กระท่อม ปักเป้า กับ ชลธิรา สัตยาวัฒนา แล จิตร ภูมิศักดิ์

บทความพิเศษ

 

กระท่อม ปักเป้า

กับ ชลธิรา สัตยาวัฒนา

แล จิตร ภูมิศักดิ์

 

หากไม่เข้าใจ “สายสัมพันธ์” ระหว่าง สุภา ศิริมานนท์ กับ ชลธิรา กลัดอยู่ ก็จะไม่เข้าใจอย่างเด็ดขาดในข้อมูลอันเปิดเผยโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

แม้จะเป็นการเปิดเผยในการพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมิถุนายน 2519

ในสถานการณ์ก่อนเกิดรัฐประหารนองเลือดเมื่อเดือนตุลาคม 2519 ไม่นานนักก็ตาม

1 เพราะต้นฉบับ จิตร ภูมิศักดิ์ ฝากไว้กับ สุภา ศิริมานนท์

หากมองอย่างประเมินว่า ชลธิรา กลัดอยู่ เมื่อเดือนมิถุนายน 2519 คือคนเดียวกันกับ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ผู้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แล้วเดินทางเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) นำเสนองานเขียน “จากวนาสู่นาคร” ในปี 2520

ก็จะคิดว่ามิได้เป็นเรื่องแปลกที่ต้นฉบับจะมาอยู่ในมือ “ชลธิรา”

กระนั้น ความเป็นจริง 1 ซึ่งไม่ควรมองข้ามก็คือท่าทีและความคิดโดยพื้นฐานในความเป็นตัวตนของ สุภา ศิริมานนท์ ดำรงอยู่อย่างไร

รักและผูกพันกับ ชลธิรา สัตยาวัฒนา เป็นอย่างมากแต่ก็มี “เงื่อนไข” พิเศษ

ชลธิรา สัตยาวัฒนา

รากฐาน สังคม

สุภา ศิริมานนท์

สุภา ศิริมานนท์ เคยเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ระยะหนึ่ง แต่มีเหตุเฉพาะตัวทำให้ต้องออกจากมหาวิทยาลัยและได้เข้าไปอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์

ไม่เพียงแต่ทำงาน “หนังสือพิมพ์” หากแต่ถือว่าเป็นคนไทยลำดับต้นๆ ที่มีความมุ่งมั่นใน “อาชีวปฏิญาณ” แห่งการเป็น “นักหนังสือพิมพ์”

ถึงกับเรียน “วิชาการหนังสือพิมพ์” ทางไปรษณีย์จาก “ต่างประเทศ”

โดยอาชีพหนังสือพิมพ์ทำให้ สุภา ศิริมานนท์ ได้รู้จักกับนักหนังสือพิมพ์อาวุโสอย่าง สนิท เจริญรัฐ ได้รู้จักกับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยอย่าง บุญส่ง บำรุงพงศ์

ชีวิตความเป็น “นักหนังสือพิมพ์” ของ สุภา ศิริมานนท์ มีความรุ่งโรจน์และโดดเด่นอย่างยิ่งเมื่อเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร “นิกร” วันอาทิตย์

เป็น “นิกร” วันอาทิตย์ในยุคสงครามก่อน “สยามนิกร” ในยุคหลัง

“นิกร” วันอาทิตย์มิได้เป็นเวทีแจ้งเกิดให้กับนักเขียนอย่าง เสนีย์ เสาวพงศ์ อย่าง อิศรา อมันตกุล หากแต่ยังเป็นเวทีให้กับนักเขียนรุ่นใหม่อย่าง วิลาศ มณีวัต อย่าง นิตยา นาฏยะสุนทร

ขณะเดียวกัน ยังเป็นห้วงเวลาอันสำคัญและทรงความหมายส่งให้ สุภา ศิริมานนท์ เข้าไปเป็น “เสรีไทย”

การเป็น “เสรีไทย” สำหรับ สุภา ศิริมานนท์ เป็นแล้วเป็นเลย ไม่มีจุดสิ้นสุด

สถานะแห่งเสรีไทย ด้านหนึ่ง ทำให้ สุภา ศิริมานนท์ มีบทบาทเป็นอย่างสูงในการทำงานด้านโฆษณา ไม่ว่าเมื่ออยู่ในประเทศ หรือเมื่อเดินทางไปฝึกอาวุธ ฝึกงานข่าวกรองที่แคนดี ประเทศลังกา

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง ทำให้ สุภา ศิริมานนท์ ทะยานเข้าไปอยู่ “วงใน” ของศูนย์กลางแห่งอำนาจ

ดำรงสายสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับ “รูธ” หัวหน้าขบวนการเสรีไทยยาวนาน

รากฐาน ความคิด

ก่อน “อักษรสาส์น”

เมื่อสิ้นสงคราม สุภา ศิริมานนท์ ผันตัวเองเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปประจำทั้งที่สหภาพโซเวียตและประเทศเป็นกลางอย่างสวิตเซอร์แลนด์

เดินทางกลับประเทศพร้อมกับความรับรู้ใน “โลกใหม่” โลกแห่งค่ายสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ

เป็นการกลับมาพร้อมกับสรรพตำราทางด้าน “ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน” เต็มลัง

