จดหมาย

• ใกล้ตัว

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567

มีการเสวนาเรื่อง “หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ : การชดเชยเยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูระบบนิเวศและปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ” ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ นนทบุรี

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) และอดีตคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพระดับชาติ (NBC) กล่าวว่า ประชาชนต่างล้วนเชื่อสิ่งที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่นำเข้าปลาหมอคางดำให้ข้อมูลว่าปลา 2,000 ตัวตายทั้งหมดและถูกฝังกลบแล้ว

แต่มีหลักฐานอื่นที่ชี้ชัดว่าการระบาดของปลาหมอคางดำอยู่ที่ฟาร์มนั้นอยู่แล้ว

โดยการระบาดเริ่มต้นที่คลองดอนจั่น คลองหลวง คลองเจ๊ก คลองสมบูรณ์ คลองสะพานหัน คลองตามน และคลองผีหลอก ในเขตตำบลยี่สาร และตำบลแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งบริษัทเอกชนเป็นผู้นำเข้าปลาหมอคางดำเพียงรายเดียว

ทั้งนี้ ในรายงานของกรมประมงพบว่า การระบาดมีแหล่งที่มาร่วมกัน

“เราได้ข้อมูลมาว่า ปลาไม่ได้ตายเหมือนที่เป็นข่าว ฟาร์มที่เลี้ยงเป็นบ่อดิน และเพาะพันธุ์ต่อมาอีกหลายรุ่น โดยเอาไข่ไปฟักทุก 7 วัน ปลาหมอคางดำอยู่ในฟาร์มดังกล่าวมาโดยตลอด แม้ระบบน้ำในฟาร์มจะเป็นระบบปิด แต่ก็มีการสูบน้ำทิ้งออกนอกฟาร์ม ทำให้ปลาหลุดไปในคลองธรรมชาติ”

วิฑูรย์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จะทำหลังจากนี้คือ เราจะมีปฏิบัติการของประชาชนตอบโต้ การเปิดเผยความจริง และปฏิรูประบบความปลอดภัยทางชีวภาพ

รวมถึงการฟ้องคดี

ซึ่งไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ แต่สังคมไทยได้เรียนรู้ว่าการปล่อยให้บริษัทเอกชนมีอำนาจผูกขาด ทำให้กลไกของรัฐบังคับใช้กฎหมายได้อย่างไร

ด้าน อัคคพล เสนาณรงค์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กล่าวว่า การกำกับดูแลเป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้เป็นภาวะโทษกันหมด จึงต้องมีบทบาท การกำกับ แนวปฏิบัติที่ชัดเจน

อย่างแผนรองรับเมื่อเกิดการหลุดลอด หรือกองทุนแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยเก็บจากเอกชนที่ทำงานวิจัย

สิ่งสำคัญที่สุดคือ รัฐต้องมีสัญญา เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีว่าหากเกิดความเสียหายต้องมีคนรับผิดชอบ และสุดท้ายต้องพึ่งศาลในการชี้ถูกชี้ผิด

“ผมเชื่อว่า เกษตรกรต้องลุกขึ้นมาสู้ด้วยตัวเอง เพราะถ้าหวังจะให้รัฐฟ้อง คงเป็นชาติหน้า” อัคคพลกล่าว

อัคคพลยกตัวอย่างว่า จากบทเรียนการระบาดของผักตบชวา ปีนี้ใช้งบประมาณในการกำจัดประมาณ 5,000 ล้านบาท และต้องใช้งบฯ มากขึ้นทุกปี ยิ่งกำจัดก็ยิ่งขยายไปทั่วประเทศ กรณีปลาหมอคางดำก็เช่นกัน จะเกิด cobra effect ยิ่งให้เงิน มันจะยิ่งเพิ่ม คนให้เงินจะให้เงินไปเรื่อยๆ จากที่ปลาไม่มีที่อีสาน ที่เหนือ ต่อไปนี้จะมีกันหมด เพราะขนาดผักตบลอยน้ำยังกำจัดไม่ได้เลย นี่ปลาอยู่ในน้ำ จะกำจัดได้อย่างไรหมด

บุญยืน ศิริธรรม ชาวประมงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า วันนี้เขาไม่มีปลาให้เลือกกิน เพราะในพื้นที่ไม่มีปลาอื่นอยู่เลย ปลากระบอก ปลาพื้นถิ่นถูกปลาหมอคางดำกินหมด ในฐานะชาวประมงต้องการได้วิธีทำลาย จับ หรือจัดการอย่างไรไม่ให้มันระบาดต่อ ไม่ใช่บอกให้ประชาชนจับกิน ปลามันไม่มีเนื้อ และกระดูกแข็งติดคอ

มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)

E-mail : [email protected]

 

เนื้อหาทั้งหมด

เป็นการเก็บความของมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)

และนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ

เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของฟาก “เอ็นจีโอ”

ที่ควรรับฟัง

เช่นเดียวกับการรับฟังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ต้องไม่ลืมว่านี่คือเรื่อง “ใกล้ตัว”

และมีผลกระทบต่อเราทุกคน

• ไกลตัว

จากรายงานข่าวของสื่อเกี่ยวกับเหตุความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมประท้วงเกี่ยวกับโควต้าสำหรับตำแหน่งงานภาครัฐในประเทศบังกลาเทศ

ทำให้มีผู้ถูกจับกุม 2,500 คน ผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน และมีผู้บาดเจ็บหลายพันคน นับตั้งแต่การชุมนุมประท้วงเกิดเหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา และมีรายงานอื่นๆ ระบุว่า 61,000 คนถูกตั้งข้อหาใช้ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วง

ทางการบังกลาเทศยังคงใช้กำลังอย่างมิชอบด้วยกฎหมายกับผู้ชุมนุมที่เป็นนักศึกษา

มีการปิดกั้นการสื่อสาร โดยตัดทั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตและจำกัดการใช้โทรศัพท์ระหว่างการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ

การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศได้กลับคืนมาเป็นบางส่วนในวันที่ 23 กรกฎาคม หลังจากถูกตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตทั้งหมดเป็นเวลา 6 วัน ท่ามกลางช่วงเวลาที่ผันผวนจากการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง การใช้กำลังทหาร การประกาศเคอร์ฟิว และการออกคำสั่งยิงผู้ที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว

ข้อมูลที่เผยแพร่ออกนอกประเทศได้อย่างจำกัดเป็นอุปสรรคต่อการติดตามประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในบังกลาเทศ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเรียกร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศและหน่วยงานต่างๆ เคารพสิทธิในการชุมนุมประท้วง ยุติการปราบปรามอย่างรุนแรง และยกเลิกการปิดกั้นการสื่อสารทั้งหมดทันที

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย

 

เป็นเรื่องไกลตัวอย่างแน่นอน

ด้วยเพราะแทบไม่มีผลกระทบต่อเราแต่อย่างใด

แต่หากมองในอีกมุม

การที่รัฐกระทำรุนแรงต่อประชาชน

ก็ไม่สมควรที่จะเพิกเฉย

อย่างน้อยก็ควรรับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับโลกใบนี้

เพราะคนไทยเองก็เผชิญกับความรุนแรงจากรัฐมาไม่น้อยเหมือนกัน

ไม่ใช่หรือ •