ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
1. ความดันโลหิตสูง
รายงานวิจัยหลายฉบับ ชี้ตรงกันว่า การดื่มกาแฟ 1 แก้ว อาจมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น นานถึง 12 ชั่วโมง ดังนั้น การดื่มกาแฟมากกว่า 1 แก้วต่อวัน จะยิ่งเพิ่มอัตราเสี่ยงทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้วไม่ควรดื่มกาแฟ
2. โรคกระเพาะอาหาร
กาเฟอีนในกาแฟจะทำให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากขึ้น จนทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผลได้ ยิ่งผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ยิ่งไม่ควรดื่มกาแฟมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ท้องว่าง ดังนั้น การดื่มกาแฟทุกวันจึงเสี่ยงป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร
3. กระดูกพรุน
คุณสมบัติหนึ่งของกาแฟคือขับปัสสาวะ ซึ่งหากในแต่ละวันดื่มกาแฟมาก ก็จะปัสสาวะบ่อยขึ้น แคลเซียมในร่างกายก็จะถูกขับออกไปหลายรอบพร้อมกับปัสสาวะ จนส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หญิงวัยหมดประจำเดือน ไม่ควรดื่มกาแฟมากในแต่ละวัน
4. ไตเสื่อม
กาเฟอีนในกาแฟลดการดูดน้ำกลับ ทำให้ไตขับน้ำออกมาเยอะขึ้น เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการก่อให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ นำไปสู่การทำงานของไตที่เสื่อมลง และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเกิดภาวะไตวายได้
5. ดูดซึมแร่ธาตุลดลง
กาแฟมีผลให้ร่างกายขาดแคลเซียม และแร่ธาตุ เนื่องจากกาเฟอีนจะส่งผลกระทบต่อการดูดซึมแร่ธาตุของลำไส้ เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก และสังกะสี ดังนั้น เด็กไม่ควรดื่มกาแฟ
6. บีบประสาท
ทำให้มือสั่น นอนไม่หลับ เกิดความวิตกกังวล ปวดศีรษะ บางครั้งอาจทำให้ชักได้
7. แก่เร็ว
แม้กาเฟอีนจะทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว ทว่า ลึกๆ แล้วร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริง และเต็มที่
ดังนั้น การดื่มกาแฟทุกวันมีผลทำให้หน้าแก่ก่อนวัย และผิวพรรณเหี่ยวย่นเร็วขึ้นอีกด้วย เพราะกาเฟอีนดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการบำรุงผิวพรรณออกไปจากร่างกาย
ดังนั้น ปริมาณกาแฟที่เหมาะสมในแต่ละวัน ไม่ควรเกิน 300-400 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับกาแฟ 3-4 แก้ว และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการดื่มกาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ ไม่ควรดื่มกาแฟทุกวัน เพราะจะยิ่งส่งผลให้สุขภาพย่ำแย่
8. เบาหวาน
กาแฟมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นเบาหวานแบบควบคุมไม่ได้ ไม่ควรดื่มกาแฟ แต่สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานแบบควบคุมได้ ทางการแพทย์ไม่ได้ห้ามดื่มกาแฟ เพียงแต่แนะนำให้ดื่มกาแฟดำแบบไม่ใส่น้ำตาล และไม่ควรดื่มกาแฟเกินวันละ 1 แก้ว
9. โรคหัวใจ
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ากาเฟอีนมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ การดื่มกาแฟจะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจย่ำแย่ และทำงานหนักมากเกินไป โดยจะยิ่งทำให้หัวใจเสื่อมเร็วขึ้นอีกด้วย
10. ความดันโลหิตสูง
เนื่องจากกาแฟมีทั้งกาเฟอีน และสารกลุ่มไดเทอร์พีน ซึ่งมีฤทธิ์ไปกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหดตัว และส่งผลทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้ การดื่มกาแฟจำนวนมากจึงอาจทำให้หัวใจสั่น และความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วขณะ
