ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Technical Time-Out |
เผยแพร่ |
นับเป็นเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นใน โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อกีฬานำอดีตเพื่อนร่วมทีม 2 คนกลับมาพบกันในสถานะที่ต่างออกไปจากเดิม
คนหนึ่งคือ หนี่ เซียะเหลียน นักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติลักเซมเบิร์ก วัย 61 ปี ซึ่งร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 และเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่อายุมากที่สุดของการแข่งขัน
ส่วนอีกหนึ่งคือ เซิง จี้อิง ตัวแทนจากชิลีในวัย 58 ปี ที่เพิ่งลงแข่งขันโอลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรกในชีวิต
ย้อนไปเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ทั้งหนี่และเซิงต่างเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติจีน โดยหนี่ซึ่งเกิดและโตที่เซี่ยงไฮ้เคยร่วมคว้าแชมป์โลกประเภททีมหญิงและคู่ผสมในปี 1983 ขณะอายุได้ 20 ปี ก่อนจะไต่อันดับโลกขึ้นไปพีกที่อันดับ 6 ของโลกในอีก 2 ปีถัดมา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจีนถือเป็นมหาอำนาจของกีฬาเทเบิลเทนนิสในโอลิมปิกเกมส์ ยืนยันด้วยผลงานการกวาด 32 เหรียญทอง จากทั้งหมด 37 เหรียญ นับตั้งแต่บรรจุกีฬาปิงปองชิงชัยในโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกเมื่อปี 1988 จนถึงปัจจุบัน
การจะไต่เต้าขึ้นไปถึงการติดทีมลุยศึกโอลิมปิกเกมส์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายแม้แต่นิดเดียว
หนี่ย้ายไปอยู่เยอรมนีในปี 1989 ก่อนปักหลักที่ลักเซมเบิร์กในอีก 2 ปีต่อมา โดยมี ทอมมี่ ดาเนียลสัน สามี เป็นทั้งโค้ชและคู่ซ้อม
เธอได้รับข้อเสนอให้ติดทีมชาติลักเซมเบิร์กร่วมแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 1996 ที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา แต่ปฏิเสธไป เพราะความคิดเรื่องการติดธงเล่นให้ประเทศอื่นไม่ได้อยู่ในหัวเลยในเวลานั้น แต่เมื่อใช้ชีวิตที่นั่นไปนานๆ ก็เริ่มผูกพันกับผู้คน และเข้าใจว่ากีฬาก็เป็นแค่กีฬา ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองหรือเรื่องเชื้อชาติ
ตอนนั้นเองที่เธอเปลี่ยนมุมมอง และตัดสินใจที่จะจับไม้เล่นให้ทีมชาติลักเซมเบิร์ก โดยมีเป้าหมายที่การทำผลงานให้ดีที่สุดในสนามในฐานะนักกีฬาคนหนึ่ง
หนี่คว้า 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดงให้ลักเซมเบิร์กในการแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์ยุโรป รวมถึงในมหกรรมกีฬารายการย่อยๆ อีกหลายรายการ
ไฮไลต์สำคัญคือการคว้าเหรียญทองแดงประเภทหญิงคู่ในศึกเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกในปี 2021 ขณะอายุได้ 58 ปี
ขณะที่ระดับโอลิมปิกเกมส์นั้น หนี่เข้าแข่งขันครั้งแรกในปี 2000 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย หลังจากนั้น ก็เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกมาเรื่อยๆ จนถึงครั้งนี้เป็นสมัยที่ 6 แล้ว ผลงานที่ดีที่สุดคือการเข้าถึงรอบสามประเภทหญิงเดี่ยวในปี 2008 และ 2016
หลังจบโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หนี่คิดว่าจะเลิกเล่น แต่สหพันธ์เทเบิลเทนนิสของลักเซมเบิร์กยังรั้งตัวไว้ ก็เลยพยายามสู้ต่อจนคว้าโควต้าเข้าร่วมแข่งขันปารีสเกมส์สำเร็จ โดยเป้าหมายคือการเก็บชัยชนะไปทีละนัดเท่าที่จะทำได้
