรียกศรัทธาและความเชื่อมั่นจากประชาชนได้
ตัวอย่างของผลงานทางกฎหมายประเภทนี้ น่าเสียดายที่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง และไม่ควรพูดมากให้เศร้าใจกันเปล่าๆ
คำพิพากษาที่มีคุณภาพ มีวรรคทองที่เป็นเหตุผลทางกฎหมาย เป็นคำพิพากษาที่เด็กรุ่นหลังจะได้เรียนรู้เป็นแบบอย่างด้วยความนับถือยกย่อง
แต่ถ้าเป็นคำพิพากษาที่ไร้คุณภาพ ภาษาและเหตุผลที่ให้ไว้อ่อนยวบยาบ พิพากษาตามธงคำตอบที่มาจากไหนก็ไม่รู้ นี่ก็จะเป็นแบบเรียนสำหรับคนรุ่นหลังเหมือนกันครับ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง
แง่ไหนก็คิดกันเอาเองก็แล้วกัน ท่านผู้เจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022