ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ฝนไม่ถึงดิน |
ผู้เขียน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี |
เผยแพร่ |
ตามที่ทุกท่านได้ประสบกับตัวเอง สิ่งที่เราเผชิญอยู่ในสภาพเศรษฐกิจของไทยปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่าความน่ากังวลของสภาพเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ มีความแตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นที่ผ่านมาในอดีต ลักษณะสำคัญคือ สภาวะถดถอยนี้กระทบกับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงานอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย แรงงานที่มีเงินเดือนประจำ ผู้ประกอบการขนาดกลาง ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ข้าราชการบำนาญ ก็ได้รับผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้
ในบทความนี้ผู้เขียนขอฉายภาพสรุปสั้นๆ ว่า อะไรคือสภาพปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้แปลกออกไป
และอะไรคือทางออกที่จำเป็นต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน
ปัจจัยที่ส่งผลได้แก่
1. ผลกระทบจากโควิด-19 การระบาดส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ส่งผลต่อเนื่องในปัจจุบัน
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดอื่นๆ รวมถึงปัญหาโครงสร้างพื้นฐานในเมืองท่องเที่ยว ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยสูญเสียความโดดเด่นไปอย่างต่อเนื่อง
2. ภาวะเงินเฟ้อสูง ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน สวนทางกับค่าแรงที่มีการปรับตัวน้อยเมื่อเทียบกับผลิตภาพได้
ผู้ประกอบการสามารถปรับราคาสินค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงค่าแรงของแรงงานในทุกภาคส่วน ประกอบกับแรงงานอิสระมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น กลุ่มนี้มีรายได้ไม่แน่นอน และผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ
3. หนี้ครัวเรือนสูง ประชาชนมีภาระหนี้สินสูง ทำให้กำลังซื้อลดลงหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึงประมาณ 90% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
ภาระหนี้นี้ทำให้ครัวเรือนต้องนำรายได้ส่วนใหญ่ไปชำระหนี้ ส่งผลให้เงินสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลดลง กระทบต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ
นอกจากนี้ ครัวเรือนที่มีหนี้สูงยังมีความเปราะบางทางการเงิน เสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบธนาคาร หลายครอบครัวติดอยู่ในวงจรหนี้ ต้องกู้ยืมเงินใหม่เพื่อชำระหนี้เก่า ทำให้ยากที่จะหลุดพ้นจากภาระหนี้สิน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจ
4. ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในบางอุตสาหกรรม ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางได้รับผลกระทบมากกว่าบริษัทใหญ่ เนื่องจากมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า
ทำให้หลายบริษัทต้องปรับกลยุทธ์ เช่น การกระจายแหล่งผลิตหรือการเพิ่มสต๊อกสินค้า
ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกก็ได้รับผลกระทบจากการส่งมอบสินค้าล่าช้าและต้นทุนที่สูงขึ้น
ในระยะยาว สถานการณ์นี้อาจนำไปสู่การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลก เช่น การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศหรือการกระจายความเสี่ยงไปยังหลายประเทศมากขึ้น
ซึ่งจะส่งผลต่อรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในอนาคต
หรือกล่าวโดยสรุป การผลิตและการลงทุนต่างๆ มีแนวโน้มลดการพึ่งพิงการผลิตแบบเจ้าเดียว ในลักษณะ Economy of Scale แต่จะเป็นการกระจายการผลิตเพื่อลดความเสี่ยง
ลักษณะเช่นนี้จึงจะเห็นได้ว่าส่งผลต่อประเทศไทยในวงกว้าง ซึ่งเป็นทั้งปัญหาทางเทคนิคระยะสั้น และปัญหาระดับโครงสร้างระยะยาว
แต่เมื่อเราเจาะลงไปในสภาพปัญหาสิ่งที่เราจะเห็นก็คือ เราจะเห็นผู้คนไม่สามารถผ่อนบ้าน ผ่อนรถได้มากขึ้น
ชีวิตที่ไม่เคยฟุ่มเฟือยอะไร แต่หนี้บัตรกดเงินสดและบัตรเครดิตทวีคูณสูงมากขึ้น เพราะมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรออยู่ แต่รายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง
อีกไม่นานเราก็จะเห็นเด็กเริ่มตกออกจากระบบการศึกษา
ข่าวคราวการเลิกจ้าง และปิดกิจการ
หนี้นอกระบบที่สูงมากขึ้น และก็จะวนกลับสู่ปัญหาอาชญากรรม การหลอกลวง และความรุนแรงในระดับต่างๆ
แน่นอนที่สุดการก้าวพ้นสภาพเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้มีหลายองค์ประกอบที่ต้องทำ
แต่ข้อเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการจำเป็นต้องพูดถึงอย่างจริงจังในทุกระดับมากกว่ามาตรการเศรษฐกิจระยะสั้น
ตัวอย่างสำคัญในสภาพเศรษฐกิจถดถอยนี้ หากเราใช้เงินเพิ่มเพียงแค่ประมาณ 7,000 ล้านบาทเราก็จะสามารถสร้างระบบเงินเด็กถ้วนหน้าสำหรับทุกคนได้
เงินเท่านี้อาจไม่มาก แต่มันดีกว่าให้คนเข้าสู่ระบบพิสูจน์ความจน ที่ทำให้คนตกหล่นจากระบบมากมายมหาศาล
เช่นเดียวกันกับการขยายสิทธิการลาคลอด หรือประกันว่างงานก็ใช้เงินหลักพันล้านแต่สามารถสร้างหลักประกันของคนที่ขาดรายได้ หรือมีรายได้ที่ลดลงจากสภาพของการที่ไม่สามารถทำงานได้
การวางระบบสวัสดิการมีความสำคัญกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ที่มีระยะเวลาชั่วคราว หรือการสนับสนุนไปที่กลุ่มธุรกิจใดๆ โดยเฉพาะ เพราะทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเฉพาะกลุ่ม หรืออุดหนุนธุรกิจ ไม่ได้มีการรับรองว่าเม็ดเงินนั้นจะถูกส่งตรงสู่ประชาชนได้ครบถ้วนหรือไม่ ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่
และที่สำคัญในปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เมื่อผู้คนรู้สึกมั่นคงก็จะสามารถมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการหางานที่ตรงกับทักษะ หรือการเริ่มธุรกิจใหม่ รวมถึงการเลี่ยงในภาวะที่ต้องเป็นหนี้ที่ดอกเบี้ยสูง เพื่อการใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอันเลี่ยงไม่ได้
การสร้างสวัสดิการประชาชนผ่านฐานคิดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า อาจเป็นโจทย์ที่พูดมาหลายทศวรรษ อาจไม่ใช่ยาวิเศษที่จะรักษาความป่วยไข้ทุกอาการ
แต่เป็นยาเม็ดแรกที่เราต้องใช้สำหรับการฟื้นฟูประเทศขณะนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022