ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เหยี่ยวถลาลม |
เผยแพร่ |
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิและนายกสมาคมตำรวจ พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวน ประสานมือกันเคลื่อนไหว “ปฏิรูปตำรวจ” อีกครั้ง คราวนี้จุดพลุล่ารายชื่อ 10,000 คน ผลักดันขอให้รัฐสภาแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งแน่ชัดว่า “ยังไม่ใช่ของแทร่”
“เป้าใหญ่” คือเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ “ประธาน ก.ตร.”
เอา “นายกรัฐมนตรี” ออกไป แล้วให้ตำรวจเลือก “ประธาน ก.ตร.” กันเองจากอดีตนายที่แวดวงวิชาชีพตำรวจยอมรับ
ถามว่า ทำไมพุ่งเป้าไปที่เก้าอี้ “ประธาน ก.ตร.”
มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร. เสียศักดิ์ศรีตรงไหน
คำอธิบายไม่อาจใช้กำปั้นทุบดิน แต่จำเป็นต้องสืบค้นทบทวนประวัติศาสตร์
หนึ่ง คือประวัติศาสตร์การเมืองไทย กับอีกหนึ่ง คือประวัติศาสตร์ตำรวจไทย
การเมืองแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายและการบังคับใช้กฎหมายไม่ใช่ปัญหาเฉพาะตัวบุคคลของนักการเมือง หากแต่เป็น “ระบบความคิด” ของผู้มีอำนาจทางการเมืองทุกคณะไม่ว่าจะมาจาก “รัฐประหาร” หรือมาจาก “เลือกตั้ง” ก็เหมือนกัน
ในแง่ประวัติศาสตร์ เกือบ 1 ศตวรรษ ตำรวจไทยผูกโยงอยู่กับการเมืองไทย
ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” มาตั้งแต่ปี 2475 แต่อำนาจบริหารประเทศส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ในมือของ “นายทหาร” ที่มาจากการรัฐประหาร จะผลัดเปลี่ยนสลับให้นักการเมือง “พลเรือน” ได้ลิ้มลองบ้างก็แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ
ไล่มาตั้งแต่ยุคเสือ 2 ตัว “เผ่า-สฤษดิ์” จนถึงปัจจุบัน ผู้นำทางการเมืองที่มาจากนายทหารไม่มีระบบความคิดทางด้านเสรีนิยม ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจึงเป็นประวัติศาสตร์ของคณะผู้ปกครองที่ให้ความสำคัญกับ “อำนาจเบ็ดเสร็จ” มากกว่า “เสรีภาพ” และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
องค์กรตำรวจสยบอยู่ใต้ “ระบบอำนาจนิยม” มาตั้งแต่ยุคอัศวิน “เผ่า” ครองเมือง!
“มิติทางประวัติศาสตร์” ของตำรวจจึงไม่อาจแยกออกจาก “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย”
ดังนั้น ถ้าไม่เข้าใจ “มิติประวัติศาสตร์” ของตัวเอง ตำรวจก็จะไม่รู้ตัวว่าเกือบศตวรรษที่ผ่านมา ผู้นำตำรวจทุกยุคนำพาองค์กรตำรวจไปเป็น “เครื่องมือ” ของระบบการเมืองที่ล้าหลังและเน่าเฟะตลอดมา
การเมืองแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจเป็นเรื่องจริง บางยุคผู้มีอำนาจทางการเมืองขายตำแหน่งให้ตำรวจก็จริง ตำรวจใหญ่ขายเก้าอี้ให้ลูกน้องก็จริง ในด้านคดีสั่งบิดสำนวนสอบสวนได้ก็จริง ตำรวจไม่มีอิสระก็เรื่องจริง
พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจและ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตรอง ผบ.ตร.ก็ยอมรับว่า 7-8 ปีที่ผ่านมา ตำรวจที่ใช้เงินซื้อตำแหน่งได้ขึ้นเป็นใหญ่ เป็นตำรวจที่รีดไถประชาชน เป็นตำรวจที่คิดแต่เรื่องถอนทุน ส่วนตำรวจดีๆ ไม่มีเส้นสายก็ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เจริญก้าวหน้า กระบวนการคัดสรรแต่งตั้งหัวหน้าหน่วยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติล้มเหลว
7-8 ปีที่ พล.ต.อ.วินัยกล่าวถึงนั้นนับเนื่องจาก 22 พฤษภาคม 2557 ที่ “คสช.” รัฐประหาร!