จากนั้น สุภา ศิริมานนท์ ก็ขบคิดร่วมกับ จินดา ศิริมานนท์ ด้านหนึ่ง ออกนิตยสารอย่างที่เรียกว่าแนวจริงจังในชื่อว่า “อักษรสาส์น” รายเดือน ด้านหนึ่ง ภรรยาซึ่งเป็นพยาบาลก็จัดตั้ง “สถานเลี้ยงเด็ก” ขึ้นมาเพื่อเป็นฐานในทางรายได้

ฐานจาก “สถานเลี้ยงเด็ก” ทำให้ “ดญ.ขิ่ม” อันเป็นนามเดิมของ “ชลธิรา” ได้เข้ามาสัมพันธ์ ฐานจาก “อักษรสาส์น” ทำให้ สุภา ศิริมานนท์ กลายเป็นสดมภ์หลักในทางความคิด

ตรงนี้เองที่ทำให้ สุภา ศิริมานนท์ ได้เข้าไปสัมพันธ์กับ จิตร ภูมิศักดิ์ ในเวลาต่อมา ตรงนี้เองที่ทำให้ สุภา ศิริมานนท์ เลือกและบทบาทให้ ชลธิรา กลัดอยู่ เป็นเหมือน “สะพานเชื่อม” อย่างมีนัยสำคัญ

ต่อการดำรงอยู่แห่ง “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ”

จำเป็นต้องมองจากด้าน สุภา ศิริมานนท์ ประสานกับด้าน ชลธิรา กลัดอยู่

 

องคาพยพ แวดล้อม

รอบ สุภา ศิริมานนท์

เมื่อดำเนินการนิตยสาร “อักษรสาส์น” เจ้าหน้าที่สำคัญในกองบรรณาธิการนอกจากมี กุหลาบ สายประดิษฐ์ มี นายตำรา ณ เมืองใต้ มี ดิเรก ชัยนาม แล้ว ยังมี สมัคร บุราวาศ ยังมี “อินทรายุธ”

ไม่นานต่อมาด้วยแนวของนิตยสารที่เข้มข้นดูดดึงให้กวีหนุ่มอย่าง “ทวีปวร” นำเสนอผลงานอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งกว่านั้น ยังมีบทความของ สรง พฤกษพร ของ ทำนุ นวยุค

ยิ่งกว่านั้น ยังมีบทบาทของ เสนาะ ธรรมเสถียร ที่เน้นการทะยานขึ้นมาของจีนใหม่อันคึกคักและเข้มข้น

รับรู้อย่างเด่นชัดว่า “ทางโน้ม” ของคนเหล่านี้เอนไปทางด้านใด

ยิ่งกว่านั้นยังมีบทความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นของ ดิเรก ชัยนาม ไม่ว่าจะเป็น สนอง ถมังรักษ์สัตว์

ในวงสนทนา “ลึก ลึก” ในกระท่อมปักเป้า

คนที่สนิทชิดใกล้กับ สุภา ศิริมานนท์ อย่างเป็นพิเศษจะรับรู้กรอบอัน สุภา ศิริมานนท์ กำหนดไว้อย่างหลวมๆ แต่ด้วยความเคร่งครัด

นั่นคือ ขอร้องมิให้เข้าร่วมกับ “พรรค” ในเชิง “จัดตั้ง”

จากคำบอกเล่า ไม่ว่าจะเป็น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็น สมัคร บุราวาศ ไม่ว่าจะเป็น “อินทรายุธ” หรือแม้กระทั่งรุ่นหลังอย่าง “ทวีปวร” ก็เคยรับฟังคำปรารภในทำนองนี้จากปากของ สุภา ศิริมานนท์

กรอบในทางความคิดเช่นนี้ดำรงอยู่แม้กระทั่งในยุค ชลธิรา สัตยาวัฒนา

 

ภาพ ชลธิรา สัตยาวัฒนา

ก่อนพบ จิตร ภูมิศักดิ์

ถามว่า ชลธิรา สัตยาวัฒนา หรือ ชลธิรา กลัดอยู่ เข้าไปสัมพันธ์กับ สุภา ศิริมานนท์ ได้อย่างไร

ตอบได้เลยว่าผ่านความสัมพันธ์กับ “ลูกสาว” ของ สุภา ศิริมานนท์

ตอบได้เลยว่าผ่านสถานะที่ สุภา ศิริมานนท์ ยอมรับ ชลธิรา สัตยาวัฒนา เป็นดั่ง “ลูกสาว” คนหนึ่ง

โดยที่ สุภา ศิริมานนท์ แทบมิได้ “ครอบงำ” ต่อ “ด.ญ.ขิ่ม”

จากซางตาครูส คอนแวนต์ กระทั่งเข้าไปอยู่ใต้รั้วเทวาลัย ชลธิรา สัตยาวัฒนา เติบโตอย่างเป็นตัวของตัวเอง

แม้จะทำวิทยานิพนธ์ในเรื่อง “วรรณคดีไทย” ก็ศึกษาผ่านแนว “จิตวิทยา”

จากการเป็นนิสิตกระทั่งเป็นอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชลธิรา สัตยาวัฒนา ดำรงความเป็น “เสรีนิยม” ด้วยความเหนียวแน่นและมั่นคง

แม้กระทั่งร่วมกันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการจัดทำหนังสือ “ศาสตร์และศิลปแห่งอักษร” ขึ้น ไม่มีกลิ่นอายความเป็น “มาร์กซิสต์” แม้แต่น้อย

ต่อเมื่อเริ่มต้นศึกษาชีวิตของ จิตร ภูมิศักดิ์ เท่านั้นแหละก็เป็นเรื่อง