ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
เข้าสู่เดือนสิงหาคม 2567 มีเรื่องที่ฝัน, หวัง และเชียร์อยู่ประมาณ 3 อย่าง
ขอเริ่มต้นจากเรื่องที่ “ฝัน” (หมายความว่าอาจ “ยากที่จะเกิดขึ้นจริง”) นั่นคือเรื่อง “ก้าวไกล” จะไม่ถูกยุบพรรค
ไม่ว่าชอบหรือชัง เลือกหรือไม่เลือก เห็นด้วยหรือเห็นต่าง รักหรือเกลียดกันปานใด
พรรคการเมืองในฐานะสถาบันทางการเมือง ที่ดำรงตั้งมั่นอยู่ในสังคม และวางรากฐานมาจากการลงคะแนนเลือกตั้งหรือสิทธิอำนาจของประชาชนกว่าสิบล้านราย นั้นไม่ควรจะมา “ต้องโทษประหารชีวิตทางการเมือง” จากคำพิพากษาของสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนโดยตรงมากเท่าพรรคการเมือง
การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของพรรคการเมืองหนึ่งๆ (ตราบใดที่พวกเขาไม่ได้ก่ออาชญากรรมใหญ่โตหรือทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย) ควรถูกตัดสินชี้ชะตาด้วยรอยขีดกากบาทบนบัตรเลือกตั้งของประชาชนเพียงเท่านั้น
นี่คือหลักการธรรมดาสามัญ อันแสนจะเรียบง่าย ที่คนส่วนใหญ่ค่อนโลกเขาเข้าใจตรงกัน
แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ยากเสียเหลือเกิน หากมองโลกด้วยสายตา “บิดเบี้ยวแคบเรียว” ของชนชั้นนำบางกลุ่มในสังคมไทย
มาถึงเรื่องที่ “หวัง” (หมายความว่า “คงจะเป็นจริงได้ไม่ยากนัก”) บ้าง
นั่นคือหวังว่านายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” จะได้บริหารประเทศในฐานะผู้นำรัฐบาลชุดปัจจุบันต่อไป โดยไม่หลุดจากตำแหน่งด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
เช่นเดียวกับกรณีของพรรคก้าวไกล ถ้าคนเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจาก “การเลือกตั้ง” (แม้จะถูก “แปรผล” ให้ “ผิดเพี้ยน” จากเจตจำนงของประชาชนจำนวนมากไปเยอะพอสมควร) และสังกัด “พรรคการเมืองที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง” จะต้องพ้นตำแหน่ง
เขาก็ควรพ้นสภาพไปตามวาระ พ้นไปตามกลไกถูกต้องชอบธรรมในรัฐสภา (เช่น ถูกโหวตไม่ไว้วางใจ) หรือไม่ได้ดำรงตำแหน่งสมัยที่สองเพราะแพ้การเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ซึ่งหมายความว่าไม่ได้ไปต่อ ด้วยคำพิพากษาของประชาชน
นายกรัฐมนตรีไทยไม่ควรจะมาหลุดตำแหน่งไปง่ายๆ แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย และสังคมการเมืองไทยไม่ควรไร้เสถียรภาพได้ทุกเมื่อ ด้วยการขีดเส้นชี้ชะตาขององค์กรอิสระ
ส่วนเรื่องสุดท้ายที่ “เชียร์” คือ การตามเชียร์บรรดานักกีฬาไทยในโอลิมปิก
ถ้าพยายามแสร้งแสดงว่าตัวเองมีอารมณ์ความรู้สึก “ชาตินิยม” เยอะหน่อย คงบอกได้แค่ว่านักกีฬาไทยสู้ๆ นักกีฬาไทยทำได้ดีแล้ว ทำเต็มที่แล้ว เก่งแล้ว แม้จะประสบความพ่ายแพ้ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูผลการแข่งขันของนักกีฬาไทยในช่วงสัปดาห์แรกของปารีสเกมส์ ต้องบอกว่ามีความผิดหวังอยู่มากพอสมควร เช่น นักกีฬาแบดมินตันบางประเภทหรือนักกีฬาเทเบิลเทนนิสของเรา ซึ่งเหมือนจะเคยทำผลงานในมาตรฐานที่สูงกว่านี้
ส่วนนักกีฬามวยสากลของเรา (ซึ่งเคยคว้าเหรียญทองและเหรียญรางวัลอื่นๆ อย่างเป็นกอบเป็นกำ) ก็ทยอย “ตกรอบ” ไปแล้วหลายคน
ด้วยลักษณะที่คล้ายกับว่า ทีมงานมวยของเราเข้าใจ “กฎกติกาการให้คะแนน” ในแง่มุมที่แตกต่างจากฝ่ายจัดการแข่งขัน หรือพูดจาคนละภาษาคนละไวยากรณ์กับนักกีฬา-กรรมการชาติอื่นๆ สื่อสารกับคนอื่นๆ ไม่เข้าใจ หรือตามโลกไม่ค่อยทันแล้ว
ที่แบกความหวังของ “เพื่อนร่วมชาติ” ไว้เยอะมาก จึงเห็นจะได้แก่เหล่านักกีฬาเทควันโด ซึ่งต้องลงแข่งขันในช่วงท้ายๆ โอลิมปิก 2024
โดยเฉพาะ “เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกครั้งที่แล้ว ที่เตรียมตัวลงป้องกันแชมป์ในวันเดียวกับวัน “พิพากษาก้าวไกล” พอดิบพอดี
ด้วยความฝัน, ความหวัง และการเอาใจช่วยเชียร์เหล่านี้
ยังปรารถนาว่า “เดือนสิงหาคม 2567” คงจะมิใช่ห้วงเวลาที่น่า “โศกเศร้าหดหู่” เกินไป •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022