ถ้ายังจำกันได้ ภายหลังรัฐประหารปี 2549 ก็เคยริเริ่มจะปฏิรูปตำรวจ มีการระดมสมอง ศึกษาค้นคว้า ประมวลปัญหา นำเสนอแนวทางกันไว้มากมาย จนกระทั่งพากันเพ้อฝันว่า ภาพลักษณ์ตำรวจจะค่อยๆ เปลี่ยน จากสีเทาๆ มีขาวปนมากขึ้นแล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนจาก “เทา” เป็น “เทาขาว” ขาวขึ้น สกาววาวขึ้น
เมืองไทยมีรัฐประหาร 2 ครั้งไล่เลี่ยกัน คือ “กันยายน 2549 ” กับ “พฤษภาคม 2557” มาถึงวันนี้ ที่เคยเป็น “เทาขาว” กลับกลายเป็น “เทาดำ”
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ว่า ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ตำรวจตกต่ำที่สุด การเมืองแทรกแซง วิ่งเต้น ข้ามอาวุโส คนดีไม่ได้ดี ระบบบริหารงานบุคคลล้มเหลว สร้างประวัติศาสตร์การแต่งตั้ง 7 ปี เลื่อนขึ้น 7 ตำแหน่ง หนักไปกว่านั้น “คสช.” ยังทุบทำลายแท่งความเจริญก้าวหน้าของพนักงานสอบสวน
การเมืองไม่ได้ต้องการสร้างสังคมยุติธรรม
ตำรวจถูกใช้แค่เป็น “เครื่องมือ” ของผู้มีอำนาจการเมือง ไม่ใช่รับใช้ประชาชน ไม่ได้คำนึงว่าเป็นต้นธงต้นธารอะไรของกระบวนการยุติธรรม
“อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ก็สถิตอยู่แต่ใน “รัฐธรรมนูญ”
ถ่วงดุล โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นได้ก็แค่วาทกรรม
ไม่ใช่ “นิติรัฐ” แต่คือ “การฮั้ว” กันยึดครองอำนาจและแบ่งปันทรัพยากร!
ถึงแม้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้รับการออกแบบเอาไว้ดี แต่ภายใต้ “ระบบการเมือง” ของไทยแบบนี้ “คนตัวเล็ก” ผิดเสมอ ในขณะที่ “คนตัวใหญ่” หรือคนมีอำนาจ มีตำแหน่งสูง มียศสูง มีสถานะทางสังคมสูง หรือมีเงิน “รอดเสมอ”
ไม่ว่ากฎหมายจะบัญญัติความผิดเอาไว้ชัดเจนหนักแน่นมั่นคงแค่ไหน และกำหนดโทษรุนแรงอย่างไรก็ “รอดได้เสมอ”
ดังเช่น คนทำรัฐประหารไม่เคยถูกดำเนินคดี
หรือ “คนพิเศษ” ก็ไม่ต้องติดคุกจริงๆ แม้แต่วันเดียว!
ผู้คนจึงคุ้นชินกับการ “เคารพอำนาจ” มากกว่ายำเกรง “กฎหมาย”
เข็มมุ่ง “ปฏิรูปตำรวจ” ที่พุ่งเป้า “ถอด” นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง “ประธาน ก.ตร.” จึงมีเหตุผล
ถึงแม้ว่า “ปม” ของตำรวจที่ผูกเอาไว้เกือบร้อยปีนั้นมีมากมายหลายหัวข้อ และถึงแม้การเมืองไทยยังไม่มีการปฏิรูป แต่องค์กรซึ่งเป็นเสมือน “ต้นธาร” ของกระบวนการยุติธรรมก็ควรได้รับการ “พลิกโฉม” ให้มีศักดิ์ศรีในวิชาชีพจากการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม ให้มีงบประมาณเพียงพอสมจริง ให้มีระบบการทำงานทุกด้านที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และรับผิดชอบต่อประชาชน
เปลี่ยนแนวคิดแนวทางที่ยึดถือกันเสียใหม่เถอะ ตำรวจไม่ใช่ “ม้าใช้” และไม่ใช่ “1 ใน 4 ทัพ” ตามที่ลากจูงกันไปให้ร่วมกระทำความผิดฐานล้มล้างการปกครองและฉีกรัฐธรรมนูญ
จะว่าไปแล้ว “ความมีอิสระ” ที่ตำรวจถวิลหาก็อารมณ์เดียวกับที่อัยการและศาลเคยประสบมาเมื่อครั้งที่อยู่ภายใต้ “การเมือง”
เพียงแต่ในวันนี้ตำรวจในราชการไม่มีมืออาชีพที่จะเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” เป็นเหตุให้ “องค์กรวิชาชีพตำรวจ” เฉกเช่น สมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ชมรมพนักงานสอบสวน และ “นายตำรวจนอกราชการ” ต้องออกมาจุดชนวนเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มุ่งแต่ประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องแบบนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยนตำรวจให้เป็นองค์กรวิชาชีพที่มีเกียรติ ตำรวจไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์!?!!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022