สําหรับเซิง เป็นลูกของโค้ชปิงปองในกว่างโจว จึงได้จับไม้มาตั้งแต่เด็ก ก่อนจะเข้าร่วมสถาบันกีฬาชั้นนำตอนอายุ 11 ปี และคว้าแชมป์ระดับเยาวชนของประเทศจีน แล้วจึงชื่อติดทีมชาติตอนอายุ 16 ปี
อย่างไรก็ตาม หลังจากกีฬาเทเบิลเทนนิสปรับเปลี่ยนกฎในปี 1986 กำหนดให้หน้าไม้ 2 ข้างต้องใช้ยางที่มีสีแตกต่างกัน เซิงบอกว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลกระทบกับฟอร์มการเล่นของเธอโดยตรง เนื่องจากเธอนิยมใช้เทคนิคการเปลี่ยนโฟร์แฮนด์และแบ๊กแฮนด์อย่างรวดเร็วเพื่อทำให้คู่ต่อสู้สับสน
พอสีของหน้าไม้สองฝั่งไม่เหมือนกัน จึงใช้เทคนิคนี้ได้ยากเพราะมักถูกจับทางได้ ส่งผลให้ผลงานในสนามของเธอเริ่มดร็อปลง จนหลุดจากทีมชาติในที่สุด
หลังจากนั้น เซิงตัดสินใจเลิกเล่นปิงปองอาชีพเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ก่อนตอบรับคำเชิญไปเป็นโค้ชที่ชิลีในปี 1989 และเริ่มตั้งรกรากที่นั่น โดยแต่งงานสร้างครอบครัว จับงานธุรกิจซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ และห่างจากกีฬาเทเบิลเทนนิสไปยาวๆ
กระทั่งปี 2003 ซึ่งเธอกลับมาจับไม้ชั่วคราวเพื่อเล่นเป็นเพื่อนลูกชาย และด้วยความสามารถที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กทำให้เซิงก้าวไปคว้าแชมป์ระดับประเทศของชิลีในปี 2004 และ 2005
พอลูกชายโตพอจะเดินทางไปแข่งขันเองแล้ว เซิงก็เลิกเล่นอีกครั้ง กระทั่งสถานการณ์โควิดระบาดเมื่อไม่กี่ปีก่อน เซิงซึ่งอยู่บ้านเบื่อๆ ไม่ได้ออกไปไหน ตัดสินใจกลับมาจับไม้ เล่นเทเบิลเทนนิสเพื่อออกกำลังกาย ไปเล่นในชมรมแถวบ้านเพื่อเข้าสังคม ทำความรู้จักกับคนในชุมชนเฉยๆ
แต่หลังผ่านไปไม่กี่เดือน ความคุ้นเคยสมัยก่อนก็ค่อยๆ กลับมา จากที่กลับมาจับไม้เล่นสนุกๆ ก็เริ่มจริงจังมากขึ้น เจ้าตัวเผยว่าตอนนั้นยังไม่ได้คิดเรื่องโอลิมปิกเกมส์ กระทั่งปีที่แล้ว ค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตและพบชื่อของหนี่ เซียะเหลียน อดีตเพื่อนร่วมทีมที่ไม่ได้เจอหน้ากันมานานหลายทศวรรษ
เซิงบอกว่า เมื่อเห็นหนี่ยังคงเล่นอยู่แม้จะอายุ 60 ปีแล้ว และได้ไปแข่งขันโอลิมปิก ก็คิดว่าตัวเองน่าจะทำได้เช่นกัน จึงมุ่งมั่นเสริมสร้างพละกำลังและความฟิต ยกระดับการเล่น โดยยึดหนี่เป็นแบบอย่าง
ในที่สุด เซิงก็เดินตามรอยหนี่ได้สำเร็จ และทั้งคู่ก็ได้มานัดเจอกันที่หมู่บ้านนักกีฬาในปารีส เป็นการพบกันที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับแฟนกีฬาหรือแม้แต่นักกีฬารุ่นน้องๆ ว่าถึงจะอายุมากแล้ว แต่ก็ยังสามารถไล่ตามความฝันได้ ตราบใดที่ไม่ยอมแพ้
อย่างไรก็ตาม ขณะที่หนี่คว้าชัยได้ในการแข่งขันรอบแรก โอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกของเซิง จี้อิง จบลงอย่างรวดเร็วเมื่อเธอพ่ายให้ มาเรียน่า ซาคาเคียน นักกีฬาเลบานอนวัย 46 ปี ในรอบแรก
กระนั้น เซิงก็บอกว่า ทำเต็มที่แล้วและภูมิใจที่ได้ลงแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ โดยมีสามีและลูกชาย 2 คน มาเชียร์ถึงขอบสนาม
สำหรับโอลิมปิกเกมส์ครั้งต่อไปที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ในอีก 4 ปีข้างหน้านั้น คงเป็นเรื่องยากเพราะไม่มั่นใจว่าถึงตอนนั้นร่างกายจะยังไหวหรือไม่ แต่ตั้งใจจะเล่นเทเบิลเทนนิสไปเรื่อยๆ เพราะถึงไม่ได้เล่นในระดับประชาชนแล้ว ก็ยังเล่นในระดับอาวุโสได้
เมื่อความฝันถูกจุดประกายขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ไม่ใช่ปัญหา •
Technical Time-Out | SearchSri
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022