ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
โดยส่วนตัว ยอมรับว่านั่งๆ นอนๆ ดูการแสดงต่างๆ ในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 27 กรกฎาคม (ตามเวลาบ้านเรา) ด้วยความชื่นชมและค่อนข้างประทับใจ
นี่คือการเล่น “การเมืองวัฒนธรรม” (อาจจะนิยามว่าเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” ด้วยก็คงได้) ที่เชื่อมโยงมหกรรมกีฬาระดับโลกเข้ากับประวัติศาสตร์ของเมือง/มหานครแห่งหนึ่งได้อย่างน่าทึ่งและน่าตื่นเต้น
“ปารีส” ที่เราเห็นในวันเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก อาจถูกนำเสนอออกมาอย่างยิ่งใหญ่-โรแมนติก ทว่า “ปารีส” ที่เราพบเห็น ณ วันนั้น ก็มิได้มีเพียงแต่มิติด้านความงดงามเสมอไป เพราะอดีตของมหานครแห่งนี้ยังแยกไม่ขาดจากมิติของการต่อสู้ มีการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ มีการโค่นล้ม-สถาปนา-ยั่วล้ออำนาจหรือความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย
“ปารีส” ยังเป็นเมืองที่แสดงให้เราเห็นว่า ชีวิตนั้นไหลเลื่อนเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ดังความเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่กาละและเทศะ ซึ่งสำแดงผ่านการเดินทางไปบนแม่น้ำแซน
มหานครเช่น “ปารีส” คือแหล่งรวมของผู้คนจำนวนมากอันหลากหลาย ที่มีอุดมการณ์ วิถีชีวิต รสนิยม และวัฒนธรรมผิดแผกแตกต่างกันไป บ้างก็สอดคล้อง บ้างก็สวนทาง เช่นเดียวกับการแสดงในพิธีเปิด “ปารีสเกมส์” ที่เต็มไปด้วยกลุ่มคนอันหลายหลาก
นี่ไม่ใช่เมืองใหญ่หรืองานเปิดมหกรรมกีฬาระดับโลก ที่ผู้คนมหาศาลภายในนั้นต้องทำอะไรเหมือนกันหมด โดยพร้อมเพรียงและมีระเบียบวินัยแบบเป๊ะๆ ประหนึ่งมนุษย์ที่ไร้ชีวิตจิตใจและหัวสมอง หรือส่วนเสี้ยวเล็กน้อยแข็งทื่อของเครื่องจักรกลขนาดมหึมา
นี่คือ “จิตวิญญาณ” อันปรากฏผ่านพิธีเปิด “ปารีสเกมส์ 2024” (ที่แน่นอนว่ามิได้สมบูรณ์แบบดีงามไปเสียทั้งหมด และมีจุดให้ถกเถียง-ตั้งคำถามอยู่ไม่น้อย)
ขณะเดียวกัน ระหว่างดูพิธีเปิดโอลิมปิกหนล่าสุด ผมยังนึกไปถึงเนื้อความส่วนหนึ่งจากนวนิยายสำคัญเรื่อง “ความรักของวัลยา” โดย “เสนีย์ เสาวพงศ์”
นั่นคือเนื้อความอันเป็นเสมือนอารัมภบทของนวนิยายเรื่องนั้น ซึ่งฉายให้เห็นโลกทัศน์-ชีวทัศน์ของตัวละคร “ข้าพเจ้า” (ขณะที่ตัวละครรายอื่นจะเอ่ยนามเขาว่า “เสนีย์”) ผู้เป็นบุรุษที่หนึ่งหรือผู้เล่าเรื่องราวทั้งหมดใน “ความรักของวัลยา” ว่า
“ข้าพเจ้ารักปารีส!
