ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
สถานการณ์การเมืองในปีแห่งการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา พลิกผันกลับไปกลับมา เต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่หลายคนเชื่อว่าจะเป็นจุดชี้ขาดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในตอนปลายปีกันล่วงหน้า
ใครจะไปเชื่อว่า หลังเหตุการณ์ลอบสังหารที่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็น “เต็งหาม” กลับเกิดเหตุการณ์ “ถอนตัว” กะทันหันของโจ ไบเดน เมื่อ 21 กรกฎาคม ที่ทำให้ต้องกลับมาพิเคราะห์ทุกอย่างกันใหม่อีกครั้ง
ห่วงโซ่ของเหตุการณ์ผลักดันให้ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีวัย 59 ปี กลายเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตไปโดยปริยาย (แม้จะยังไม่เป็นทางการ) ชนิดที่แม้แต่เจ้าตัวเองก็ไม่คิดไม่ฝันว่าจะมายืนอยู่ในจุดนี้ได้
ผู้สันทัดกรณีในแวดวงการเมืองอเมริกันชี้ว่า รองประธานาธิบดีแฮร์ริสมีจุดอ่อนให้โจมตีอยู่เต็มไปหมด ไม่ใช่ในฐานะคนอเมริกันที่เป็นลูกครึ่งไนจีเรีย-อินเดีย หากแต่ด้วยความเป็นคามาลา แฮร์ริส เองโดยแท้
แฮร์ริสเป็นนักกฎหมาย ที่เคยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย ผลก็คือทำให้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับหลายเมืองที่เต็มไปด้วยยาเสพติด คนไร้บ้านและอาชญากรรมในรัฐใหญ่รัฐนี้ได้โดยง่าย
แฮร์ริสเคยลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งขั้นต้นมาแล้วในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา แต่ขบวนการรณรงค์หาเสียงของเธอเละเทะ ไม่เป็นรูปเป็นร่างจนต้องโบกมือลาตั้งแต่ยังไปไม่ถึงไหน
เมื่อถูกเลือกให้เป็นรองประธานาธิบดีคู่กับไบเดน เธอก็เป็นรองประธานาธิบดีที่ไม่โดดเด่นกระไร แถมยังอยู่ในทีมบริหารที่เผชิญหน้ากับภาวะเงินเฟ้อสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เต็มไปด้วยปัญหาผู้อพยพ และถูกกล่าวหาจากฝ่ายรีพับลิกันว่า เป็นห้วงเวลาที่อาชญากรรมเกร่อไปหมด
เธอไม่เคยมีสุนทรพจน์ที่โดดเด่น คมคาย ไม่เคยมีการให้สัมภาษณ์ที่ได้รับการชื่นชม
ว่ากันว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนในเดโมแครตลังเลที่จะทิ้งการสนับสนุนไบเดน ก็เพราะเชื่อว่า แฮร์ริส “มือไม่ถึง” นั่นเอง
คามาลา แฮร์ริส จึงนับว่าโชคดีอย่างยิ่ง ที่ได้รับมอบโอกาสสุดพิเศษที่น้อยครั้งจะเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ เธอกลายเป็นตัวแทนพรรคโดยปราศจากการแข่งขันภายในระยะเวลาเพียง 36 ชั่วโมง รับมอบทีมรณรรงค์หาเสียงและเงินทุนในการหาเสียงมาจากไบเดนโดยไม่ต้องออกแรงมากมายนัก
จังหวะเวลาดูเหมือนจะส่งผลต่อแฮร์ริสอย่างมีนัยสำคัญ เพราะหากไบเดนไม่ดื้อแพ่งมากเท่านี้ เขาคงถอนตัวออกจากการแข่งขันตั้งแต่ต้นมือ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงต้องมีการแข่งขันภายในพรรค แทนที่จะกลายเป็นการผลักดันให้เดโมแครตทั้งพรรคทุ่มพลังทั้งหมดมาหนุนหลังเธอเพียงลำพังในการสู้ศึกเลือกตั้งเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้