การดื่มกาแฟเป็นประจำทุกวัน ร่างกายจะคุ้นเคย และเกิดการจดจำว่า กาเฟอีนคือสารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย เพราะเมื่อบริโภคกาเฟอีนแล้ว ร่างกายจะกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัว แปลไทยเป็นไทยก็คือร่างกายเรากำลังเสพติดกาเฟอีนอยู่นั่นเอง
วิธีลด-ละ-เลิกกาแฟ
1. ลดปริมาณ
แน่นอนว่าการหักดิบ เลิกกาแฟแบบกะทันหัน จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ตามมา เนื่องจากร่างกายปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น อาจใช้วิธีเปลี่ยนแก้วให้ขนาดเล็กลง จากนั้นค่อยๆ ลดปริมาณกาแฟลง จากที่เคยดื่มวันละ 3 แก้ว ก็ค่อยๆ ลดลงมาเหลือ 2 แก้ว และ 1 แก้วตามลำดับ ไปจนถึงดื่มวันเว้นวัน วันเว้น 2 วัน เว้น 3 วัน 4 วัน 5 วัน 6 วัน จนเหลือสัปดาห์ละ 1 แก้ว จนสามารถหยุดดื่มกาแฟได้ในที่สุด
2. น้ำเข้มกาแฟจาง
ดังที่กล่าวไป ว่าเราไม่ควรบริโภคกาเฟอีนเกิน 300-400 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับกาแฟ 3-4 แก้วต่อวัน แต่หากกาแฟ 1 แก้ว “ชงเข้ม” ปริมาณกาเฟอีนก็จะมากตามไปด้วย ลองหันมาดื่มกาแฟให้เข้มน้อยลง โดยผสมน้ำเข้าไปมากๆ เพื่อกาเฟอีนเจือจาง และทำเช่นนี้เรื่อยๆ ทุกวันก็จะช่วยให้เราสามารถลดการดื่มกาแฟลงได้โดยไม่มี “ภาวะถอนกาเฟอีน”
เพราะเมื่อร่างกายเสพติด และจดจำว่า กาเฟอีนเป็นสารที่เราจำเป็นที่ต้องได้รับทุกวัน ดังนั้น วันไหนที่เราไม่ได้ดื่มกาแฟ ร่างกายก็จะเกิดภาวะ “ขาดกาเฟอีน” ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว เพลีย ง่วง ซึม หงุดหงิด อ่อนแรง รวมเรียกว่า “ภาวะถอนกาเฟอีน” หรือ Caffeine Withdrawal
“ภาวะถอนกาเฟอีน” จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังดื่มกาแฟแก้วสุดท้าย จะเกิดอาการปวดหัว และหากปล่อยไว้โดยไม่ยอมดื่มกาแฟ อาการอื่นๆ ก็จะตามมา และอาจรุนแรงมากในช่วง 48 ชั่วโมง โดยอาจมีอาการต่อเนื่องไปอีก 7 วัน แต่ถ้าหากได้ดื่มกาแฟเข้าไป อาการต่างๆ จะดีขึ้นภายใน 30 นาที
3. เปลี่ยนเครื่องดื่ม
หันไปลองเครื่องดื่มกาเฟอีนต่ำ ดีกว่าการเลิกกาแฟแบบกะทันหัน เช่น ชา โกโก้ ช็อกโกแลต แต่หากใครที่ยังชอบกลิ่นและรสของกาแฟ ก็สามารถเลือกดื่มเป็น Decaf หรือ “กาแฟไร้กาเฟอีน” แทน
4. ดื่มน้ำเปล่ามากๆ
น้ำเปล่าช่วยขับกาเฟอีนในร่างกายออกไป และควรดื่มในปริมาณมากๆ เนื่องจากกาเฟอีนในกาแฟมีฤทธิ์ขับน้ำออกจากร่างกาย จึงทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย และมากกว่าปกติ ดังนั้น ควรดื่มน้ำเปล่าทดแทนน้ำที่สูญเสียไป เพื่อช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ และรู้สึกอ่อนเพลีย
5. หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ บุหรี่
แอลกอฮอล์ และบุหรี่ มีฤทธิ์กดประสาทเช่นเดียวกับกาแฟ ต่อให้ลดปริมาณกาแฟลง แต่หากยังดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ ก็จะยิ่งทำให้มีอาการอยากดื่มกาแฟมากขึ้นกว่าเดิม อาการของ “ภาวะถอนกาเฟอีน” ก็จะยิ่งแย่ลง ดังนั้น พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และลดการสูบบุหรี่
6. ห้ามงดมื้อเช้า
ที่ผ่านมา หลายคนมักงดกินมื้อเช้า แล้วหันมาดื่มกาแฟแทน การทำเช่นนี้จะทำให้เรายิ่งดื่มกาแฟมากขึ้น และยังส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนั้น ต้องกินอาหารเช้า ควบคู่กับการดื่มกาแฟในปริมาณที่น้อยลง ร่างกายก็จะค่อยๆ ปรับตัว และขับกาเฟอีนออกจากร่างกาย
7. หาวิธีแก้ง่วงอื่นๆ แทนการดื่มกาแฟ
ปกติแล้ว คนที่ดื่มกาแฟ ก็คือผู้ที่ง่วงนอนตอนบ่าย หรือระหว่างวัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่ควรแก้ไขก็คือ ไปแก้ที่ปัญหาความง่วง เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง ไม่ควรนอนดึก หรืออดนอน
หากระหว่างวันยังมีอาการง่วง ให้หาวิธีแก้ง่วงอื่นๆ แทนการดื่มกาแฟ ไม่ว่าจะเป็น ลุกไปยืดเส้นยืดสาย สูดอากาศ เข้าห้องน้ำ ก็อาจช่วยให้หายง่วงได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022