“เปล่า ไม่ใช่เพราะปารีสมีไวน์และแชมเปญรสอร่อย ไม่ใช่เพราะปารีสมีระบำคาบาเรต์ เช่น กาสิโนเดอปารีส์, ตาบาแรง, ฟอลลีแบร์แจย์, ลิโด และนาตูริสต์
“ไม่ใช่เพราะปารีสมีเสน่ห์ด้วยผู้หญิงที่ชังป์ เอลิเช่, ปิคคาล, มาดเลน และกลิซี
“จริงอยู่ข้าพเจ้าไม่เถียง สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งที่ทำให้ปารีสเป็นปารีสที่คนพูดถึง แต่มันเป็นข้อประกอบส่วนปลีกย่อยไม่ใช่แก่นสาร ใครที่รู้จักปารีสแต่เพียงเท่านี้ เขาหารู้จักปารีสไม่
“ข้าพเจ้ารักปารีส เพราะปารีสเป็นเมืองชีวิต ปารีสเป็นเมืองเก่าแก่ ที่ได้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ อันมีค่าสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาแล้วมากมาย เห็นเลือด น้ำตา ความทารุณ การต่อสู้ ความเสียสละ ความทรยศ การปฏิวัติ ปารีสอาจไม่ทันสมัยด้วยไม่มีตึกรามบ้านเรือนแบบใหม่ และสะอาดสะอ้านเช่นเมืองหลวงของอีกหลายประเทศ แต่ความสง่างามอย่างโบราณและเหตุการณ์ในอดีตที่จารึกลงด้วยตัวอักษรที่มองไม่เห็นในกำแพงอิฐบนแผ่นหินที่ปูอยู่ในปลาซเดอลาคองคอร์ด ในแผ่นหินของคุกบาสติลล์ที่ถูกทำลายจนไม่เหลือซากให้ใครเห็นต่อไปอีก… เลือดและน้ำตาที่ยังไหลวนอยู่ในแม่น้ำแซน กระดูกมนุษย์และเศษอาวุธเก่าๆ ที่ถูกกระแสน้ำกัดจนกร่อนและตะไคร่น้ำจับ ยังคงจมอยู่ใต้ท้องน้ำ เหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจของปารีสอย่างไม่มีเมืองใดมี และไม่มีเมืองใดเหมือน ข้าพเจ้ารักปารีสของบัลซัค, วอลแตร์, ฮูโก และโรลอง ปารีสของปลาสเตอร์ และคูรี ของบิเซต์ และกูโนด์ ของเดอลาครัวซ์, โรแดง และปิคัสโส ปารีสที่ศิลปินและนักเขียน เช่น ไฮเน่, โกยา, โชแปง, เรบิน, เบลินสกี้, เฮมิงเวย์ และเอเรนเบิร์ก ได้เคยมาอยู่ในระยะเวลาต่างๆ กันตามยุคสมัยของเขา…
“ข้าพเจ้าชอบความเก่าของปารีส ชอบบ้านเล็กโบราณบนทางที่สูงชันของมองต์มาร์ต ชอบถนนแคบๆ ทึมๆ ของแซงต์ เยอร์แมง เดอเปรส์ และมองต์ปาร์นาสส์ ชอบร้านดอกไม้และร้านหนังสือแผงลอยบนเขื่อนริมแม่น้ำแซน ชอบเงาร่มใต้ต้นเชสต์นัตเมื่อยามเย็นของวันในฤดูร้อน…
“เมื่อราวสักเกือบสามสิบปีที่แล้วมา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่ร้านกาแฟลาซูร์คและดูปองต์ในการ์ติเอร์ ลาแตงเคยเป็นที่ชุมนุมสนทนาปราศรัยจากเรื่องมโนสาเร่ไปจนถึงเรื่องการบ้านการเมืองใหญ่ของนักเรียนไทยรุ่นหนุ่มในสมัยนั้น ซึ่งเป็นเวลาที่โลกได้ประสบการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ราชวงศ์โฮเฮ็นซอนเลิร์นและแฮปสเบิร์กได้พังทลายลง อาณาจักรออสเตรีย ฮังการีแตกสลาย ประเทศสาธารณรัฐใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแทนที่พร้อมด้วยแนวคิดแบบประชาธิปไตย โปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย ฟินแลนด์ และยูโกสลาเวีย และที่โด่งดังที่สุด การปฏิวัติสังคมนิยมในราชอาณาจักรรัสเซียเดิม…
“ในท่ามกลางความสับสนของระเบียบ ชีวิตภายหลังสงคราม ความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความดิ้นรนใหม่ๆ ความเสื่อมสลายของสถาบันเก่าได้ทำลายศรัทธาเดิมที่ฝังหัวอยู่ให้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลงไป ไม่มีอะไรที่จะอยู่ยงคงกระพันและถาวรจีรังกาล ของเก่าย่อมมีอันต้องเสื่อมและตายไป ของใหม่จะเกิดขึ้นมาแทนที่…
“ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ร้านขายกาแฟนี้ยังคงอยู่ แต่หลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป อย่างน้อยลูกค้าก็ไม่ใช่ชุดเดียวกับเมื่อครั้งกระโน้น เพลง ‘ปารีสยังคงเป็นปารีส’ ของมอรีซ เชวาเลียร์ ที่ติดริมฝีปากของชาวปารีสสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเรื่อยมา จนกระทั่งสมัยปารีสเกลื่อนด้วยเหล่าทหารที่ติดเครื่องหมายสวัสดิกะ บัดนี้ไม่มีใครนึกที่จะร้องมันอีก ปารีสยังคงเป็นปารีส? ข้าพเจ้าสงสัย ยุคของคนรุ่นใหม่ได้มาถึงแล้ว แม้แต่ภาพของเดอลาครัวซ์ ‘อิสรภาพนำประชาชนLa Liberté guidant le peuple’ ก็ยังส่งความจรรโลงใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นผิดแผกแตกต่างกันได้ และเดี๋ยวนี้ปารีสเป็นปารีสของ ‘สาธารณรัฐที่ ๔’
“ชีวิตเป็นของไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ วันเก่าๆ ที่ดีแสนดีไม่มีวันจะกลับมาอีก… แต่วันใหม่ที่ดีกว่าย่อมจะมาถึงได้วันหนึ่ง เพราะชีวิตย่อมวิวัฒน์ไปสู่ความสมบูรณ์และดีงามอย่างแน่นอน
“ถ้าดูอย่างฉาบฉวย ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ร้านกาแฟต่างๆ คงมีคนแน่นในฤดูร้อน ชาวปารีสยังคงชอบนั่งหย่อนอารมณ์และสนทนาถกเถียงกันถึงปัญหาร้อยแปดเหนือแก้วมาร์ตินีที่มีน้ำแข็งก้อนเล็กๆ และผิวมะนาวลอยอยู่ ผู้หญิงร่างเพรียวระหงในทรงผมและเสื้อกระโปรงที่นำสมัย และใครๆ ต้องคอยเอาอย่างยังคงเป็นของปารีสอยู่ บรรยากาศของถนนสายเล็กๆ ของแซงต์ เยอร์แมง เดอเปรส์ ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกันจนในเวลากลางคืนแทบจะไม่รู้ว่าสายไหนเป็นสายไหน ภายใต้โคมไฟแบบเก่าที่ส่องแสงสลัวๆ ในยามดึก ชาวปารีสเดินผ่านไปผ่านมาเป็นกลุ่มมากบ้างน้อยบ้าง บางทีเป็นคู่ผู้ชายและผู้หญิงเดินมาแต่ลำพัง ท่านจะมีโอกาสได้ยินเพลงจากปากของเขาเหล่านั้น บางทีก็เป็นเพลงรักๆ ใคร่ๆ บางทีก็เป็นเพลงการเมือง… บางคนนึกถึงความรักและความเสน่หา บางคนนึกถึงการต่อสู้ดิ้นรน…
“‘C’est la lutte finale…’
“‘นี่คือการต่อสู้ครั้งสุดท้าย…’
“ข้าพเจ้ารักปารีส และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องชีวิตในปารีส ถึงแม้จะเป็นงานเกินสติปัญญาของคนขนาดข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่วิตก เพราะข้าพเจ้าเขียนด้วยใจรัก ข้าพเจ้าได้พบบุคคลหลายคนในปารีส ชีวิตของเขาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเมื่อมองในส่วนรวมๆ แล้ว มันทำให้ข้าพเจ้าได้ภาพคิดที่แสดงให้เห็นความคลี่คลายของชีวิตในทางปัญญาและทางจิตใจในยุคที่ท่านและข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ ในบรรดาปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหลาย ชีวิตเป็นของสวยงามที่สุด และชีวิตที่น่าพิสมัยที่สุดคือชีวิตในวัยหนุ่มสาว เพราะอนาคตได้เปิดประตูกว้างและความเป็นไปได้มีอยู่อย่างไพศาล และท่านก็รู้ นักเขียนย่อมสนใจในความงาม และเมื่อเป็นดังนั้น เขาจะละเลยต่อชีวิตเสียหาได้ไม่” •
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022