กระนั้นหลายๆ อย่างที่ถือกันว่าเป็นจุดอ่อนของรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ก็สามารถกลายเป็นจุดแข็งของเธอได้เช่นเดียวกัน ภายใต้การทำงานอย่างละเอียดถี่ถ้วนและชาญฉลาดพอ
ตัวอย่างเช่น การเป็นผู้สมัครที่มีเชื้อสายเป็นคนผิวสีและคนเอเชียใต้ สามารถนำมาใช้เป็นตัวแทนของ “อเมริกันดรีม” สัญลักษณ์ที่ชวนดึงดูดใจสำหรับอเมริกันเลือดผสมอีกมากมายมหาศาลได้
เช่นกัน การเป็นแฮร์ริส ทำให้เดโมแครตสามารถทบทวนนโยบายของไบเดนได้ใหม่โดยอิสระ
ชื่นชมในสิ่งที่ไบเดนทำได้ดีไว้ก่อนหน้านี้ได้อย่างเต็มที่
แต่สามารถดึงตัวออกห่างจากนโยบายที่บั่นทอนฐานเสียงได้โดยง่ายเช่นเดียวกัน
เช่น การฉีกหนีจากนโยบายผู้อพยพที่ทำให้ไบเดนเสียรังวัดมามาก
รวมทั้งการกำหนดนโยบายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกเสียใหม่ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับอเมริกันโดยทั่วๆ ไปได้มากขึ้นกว่าเดิม
ในฐานะสตรี แฮร์ริสสามารถใช้ประเด็นสำคัญอย่างเช่นเรื่องของสิทธิในการทำแท้ง หรือสิทธิของสตรีข้ามเพศที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมได้อย่างเต็มที่ ชนิดที่แม้แต่ไบเดนยังไม่สามารถทำได้
และในขณะที่รีพับลิกันทั้งพรรคยังติดกับอยู่กับการคัดค้านแบบหัวชนฝาเรื่องสิทธิในการทำแท้ง เป็นต้น
ความเป็นนักกฎหมายและในอดีตเคยเป็นถึงอัยการใหญ่ของรัฐใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนีย ทำให้แฮร์ริสเหมาะอย่างยิ่งที่จะขุดคดีสารพัดคดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาใช้ กระทั่งสามารถให้เหตุผลในเชิงกฎหมายเพื่อตราหน้าได้ว่า ทรัมป์คือคนที่ทำผิดกฎหมายที่ไม่ควรได้รับโอกาส และเลือกนำเสนอประสบการณ์ของเธอออกมาได้ว่า เธอคือคนที่ควรไว้วางใจให้เป็นผู้ปกป้องค่านิยมอเมริกันทั้งในประเทศและนอกประเทศ โดยการยึดกฎหมายเป็นหลักสำคัญ
แฮร์ริสสามารถทำให้ตัวเองกลายเป็น “ความหวังของสหรัฐอเมริกา” ได้ หากสามารถทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็น “การลงประชามติ” สำหรับผลงานของทรัมป์เมื่อครั้งเป็นประธานาธิบดีได้ แถมถ้าสามารถฉายให้เห็นภาพของ “หายนะ” ในอนาคตหากทรัมป์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอีกครั้งได้ ก็ใช่ว่าเธอจะไม่มีโอกาสได้รับชัยชนะ
ที่น่าสนใจก็คือ ในการรณรงค์หาเสียงของแฮร์ริสในระยะหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหาเสียงที่มิลวอคี เมื่อ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการหาเสียงอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เธอกลับทำได้ดี เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและเปี่ยมพลังในการต่อสู้
แน่นอน เกจิทางการเมืองอเมริกันหลายคนยังคงให้ทรัมป์เป็นต่อเหนือแฮร์ริส แต่หลายคนก็ยอมรับตรงกันว่า การต่อสู้ที่จริงของทรัมป์ คือการต่อสู้กับแฮร์ริสในเวลานี้ ไม่ใช่ไบเดนก่อนหน้านี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022