ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
ความหมายของ “การเมือง” คือการบริหารจัดการการอยู่ร่วมกันของส่วนรวม มีกติกาการอยู่ร่วมกัน กำหนดโครงสร้างตำแหน่ง หน้าที่ รูปแบบกระบวนวิธีการบริหารจัดการ และปฏิบัติ
“ประชาธิปไตย” มุ่งเน้นความสำคัญไว้ที่สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เป็นรูปแบบการปกครองที่ให้สิทธิอำนาจรัฐเท่าที่จำเป็น โดยยึดหลักให้กระทบต่อเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชนทุกคนน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้
หนักแน่นในหลักคิด “อำนาจของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” หมายถึงต้องไม่เป็นอำนาจที่เอื้อต่อการรับใช้ “อภิสิทธิ์ของคนใดคนหนึ่ง”
ด้วยเหตุนี้เองการตัดสิทธิทางการเมือง อันหมายถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมจัดการดูแลส่วนรวม ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานสุดในการอยู่ร่วมกันของประชาชนจึงเป็นคำถามเสมอว่า “ทำได้หรือ”
ยิ่งการให้อำนาจในการตัดสิทธิไปไว้ในมือของคนใดคนหนึ่ง คณะใดคณะหนึ่งยิ่งเกิดคำถามถึงการละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตยดังกล่าว
มีความเป็นจริงอยู่ว่าการปกป้องประชาธิปไตย หลักการสำคัญคือ การตัดสิทธิควรเป็นมาตรการสุดท้าย เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่กระทำผิดร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตยกลับมาทำลายระบบอีก
การตัดสิทธิของนักการเมืองมักมีผลกระทบทางการเมืองที่กว้างขวาง อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการแบ่งฝ่ายในสังคม อาจทำให้ความหลากหลายทางการเมืองลดลง และจำกัดทางเลือกของประชาชนในการเลือกตั้ง
เหตุผลในการตัดสิทธิ บางครั้งอาจมีความเชื่อมโยงกับการเมืองมากกว่ากฎหมาย ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเป็นกลาง
การตัดสิทธิอาจมีความผันผวนตามสถานการณ์ทางการเมือง หากเกิดความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงขึ้น อาจมีการใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์ ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสิทธิในวงกว้าง
หากรัฐบาลมีนโยบายที่ต้องการจำกัดเสรีภาพทางการเมือง การตัดสิทธิก็อาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมฝ่ายตรงข้าม
ลดทอนความหลากหลายทางความคิด : การตัดสิทธิทำให้ขั้วการเมืองแคบลง และลดโอกาสในการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ทำให้ประชาชนขาดทางเลือกในการตัดสินใจ
การตัดสิทธิของนักการเมืองที่มีฐานเสียงจำนวนมาก ส่งผลต่อผลการเลือกตั้งและความชอบธรรมของรัฐบาล หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งและไม่มีความโปร่งใส อาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมความขัดแย้งทางการเมืองอาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งและการแบ่งฝ่ายในสังคม
การแข่งขันทางการเมืองที่เข้มข้น การต่อสู้เพื่ออำนาจ และการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง อาจนำไปสู่การใช้กฎหมายเพื่อตัดสิทธิทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม
ทั้งที่ชัดเจนว่าการใช้อำนาจเหนือกว่าตัดสิทธินักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม มีผลเลวร้ายต่อส่วนรวมถึงเพียงนั้น แต่ผลประโยชน์ของฝ่ายตัวการใช้อำนาจเช่นนั้นยังเกิดต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าจะเกิดต่อไป
คำถามคือ การตัดสิทธิทางการเมืองสามารถหยุดบทบาทของผู้บุคคลได้จริงหรือ
ผลสำรวจ “นิด้าโพล” ล่าสุดเรื่อง “ผู้มีบารมีนอกพรรค” ที่ให้คำตอบว่า “บุคคลที่ไม่ได้มีตำแหน่งในพรรคการเมือง” โดยบางคนถูกตัดสิทธิ ประชาชนเห็นว่ายังมีบารมีต่อการบริหารจัดการพรรคการเมืองหรือไม่
ในกรณีของ “ทักษิณ ชินวัตร ต่อพรรคเพื่อไทย” ร้อยละ 67.40 ระบุว่า มีบารมีทางการเมืองต่อพรรคมาก, รองลงมา ร้อยละ 21.76 ระบุว่า ค่อนข้างมีบารมี, ร้อยละ 5.88 เห็นว่า ไม่มีบารมีทางการเมืองต่อพรรคเลย, ร้อยละ 4.81 บอกว่า ไม่ค่อยมีบารมีทางการเมืองต่อพรรค และร้อยละ 0.15 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ
ด้านบารมีทางการเมืองของ “เนวิน ชิดชอบ ต่อพรรคภูมิใจไทย” ร้อยละ 45.81 ระบุว่า มีบารมีทางการเมืองต่อพรรคมาก, ร้อยละ 34.35 ระบุว่า ค่อนข้างมีบารมีทางการเมืองต่อพรรค, ร้อยละ 11.37 ระบุว่า ไม่ค่อยมีบารมีทางการเมืองต่อพรรค, ร้อยละ 6.26 ระบุว่า ไม่มีบารมีทางการเมืองต่อพรรคเลย และร้อยละ 2.21 ไม่ตอบ/ไม่ทราบ
เมื่อถามถึงบารมีทางการเมืองของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต่อพรรคก้าวไกล” ร้อยละ 40.99 ระบุว่า มีบารมีทางการเมืองต่อพรรค, ร้อยละ 36.11 ระบุว่า ค่อนข้างมีบารมีทางการเมืองต่อพรรค, ร้อยละ 14.81 ระบุว่า ไม่ค่อยมีบารมีทางการเมืองต่อพรรค, ร้อยละ 6.72 ระบุว่า ไม่มีบารมีทางการเมืองต่อพรรคเลย และร้อยละ 1.37 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ
จากผลสำรวจนี้จะเห็นว่าได้ สิทธิทางการเมืองและบทบาทบารมีทางการเมืองส่งผลต่อกันน้อยมาก
“สิทธิทางการเมือง” ที่ฝ่ายคุมอำนาจตัดจากบุคคลหนึ่งๆ ด้วยเจตนาไม่ให้บุคคลนั้นเข้ามามีบทบาททางการเมือง เอาเข้าจริงแล้วได้ผลเพียงเชิงนิตินัยเท่านั้น แต่ในทางพฤตินัยทำไม่ได้
ที่สำคัญคือความเสียหายต่อความไว้วางใจในระบบการอยู่ร่วมกันก่อความขัดแย้งอย่างเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ความรุนแรงนี้อาจจะไม่ใช่การใช้กำลัง แต่เป็นอารมณ์ของการต่อต้านส่วนรวม ซึ่งหากใครสักคนมีใจรับความรู้สึกเช่นนี้สักนิด ย่อมสัมผัสได้ว่ามีมากขึ้น และส่งผลต่อความเป็นไปของประเทศอย่างน่าเป็นห่วง
เพียงแต่ที่น่าเศร้าก็คือ บ้านเมืองของเราผู้มีอำนาจจมอยู่กับความยินดีปรีดากับโอกาสในผลประโยชน์ผูกขาดจนเหมือนอยู่ในม่านทึบที่ไม่มีทางมองเห็นผลร้ายของ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่ขยายตัว
ยังมุ่งวิธีใช้อำนาจ “ตัดสิทธิ” ฝ่ายตรงกันข้าม โดยมองไม่เห็นว่ายิ่งซ้ำเติมความเลวร้ายให้กับการอยู่ร่วมกัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022